ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
วันหนึ่งในรถตู้ประจำทาง ระหว่างนั่งรอคนเต็มให้รถออกก็หันมองโน่นนี่ไปเรื่อย สังเกตเห็นภาพถ่ายชายสูงอายุท่านหนึ่ง ใส่เสื้อคอกลมสีน้ำเงิน ประกอบกับตัวหนังสือจีนและลายเส้นขยุกขยิก แปะติดไว้บนเพดานรถตู้เหนือที่นั่งคนขับ รวมกับรูปรัชกาลที่ ๕ พระเกจิอาจารย์ และนางกวัก
เดาได้ทันทีว่าต้องเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” อย่างหนึ่งของคนขับ และไม่ใช่รูปพระภิกษุ เพราะท่านสวมเสื้อ มิได้ครองจีวร แต่ก็ยังรู้สึกแปลกใจ เพราะไม่เคยเห็นรูปนี้มาก่อน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นรูปใคร ไม่เหมือนอย่างรูปรัชกาลที่ ๕ หรือกรมหลวงชุมพรฯ ที่คุ้นตา
แต่ของแบบนี้ ลงได้สังเกตเห็นเข้าแล้วครั้งหนึ่งก็จะพบเจออีกเรื่อยๆ ต่อมาก็ไปเห็นรูปคนคนเดียวกันนี้อีก อยู่ตามหิ้งบูชาในร้านอาหารและร้านค้าหลายแห่ง เลยต้องลงมือสืบเสาะดูเพราะอยากรู้ว่าเป็นใคร
ด้วยความช่วยเหลือของ google ในที่สุดจึงค้นพบว่าที่เห็นคือรูป “แปะโรงสี”
ตามประวัติว่าอาแปะเป็นคนจีนแต้จิ๋ว อพยพเข้ามาเมืองไทย ทำมาหากินจนร่ำรวยเป็นเถ้าแก่โรงสีย่านปทุมธานี ตลอดชีวิตได้ประกอบกิจกุศลนานา รวมถึงเชื่อกันว่าท่านมี “องค์” และมีฌานวิเศษ ดังมีเรื่องเล่าถึงการดูฮวงจุ้ยแก้เคล็ด ช่วยเหลือปัดเป่าให้ร้ายกลายเป็นดีมากมาย ส่วนลายเส้นที่เห็นข้างๆ รูปคือ “ยันตร์” ลายมืออาแปะ
แม้จนภายหลังจากถึงแก่กรรมไปตั้งแต่เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ก็ยังมีผู้เคารพนับถือ จนมีศาลอยู่ในวัดศาลเจ้า ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปทุมธานี ในหมู่ผู้ศรัทธาเลื่อมใส เล่าลือกันว่าแม้เพียงภาพถ่ายของ “แปะโรงสี” ที่ไม่ต้องผ่านพิธีปลุกเสกใดๆ เลยก็มีความขลังในตัวเอง สามารถใช้ขับไล่สิ่งอัปมงคลหรือภูตผีปีศาจต่างๆ ได้
ไปๆ มาๆ รูปถ่ายของท่านเลยกลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในทำเนียบเครื่องรางคนค้าขาย
และนั่นคงเป็นสาเหตุที่มีรูปท่านไปติดอยู่ในรถตู้อย่างที่เห็น
ในโลกของสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบไทยๆ อาคมหรือ “ความขลัง” มิได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่เกจิอาจารย์ที่เป็นพระภิกษุเท่านั้น แต่ยังมีฆราวาสอีกหลายท่านที่เชื่อกันว่ามีพลังอำนาจพิเศษ
เช่นเรื่องเมื่อร้อยปีมาแล้ว ที่เล่ากันว่าในยุคสมัยของ “เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ นอกจากครูบาอาจารย์ของพระองค์ที่เป็นพระภิกษุอย่าง “หลวงปู่ศุข” วัดปากคลองมะขามเฒ่า และ “หลวงพ่อพริ้ง” วัดบางปะกอก ก็ยังมี “ตากัน” แห่งอ่าวสัตหีบรวมอยู่ด้วย มีตำนานเรื่องการประลองอาคมกันระหว่าง “เสด็จเตี่ย” กับ “ตากัน” อีกยืดยาว ลงท้ายด้วยการที่กรมหลวงชุมพรฯ ยอมรับนับถือในวิชา จนตั้งชื่ออ่าวตรงบริเวณนั้นไว้เป็นที่ระลึกว่า “อ่าวตากัน”
หรือในรุ่นหลายสิบปีก่อน อีกท่านหนึ่งที่เคยได้ยินชื่อก็คืออาจารย์เฮง ไพรวัลย์ ผู้ซึ่งศิลปินนักวาดภาพประกอบคนดังอย่าง “ครูเหม เวชกร” นับถือมาก
ฆราวาสผู้เรืองเวทย์นี้ นอกจากฝ่ายชายแล้วยังมีฝ่ายหญิงด้วย
ที่โดดเด่นและมีความนิยมนับถือในระดับที่มีการสร้างรูปหล่อลอยตัวไว้บูชา หรือนำภาพถ่ายมาติดไว้เป็นเครื่องรางประจำบ้านประจำร้าน คืออุบาสิกาหรือ “คุณแม่” บุญเรือน โตงบุญเติม (๒๔๓๗-๒๕๐๗) ซึ่งมักเห็นในภาพถ่ายเป็นสตรีสูงอายุ ตัดผมสั้น นั่งพับเพียบ
ลำพังหนังสืออนุสรณ์งานศพของคุณแม่บุญเรือน เคยเห็นมีผู้นำออกขายในเพจขายหนังสือเก่า ราคาเป็นหมื่นเลยทีเดียว!
*สำหรับผู้ที่สนใจใคร่รู้ประวัติและเรื่องเล่าว่าด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของอุบาสิกาบุญเรือน โตงบุญเติม สามารถไปดาว์นโหลดหนังสืองานศพของท่าน ในรูปแบบไฟล์ pdf จากเว็บไซต์ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สแกนมาจากต้นฉบับในห้องสมุดหนังสืองานศพ วัดบวรนิเวศวิหาร มาอ่านได้
ศรัณย์ ทองปาน
เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี