วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ คนอยากเป็นนักเขียนยังมีอยู่มาก คนอ่านก็มีไม่น้อย แต่คนที่อ่านแล้วให้ความเห็นออกมาดังๆ ที่เรียกกันว่า นักวิจารณ์ นับวันดูจะหาได้ยากเต็มที

ทั้งที่เป็นอีกบทบาทสำคัญของวงการวรรณกรรม ในการเป็นสะพานเชื่อมคนอ่านกับงานเขียน และเป็นคล้ายกระจกสะท้อนให้คนเขียนได้มองเห็นงานตัวเองจากอีกมุมหนึ่ง

แต่ความพยายามในการปลุกพลังสังคมการณ์วิจารณ์ก็ยังมีอยู่เป็นระยะ หลังสุดเมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จัดโครงการเพิ่มพูนความรู้ภาษาไทย เป็นกิจกรรมพิเศษให้กับนักศึกษา ครู อาจารย์ และผู้สนใจทั่วไป ในหัวข้อการวิจารณ์ ๗ กลุ่มงานเขียน ได้แก่ วรรณคดี กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย วรรณกรรมเยาวชน สารคดี และบทละครโทรทัศน์ โดยเชิญผู้สร้างสรรค์งานแต่ละประเภทประกบคู่นักวิจารณ์ พูดถึงการสร้างงานและเปิดการวิจารณ์เป็นกรณีศึกษาให้ผู้ร่วมประชุมได้ความรู้ควบคู่ไปพร้อมกัน

กลุ่มสารคดีผมอยู่คู่กับคุณจรูญพร ปรปักษ์ประลัย นกวิจารณ์มือเก๋าผู้คลุกคลีกับงานนี้มายาวนาน ผู้เข้าร่วมกระบวนการส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาเอกไทย และครูอาจารย์จากทั่วประเทศรวมราว ๔๐ คน

พูดถึงการวิจารณ์สารคดีก็เริ่มจากการทำความเข้าใจหลักการเบื้องต้นว่าด้วยเรื่องจริง (Nonfiction) เรื่องแต่ง (Fiction) องค์ประกอบของงานสารคดี กลุ่มข้อมูล กลวิธีการนำเสนอ ฯลฯ

ในการวิจารณ์เบื้องต้นก็วิจารณ์ผ่านหลักการและกรอบเกณฑ์ต่างๆ นี้ หรือแม้เมื่อจะเป็นผู้สร้างสรรค์งานเอง ก็สามารถทำผ่านหลักวิธีการนี้ได้เลย

อย่างไรก็ตาม ความรู้ทั้งหลายจะกลายเป็นความรู้ของตนได้อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อได้ลงมือทำเอง ช่วงหนึ่งของการเข้าร่วมกิจกรรมจึงเป็นการเปิดให้สมาชิกทุกคนมีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติการวิจารณ์ด้วย นอกเหนือจากฟังการสนทนา ถาม-ตอบข้อสงสัย โดยใช้ตัวอย่างงานเขียนสารคดีขนาดสั้น ๓-๔ หน้า เป็นแบบฝึกหัดจับใจความของเรื่อง พร้อมให้คำวิจารณ์ นำเสนองาน แล้วซ้อนการวิจารณ์จากวิทยากรและผู้ฟังทั้งห้อง หมุนเวียนกันครบทุกผลงาน ก็ได้การเรียนรู้ร่วมกันจากมุมมองที่หลากหลาย

เป็นบันไดขั้นต้นที่พอเป็นความหวังได้ว่า จะเป็นการเพาะกล้าและหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์แห่งการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ให้ดำเนินอยู่ในวงการวรรณกรรม ควบคู่ไปกับวัฒนธรรมการอ่านการเขียน


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา