ชิรินโยกุ (Shinrin yoku) : อาบป่าชำระสุขภาพ

เรื่อง : นัทธ์หทัย วนาเฉลิม

ถ้าขาดอากาศหายใจ เราจะตายภายใน ๔ นาที!

กลไกการหายใจของร่างกายเรานั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา จนบางครั้งก็เคยชินเสียจนลืมความสำคัญ

จะดีกว่าไหมหากเราปรับให้การหายใจเป็นการฟื้นฟูสุขภาพไปด้วย

ชาวญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมหนึ่งที่เรียกว่า “การอาบป่า” (Shinrin yoku) ซึ่งที่เป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๐ แล้ว ถึงขนาดที่กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนให้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมสุขภาพในอีก ๒ ปีถัดมา

ชาวแดนซากุระเขาค้นพบความพิเศษอะไรจากกิจกรรมนี้

สายสัมพันธ์

การอาบป่าแท้จริงเป็นสะพานเชื่อมระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ เป็นการบำบัดใจที่ส่งผลต่อร่างกาย

ในกิจกรรมนี้เราจะต้องปิดโหมดเจี๊ยวจ๊าวให้สนิท เพื่อให้ระบบประสาทสัมผัสทั้ง ๕ เปิดรับพลังบริสุทธิ์จากป่าได้อย่างเต็มที่

ตา สังเกตดูรูปทรงใบไม้ พืชพรรณ สัตว์ป่าที่พบ ลองมองดูสีสันของป่ายามที่แสงแดดส่องผ่าน มันนุ่มนวลตาเพียงไร

หู เมื่อเราเงียบ ลองเงี่ยหูฟังสรรพเสียงต่างๆ รอบตัว เสียงนก เสียงน้ำ เสียงลมพัด มันช่วยผ่อนคลายจิตใจอย่างไม่น่าเชื่อ

สัมผัส ผิวสัมผัสของพืชพรรณในป่ามีความแตกต่างกัน เรียบ หยาบ นุ่ม มีขน มันวาว หรือเมื่อลองโอบกอดต้นไม้แล้วรู้สึกอย่างไร นักวิจัยด้านการอาบป่าบางคนยังแนะนำให้ลองสัมผัสดินดูด้วย

ชิมรส ลองชิมผลไม้ ใบไม้ เห็ด และผักป่าด้วยว่ารสชาติมีความหลากหลายอย่างไร

ดมกลิ่น หายใจช้าๆ สูดลมหายใจให้ลึกจะพบว่า ภายในป่านั้นมีกลิ่นที่หลากหลาย ทั้งกลิ่นดอกไม้ป่า กลิ่นน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกไม้ หรือกลิ่นดินก่อนที่ฝนจะตก

กิจกรรมอาบป่านั้นแม้จะใช้รัศมีการเดินไม่เกิน ๑ กิโลเมตร แต่ต้องการความเงียบสงบเพื่อให้เกิดสมาธิ

หากเราพิจารณาดูจะพบว่ามีหลักการที่สอดคล้องกับหลักทางพุทธศาสนาที่ว่า “ธรรมะคือธรรมชาติ” ให้เราลองปรับใช้ได้อย่างกลมกลืน

ไขความลับจากธรรมชาติ

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิบะได้พบความลับ ๓ ประการที่ทำให้สุขภาพดีขึ้นหลังจากอาบป่า คือ

๑. เพียงแค่เราหายใจในป่าก็จะได้รับจุลชีพที่เป็นมิตร ไปเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้กับจุลชีพประจำถิ่น ในร่างกายของเรา
๒. ได้สูดน้ำมันหอมระเหยจากต้นไม้ที่มีกลิ่นเฉพาะตัว อย่างต้นสนฮิโนกิ กลิ่นนี้ เรียกว่า “ไฟตอนไซด์” (phytoncide) จะช่วยลดฮอร์โมนความเครียด (cortisol) เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ความดันโลหิต ความวิตกกังวล ความสับสน ปรับปรุงการนอนหลับ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์และต้านมะเร็ง โดยศาสตราจารย์ควิง หลี (Qing Li) แห่งโรงเรียนแพทย์ นิปปอน เมดิคัล สคูล (Nippon Medical school) โตเกียว พบว่าจำนวนเนเชอรัล คิลเลอร์ เซลล์ (NK cell) ซึ่งทำหน้าที่กำจัดเซลล์มะเร็งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังทำกิจกรรมอาบป่าทุกสัปดาห์
๓. ได้รับประจุลบ กล่าวคือในชีวิตประจำวัน การทำงานในห้องที่ปิดมิดชิด เปิดเพียงเครื่องปรับอากาศ การต้องเจอมลพิษฝุ่นควัน ทำให้เราได้รับพลังงานประจุบวกที่เกินระดับสมดุล ส่งผลให้เรารู้สึกเบื่อหน่าย ไม่สดชื่นกระฉับกระเฉง ในขณะที่กระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชจะได้ออกซิเจนที่มีประจุไฟฟ้าเป็นลบอ่อนๆ เมื่อเราสูดออกซิเจนเข้าไป ประจุลบจะเข้าไปจับกับประจุไฟฟ้าขั้วบวก ทำให้ร่างกายมีภาวะเป็นกลาง แล้วหลั่งฮอร์โมน “ซีโรโทนิน” (serotonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสงบสุข ร่างกายและจิตใจรู้สึกถึงความกระปรี้กระเปร่า คลายความตึงเครียด ระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ จึงดีขึ้นตามมา

หากเปรียบเทียบว่าการอาบน้ำคือการชำระกาย การอาบป่าก็คือการชำระสะสางระบบภูมิคุ้มกันดีๆ นี่เอง

ชวน Park ใจ โดย นิตยสารสารคดี นายรอบรู้ นักเดินทาง
สนับสนุนโดย เพจความสุขประเทศไทย และ ธนาคารจิตอาสา