วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


“เรื่องเล่าจากแดนประหาร” ค่ายอบรมการเขียนในเรือนจำกลางบางขวาง เพิ่งจบไปอีกรุ่น หลังดำเนินต่อเนื่องมา ๔ เดือน ตั้งแต่กลางเดือนมกราคม ถึงต้นเดือนเมษายน ๒๕๖๒ ซึ่งนับเป็นรุ่นที่ ๔ แล้ว

การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้ผู้ต้องขังกลายเป็นนักเขียน แต่แรกเริ่มไม่ได้ตั้งเป้าคาดหวังผลเชิงคุณภาพมากกว่าการใช้งานเขียนเป็นเครื่องมือในทางการพัฒนาฟืนฟูจิตใจ แต่ท้ายสุดนักเรียนหลากวัยเขียนงานกันออกได้เต็มนิยามความเป็นสารคดี

นี้อาจเป็นอีกข้อตอกย้ำความมั่นใจให้กับทุกคนว่าการเขียน (สารคดี) ไม่ไกลเกินการเรียนรู้กันได้

รออ่านงานฉบับเต็มของพวกเขาซึ่งจะมีการพิมพ์เผยแพร่ต่อไป

ในที่นี้ขอนำเกร็ดมามุมมาเล่าสู่กันฟังไปพลางก่อน

นอกจากแบ่งปันวิชาการเขียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์การอ่านกันแบบเอาจริงเอาจัง ต้นชั่วโมงเรียนจะมีวงคุยความในใจ ผ่านโจทย์คำบางคำ อย่างง่ายๆ สบายๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ให้พลังมาก

ทำให้เขาได้ดิ่งลึกลงสู่ห้วงน้ำภายในใจตน ได้ระบายสิ่งที่ค้างคาอยู่ในความรู้สึก และบ่อยครั้งยังส่งพลังให้เพื่อนที่ร่วมฟังอยู่ในวงด้วย

เช้าวันหนึ่งนักเรียนหนุ่มใหญ่ร่างกายกำยำบึกบึนพูดถึงคำ “ขอโทษ” ว่า

“ผมอยากขอโทษลูก ที่ผ่านมาผมคิดว่าผมทำทุกอย่างเพื่อเขา แต่ตอนลูกมาเยี่ยมผม ลูกบอกว่าหนูไม่ต้องการอะไรเลย ขอแค่ได้นอนกอดพ่อ…”

แล้วเขาก็ร้องไห้ออกมา

หลายคนน้ำตาไหลไปด้วย ในจำนวนนั้นคงมีทั้งคนที่เป็นพ่อ และคนที่คิดถึงพ่อ

ผมเชื่ออย่างนั้น เพราะหลายๆ ครั้งหลายคนต่างก็พูดตรงกันว่า แดนตะรางทำให้ได้รู้ว่าไม่มีใครรักเขาเท่าบุพการี แต่เพิ่งมาคิดได้เมื่อไม่มีโอกาสได้อยู่ด้วยกันเสียแล้ว

นักเรียนวัยหนุ่มบางคนถึงกับสลักชื่อพ่อแม่ไว้เป็นลายสักเหนือหูทั้งสองข้าง!

ก่อนนั้นนักเรียนเรื่องเล่าจากแดนประหาร รุ่นแรก รายหนึ่งเล่าว่า ข่าวสารจากพ่อทำให้ใจเขาตื่นฟื้นจากความหดหู่แบบอยู่รอวันตาย หันกลับมามาวิ่งออกกำลังกายทุกเช้า หลังจากพี่สาวมาเยี่ยมแล้วเล่าว่าพ่อยังรอเขาอยู่ที่บ้าน ทุกเช้าพ่อวัยไม้ใกล้ฝั่งวิ่งออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพไว้ให้ได้จนถึงวันที่เขากลับออกไปหา ได้ฟังอย่างนั้นเช้ามาเขาก็ออกวิ่งในรั้วกำแพง ด้วยความรู้สึกว่าตัวเองกำลังวิ่งอยู่กับพ่อ เพียงแต่อยู่กันคนละที่ ต่างคนต่างวิ่งเพื่อถนอมสุขภาพตัวเองไว้ เพื่อจะรอวันออกไปพบหน้าและได้วิ่งด้วยกันจริงๆ

ต่อมาเขาได้รับอภัยโทษจาก “พ่อของแผ่นดิน” ได้รับการลดโทษ กระทั่งได้รับอิสรภาพ เขาได้กลับไปพบหน้าพ่ออีกครั้ง ไม่เพียงออกวิ่งด้วยกันตอนเช้า แต่คุณพ่อวัย ๘๓ กับลูกชายวัย ๕๒ ยังชวนกันทำกิจกรรมบำเพ็ญบุญที่นั่นที่นี่ด้วยกันเสมอ ชดเชยเวลาเกือบยี่สิบปีที่เขาถูกตัดขาดจากญาติมิตรและอิสรภาพ มาอยู่ในโลกหลังกำแพง

ในห้องเรียนการเขียนมีหนังสือให้อ่าน หนังสือวรรณกรรมอันหลากหลายนั่นแหละเป็นตำราการเขียนอย่างดีให้กับนักเขียนใหม่ เราเอามาผลัดกันอ่านให้กันฟัง และบางทีครูก็ได้นั่งอ่านระหว่างรอเวลาสอน
วันนี้ผมหยิบ “เดินสู่อิสรภาพ” สารคดีบันทึกประสบการณ์เดินเท้าทางไกลและการเดินทาง “ข้างใน” ของ ประมวล เพ็งจันทร์ มาอ่านอีกครั้ง ย่อหน้าหนึ่งบอกว่า

“ผมได้บอกเขาว่า เขาโชคดีมากที่มีลูกสาว ผมเองมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะมีลูกสักคน แต่ผมไม่มีโอกาสที่จะได้เป็นพ่อ ถ้าหากเงินทองทรัพย์สิน เกียรติยศ ชื่อเสียงที่ผมมีอยู่นี้รวมกันเป็นอย่างหนึ่ง และการได้เป็นพ่อก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แล้วให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ผมไม่ลังเลเลยที่จะเลือกเอาการเป็นพ่อที่มีลูกสาว ผมไม่มีลูกแต่ผมก็พอจะรู้ว่าการเป็นพ่อของลูกนั้นยิ่งใหญ่ปานใด…ความเป็นพ่อช่างงดงามยิ่งนัก ไม่ว่าจะไปสถิตอยู่ในร่างของใครความเป็นพ่อก็จะไม่มีบิเบี้ยวบกพร่อง ไม่ว่าความเป็นพ่อในร่างชายขี้เมา หรือความเป็นพ่อในร่างของผู้นำประเทศ”

ในแง่มุมของงานสารคดี ประเด็นย่อยๆ ที่ไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องกันนี้ อาจนำมาหลอมรวมเป็นสารคดีเรื่องเดียวกันได้โดยมองหา “เส้นเรื่อง” มาเชื่อมร้อย

หากเปรียบงานเขียนสารคดีเหมือนการร้อยสร้อยลูกปัด ในที่นี้เราสามารถใช้เรื่อง “พ่อ” เป็นเส้นเรื่อง เชื่อมร้อยเม็ดลูกหลากสีสัน ที่มาจากทั้งข้อมูลสดใหม่ ประสบการณ์ และการค้นคว้าจากหนังสือ

เพียงเท่านี้ก็เขียนงานง่ายๆ ได้ชิ้นหนึ่งแล้ว


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา