เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


นิคม พุทธา ชาวเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ก่อตั้งค่ายเยาวชนเชียงดาว และประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำปิง (ภาพ : เพียงตะวัน พุทธา)

ร่องเขาที่นักท่องเที่ยวใช้เป็นเส้นทางมุ่งสู่ยอดดอยหลวงเชียงดาว ระยะแรกผ่านป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ระหว่างทางผ่านป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง เข้าสู่ป่าเมฆและสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)


สภาพทั่วไปของดอยหลวงเชียงดาว

“ดอยหลวงเชียงดาวรูปร่างเหมือนกรวยคว่ำ สภาพป่าแบ่งตามระดับชั้นความสูง ที่เราอาศัยอยู่ (บริเวณรอบค่ายเยาวชนเชียงดาว บ้านยางปู่โต๊ะ ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่) อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๘๐ เมตร โดยทั่วไปตั้งแต่ระดับ ๕๐๐ ขึ้นไปถึง ๗๐๐ เมตรจะเป็นป่าเต็งรัง ป่าพวกนี้จะมีไฟไหม้อยู่บ่อยๆ สภาพป่าหรือสังคมพืชปรับตัวรับกับสถานการณ์ไฟป่า เช่นมีเปลือกหนา พวกไม้เต็ง รัง มะกอกป่า ประดู่ป่า เป็นต้น

“รองจากป่าเต็งรังที่อยู่กับไฟป่าได้ก็คือป่าเบญจพรรณ ที่เราเห็นเป็นป่าไผ่ พวกไม้ไผ่ซาง ไม้ไผ่รวก ไม้ไผ่บงป่า ดอยหลวงเชียงดาวที่ระดับความสูง ๕๐๐ กว่าขึ้นไปถึงราวๆ ๘๐๐ จะเป็นป่าเบญจพรรณ ฉะนั้นรอบๆ ฐานดอยหลวงเกิดไฟไหม้ได้นะ แต่ไม่ได้หมายความว่าระบบนิเวศจะไม่เสียหาย ระบบนิเวศเสียหายเพราะตามธรรมชาติใบไม้ที่ผลัดใบร่วงหล่นในช่วงฤดูแล้ง ถ้าไม่ถูกไฟไหม้ก็จะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยให้ผืนป่า ฝนตกลงมาก็ชะเอาปุ๋ย อาหารพืช อาหารสัตว์ไหลลงมากับน้ำ มาหล่อเลี้ยงตามแม่น้ำ ลำห้วย ลำธาร เป็นห่วงโซ่สายใยของอาหาร เราใช้คำว่ากระบวนการของธรรมชาติ หรือ Ecology process

“ทีนี้เมื่อเกิดไฟไหม้แทนที่ใบไม้จะเป็นปุ๋ยก็กลายเป็นเชื้อเพลิง หายไปเหลือแต่ขี้เถ้า ตามปรกติขี้เถ้าที่มีความเป็นกรดด่างเมื่อฝนตกชะล้างลงมาก็ยังเป็นประโยชน์ให้กับพืชกับสัตว์อยู่บ้าง แต่ปัญหาคือหลังไฟไหม้เรือนยอดของต้นไม้ผลิแตกมาไม่ทัน บทบาทเรือนยอดของต้นไม้หรือใบไม้ที่มันสลับทับซ้อนทั้งสูงทั้งต่ำ แล้วก็แผ่กว้างในแนวราบ ถ้าฝนตกหนักแล้วผลิใบมาไม่ทัน ก็ทำให้มีช่องว่างที่เม็ดฝนจะกระแทกหน้าดิน เกิดการชะล้าง ฝนตกมากๆ ก็กลายเป็นน้ำไหลบ่าท่วมท้น เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม ไฟป่ากับดินถล่มมันสัมพันธ์กันนะ กลายเป็นความเสียหายทางระบบนิเวศที่ประเมินค่าไม่ได้ และไม่มีใครประเมิน ไม่มีใครศึกษา ว่าเราสูญเสียความสามารถในการกักเก็บน้ำคิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่

“แล้วมันไม่ใช่แค่สูญเสียความสามารถในการกักเก็บน้ำ มันสูญเสียที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร แหล่งหลบซ่อนของสัตว์ป่า ไม่ใช่แค่สัตว์ป่าตัวใหญ่ๆ อย่างเก้ง กวาง ช้าง กระทิง แต่รวมไปถึงแมลง ตัวบุ้ง ตัวหนอน ผีเสื้อ แมลงปอ ซึ่งต่างก็เป็นห่วงโซ่สายใยของอาหาร สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงสูญเสียความชื้นในป่า เมื่อไฟไหม้ความชื้นหายไปการเติบโตของมอส ไลเคนก็ชะงักงัน

“สิ่งที่น่ากลัวคือไฟมันจะลุกลามขึ้นไปในที่สูง ประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร ๑,๕๐๐ เมตร หรือ ๑,๘๐๐ เมตร ระดับนี้เป็นพื้นที่ของป่าดิบแล้ง หรือ Dry Evergreen Forest ซึ่งมักจะเป็นไม้เนื้ออ่อนสลับกับไม้เนื้อแข็ง พวกยางแดง ตะเคียนแดง มะม่วงป่า ป่าดิบแล้งจะขึ้นสลับกับป่าดิบชื้น หรือ Moist Evergreen Forest ซึ่งเป็นป่ารกทึบมองดูเขียวชอุ่มตลอดปี พวก Evergreen Forest เนี่ยมันจะอยู่ในหุบเขา มันจะเป็นตาน้ำ

“ฉะนั้นบทบาทของป่าดิบแล้งกับป่าดิบชื้นคือกักเก็บน้ำ แล้วคายน้ำไปหล่อเลี้ยงผืนป่าอื่น เวลาเราอยู่บนยอดดอยตอนเช้าๆ มองลงมาข้างล่างที่ระดับความสูงกลางๆ ของดอยหลวงจะเห็นกลุ่มละอองน้ำหรือหมอกน้ำอบอวล ลมจะพัดหมอกหรือไอน้ำตีขึ้นบนยอดดอยหลวงแล้วกระจายลงสู่ข้างล่าง ไหลลงสู่ลำธาร รวมกันเป็นลำห้วยเป็นแม่น้ำ ซึ่งดอยหลวงเชียงดาวเป็นป่าต้นน้ำแม่ปิงที่ไหลไปหล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ นี่เป็นกระบวนการของระบบนิเวศคือ พืชคายน้ำ เกิดแดดส่อง เกิดอุณหภูมิที่แตกต่าง เกิดการเคลื่อนตัวของสายลม ของหมอกน้ำ

“ที่ระดับสูงขึ้นไปอีกคือเกิน ๒,๐๐๐ เมตรจะเป็นป่าเมฆหรือ cloud forest เป็นป่าที่มีต้นมอส เฟิร์น ไลเคน เถาวัลย์หนาแน่น ทำงานเหมือนฟองน้ำอย่างเห็นได้ชัด บางทีใบไม้ กิ่งไม้ ร่วงหล่นลงมาทับถมนาน ๑๐ ปี ๒๐ ปี ไม่มีไฟไหม้ก็หนาเป็นคืบเป็นศอกเป็นวา ป่าเช่นนี้ถ้าไหม้ไฟจะฟื้นตัวยาก ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปีกว่าจะฟื้นตัว และที่อยู่สูงสุดคือสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ (Alpine) หรือสังคมไม้แคระ มีต้นค้อเชียงดาว ก่อผา กุหลาบพันปี เป็นต้น

ค้อเชียงดาวเป็นพืชวงศ์ปาล์ม พบขึ้นอยู่ตามสันเขาและยอดดอยในระดับความสูง ๑,๙๐๐ เมตร (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ฟองหินเหลือง พืชเฉพาะถิ่น พบขึ้นตามเขาหินปูนบนพื้นที่โล่งของดอยเชียงดาว ระดับความสูง ๑,๕๐๐-๒,๑๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

กลุ่มละอองน้ำหรือหมอกน้ำอบอวล เมื่อลมพัดหมอกหรือไอน้ำขึ้นบนยอดดอยหลวงแล้วก็จะไหลลงสู่เบื้องล่าง รวมกันเป็นลำห้วย ลำธาร แม่น้ำ ดอยหลวงเชียงดาวเป็นป่าต้นน้ำแม่ปิงที่ไหลไปหล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)


ไฟป่าตามธรรมชาติเป็นเรื่องธรรมชาติ

“ในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ หรือแม้แต่ป่าสนที่ขึ้นเป็นหย่อมๆ ถูกไฟไหม้ได้ ป่าพวกนี้ตามธรรมชาติต้องอาศัยไฟ อย่างต้นสนมีใบที่ร่วงหล่นลงมามีน้ำมัน เม็ดสนถ้าไฟบนผิวดินไม่รุนแรงเกินไปนักจะเป็นตัวกระตุ้น ทำให้เม็ดสนงอก ต้นไม้ในป่าเต็งรังทั้งต้นเต็งต้นรัง หรือต้นสักในป่าเบญจพรรณ อุณหภูมิความร้อนของไฟจะกระตุ้นเมล็ดพันธุ์ให้เจริญเติบโตงอกงาม นี่เป็นข้อดีของไฟที่อยู่ในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าสน

“ในป่าเต็งรังลองนึกภาพตาม ถ้าไม่เกิดไฟไหม้จะมีหญ้าขึ้นมาสูงระดับเอว สัก ๑-๒ เมตร เมล็ดพันธุ์ไม้ร่วงหล่นลงมามันก็จะไปค้างอยู่ตรงพุ่มไม้ เมื่อไม่ถึงพื้นก็ไม่งอกออกมา แต่ถ้าไฟไหม้หญ้า เมล็ดพันธุ์ร่วงหล่นลงมาถึงพื้นดิน แล้วมีไฟลวกเมล็ด ก็กระตุ้นให้ต้นไม้เจริญเติบโตขึ้นมาได้

“ผลผลิตของป่าเต็งรังกับป่าเบญจพรรณหลังไฟไหม้แล้วฝนตกลงมายังให้เห็ด หลังจากไฟไหม้แล้วฝนตกจะมีเห็ด หน่อไม้และผักป่า ยอดของต้นไม้ใบไม้ที่เรารู้จักกันทั่วไปคือผักหวาน หลังจากไฟไหม้ ป่าฟื้นตัว ต้นไม้ผลิใบหรือแตกยอดออกมาใหม่แล้วจะมีแมลง เป็นอาหารของสัตว์ป่าและคน จะเห็นว่าป่าที่อยู่สูงขึ้นไปอย่างป่าดิบแล้ง หรือป่าสน จะไม่ค่อยมีเห็ดหรือของกินมากเท่า แต่จะมีสัตว์ใหญ่ๆ อย่างหมีควาย เก้ง หมูป่า ลิง ค่าง นก

“ไฟป่าเป็นส่วนหนึ่งของ Ecology process ในเงื่อนไขว่าเกิดในป่าเต็งรังหรือป่าเบญจพรรณ มันควรจะไหม้ทุกๆ ปีเพื่อไม่ให้เชื้อเพลิงสะสม ปีหนึ่งอาจจะไหม้สัก ๒-๓ ครั้ง เชื้อเพลิงจะได้เบาบางลง ไหม้แล้วไม่รุนแรงมาก ไฟไม่ลุกลามไปถึงป่าต้นน้ำ

“บริเวณรอบๆ ค่ายเยาวชนเชียงดาวเป็นป่าเบญพรรณผสมป่าเต็งรัง แล้วก็มีสวนป่าไม้สักอายุประมาณ ๓๐-๔๐ ปี ช่วงเดือนมกรา กุมภา มีนา เราช่วยกันทำแนวกันไฟทุกปี พอปลายมีนาไฟจะเริ่มรุนแรงมาจนถึงต้นเดือนเมษายน อาสาสมัครจะรู้ว่าพอถึงปลายกุมภา ต้นมีนา จะทำแนวกันไฟ

“เจ้าหน้าที่ก็ทำโดยเฉพาะบริเวณรอบสำนักงานที่ทำการของเขา ทางวัดถ้ำผาปล่องก็ทำ ส่วนของผมทำโดยใช้แรงงานชาวบ้านเป็นหลัก รวมทั้งอาสาสมัครที่ประกาศรับทางออนไลน์ กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่มีกำลังเยอะก็มาช่วยกัน แล้วก็คอยตรวจตรา ออกลาดตระเวน เฝ้าระวัง ฉะนั้นอุปกรณ์ที่เรามีไว้ประจำค่ายนอกจากอุปกรณ์ดับไฟแล้วก็คืออุปกรณ์ทำแนวกันไฟ

“การทำแนวกันไฟเป็นกิจวัตรที่ต้องทำทุกปี เพราะมันช่วยให้บริหารจัดการไฟได้ บางพื้นที่ทำแนวกันไฟแล้วชิงเผา มีคนเฝ้า มักจะเผาช่วงเช้าที่อากาศไม่แห้ง ลมไม่แรง หรือไม่ก็เผาตอนเย็นๆ ค่ำๆ

“ทีนี้คนทั่วไปไม่ได้มองไฟป่าแบบแยกแยะ เหมารวมว่าไม่ควรจะเกิดไฟป่า คล้ายกับว่าคนยังไม่เข้าใจธรรมชาติ มองว่าหนึ่งไฟป่าไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่ถ้าเขาเข้าใจ เปิดจิตเปิดใจ รู้เรื่องธรรมชาติบ้าง เขาก็จะผ่อนคลาย ยอมรับได้บ้าง

“โดยสรุปคือไฟป่าเกิดขึ้นในป่าเต็งรัง หรือป่าเบญจพรรณ มันพอรับได้ แต่ที่ต้องระมัดระวังคืออย่าให้ไฟลุกลามไปถึงป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น แล้วขึ้นไปถึงป่าสน ป่าเมฆ และสังคมพืชกึ่งอัลไพน์

“ไฟป่าถ้าไม่รุนแรงเกินไป ธรรมชาติจะเยียวยารักษาตัวเองหรือฟื้นฟูได้ นี่เป็นกระบวนการธรรมชาติของไฟป่า เป็นส่วนหนึ่งของ Ecology process ปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูป่าหลังไฟไหม้คือฝน แล้วก็ระวังไม่ให้เกิดไฟไหม้ซ้ำ”

การทำแนวกันไฟในป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังรอบค่ายเยาวชนเชียงดาวเป็นกิจวัตรที่ต้องทำทุกปี อาศัยแรงงานชาวบ้านเป็นหลัก และเปิดรับอาสาสมัครทางสื่อออนไลน์ (ภาพ : เพียงตะวัน พุทธา)

หลังไฟป่า ค่าความเป็นกรดด่างของขี้เถ้ายังพอเป็นประโยชน์กับพืช แต่ที่ต้องระวังคือถ้าเรือนยอดไม้ผลิแตกใบใหม่ไม่ทัน เมื่อฝนตกหนักจะเกิดการชะล้างหน้าดิน (ภาพ : เพียงตะวัน พุทธา)

ไร่ข้าวโพดในป่าอนุรักษ์เป็นสาเหตุสำคัญของไฟป่า สาเหตุมาจากความบกพร่องของหน่วยงานราชการที่ปล่อยปละละเลย (ภาพ : เพียงตะวัน พุทธา)


เมื่อป่าเชียงดาวลุกเป็นไฟ

“ปีนี้อาการหนัก อยู่กับสถานการณ์ไฟป่ามาเกือบสองเดือน สงสารชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ต้องเผชิญทั้งไฟป่าและหมอกควัน บางคนเหน็ดเหนื่อย บางคนบาดเจ็บ บ่ายวันที่ ๒๕ มีนาคม ลมแรง มองไปทางดอยหลวงเห็นกลุ่มควันไฟพุ่งโพยขึ้นมาทางยอดดอยสามพี่น้อง สงสารกวางผา คงต้องหนีตายไปซุกซ่อนในซอกหน้าผา เห็นเฮลิคอปเตอร์หิ้วถังน้ำมาโปรย ๓-๔ รอบ ดีใจทั้งที่ไม่รู้ว่าจะดับไฟได้หรือไม่ จนป่านนี้ยังไม่มีทีท่าว่าฝนจะตก น้ำในลำห้วยเริ่มแห้งขอดและเหือดหายไป ป่าหลายแห่งแห้งจนใบไม้กรอบแกรบ

“ไฟป่ามักจะเกิดช่วงบ่ายๆ บ่ายวันที่ ๒๙ มีนาคม ป่าในความรับผิดชอบของทหารตรงทางแยกเมืองงายไฟลุกไหม้ มีรถดับเพลิงทหาร กรมทางหลวง เทศบาลท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านมาช่วยดับไฟ ผมเข้าไปช่วยแป๊บเดียวแสบหูแสบตาไปหมด น่าเห็นใจคนทำงาน

“เช้าวันที่ ๓๐ มีนาคม หมอก ควันไฟหนา มากที่สุดตั้งแต่เกิดมา หลังจากนอนรมควันมาแล้วทั้งคืน สะดุ้งตื่นเสียงไฟไหม้ป่าทางตีนดอยหลวง ช่วงค่ำมองจากหน้าบ้านตรงค่ายเยาวชนเชียงดาว เห็นไฟป่ากำลังไหม้ดอยหลวงเชียงดาวเป็นทางยาวขึ้นไป ตั้งจิตอธิษฐานขออย่าให้ลุกลามขึ้นไปถึงยอดกิ่วลม คืนนี้ลมร้อน อบอวลด้วยกลิ่นควันไฟ ไม่อยากจะคิดต่อทั้งต้นไม้และสัตว์ป่าจะเป็นเช่นไร เช้าวันที่ ๓๑ มีนาคม ยังมีไฟป่า มีเสียงต้นไม้แตกหักโค่นดังกึกก้อง แดดสาดแสงส่องอย่างหม่นหมองไม่ต่างจากจิตใจคนเชียงดาวเวลานี้ เฝ้าอยู่คนเดียว รอให้มีเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านมา ตกบ่ายควันไฟพุ่งโพยขึ้นมาจากดอย ไฟไหม้ลุกลามทั้งบนและล่าง เจ้าหน้าที่และชาวบ้านช่วยกันดับ บ่ายแก่ลมโหมแรง สู้ไม่ไหวจนต้องล่าถอยมาตั้งหลัก พักแล้วกลับไปสู้ต่อ ค่ำวันที่ ๓๑ ไฟป่าลุกลามไปดอยเสาธง วันนี้ไฟยังคงโหมไหม้แรงและลุกลามลงไปในหุบเหวและขึ้นไปหน้าผา บางช่วงต้นไม้หักโค่นและหินร่วงหล่นลงดอย เจ้าหน้าที่และชาวบ้านต้องถอยออกมา

“วันที่ ๑ เมษายน ป่าลุกเป็นไฟหลายจุดที่เชียงดาว บนดอยหลวงนั้นหนักมาก เป็นไฟลุกลามทั้งวันทั้งคืน ไม่ใช่ว่ามีคนจุดไฟเผาทุกวัน แต่ป่าแล้ง ลมแรง เชื้อเพลิงสะสม ป่าลึกและสูงชันเข้าไปดับไม่ได้ ทำแนวกันไฟได้เฉพาะป่าที่ราบ เย็นวันที่ ๒ เมษายน หน้าถ้ำไฟป่าสงบ ลมพัดบางเบา ไม่มีควันไฟพุ่งโพย เริ่มมองเห็นดอยบ้าง ช่วงบ่ายวันที่ ๓ เมษายนออกลาดตะเวนพบไฟไหม้ป่าตามสองข้างทางถนนสายอำเภอพร้าว-เชียงดาว เขตป่าสงวนแห่งชาติ สวนป่า ป่าเต็งรัง กับที่บ้านดงเชียงดาว ตกเย็นมีไฟไหม้ป่าหลายจุดกระจายไป เช่นที่ดอยนาง ส่วนหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เป็นป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณที่แล้ง แห้ง ติดไฟง่าย สถานการณ์คลี่คลายแต่หมอก ควันไฟ ยังอบอวลอยู่ ฝนก็ยังไม่ตก
“เกิดมาห้าสิบกว่าปี ไม่เคยเห็นทะเลเพลิงแบบนี้ ไฟป่ากับหมอกควันรุนแรงมากที่สุดตั้งแต่เกิดมา จะแล้งที่สุดหรือเปล่าคงต้องไปดูปริมาณน้ำฝน แต่มากที่สุดเท่าที่เคยพบคือไฟป่ากับหมอกควัน

“ไฟไหม้ครั้งนี้ ยังไม่รู้ว่าความจริงขึ้นไปสูงแค่ไหน จากก่อนหน้านี้ไฟจะไหม้อยู่ข้างล่างแล้วหยุด แต่ครั้งนี้ดูจากข้างล่างมองขึ้นไปจะเห็นกลุ่มควันไฟกระจายอยู่ใกล้ๆ กิ่วลมเลยนะ อยากขึ้นไปสำรวจมาก แต่ต้องขออนุญาตกับกรมอุทยานฯ เดี๋ยวนี้ขึ้นไปยาก ต้องขออนุญาต ต้องทำหนังสือเป็นเรื่องเป็นราว

“ไฟป่าเดี๋ยวนี้เกิดจากคนเผา ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นชาวบ้านอย่างเราๆ ไม่ได้มีเจตนากล่าวโทษแต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงที่มา ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนยากจนที่อาศัยอยู่ในป่า เป็นคนที่ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร ไม่รู้หนังสือ บางคนพูดไทยไม่ได้ด้วยซ้ำ วัตถุประสงค์หลักๆ ที่เขาเผาเพราะมันติดนิสัย ต้องการให้ป่าโล่งเตียน มันจะมีเห็ดมีหน่อไม้ มันเดินไปไหนมาไหนสะดวกสบาย ในชีวิตเขาเข้าป่ามากกว่าเข้าเมือง ป่าจึงเป็นแหล่งหากิน เขาอยู่กับป่าจะเลี้ยงสัตว์ เก็บหาของป่า ไม่รู้หรอกว่าหมอกควันมันไปสร้างความเสียหายกับใคร ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีรณรงค์ห้ามเผาป่า

“อีกสาเหตุของไฟป่ามาจากการเผาไร่ข้าวโพด สาเหตุมาจากความบกพร่องของหน่วยงานราชการที่ปล่อยปละละเลย ปล่อยให้มีการทำไร่ข้าวโพดในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุกวันนี้มีไร่ข้าวโพดในป่าอนุรักษ์ ป่าต้นน้ำ พรุนเลยนะ กลายเป็นป่าเว้าๆ แหว่งๆ

“เมื่อปล่อยให้ชาวบ้านปลูกข้าวโพดในป่า วิธีกำจัดวัชพืชหรือเตรียมพื้นที่เพาะปลูกปีต่อไปที่ง่ายที่สุด ประหยัดที่สุด คือจุดไฟเผา เมื่อไม่ได้ทำแนวกันไฟหรืออยู่เฝ้าไฟก็ลุกลามเข้าไปในป่า

“ปัญหาอีกอย่างคือเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจข่มขู่ ข่มเหงรังแก ใช้ความรุนแรงกับชาวบ้าน ทุกวันนี้ชาวบ้านในป่าอยู่อย่างถูกกดดัน หวาดระแวง ชาวบ้านมีความเกลียดความชังเจ้าหน้าที่ แล้วก็ประชดประชันด้วยการเผาป่า ถ้าเจ้าหน้าที่อะลุ่มอล่วย ประนีประนอมให้ชาวบ้านเก็บหาของป่าได้บ้าง สื่อสารกับเขาด้วยความอ่อนโยน เมตตากรุณา ขอร้องให้เขาลดการปลูกข้าวโพดในป่า ชักชวนให้มาทำพืชผัก พืชสวนผลไม้ เขาก็จะได้ไม่ต้องเผาป่า เพราะกลัวไฟไหม้พืชผลของเขา

“ผลไม้ที่ปลูกในป่าในดอยได้ดีก็มีอะโวกาโด ชา กาแฟ มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ หรือแม้แต่ลูกพลับ ที่เชียงดาวระดับความสูง ๑,๐๐๐ เมตร ๑,๐๐๐ กว่าเมตรปลูกอะโวกาโด ชา กาแฟ ได้ดี แต่ไม่มีใครไปส่งเสริม เขาก็เลยปลูกแต่ข้าวโพดเพราะรัฐบาลประกันราคา แล้ว ธกส.ก็ให้เงินกู้สนับสนุน ตลาดพืชผลทางการเกษตรก็ขายเมล็ดข้าวโพดของซีพี มีทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลงโหมกระหน่ำเข้าไปในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ชาวบ้านได้ข้าวโพดไปขาย คนในเมืองได้ไก่ได้หมูมากิน เพราะข้าวโพดเป็นพืชอาหารสัตว์ มีทั้งอุปสงค์และอุปทาน ในที่สุดธรรมชาติก็ป่นปี้

“ทุกวันนี้คนก่นด่าชาวบ้านว่าเผาป่า เพราะเขาสูดลมหายใจแล้วได้รับหมอกควัน ได้รับผลกระทบทางสุขภาพก็เกิดความไม่พอใจ แต่ถ้าเขาเปิดใจ มองเห็นความจำเป็นและวิถีชีวิตของชาวบ้านบ้างก็จะผ่อนคลาย แทนที่จะไปก่นด่าว่าร้าย ลองปรับเปลี่ยนวิธีคิดว่าทำอย่างไรจะช่วยคลี่คลายปัญหาไฟป่าหมอกควัน ทำอย่างไรให้มันไม่กลายเป็นความขัดแย้งทางสังคม

“วันนี้ไฟข้างนอก คือ ไฟป่าและหมอกควันลุกโชนในจิตใจของเขา เกิดความโกรธเกลียด ไม่พอใจ ถ้าไม่ดับไฟในใจ ความโกรธเกลียดก็จะพัฒนาไปเป็นความเคียดแค้น ชิงชัง อาฆาต พยาบาท มันก็ทำให้สังคมมีความไม่เข้าใจกัน เกิดความขัดแย้ง แตกความสามัคคี เรื่องนี้ผมเองในฐานะที่เกี่ยวข้องกับไฟป่า ก็อยากให้พยายามดูไฟในใจของเรา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในที่สุดเราก็ต้องกลับมาดูที่ตัวเรา ว่าเราจะช่วยดับไฟทั้งข้างนอกและข้างในได้อย่างไร”

ขอขอบคุณ
วนันต์ญา ดวงตานน นักศึกษาฝึกงาน