ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


ในโลกสมัยใหม่ที่ชอบหยิบจับเอา “ทุนทางวัฒนธรรม” มาแปลงกายเป็นสินค้าหารายได้ ต้นทุนอย่างหนึ่งที่มักถูกขุดขึ้นมาใช้เสมอ คืองานช่างโบราณ หรือศิลปะประเพณี

แต่สำหรับเมืองไทยก็มีข้อแม้พิเศษเพิ่มเติมอีกว่า ต้องไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา เพราะจะ “เป็นเรื่องเป็นราว” กันใหญ่โต หากจะทำอะไรแบบที่ญี่ปุ่น อย่างการขายหน้ากาก หรือมาสก์หน้าที่ทำเป็นเป็นพักตร์พระพุทธรูป หรือทำพระพุทธรูปปางต่างๆ ให้กลายเป็นรูปการ์ตูน เป็นสติกเกอร์ เป็นของที่ระลึก

ในระยะไม่นานมานี้ ทุนวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่เห็นว่าได้รับความนิยมนำมาดัดแปลงสร้างมูลค่ากันมาก คือ “โขน” คงเพราะเห็นว่าดูเป็น “ไทยๆ” ดี

ตัวโขนที่รัดเครื่องแล้ว ทั้งทศกัณฐ์และหนุมาน จึงถูกดัดแปลงเป็นตัวการ์ตูน พวงกุญแจ แก้วน้ำ หมอนรองคอ ตุ๊กตา เสื้อยืด โมเดลกระดาษ ฯลฯ สารพัดสารพัน

ทั้งที่โบราณก็ย่อมนับถือว่าเรื่องพวกนี้ “มีครู” และ “แรง” แต่อาจเพราะไม่มี “เจ้าภาพ” จะมาออกตัวว่าเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ หรือแสดงความไม่พอใจได้เท่าไหร่นัก

หรือถึงหากจะมีบ้าง ก็คงเป็นเรื่องที่พูดกันเองอยู่ในวงจำกัด

ว่าที่จริง ของเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเริ่มกลายเป็น “สินค้า” แต่ถูกนำหยิบยกมาสร้างมูลค่าเป็นร้อยปีแล้ว

เช่นการพิมพ์รูปยาซิกาแร็ต เป็นภาพตัวละครพระ-นาง-ยักษ์-ลิง และ “ภาพจับ” จากเรื่องรามเกียรติ์ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖

“รูปยาซิกาแร็ต” (Cigarette Card) เป็นแผ่นกระดาษ ความหนาและขนาดประมาณนามบัตร พิมพ์รูปภาพต่างๆ แถมมาในซองบุหรี่แต่ละซอง หนึ่งซองมีหนึ่งภาพ โดยมีการพิมพ์ออกมาเป็นชุดต่างๆ มากมาย มีออกมาใหม่ๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามเวลา ถือเป็นของแถมล่อใจให้คนซื้อหามาสะสม อาการคล้ายกับที่คนเดี๋ยวนี้ไปหยอดตู้ “กาชาปอง” แบบญี่ปุ่น คือคนซื้อจะไม่รู้ว่าในแต่ละซองจะได้รูปอะไรมา จะซ้ำกับที่มีอยู่แล้วหรือเปล่า ก็ยิ่งล่อใจให้ซื้อต่อๆ ไป

ยิ่งกว่านั้น แต่ละชุดยังมี “ตัวติด” ที่พิมพ์ออกมาน้อยกว่าใบอื่นๆ ให้เป็นของหายากอีกต่างหาก

รูปยาซิกาแร็ตถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่บริษัทบุหรี่ทั้งในต่างประเทศและเมืองไทยใช้กันมาหลายสิบปี จนหมดไปในราวสงครามโลกครั้งที่ ๒

ย้อนกลับมาเรื่องรูปยาซิกาแร็ตจากเรื่องรามเกียรติ์อีกที

ร้อยกว่าปีมาแล้ว ในปี ๒๔๕๕ บริษัทยาสูบอังกฤษ-อเมริกัน ผู้ผลิตและจำหน่ายบุหรี่ตรานกอินทรี จัดพิมพ์รูปยาซิกาแร็ตชุดรามเกียรติ์พิมพ์ออกมาสามชุด ชุดละ ๕๐ แบบ รวมเป็น ๑๕๐ ภาพไม่ซ้ำกัน

ภาพเหล่านี้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ถูกเก็บสะสม และหมุนเวียนซื้อขายแลกเปลี่ยนกันต่อมาอีกนาน จนกลายเป็นต้นแบบให้แก่เด็กๆ ที่สนใจฝึกหัดวาดภาพทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

เฟื้อ หริพิทักษ์ (๒๔๕๓-๒๕๓๖) เด็กย่านหลังวัดสุทัศน์ฯ ในกรุงเทพฯ เมื่ออายุยังไม่ถึง ๑๐ ขวบ ก็ฝึกหัดวาดภาพจากต้นแบบชุดนี้ อาจารย์เฟื้อ ศิลปินแห่งชาติสาขาจิตรกรรมรุ่นแรกๆ เล่าว่า

“สมัยโน้นมีบุหรี่ซิกาแรตต์ยี่ห้อนกอินทรี ซองสีเขียว เปิดออกมามีรูปรามเกียรติ์พวกลิงพวกยักษ์ แผ่นเท่ากับซองบุหรี่ธรรมดานี่แหละ ผมชอบไอ้ตัวหนึ่งที่จำได้ตัวแดงๆ พวกยักษ์ ผมก็มานั่งเขียนๆ อยู่หน้าบ้าน”

ช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น สง่า มยุระ (๒๔๕๒ – ๒๕๒๑) ช่างเขียนผู้มีชื่อเสียงจากการผลิตพู่กันไทยออกจำหน่ายในยี่ห้อที่ตั้งชื่อตามนามของท่าน เล่าว่าเมื่อยังเป็นเด็ก ท่านเป็นลูกชาวนาอยู่ที่สุพรรณบุรี

“ผมเด็กๆ นั้นรักเขียนรูป แต่ก็ยังช่วยบิดามารดาทำนา เมื่อเด็กๆ เขามียากาแรตตรานกอินทรี ผมก็เอามาหัดเขียน เป็นรูปยักษ์รบกันบ้าง อะไรบ้าง”


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี