ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ (๒๔๕๓-๒๕๓๖) ลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของอาจารย์ศิลป พีระศรี แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร เคยเล่าว่าสมัยเด็กๆ ราวรัชกาลที่ ๖ วันหนึ่งท่านกำลังนั่งเขียนรูปเล่น ด้วยการวาดเลียนแบบรูปยักษ์จาก “รูปยาซิกาแร็ต” ของแถมในซองบุหรี่อยู่ที่หน้าบ้านย่านหลังวัดสุทัศน์ฯ

“ทีนี้มีช่างเขียนคนหนึ่งอยู่เพชรบุรีมาเห็นผมเขียนเข้า คล้ายๆ ว่าเด็กคนนี้เขียนอะไรโดยไม่มีครูอาจารย์ เขียนยักษ์ๆ มารๆ มันอันตราย ท่านก็เลยมาครอบให้โดยจับมือเขียนให้ ผมถือเป็นอาจารย์คนแรก”

นั่นคือตามโลกทัศน์ของช่างไทยโบราณ ภาพเหล่านี้ เป็น “ของร้อน” เป็น “ของมีครู” ดังนั้น การฝึกหัดเขียน อันนับเป็นการเล่าเรียน จำเป็นต้องมีพิธีกรรมกำกับ และ “มีครู” ช่างชาวเพชรบุรีท่านนั้นจึงมา “ครอบ” ให้เด็กชายเฟื้อ โดยการจับมือลากเส้นเขียน ในลักษณาการเดียวกันกับการ “ครอบครู” ดนตรีไทยและนาฏศิลป์ ซึ่งทำให้อาจารย์เฟื้อกำหนดนับในใจเอาว่าช่างท่านนั้น ถือเป็น “ครู” คนแรก

ความคิดที่ว่า “เรื่องยักษ์ๆ มารๆ” เหล่านี้ เป็น “ของร้อน” ยังครอบคลุมไปถึงการมีไว้ในครอบครองด้วย

ช่างเขียนผู้วาดภาพต้นแบบของ “รูปยาซิกาแร็ต” ชุดรามเกียรติ์ ซึ่งแถมมากับบุหรี่ตรานกอินทรี และทั้งอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ และอาจารย์สง่า มยุระ ใช้เป็นต้นแบบวาดภาพเมื่อสมัยเด็กๆ นั้น ชื่อนายเกริ่น ศิลป์เพ็ชร์

ในยุคทศวรรษ ๒๔๗๐ นายเกริ่นซึ่งทำมาหากินอยู่ในโลกของช่างไทยยุคเทคโนโลยีการพิมพ์ มีดำริจัดพิมพ์ สมุดภาพเรื่องหนังใหญ่ เป็นภาพลายเส้นเงาดำของตัวหนังใหญ่ “ชุดพระนครไหว” อันเลื่องชื่อ ออกวางจำหน่าย แต่ยุคนั้น คนที่ยัง “ถือ” คงมีอยู่อีกมาก นายเกริ่นจึงต้องพยายามอธิบายไว้ในตอนท้ายหนังสือว่า ผู้ที่คิดว่าภาพเหล่านี้เป็น “ของร้อน” ไม่เหมาะสมที่จะซื้อหามาเก็บไว้ในบ้านนั้น

“เพียงแต่จำผู้อื่นที่เขลาบอกเล่าต่อๆ กันมาเท่านั้น หาได้ตรึกตรองให้ถูกต้องถ่องแท้ไม่ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าบางทีจะเปนด้วยผู้ที่ฉลาด เห็นรูปภาพประกอบไปด้วยลวดลายงดงาม ลวงให้ผู้อื่นกลัวเกรงจะได้ไม่คิดนำพาอยากได้ ตนจะได้เก็บเสียแต่ผู้เดียวได้โดยง่าย…อีกนัยหนึ่งจะเปนด้วยนายช่างฉลาดๆ ลวงผู้วานเขียนให้กลัวจะได้ไม่วานต่อไป”

ยิ่งไปกว่านั้น นายเกริ่นยังชี้ให้เห็นประโยชน์ของการที่จะมีหนังสือของเขาไว้ในครอบครองด้วยว่า

“อาจจะเปนแบบฝึกเรียนหรือหลักของการเขียน แกะ สลักได้ ในเชิงลายภาพเส้นแบบเก่าแก่ของชาวเรา…เหมาะเพื่อประจำตู้สงวนไว้เปนแบบเก่าโบราณ ให้ชนทั้งหลายหรือคนชั้นหลังดู”

มาจนถึงเดี๋ยวนี้ ร่วม ๑๐๐ ปีต่อมาหลังจากที่นายเกริ่นให้ความเห็นไว้ ความคิดที่ว่าเรื่องยักษ์ๆ มารๆ เป็น “ของร้อน” และมีพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ก็ยังปรากฏอยู่

เมื่อไม่นานมานี้ มีโอกาสไปดูพิพิธภัณฑ์ลูกปัดโบราณของวัดคลองท่อม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เขาจัดสร้างเป็นอาคารใหญ่โตโอ่โถง ติดเครื่องปรับอากาศอย่างดี

นอกจากเรื่องโบราณคดีและเรื่องลูกปัดอายุนับพันปีแล้ว ยังมีข้าวของอันเนื่องด้วยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และประวัติของวัดคลองท่อมจัดแสดงไว้อีกด้วย

ตรงมุมหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ มีรูปหน้ายักษ์ขนาดใหญ่ตั้งไว้ ทำเป็นหน้ายักษ์สวมมงกุฎ แยกเขี้ยว ป้ายอธิบายว่าเป็นรูปท้าวเวสสุวรรณ หนึ่งในจตุโลกบาล ผู้เป็นใหญ่ในทิศเหนือและราชาแห่งหมู่ยักษ์ และว่ารูปนี้เคยติดประดับกลางหน้าจั่วซุ้มประตูทางเข้าวัดคลองท่อม

ภายหลังเมื่อรื้อซุ้มประตูเดิมแล้วก็เอามาเก็บรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์

ว่าที่จริง รูปท้าวเวสสุวรรณชิ้นนี้คงไม่ใช่โบราณวัตถุเก่าแก่อะไร อายุน่าจะราวๆ ๕๐-๖๐ ปีมานี้เอง เพราะวัดคลองท่อมก็เพิ่งมาฟื้นฟูขึ้นในยุคราวใกล้ๆ ปี ๒๕๐๐ นี่เอง

แต่ดูจากร่องรอยการเซ่นไหว้ ทั้งน้ำแดง หมากพลู กาแฟกระป๋อง ย่อมบ่งบอกถึงความนับถือยำเกรงได้เป็นอย่างดี !


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี