passport02Passport  


เรื่องและภาพ : สุชาดา ลิมป์

อมยิ้มแต่แรกเห็นบัตรเชิญงานแต่งขนาด A5 ที่ออกจะใหญ่มากสำหรับคนไทย

ມີຄວາມຍິນດີຂໍຖືເປັນກຽດ ຮຽນເຊີນທ່ານເຂົ້າຮ່ວມໃນງານສ້າງຄອບຄົວໃຫມ່
(มีความยินดีขอถือเป็นเกียรติ เรียนเชิญท่านเข้าร่วมในงานสร้างครอบครัวใหม่)

คือตัวอักษรน่ารักบนบัตรของ “คู่สร้างครอบครัวใหม่” หนุ่ม-สาวลาวเวียงจันทน์

เรามาถึงบ้านหนองปิง เมืองจันทะบูลี ล่วงหน้า ๑ วัน ว่าที่เจ้าสาวเพิ่งนั่งทำเล็บที่ร้านเสริมสวยในห้องเล็กๆ หน้าปากซอยบ้าน ส่วนที่บ้านพ่อกับแม่สาละวนจัดเลี้ยงอาหารรับรองแขกตามธรรมเนียมพื้นถิ่นที่เมื่อจะมีงานมงคลเกิดขึ้นที่บ้านใดบ้านนั้นต้องเลี้ยงล่วงหน้าเป็นการประกาศให้ชุมชนรับรู้

เอาจริงแล้วชาวลาวเรียกวิถี “แต่งดอง” (​ແຕ່ງດອງ​) ด้วยภาษาง่ายกว่านั้นว่า “แต่งกันเป็นผัวเป็นเมีย” และเรียกการกินเลี้ยงในพิธีมงคลนั้นว่า “กินดอง”

“ช่วงกุมภาพันธ์อย่างนี้คนจะรีบจัดงานแต่งกันเยอะ เพราะเดี๋ยวช่วงเข้าพรรษาจะไม่นิยมจัดแล้ว คนโบราณเขาถือว่าไม่เหมาะสมจะจัดอีกทีก็ต้องรอออกพรรษาก่อน”

ขันทอง ทำมะวง อธิบายเมื่อเราเล่าให้ฟังว่าก่อนจะได้รับบัตรเชิญงานแต่งของเธอก็เพิ่งไปหลวงพระบางมาเมื่อต้นเดือน ได้เห็นชาวบ้านแต่งดองกันหลายคู่
เคยแต่ไปงานแต่งคนไทยที่คู่บ่าวสาวต้องลุกมาแต่งหน้าทำผมกันก่อนฟ้าสาง ยิ่งถ้ามีเครือญาติจะร่วมใช้บริการช่างด้วยก็อาจต้องจัดคิวแรกกันตั้งแต่ตี ๒ ตี ๓ สำหรับที่นี่เจ้าสาวสามารถตื่น ๖ โมงเช้า เก็บกวาดบ้าน อาบน้ำ รอช่างแต่งหน้า ทำผม ที่นัดมาแต่งตัวให้

ตอน ๗ โมงเช้า ยังเหลือเวลาแต่งให้แม่ต่อ ค่อยเตรียมโต๊ะอาหารเลี้ยงแขกแบบไม่ต้องเร่งรีบ เพราะกว่าผู้บ่าวจะแห่ “พาขวัญ” มาตามฤกษ์ก็ ๑๐ โมงเช้า

โห่…..ฮิโห ฮิโห ฮิโห ฮิโห ฮิโห…..ฮิ้ววววว

เมื่อเสียงไชโยโห่ร้องเริ่ม ตามด้วยเสียงปี่ กลองยาวประโคมสนั่นทั่วซอยในหมู่บ้าน บรรยากาศสงบยามสายพลันเปลี่ยนเป็นคึกคักทันที รู้กันว่าขบวน “ແຫ່ເຂີຍ” (แห่เขย) มาถึงแล้ว

ชอบชุดของเจ้าบ่าว สวมเสื้อชั้นนอกสีทองคล้ายเสื้อพระราชทานของไทย นุ่งโจงกระเบน มีผ้าเบี่ยงพาดบ่า แล้วคาดสายสังวาลย์ ที่น่ารักคือการสะพายย่าม พกดาบ สวมรองเท้าปลายงอนแบบเทวดา

เมื่อขบวนแห่ถึงทางเข้าเรือนจะมีเพื่อนเจ้าสาวและญาติพี่น้องกั้นประตูด้วยเข็มขัดเงิน-ทอง นี่ก็เป็นอีกภาพชื่นตา เดี๋ยวนี้ฝั่งไทยที่นิยมดัดแปลงสายกั้นขันหมากเป็นริบบิ้นหรือโซ่ดอกไม้พลาสติก

ช่วงพิธีกรรมน่าสนใจตรง “หมอพร” (พราหมณ์) จะ “เอิ้นขวัญ” (สู่ขวัญ) ใช้ด้ายฝ้ายผูกแขนให้ “คู่ผัวเมียใหม่” แล้วนำ “ไข่ต้ม” มาปอก-ผ่าครึ่งส่งให้ “ชายป้อนหญิงด้วยมือซ้าย หญิงป้อนชายด้วยมือขวา”

จากนั้นแขกเหรื่อจึงทยอยผูกแขน-ให้ศีลพรและคำสอน “ฮีตไภ้คองเขย ฮีตผัวคองเมีย” พลางเหน็บเงินไปกับด้ายผูกแขน ไม่นานข้อมือของบ่าว-สาวก็เต็มด้วยธนบัตรหลากสีทั้งสกุลกีบ บาท และดอลลาร์

ครั้นสมควรแก่เวลาจะมีผู้ใหญ่จูงคู่รักเข้าหอ วัฒนธรรมชาวลาวจะนำเงินมาเรียงบนที่นอนเพื่ออวยพรให้ร่ำรวยมั่งมีศรีสุข บ่าว-สาวอยู่ในห้องพอเป็นพิธีแล้วออกมาต้อนรับแขกเหรื่อให้กินดองมื้อเที่ยง

“เวลาปรกติคนเวียงจันทน์จะใช้ชีวิตกันแบบชาวเมืองสมัยใหม่แล้ว แต่ถ้าจะแต่งงานก็ยังต้องจัดแบบลาวดั้งเดิมก่อน ต้องมีพิธีพาขวัญมัดแขนในช่วงเช้า ส่วนงานเลี้ยงช่วงบ่ายถ้าอยากจัดแบบสากลก็ได้”

สากลที่ว่าคือหากคู่บ่าว-สาวมีกำลังทรัพย์ก็จัดกินดองมื้อค่ำอีกครั้งที่โรงแรม

เธอย้ำว่าอยากให้ไปร่วมงานคืนนี้ มีการเต้นรำที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาว

ไม่ตื่นเต้นนัก แต่รีบกลับที่พักไปเตรียมตัวแล้วมาถึงโรงแรมไล่เลี่ยบ่าว-สาว

ค่ำนี้เจ้าสาวยังสวมชุดประจำชาติแสดงถึงโอกาสพิเศษ เป็นเสื้อไหมแขนยาวทรงกระบอก จับคู่ซิ่นไหมทอสี-ลายเดียวกับสไบเฉียงพาดไหล่ เกล้าผมมวยยกสูงประดับเครื่องทองเข้าชุดสร้อยคอ สายสังวาลย์ และกำไล เพียงแต่เมื่อเช้าเธอสวมชุดโทนเขียวปีกแมลงทับพอถึงงานกลางคืนก็เปลี่ยนเป็นสีแดงทับทิม

ชอบทรงผมของเจ้าสาวคล้าย “นางสังขาน” เทพีสงกรานต์ของชาวหลวงพระบาง

“เดี๋ยวนี้ผู้หญิงลาวไม่ได้ไว้ผมยาวมากพอจะเกล้าสูงด้วยผมธรรมชาติแล้ว ต้องใช้ไหมสำเร็จรูปช่วยมวยขึ้นไป และถ้าปรกติย้อมผมสีอื่นอยู่ก็ต้องย้อมผมสีดำกลับคืนก่อนจะได้สวมมวยผมสำเร็จรูปได้”

เพราะช่างผมร้านทั่วไปตามชุมชนยังไม่มีไหมสีอื่นให้ลูกค้าเลือกใช้

“ชุดแต่งงานก็แล้วแต่ว่าใครมีงบมากก็ซื้อใหม่ งบน้อยก็เช่าเอา เพราะชุดใหม่ค่อนข้างแพง”

ถ้าเคยเที่ยวตลาดผ้าทอ จะพอนึกออกว่าขนาดชุดเย็บสำเร็จรูปแบบใส่ออกงานทั่วไปยังหลายพันบาท ชุดแต่งงานที่ต้องพิถีพิถันรายละเอียดยิ่งไม่ต้องพูดถึง จึงเป็นบุญตามากที่ได้เห็นผู้หญิงลาวหลากวัยสวมเสื้อผ้าไหมนุ่งซิ่นฝ้าย-ซิ่นไหมแบบเข้าชุดมารวมกันมากมาย

งานกินดองกลางวันต่างจากกลางคืนที่เป็นการประสานรสนิยมทางวัฒนธรรม

มีทั้งการเลี้ยงอาหารแบบโต๊ะจีน เฉลิมฉลองยินดีกับคู่รักโดยยกไวน์ดื่ม รื่นเริงกับกิจกรรมบันเทิงแบบลาวซึ่งรับอิทธิพลจากฝรั่งเศส เริ่มจากบ่าว-สาวออกมาเต้นรำเปิดฟลอร์ ตามด้วยเจ้าบ่าวเต้นรำกับครอบครัวเจ้าสาวและเจ้าสาวก็เต้นรำกับครอบครัวผู้บ่าว จากนั้นแขกเหรื่อทุกวัยตั้งแต่เด็กน้อย หนุ่มสาว วัยทำงาน ยันผู้สูงอายุ ก็จะพากันออกมา “ເຕັ້ນບັດສະຫລົບ” (บาสโลบ : Paslop)

 

เป็นการรำวงหมู่ประกอบจังหวะ ไม่ว่าจะเป็นเพลงช้าหรือเร็วพวกเขาจะส่ายสะโพกแต่เพียงน้อย เน้นการเข้าจังหวะเดียวกันอย่างสามัคคีเพื่อปลดปล่อยความสนุกสนานครื้นเครงที่อยู่ในสายเลือด

ขยับขาขวาไปทางขวา / ก้าวขาขวา ชิดขาซ้าย / ก้าวขาขวา เตะขาซ้าย
ขยับขาซ้ายไปทางซ้าย / ก้าวขาซ้าย ชิดขาขวา / ก้าวขาซ้าย เตะขาขวา
ถอยหลังด้วยขาขวา ตามด้วยขาซ้าย / ถอยขาขวา ยกขาซ้าย / เดินหน้าพร้อมหมุนขวา
ครั้นดนตรีพัก ทุกคนจะยืนตรงเท้าชิดรอฟังจังหวะบรรเลง เมื่อเพลงดังอีกก็เริ่มขยับเท้า
ก้าวไปทางขวา นับ ๑ ๒ ๓ ๔ เตะเท้าซ้าย เปลี่ยนมาทางซ้ายนับ ๕ ๖ ๗ พอจะนับ ๘ ก็เตะเท้าขวาไปด้านข้าง ถอยเท้าขวาออกมาด้านหลังนับ ๙ ๑๐ ๑๑ ๑๒ เตะเท้าซ้ายไปข้างหน้านับ ๑๓ ๑๔ แล้วเตะเท้าขวาไปข้างหน้า หันขวา วนอยู่อย่างนั้นไปเรื่อยๆ จนจบเพลง ใครเต้นถูกท่าจะวนเป็นวงกลม

เที่ยวลาวครั้งนี้ตื่นตากว่าครั้งไหน ไม่ใช่สถานที่แต่เป็นการได้เห็นสายเลือดคนลาว