ไกรวุฒิ จุลพงศธร
teandyou@hotmail.com

ถึง มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล จะมีอายุเพียง ๒๖ ปี และเป็นผู้กำกับรุ่นเด็กที่สุดในระบบสตูดิโอ แต่เมื่อนับจำนวนผลงานที่ผ่านมา ก็แซงหน้าผู้กำกับรุ่นพี่ไปหลายคน เพราะชูเกียรติทำหนังสั้นและยาวรวมกันเกือบครบโหลแล้ว และมันบันทึกภาพสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง

อดีตนักเรียนดุริยางค์จากเชียงใหม่คนนี้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาระดับปริญญาตรีที่ภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เขาสร้างความโดดเด่นด้วยผลงานที่แตกต่างจากหนังนักศึกษาของนิเทศฯ อยู่ ๒ ประการใหญ่ นั่นคือ

๑. หนังของเขาไม่สั้น หรือควรเรียกว่า “หนังสั้นขนาดยาว” มากกว่า เพราะแต่ละเรื่องมีความยาวอย่างต่ำ ๓๐ นาที การทำหนังสั้นขนาดยาวหลายเรื่องเป็นการฝึกฝนฝีมือให้ชูเกียรติ “เล่าเรื่องขนาดยาว” อย่างเชี่ยวชาญ จุดนี้แตกต่างจากนักทำหนังสั้น นักทำหนังโฆษณา ผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ ซึ่งถูกฝึกฝนให้เล่าเรื่องจบภายใน ๓-๔ นาที แต่ต่อมาเมื่อผันตัวเป็นผู้กำกับหนังยาว ก็ประสบปัญหาในการร้อยเรียงเรื่องความยาวชั่วโมงกว่าๆ ให้ลงตัว

๒. หนังของเขาไม่กุ๊กกิ๊กแบบเด็กชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแนวถนัดของหนังนิเทศฯ จุฬาฯ หนังสั้นของชูเกียรติมักมีเนื้อหาเกิดขึ้นที่เชียงใหม่ ใช้เรื่องราวที่ทั้งสนุกสนานและสะเทือนใจของวัยรุ่นเชียงใหม่ยุค ๙๐ สะท้อนภาพใหญ่ของสังคม

ชูเกียรติเริ่มต้นชีวิตการทำหนังด้วย บ้านเก่า หนังความยาว ๓๐ นาที ว่าด้วยเด็กที่ตายไปแล้ววิญญาณยังไม่ไปไหน ยมทูตจึงให้เวลา ๗ วันในการสะสางปัญหาชีวิตก่อนจะกลับ “บ้านเก่า” ต่อมา ดงรกฟ้า เรื่องเล่าสไตล์พื้นบ้านที่เด็กเชียงใหม่กลุ่มหนึ่งต้องเดินทางผ่านป่าลึกลับที่มีผีเจ้าป่าเจ้าเขาอาศัยอยู่ ตัวหนังเปรียบเหมือนการใส่ลมหายใจของวัยรุ่นเข้าไปในละครจักรๆ วงศ์ๆ

เรื่องที่ทำให้เห็นพรสวรรค์ในการเล่าเรื่องอย่างโดดเด่นเป็นเรื่องแรกก็คือ มอเตอร์ไซค์ฮ่าง หนังก้าวพ้นวัยว่าด้วยเด็กวัยรุ่นเชียงใหม่ที่เรียนรู้ชีวิตจากการหนีเรียนไปเข้าแก๊งมอเตอร์ไซค์ชื่อ “child center” ซึ่งนั่นทำให้เขาได้เปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับหัวหน้าแก๊ง ซึ่งจริงๆ ก็เป็นแค่หนุ่มขี้แพ้ไม่มีอนาคต หนังเปี่ยมด้วยลมหายใจของวัยรุ่นยุค ๙๐ และถือเป็นไดอารีบันทึกจิตวิญญาณของเด็กมัธยมรุ่นที่เพลงอัลเทอร์เนทีฟเพิ่งเข้ามาในประเทศไทย

ชูเกียรติทะเยอทะยานมากขึ้นใน ลมเยาวราช หนังส่งอาจารย์ที่เขากับเพื่อนนักศึกษาเชิญ อุ้ม สิริยากร พุกกะเวส สรพงศ์ ชาตรี และ พิมพรรณ บูรณพิมพ์ มาร่วมแสดง ตัวหนังว่าด้วยเด็กกำพร้าที่ไม่เคยเผชิญโลกกว้างเพราะอาศัยอยู่กับอาม่าในครอบครัวจีนย่านเยาวราช กับน้าสาว (อุ้ม สิริยากร) ที่เผชิญโลกอย่างสะบักสะบอมจนต้องกลับมาบ้านอีกครั้งพร้อมกับเด็กในท้อง

แต่หนังที่น่าจะดีที่สุดในกลุ่มนี้คือ ๒๐๐๓ สารคดีตามติดชีวิตวัยรุ่นที่ชูเกียรติโยนกล้องวิดีโอให้เด็กมัธยมกลุ่มหนึ่งไปถ่ายชีวิตตัวเองกับเพื่อนๆ ผลลัพธ์อันน่าสะเทือนใจก็คือภาพของเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องแบกรับค่านิยมต่างๆ ของสังคม ตั้งแต่การเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ความสับสนในเรื่องของหัวใจตามประสาวัยหนุ่ม การต้องเป็นเสาหลักของบ้านให้แก่ครอบครัวที่ไม่มีพ่อ เรียกได้ว่าเป็นเด็ก ม. ๖ ที่ต้องทำตามความคาดหวังของสังคม ทั้งที่ไม่มีใครเป็นแบบอย่างในชีวิตได้สักคน “พี่ครับ ชีวิตผมมันเหี้ยมากจนบางครั้งผมอยากตายไปเลย” คือประโยคที่หลุดจากปากของเด็กมัธยมหน้าใสที่กำลังดื่มเหล้าอยู่

จากผลงานที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ชูเกียรติมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการสะท้อนภาพใหญ่ของสังคมผ่านตัวละครเด็กชายผู้ย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม

ส่วนหนังที่เปิดทางให้ชูเกียรติกลายเป็นผู้กำกับอาชีพคือ ลี้ หนังความยาว ๒ ชั่วโมงที่เขาร่วมมือสร้างกับเพื่อน-พี่-น้องในคณะ โดยเล่าเรื่องของสองเหตุการณ์คู่ขนาน ระหว่างเด็กผู้ชายที่มีปัญหากับโต๊ะพนันบอลจนต้องเดินทางไปขนยาเสพติดเพื่อแลกกับเงินก้อนใหญ่ กับชายหนุ่มที่ไม่เคยพบเจอลูกชายของตนเองเพราะอาชีพมือปืนทำให้เขาต้องตัดขาดลูกเมีย

ประเด็นใหญ่ที่น่าสะเทือนใจก็คือ ชายคนหลังเป็นพ่อของเด็กผู้ชายคนแรก และงานล่าสุดของเขาก็คือต้องฆ่าเด็กขนยา…โดยที่เขาเองไม่รู้เลยว่าเด็กคนนั้นคือลูกของตน

ลี้ ถูกสร้างขึ้นโดยหวังให้เป็นหนังนักศึกษาขนาดยาวเรื่องแรกของประเทศไทยที่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์ และทีมผู้สร้างก็ทำสิ่งนี้ให้เป็นจริงขึ้นมาด้วยการเช่าโรงภาพยนตร์สยามเพื่อฉายหนังเรื่องนี้ ๑ วัน การฉายหนังในวั้นนั้นทำให้ชูเกียรติได้พบกับ ปรัชญา ปิ่นแก้ว แห่งค่ายบาแรมยู และผู้บริหารของ Fat Radio จนต่อมาเขาถูกเลือกเป็นผู้กำกับใน “ยักษ์เล็ก” โครงการผลิตหนังทุนต่ำ (๕ ล้านบาท ในขณะที่หนังทั่วไปใช้ทุน ๘-๑๐ ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ) ของค่ายสหมงคลฟิล์มและบาแรมยู ซึ่งทำให้ชูเกียรติมีผลงานเรื่อง คน ผี ปีศาจ และ ๑๓ เกมสยอง ในเวลาต่อมา

หากเรานำ ลี้, คน ผี ปีศาจ และ ๑๓ เกมสยอง มาวางเรียงต่อกัน ผลลัพธ์ก็คือภาพของมุมหนึ่งในสังคมไทยในยุคที่ปกครองโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร

ตัวละครใน ลี้ ต้องตกนรกทั้งเป็น สืบเนื่องมาจากนโยบายการปราบปรามยาเสพติดของทักษิณที่นำไปสู่การฆ่าตัดตอน คน ผี ปีศาจ ก็นำเสนอชีวิตที่เป็นเหยื่อของนโยบายดังกล่าวทั้งทางตรงและเปรียบเปรย ในทางตรง ตัวละครเอกซึ่งเป็นเด็กสาววัยรุ่นที่ต้องเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ กับป้า เพราะพ่อแม่เป็นเหยื่อของการฆ่าตัดตอน ในทางเปรียบเปรย เมื่อเด็กสาวหวังพึ่งร่มโพธิ์ร่มไทรของคุณป้า แต่กลับหนีเสือปะจระเข้ ๒ ตัว เพราะคุณป้าเสียสติวิ่งไล่ฆ่าเธอ และยังมีผีที่คอยตามหลอกเธออีกด้วย เปรียบได้กับประชาชนตาดำๆ ที่หวังพึ่งเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐนี่แหละที่ทำร้ายประชาชน

ปีศาจในที่นี้จึงไม่ใช่เพียงแค่ผีสาง แต่หมายรวมถึงภาครัฐ

ใน ๑๓ เกมสยอง ชูเกียรติวิพากษ์สังคมไทยยุควัตถุนิยมฟูเฟื่อง ตัวละครเอกของเรื่องเป็นเซลส์แมนตกงานที่ได้รับคำเชื้อเชิญให้เล่นเกมลึกลับ ๑๓ ข้อซึ่งท้าให้ทำสิ่งหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมทั้งหลายเพื่อแลกกับเงินจำนวนมหาศาล นอกจากการวิพากษ์เรื่องของ “คน” กับ “เงิน” แล้ว หนังยังน่าสนใจด้วยการเปรียบเทียบผู้อยู่เบื้องหลังเกมสยองนี้ว่า เป็น “ระบบ” ที่เรามองไม่เห็น แต่คอยชักใยให้สังคมบิดเบี้ยวไปในทิศทางที่ “พวกเขา” ต้องการ

ผมคิดว่าเป็นเรื่องเสียดเย้ยชั้นเยี่ยมที่ชาวเชียงใหม่คนนี้ได้ทำหนังวิพากษ์คนเชียงใหม่ที่ดังที่สุดในประเทศไทย-ทักษิณ ชินวัตร และต้องอย่าลืมว่านี่เป็นการวิพากษ์ในยุคที่ทักษิณยังเรืองอำนาจอยู่

ก่อนจะสร้าง ๑๓ เกมสยอง เขายังทำหนังสั้นเรื่อง Earthcore (ซึ่งเปรียบเป็น “๑๑“) อันว่าด้วยต้นกำเนิดของความชั่วร้ายที่ดิ่งลึกในจิตใจมนุษย์ และ ๑๒ : Begin ซึ่งว่าด้วยเด็กคนหนึ่งที่เพื่อนผู้เสียชีวิตไปแล้วได้ติดต่อมาทาง msn และนำเขาไปสู่เกมปริศนา ในอนาคตชูเกียรติยังวางแผนจะทำ ๑๔ อันพูดถึงผลต่อเนื่องของเกมลึกลับ เพื่อให้ครบเป็น “๑๑“ “๑๒“ “๑๓“ และ “๑๔“ ซะเลย

ทั้งใน ลี้ และจตุภาค “๑๑-๑๔“ นี้ ใช้โครงสร้างของ “หนังหลากชีวิต” (ensemble drama) ซึ่งเป็นแนวของหนังที่มีตัวละครหลักหลากหลายตัว และแต่ละตัวก็มีทางเดินของตนเองที่พาให้แต่ละคนเดินตัดผ่านกันไปมา และใน รักแห่งสยาม หนังเรื่องล่าสุดที่ชูเกียรติเขียนบท กำกับ และแต่งเพลงประกอบส่วนใหญ่ ก็เป็นหนังในลักษณะนี้เช่นกัน

คงต้องสารภาพก่อนว่าตัวหนังเวอร์ชันที่ผมได้ดูนั้นเป็นเวอร์ชันก่อนจะมิกซ์เสียงจริง แต่ก็ถือว่าเป็นเวอร์ชันที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากแล้ว

เพื่อมิให้เสียอรรถรส ผมคงไม่ลงรายละเอียดของเนื้อเรื่องมากนัก (หนังเข้าฉายตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤศจิกายนเป็นต้นไป) แต่เรื่องราวคร่าวๆ ของหลากตัวละครที่สอดประสานกันก็คือ ครอบครัวของกรณ์ (ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี) และสุนีย์ (สินจัย เปล่งพานิช) ต้องพบกับความทุกข์ทรมานเมื่อลูกสาวสุดที่รักหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย นั่นทำให้โต้ง (มาริโอ้ เมาเร่อ) ลูกชายคนเล็ก เติบโตท่ามกลางการดูแลอย่างเคร่งครัดของแม่ และความรู้สึกเบาโหวงในจิตใจ

สิ่งที่เข้ามาทำให้ชีวิตของโต้งมีสีสันขึ้นมาก็คือการพบเจอมิว (วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงศ์กุล) เพื่อนเก่าที่เคยอยู่ข้างบ้าน ปัจจุบันถึงหัวใจของมิวจะยังไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ก็มีหญิง (กัญญา รัตนเพชร์) สาววัยรุ่นที่พยายามทำทุกวิถีทางให้มิวตกหลุมรักเธอ นอกจากนี้มิวยังทำวงดนตรีสมัครเล่นกับเพื่อนๆ โดยมี พี่จูน (เฌอมาลย์ บุณยศักดิ์) เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลวง

เขียนไปซะหลายบรรทัด แต่ยืนยันครับว่ายังไม่ได้ลงรายละเอียดของเรื่องมากนัก เพราะเอาเข้าจริงๆ ตัวละครแต่ละตัวต่างมีเส้นทางของตัวเองที่ตัดผ่านกับตัวละครอื่นๆ กันอย่างซับซ้อน แต่ชูเกียรติจัดวางไว้อย่างประณีต จึงทำให้เข้าใจเนื้อเรื่องและลำดับอารมณ์ตามได้โดยง่าย

สิ่งที่แตกต่างจากโปสเตอร์หนังใสๆ ของ รักแห่งสยาม ก็คือปัญหาอันหนักอึ้งของตัวละครทุกตัวในความยาว ๒ ชั่วโมงครึ่ง (ซึ่งไม่มีหนังไทยเรื่องไหนในรอบปียาวได้ขนาดนี้ ยกเว้นแต่ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) บางตัวละครกำลังแก้โจทย์ของรักครั้งแรก และบางตัวละครแก้โจทย์ของรักครั้งสุดท้าย บางตัวละครเป็นผู้ให้ บางตัวละครเป็นผู้รับ บางตัวละครคิดว่ารักมีแบ่งแยกเพศ บางตัวละครไม่คิดอย่างนั้น บางตัวละครมีปัญหากับครอบครัว แต่บางตัวละครไม่มีแม้กระทั่งครอบครัว บางตัวละครเป็นเด็กที่เพิ่งเจอปัญหาใหญ่ครั้งแรกของชีวิต แต่อีกตัวละครเป็นผู้ใหญ่ที่แก้ปัญหาชีวิตมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ติดกับดักชีวิตครั้งใหม่จนต้องย้อนถามตัวเองว่า “ฉันยังทำดีไม่พออีกหรือ ?”

ทุกตัวละครล้วนสูญเสีย แต่พวกเขาค่อยๆ ได้รับการเยียวยาด้วยความรักของอีกตัวละครหนึ่ง

สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกสัมผัสได้อย่างเต็มที่ตลอดทั้งเรื่องก็คือ คนทำหนังมีความปรารถนาในการเล่าเรื่องอย่างยิ่ง นี่ไม่ใช่แค่หนังสูตร หนังตอบโจทย์ หรือหนังขายไอเดีย แต่เป็นความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ของคนคนหนึ่งที่อยากบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้คนอื่นๆ ได้รับรู้

นอกจากนี้ อาจเป็นเพราะชูเกียรติเป็นเด็กเชียงใหม่ที่เข้ามาหาเลี้ยงชีพในกรุงเทพฯ หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ แต่เราได้รับความรู้สึกของคนต่างจังหวัดที่กัดฟันสู้ชีวิตอยู่ในหนังของเขาเสมอ ตั้งแต่กัดฟันสู้เพื่อเอาตัวรอดจากผี ใน คน ผี ปีศาจ หรือสู้เพื่อเงิน ใน ๑๓ เกมสยอง

ใน รักแห่งสยาม มีตัวละคร ๒ ตัวที่มีวิญญาณลักษณะนี้โดดเด่น ก็คือ สุนีย์ ผู้หญิงที่แบกทั้งความเป็นเมีย-ผู้ต้องดูแลผัวที่ไม่คิดจะใช้ชีวิตอีกต่อไปแล้ว กับแม่-ผู้ที่จะไม่ยอมสูญเสียลูกไปอีกคนหนึ่ง เธอแบกสิ่งเหล่านี้ไว้บนบ่าทุกคืน แล้ววันหนึ่งมันก็พังครืนลงมา อีกตัวละครหนึ่งก็คือ จูน หญิงสาวที่ตรงข้ามกับสุนีย์ทุกประการ เพราะเธอเป็นเด็กต่างจังหวัดผู้มาอาศัยอยู่ตัวคนเดียวในเมืองใหญ่ ทั้งที่ตัวละครนี้รับบทโดย เฌอมาลย์ บุณยศักดิ์ ซึ่งผมคิดว่าชีวิตจริงของเธอห่างไกลจากตัวละครมาก แต่เธอก็สื่ออารมณ์โดดเดี่ยวอย่างพอดิบพอดี โดยเฉพาะฉากที่เราได้เห็น “ห้อง” ของตัวละครนี้เป็นครั้งแรกอาจถือเป็นหนึ่งในฉากที่ดีที่สุดของเรื่องก็ว่าได้

แต่เคมีที่ค่อนข้างแปร่งๆ ก็คือ สไตล์การแสดงที่ยังไม่รวมกันเป็นเนื้อเดียวกัน มันมีตั้งแต่สไตล์การแสดงแบบนักแสดงมืออาชีพของสินจัยและทรงสิทธิ์ ที่เน้นการใช้เทคนิคอย่างจัดจ้าน จนถึงสไตล์การแสดงแบบธรรมชาติของนักแสดงหน้าใหม่ ที่เน้นความสมจริงราวกับไม่ได้มีกล้องไปถ่ายพวกเขาอยู่ โดยมีเฌอมาลย์ที่ใช้สไตล์การแสดงแบบกลางๆ เป็นตัวเชื่อมต่อการแสดงทั้งสองฝั่ง (โชคดีที่ตัวละครนี้ถูกวางไว้เพื่อปะทะกับทั้งตัวละครกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ จึงช่วยภาพรวมมากขึ้น)

การแสดงทั้งสองแบบนี้มีจุดเด่นในตัวของมันเองอยู่ที่ผู้กำกับต้องเลือกใช้ให้ถูก เช่นในฉากแก๊งเพื่อนทั้งหลาย การแสดงอย่างเป็นธรรมชาติของนักแสดงวัยรุ่นก็ทำให้เราเชื่อสุดใจว่าพวกเขาเป็นเพื่อนกันจริงๆ หรือในฉากที่สุนีย์บอกให้ลูกเลือกของประดับต้นคริสต์มาส ต้องใช้นักแสดงที่ชำนาญด้านเทคนิคอย่างแม่นยำอย่างสินจัยเท่านั้น ที่สามารถทำให้ประโยคประดิดประดอยดังกล่าว (ซึ่งหากพูดออกไปไม่ดีก็จะเป็นประโยคสุดเชยทันที) กลายเป็นประโยคที่ทรงพลังที่สุดของเรื่อง

หนังไทยหลายเรื่องมักจะโกงอารมณ์คนดูด้วยการรวบรัดตัดตอนให้จบด้วยรอยยิ้มเพื่อติดสินบนผู้ชม แต่ รักแห่งสยาม เลือกฉากจบได้ลงตัวจริงๆ โดยเฉพาะทางเลือกของตัวละครหนึ่งที่สับสนมาตลอดทั้งเรื่องได้ประกาศเสียทีว่า คนที่เขาควรจะอยู่ด้วย ณ เวลานี้คือใครกันแน่

มากไปกว่านั้น ถึงตัวละครทุกตัวจะได้ความรักเยียวยา แต่ในช่วงที่หนังจบลง มันก็ยังมีร่องรอยของความทุกข์ติดอยู่บนแผ่นฟิล์มเสียเยอะ จนเชื่อว่าน่าจะกรีดเข้าไปในใจคนดูในขณะเดินออกจากโรงด้วย เปรียบได้ว่าในหนังเรื่องอื่น ตัวละครมักจะจัดการบาดแผลของตัวเองจนหายขาดหรือตกสะเก็ดเรียบร้อยแล้ว แต่แผลของตัวละครใน รักแห่งสยาม ยังเป็นแผลสดๆ อยู่ บางแผลยังต้องอาศัยเวลาในการรักษา และบางคนก็ได้ “แผลเป็น” ติดไปทั้งชีวิต

รักแห่งสยาม ทำให้ผมนึกถึงหนังอีกหลายเรื่องที่ใกล้เคียงกัน ครั้งแรกที่ได้อ่านเนื้อเรื่องคร่าวๆ แล้วนึกถึงหนังอังกฤษเรื่อง Love Actually แต่เอาเข้าจริงๆ รักแห่งสยาม มิได้วางตัวไว้ในกลุ่มโรแมนติกคอมเมดี้ แต่เป็นเมโลดรามา ซึ่งทำให้ผมนึกถึง มหัศจรรย์แห่งรัก และ กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ มากกว่า

ที่นึกถึง มหัศจรรย์แห่งรัก เพราะทั้งคู่เป็นหนังหลากชีวิตที่หลากตัวละครเข้ามาเรียนรู้จักความหมายของรัก อีกประการก็เพราะ สินจัย เปล่งพานิช เป็นนางเอกของทั้งสองเรื่อง

ที่นึกถึง กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ เพราะทั้งสองมีโครงสร้างที่คล้ายกันมาก นั่นคือแบ่งเป็นส่วนของลูกที่พบเจอเพื่อนใหม่และผจญภัยในโลกกว้าง และส่วนของแม่ที่ทำลูกหายและออกตามหา

ทว่าในขณะที่ จินตหรา สุขพัฒน์ ใน กาลครั้งหนึ่งฯ ได้ลูกกลับคืนมาทั้งคู่ แต่ สินจัย เปล่งพานิช ใน รักแห่งสยาม สูญเสียลูกไปคนหนึ่งอย่างที่ไม่มีวันได้กลับมา ส่วนอีกคนหนีหายจากบ้านไปเดินอยู่ในสยามสแควร์

ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเรานำ กาลครั้งหนึ่งฯ มาเปรียบเทียบกับ รักแห่งสยาม ก็จะพบกับความสำคัญของหนังดรามา

หนังดรามาดีๆ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของตัวละครกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นสมุดบันทึกจิตวิญญาณของยุคสมัย หนังของ บัณฑิต ฤทธิกล เรื่องนั้นได้ซึมซับความรู้สึกของผู้คนในสังคมปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ไว้ฉันใด ก็ดูเหมือนว่าหนังเรื่องใหม่ของ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ก็จะซึมซับค่านิยมและความรู้สึกร่วมของคนในสังคมไทยปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ไว้ฉันนั้น

มากไปกว่าบันทึก…รักแห่งสยาม ยังกระตุ้นถึงประเด็นที่น่าคิดอย่างยิ่งถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อนในยุคของ ทักษิณ ชินวัตร สังคมไทยเดินหน้าไปในทิศทางทุนนิยมสุดโต่ง และต่อมาในยุค คมช. สังคมไทยก็เลือกเดินบนเส้นทางของจริยธรรมอันเคร่งครัด

แล้วมันเป็นทางออกที่แท้จริงหรือ ?

หรือทางออกที่แท้จริงคือความรัก ? มิใช่แค่รักของหนุ่มสาว หรือครอบครัว แต่เป็นความรักในเพื่อนมนุษย์ จริยธรรมที่ไร้ความรักจะบังเกิดผลอันใดเล่า ? ถ้าเราใช้ไม้บรรทัดอันเคร่งครัดของผู้เฝ้าระวังทางศีลธรรม ฉากบางฉาก (เช่นภาพวัยรุ่นสุมหัวทั้งชายและหญิงนั่งก๊งเหล้ากันบนคอนโดสูงใจกลางกรุงเทพฯ) คงทำให้ท่านผู้เฝ้าระวังกรี๊ดลั่น และชี้กราดว่านี่คือตัวอย่างของเยาวชนที่ไร้คุณค่า

ตัวหนังมิได้ตัดสินว่าการที่พวกเขาหนีออกจากบ้านมาสุมหัวกันกลางดึกนั้นเป็นเรื่องถูกหรือผิด แต่หนังมองด้วยสายตาแห่งความรักว่า เด็กพวกนี้แต่ละคนต้องพบกับปัญหาหนักหน่วงของชีวิต ตั้งแต่ปัญหาครอบครัว การเรียน ความฝัน ความสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งความสับสนในเพศของตัวเอง เขาและเธอมีความทุกข์ และมันไม่มีทางออกอย่างง่ายดายเหมือนข้อสอบ ก ข ค ง พวกเขาแต่ละคนต้องทำข้อสอบชีวิตที่บางคนไม่มีแม้กระทั่งพ่อแม่คอยสอน (หรือมีก็เหมือนไม่มี)

ถ้าเราใช้ภาษาร่วมสมัย คอนโดสูงๆ แห่งนี้คงเปรียบเป็นสถานที่ “rehab” ของเด็กๆ เหล่านี้ พวกเขาไม่ได้ติดเหล้า (อันที่จริงเพิ่งหัดกินด้วยซ้ำ) แต่พวกเขามา “พักใจ” กับคนเจอเนอเรชั่นเดียวกันต่างหาก

นอกจากนี้หนังยังนำเสนอบทสรุปของฉากนี้ได้แตกต่างจากภาพซ้ำซากที่พบได้ตามสื่อมวลชน เช่นสมมุติฐานว่าการที่วัยรุ่นสุมหัวกินเหล้าต้องจบลงด้วยการเล่นยาเสพติด การพนัน หรือวัยรุ่นสาวถูกข่มขืนหมู่

แต่ฉากนี้กลับจบลงที่วัยรุ่นหนุ่มผู้แบกรับความสับสนไม่ไหวอีกต่อไป ร่ำไห้ออกมา และวัยรุ่นสาวอีกคนสวมกอดปลอบโยนทั้งๆ ที่เธอแทบจะไม่รู้จักเขาอย่างลึกซึ้งด้วยซ้ำ

หรือนี่แหละคือความรักในเพื่อนมนุษย์…สิ่งที่สยามประเทศต้องการในขณะนี้