ช่วงเวลาแห่งการอยากหรี่ความร้อนของดวงอาทิตย์

เวลาประมาณ 9 โมงครึ่ง วันที่ 18 มีนาคม 2562 ทั้งเยาวชนค่าย Egco ไทยรักษ์ป่ารุ่นที่ 53 ร่วม 67 คนและพี่เลี้ยงค่ายต่างไม่คาดคิด(ขนาดนั้น)ว่าต้องมาพบเจอกับความร้อนแล้งระดับเหงื่อเกือบหมดตัวที่ป่าเต็งรัง ห้วยแม่ลาน ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่

เปิดแอร์ก็ไม่ได้ ธรรมชาติไม่มีรีโมทให้มนุษย์ แถมน้ำก็มีจำกัด

สีน้ำตาลแห้งจากต้นไม้อมทุกชีวิตเอาไว้ในความร้อน จักจั่นพลอดรักกันตามฤดูของมัน ปีกเสียดสีกันระงมป่าที่มีอุณหภูมิราว 40 องศาเซลเซียส พอเข้าช่วงเที่ยงแดดเปรี้ยงลงหัวป่าเต็งรังรักษาสัญญาผลัดใบจากเขียวเป็นน้ำตาลไหม้พร้อมกันทั้งพื้นที่ เมื่อสักสองวันก่อนเด็กๆ ยังร่าเริงอยู่กับอากาศกึ่งเย็นกึ่งหนาว เข้ากิจกรรมเตรียมพร้อมที่จะเข้าป่าและเรียนรู้ในห้องเรียนธรรมชาติ ยังมีเสียงคิดเมนูอาหารทั้งตอนเช้าและเย็น หยอกล้อกันไปเรื่อยเปื่อยเหมือนไม่รู้ชะตากรรมตัวเอง

ภาพหมู่

เดินศึกษาธรรมชาติป่าเต็งรัง

วัดเส้นรอบวงของต้นไม้ แหล่งกักเก็บคาร์บอน

ศึกษาธรรมชาติป่า 6 คนโอบ

ทุกคนเจอของจริงก็วันนี้ ป่าเต็งรังคือป่าที่มีเชื้อไฟชั้นดี ทนแล้งได้เป็นพิเศษ ประกอบไปด้วยต้นไม้ใหญ่เปลือกหนา ฝนแรกยังมาไม่ถึงในเดือนมีนาคมและไม่มีแต่ลมเอื้ออาทรสักแกรกเดียว ความร้อนและหลักสูตรที่เข้มข้นของการตรวจวัดการกักเก็บคาร์บอนของป่าหรือกิจกรรมนักสืบสายน้ำทำให้ตลอดบ่ายนั้นผ่านไปอย่างหนืดเหนียวและน่าสนใจ

น่าสนใจในแง่ที่ว่าเด็กๆ ก็เฮฮาไปทั้งร้อนๆ อย่างนั้น ปาดเหงื่อไปเล่นมุกไปในขณะเดียวกันกับที่วัดความสูงของต้นไม้และจับแมลงในน้ำกันอย่างตั้งใจ แอ็กติ้งถ่ายรูปเหมือนอยู่ในป่าผลัดใบที่มีอุณหภูมิสัก 18 องศา

สมาธิของพวกเขาเสียไปตามอากาศบ้างตามกลไกของคนไม่ชิน แต่อย่างน้อยทุกคนรู้ตัวว่าที่นี่ฐานะของพวกเขาคือนักเรียน สมาธิ 50% จึงจดจ่ออยู่กับบทเรียนและใบไม้คดงอที่หล่นตามพื้น จดจ่อมากพอที่จะหยิบเศษใบไม้ตามรายทางขึ้นมาทายกันว่านี่เต็งหรือรัง สนใจผิวสัมผัสของพื้น เดินเข้าไปในป่าแห่งความสงสัยและอยากวิจัยแมลงแปลกหน้า

“นี่เดินตามพี่โก๋อย่างงี้ถ้าไม่บอกว่าเป็นเด็กค่ายนึกว่าเป็นพ่อลูกกันแล้ว”

เด็กๆ ในทีมสีน้ำเงินแซวกันเล่นในพื้นที่ที่จินตนาการไม่ออกเลยว่ามนุษย์จะร่าเริงได้อย่างไร แต่ละทีมได้รับโจทย์ให้สังเกตตั้งแต่พื้นดิน แยกแยะว่าต้นไหนไม้เต็งไม้รัง หยิบใบไม้ที่บางกรอบเหมือนมันฝรั่งทอดขึ้นมาจากพื้นแล้วตั้งคำถาม ลุงตั๋น วิทยากรสูงอายุที่เก๋าประสบการณ์ในละแวก แนะให้เด็กๆ สังเกตให้เยอะ

ทำไมต้องเผาป่า พื้นที่ที่เผาหรือไม่เผาต่างกันอย่างไร แนวกันไฟคืออะไร วิธีการเดิมๆ ของการศึกษาสิ่งแวดล้อมในเชิงวิชาการสามารถแก้ไขปัญหาไฟป่าในปัจจุบันได้เท่าทันอยู่ไหม

หรือแม้กระทั่งความร้อนก็ยังต้องตั้งคำถามกับมัน

ที่เปรียบเทียบได้เห็นภาพและได้ทำจริงๆ คือลุงตั๋นให้เด็กๆ ลองคิดเสียว่าที่นี่คือซุปเปอร์มาร์เก็ต ดังนั้นอาหารเที่ยงวันนี้ก็ต้องมีวัตถุดิบจากป่าที่ทุกกลุ่มต้องไปเก็บมาทำกับข้าว ช็อปปิ้งกันให้เพลินมือ

จากที่ทำอาหารกันเองยากอยู่แล้ว เถียงกัน ทำไม่ทันกันจะแย่ในระบบปกติ พอเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเป็นร้อนๆ แล้งๆ มิชชันนี้ก็ยังคงอยู่ครบถ้วนและท้าทายกว่าเดิม เด็กๆ ก็ดูสนุกกว่าเดิมด้วย แต่ดูเหมือนวิทยากรแต่ละคนทำเหมือนว่าการหาต้นไม้ หรือวัตถุดิบต่างๆ ที่ว่ามามันทำได้ง่ายเสียเหลือเกิน (เช่น พี่โก๋ วิทยากรทีมสีน้ำเงินที่ไปเกี่ยวรังมดแดงให้ดูอย่างง่ายดาย มดแตกรัง เด็กกระโดดโหยงกันเป็นฝูง)

ดมยาดมกันไป จดบันทึกกันไป เด็กๆ ช่วยฉุดเพื่อนขึ้นจากหินขรุขระ กระดกน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย การช็อปปิ้งทำให้มื้อนั้นมีแกงไข่มดแดงใส่ผักหวาน, ใบชะมวงสดๆ และของป่ามากมายในวงข้าวกลางวัน มีกิิมมิกตั้งชื่อ “แกงไข่มดแดงแซงทางโค้ง” เรียกเสียงหัวเราะรอบวง

อากาศยังร้อนอยู่ ทุกคนยังรอดอยู่ ป่ารอบตัวยิ่งดูเหมือนไม่สะทกสะท้าน

เชื่อว่าถ้าหรี่ความร้อนของดวงอาทิตย์ได้บ้าง ทุกคนคงเลือกที่จะทำ แต่แน่นอนว่าจุดมุ่งหมายหลักๆ ของค่ายอนุรักษ์ฯ คือการพาเด็กๆ มาทำความเข้าใจว่าทำไมเราต้องอนุรักษ์ ในที่นี้คือไม่ใช่การจับเด็กทุกคนเข้าป่าแล้วบอกว่าให้รักมันสิเพราะมันมีคุณค่า นั่นไม่ต่างอะไรจากตรรกะของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมที่ไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียวเคยเขียนไว้ว่า

“เรากำลังเจอกับสถานการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน เราไม่สามารถหวังพึ่งความรู้ดั้งเดิมของบรรพบุรุษได้ทั้งหมด เราต้องการไอเดียใหม่ๆ และทางออกจะไม่สามารถมาจากคนกลุ่มเดียว พื้นเพแบบเดียวการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนจึงต้องการประชาธิปไตยมากยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ไม่ใช่เฉพาะด้วยการเลือกตั้ง แต่ในกระบวนการรับรู้แลกเปลี่ยนข้อมูล ร่วมออกแบบและตัดสินใจบนพื้นฐานของความโปร่งใส”

เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน

เรียนรู้การใช้ชีวิตชาวค่าย

นักสืบสายน้ำ

เรียนรู้ระบบนิเวศป่าเต็งรัง

คำว่าคุณค่ามีความเป็นอัติภาวนิยม (existentialism) เด็กทุกคนควรมีปรัชญาและวิธีการแก้ไขปัญหาของตัวเองและต้องหาคำตอบให้ได้ด้วยตัวเองว่าเขาอยากรักป่าไหม รักแบบไหน อย่างไร

ถ้าเขาไม่เคยตั้งคำถามกับมัน คุณค่าของการบอกให้รักนั้นอาจจะไม่ต่างอะไรกับกฏหรือคำสั่งที่เชื่อมโยงตัวเองกับธรรมชาติอย่างหยาบๆ อย่างน้อยการเรียนรู้ที่จะรักของปัจเจกต้องมีที่มาที่ไป พอตัดสินใจว่ารักแล้วจะเดือดร้อนเมื่อสิ่งที่รักมีปัญหา เมื่อเห็นปัญหาก็จะหาทางแก้ เด็กๆ มีสิทธิที่จะเลือกที่ตีความสำนึกรู้ทางนิเวศวิทยา หรือ eco-literacyของตัวเอง

“โลกมันร้อน คีย์เวิร์ดหลักๆ คือเรื่องอากาศ ตอนที่ไปญี่ปุ่น หิมะตกเราก็ตื่นเต้นมากเลย แต่เพื่อนบอกว่าสองปีที่แล้วมันตกหนักกว่านี้นะ มองกลับไปที่ประเทศไทยบ้าง เมื่อสองปีที่แล้วตื่นเช้ามาอากาศเย็นๆ สบาย ไม่ได้ร้อนขนาดนี้ ในเวลาไม่ถึงสิบปี ทำไมอากาศมันร้อนแรงขึ้น ทำไมฝุ่นมันเริ่มเยอะขึ้น เลยเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดเรื่องการอนุรักษ์ มากขึ้น

เราเป็นคนติดตามข่าวสาร ชอบอ่านข่าว แล้วเจอข่าวว่าพื้นที่สีเขียวของโลกมันเริ่มลดลง ในปัจจุบันอาจจะเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ไม่ได้ดีถึงขั้นจะเปลี่ยนโลกอะไรขนาดนั้น เราก็เลยเริ่มรู้สึกว่าเรามาอนุรักษ์กันดีกว่า เพราะถ้ามองกลับไปในอดีตตอนที่มันยังไม่มีเมืองจ๋าขนาดนี้ ทำไมเราถึงอยู่กับป่าได้ ทำไมเรากินผลไม้สดๆ จากต้นไม้ ทำไมเราสามารถกินน้ำจากลำธารได้ ทำไมเราไม่มองกลับไปว่าคนเอาตัวรอดยังไงในป่า”

นั่นคือการตกตะกอนของไนท์ธีรภัทร ไกรสถิตย์ทีมสีส้ม

“บริเวณบ้านผมเป็นที่ตั้งของโรงงานไม้ พอลมพัดผ่าน ฝุ่นก็จะเข้าบ้าน เราก็อยู่กับมันมาตั้งแต่เด็ก เป็นภูมิแพ้ถึงขั้นต้องล้างจมูก หยอดตา สูดหายใจได้แค่ครึ่งปอด แต่พอเราเดินเข้าป่ามา ยิ่งพวกป่าเบญจพรรณจะรู้สึกโล่งมาก ออกซิเจนเต็มปอด แตกต่างชัดเจน สดชื่นเหมือนอยู่ในตู้เย็นเลย”

อีกหนึ่งประสบการณ์จากก้องภานุวัฒน์ บุญสมประสงค์ ทีมสีน้ำเงิน

ประสบการณ์ ความสนใจเฉพาะของเด็กแต่ละคน และการถอดบทเรียนจากธรรมชาติในค่ายนี้เมื่อบวกกับความรู้แน่นๆ ของวิทยากรแต่ละคนทั้งในเชิงวิชาการและจิตวิญญาณจึงมหัศจรรย์ได้แง่ของการต่อยอดความรู้และความรัก

บางคนอาจจะรักป่าเบญจพรรณ บางคนอาจจะเห็นแง่งามและความเจ๋งของป่าเต็งรังขี้อดทน บางคนอาจจะเข้าถึงการบอกต่อเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติให้กับคนรอบข้างอย่างไม่ยัดเยียด

“ความคิดที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติมันเพิ่มขึ้นมาก แต่ก่อนหนูรักอยู่แล้ว แต่เราจะอนุรักษ์จ๋าเลยก็ไม่ได้ หนูจะไปมองว่าคนอื่นไม่ควรทำลายธรรมชาติแบบนี้ก็ไม่ได้ อันดับแรกหนูต้องเข้าใจเขาก่อนว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้น เราต้องเข้าใจกลไกความคิดของเขาว่าสาเหตุที่เขาเป็นแบบนี้เพราะอะไร เราอาจจะเปลี่ยนเขาไม่ได้ แต่อย่างน้อยเรารู้ว่าความคิดนี้ไม่ควรจะเกิดเพิ่มขึ้น เยาวชนถัดจากรุ่นหนู หนูสามารถที่จะปลูกฝังเขาได้เพื่อที่จะไม่ให้เขามีความคิดตัวนี้ หนูอาจจะไม่ไปบอกให้เขาปรับเปลี่ยนตัวเองแต่อย่างน้อยหนูก็สามารถไปสร้างคนแบบใหม่ได้ การเปลี่ยนคนมันยาก การสร้างคนใหม่ๆ มันง่ายกว่า

หนูจะกลับไปเล่าให้แม่ ให้พ่อ ให้น้อง ให้ทุกคนฟังเลย อย่างน้อยเขาอาจจะไม่ได้รู้หรอกว่าการอนุรักษ์ธรรมชาติคืออะไร แต่เขาจะรับรู้ถึงความรู้สึกดีๆ ที่หนูไปถ่ายทอดให้เขา เหมือนมีคนมาเล่าเรื่องดีๆ ให้หนูฟัง หนูสนุก หนูหัวเราะ หนุมีความสุข หนูก็สามารถไปเล่าให้คนอื่นฟังได้ นั่นล่ะคือความสุข”

ต้นน้ำวนัชพร เพชรลอย ทีมสีเขียวหนึ่งในเสียงหัวเราะที่ดังที่สุดในค่ายเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง

หรือถ้ามีเด็กสักคนอยากอยู่ในป่าเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือเป็นนักวิจัยที่คลุกอยู่กับข้อมูลเชิงลึก นั่นคือความกล้าหาญที่จะสู้ในสงครามที่ต่างออกไป ป่าแห่งความสงสัยก็จะกว้างขึ้นตามไปด้วย

วัดความสูงของต้นไม้ เพื่อคำนวณหาปริมาณคาร์บอน

วัดความสูงของต้นไม้โดยใช้กล้องวัดระยะ

ต้นไม้เพื่อนรัก

กิจกรรมกวางน้อย

มัคคุเทศก์ท้องถิ่นพาเข้าป่า

“ตอนนั้นผมอยู่ม.4 ตั้งใจที่จะเข้าค่ายเอ็กโกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผมชอบแนวคิดเรื่องป่าต้นน้ำ ได้ยินคำพูดคำหนึ่งที่บอกว่าน้ำเนี่ยสุดท้ายแล้วมันจะไปลงที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา มันต้องผ่านอะไรหลายๆ อย่าง ทุกคนสามารถได้รับประโยชน์จากมัน เน้นว่าทุกคนเลย เลยคิดว่าถ้าเราไปเป็นวิศวกรสิ่งแวดล้อมแล้วสุดท้ายต้องมาบำบัดน้ำที่เน่าเสียเนี่ยนะ มันใช่เหรอ เราเลยพัฒนาตัวเองมาทำงานสิ่งแวดล้อมเชิงนโยบายมากกว่าโดยการเป็นนักวิจัย

แพชชันในการอนุรักษ์ธรรมชาติของเราไม่น้อยลงเลย มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไป จากเดิมที่เคยทำแต่สิ่งที่คนตัวเล็กๆ ทำได้อย่างเดียว ตอนนี้สามารถออกแผนบทหรือวิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อมเชิงโครงสร้างให้มันเป็น macro มากขึ้น เข้าไปในจุดที่สามารถออกแนวคิดนโยบายให้คนที่ใหญ่กว่าสามารถนำไปใช้จริงได้”

กิตติธัช โพธิ์วิจิตร เป็นเยาวชนค่ายเอ็กโกรุ่น 13 ตอนนี้เขาอายุ 30 ปีแล้ว ปัจจุบันทำงานเป็นหัวหน้านักวิจัยด้านวิศวกรรมแหล่งน้ำของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ยังออกทริปเก็บขยะใต้ทะเลทุกปี และถ่ายรูปทำงานสารคดีเป็นพักๆ

หรือถ้ามีเด็กสักคนในค่าย ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองมาตลอดชีวิตและจะยังอยู่ต่อไปอยากเก็บป่าไว้ เขาต้องเข้าใจว่าเขาไม่จำเป็นต้องเข้าป่าเสมอไปเพราะปัญหาใหญ่หลายอย่างเกิดขึ้นจากในเมือง มนุษย์เป็นตัวละครหลักในการสร้างวิกฤตสิ่งแวดล้อม เขาอาจจะต้องถอยออกมาและยอมรับก่อนว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ถ้าจะให้ดีมีใจร่มๆ เหมือนป่าเส้นทาง 6 โอบก็จะเยียวยาได้อยู่บ้าง

เด็กคนนั้นควรจะอ่านหนังสือจนมากความ มีความสามารถที่จะวิเคราะห์สังคม วัฒนธรรมมนุษย์ ไม่ปฏิเสธการเมืองและเข้าใจความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เข้าใจว่าแนวคิดบริโภคนิยมที่รัฐสนับสนุนเกี่ยวพันกับการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ปัญหาสิ่งแวดล้อมคือปัญหาเชิงโครงสร้าง ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงและกระทบถึงกันหมด

ฉะนั้นแม้กระทั่งความร้อน หรือความรู้สึกร้อน ในที่นี้ก็คือความรู้

สังคมธรรมชาติมีลักษณะเป็นสังคมเปิด ระบบนิเวศน์ปรับตัวตามสถานการณ์เพื่อความอยู่รอด มันหลากหลายและซับซ้อนไม่ต่างอะไรกับสังคมมนุษย์ ต้นไม้ในป่าเต็งรังมีโอกาสเติบโตได้แม้จะโดนไฟไหม้ทุกปีก็ตาม แต่คำถามคือความเชื่อที่ว่าป่าหลับตื่นได้อย่างสะดวกสบาย ไฟไหม้เดี๋ยวก็หายนั้น เป็นข้อเท็จจริงหรือวัฒนธรรมที่ต้องปรับตัว

ฉะนั้นจากจุดเล็กๆ ตั้งแต่ต้นไม้ที่ดูเหมือนตายแต่ไม่ตาย รอยเผาไม้ที่ตามรายทางที่ดูเหมือนจะไม่สร้างความเสียหายแต่สร้าง น้ำใสที่ดูเหมือนกินได้แต่กินไม่ได้ ไปจนถึงประเด็นศึกษาใหญ่ๆ เช่น เรื่องการตรวจวัดการกักเก็บคาร์บอน หรือการสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะเกิดคำถามต่อมาได้เอง ว่าทำไมเราถึงต้องการระบบนิเวศน์ที่สมดุล

ปิดตาในป่า เพื่อเปิดตาหาตัวเอง

ใครที่ชอบฟังเสียงป่าน่าจะรู้ว่าใบไม้ร้องเพลงอยู่ตลอดเวลา

ทำนองและช่องสำเนียงหาฟังไม่ได้ในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยการจราจรของสิ่งก่อสร้าง ความเงียบในบ้านที่อยู่ในซอยลึกไกลโพ้นเทียบกันไม่ได้กับเงียบแรกในการเหยียบชายป่า หรืออยู่เงียบๆ คนเดียวในความมืด ท่ามกลางป่าที่มีชีวิต พูดได้ในภาษาของตัวเองแต่ไม่เคยพูดกับเราตรงๆ

ถ้าใครเคยดูอนิเมชันเรื่องดังของสตูดิโอจิบลิ ประเทศญี่ปุ่นเรื่อง My neighbour Totoro เขาจะได้กลิ่นว่าทำไมป่าถึงมีไวยากรณ์ที่สงบและมีหัวใจที่อบอุ่น ไม่แปลกที่นักนิเวศวิทยาหรือเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ป่า หรือมนุษย์ที่รู้สึกว่าธรรมชาติมีฐานะที่เท่าเทียมกับตัวเอง

เมื่อเด็กแต่ละคนได้โอกาสฟังเสียงป่า หรือกอดต้นไม้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มีความสุนทรีย์และมีความเป็นกวีที่สุดของค่าย เด็กๆ กระจายไปนั่งตามที่ต่างๆ ของป่า และปิดเปลือกตา ใครอยากเขียนความรู้สึกหรือข้อความลงไปในสมุดประจำตัวระหว่างนั้นก็ทำได้ตามใจ

ภาวะของการนิ่ง นั่งฟังตัวเองและเสียงลม น้ำตก เสียงใบไม้ เสียงอากาศ เสียงลึกลับต่างๆ อาจทำให้บางคนเกิดความกลัวต่อสิ่งที่มองไม่เห็น แม้มนุษย์ทำสิ่งที่น่ากลัวและมองเห็นมากมาย แต่ภารกิจที่ผ่านมาหลายวัน ทั้งความร้อนแบบเผาไหม้ที่ป่าเต็งรัง กิจกรรมกวางน้อยที่จำลองให้ตัวเองเป็นลูกกวางที่แม่ถูกนายพรานยิง หรือการฝึกผูกเปลเอง ทำอาหารเอง อยู่ให้ได้ด้วยตัวเองและดูแลเพื่อนที่เพิ่งมารู้จักกันใหม่ในค่ายนี้ คงทำให้หลายคนสรุปความและประสบการณ์ในชุดความคิดของตัวเองได้ชัดเจนขึ้นมาบ้าง

“เราได้มาเปิดโลกกว้าง พบเพื่อนใหม่ๆ ได้เจอสิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเห็น ฝึกความอดทน ถึงแม้ระยะทางจะไกลแต่ว่าได้เพื่อนใหม่ที่ช่วยเหลือกันมาตลอด ถึงแม้ว่าจะลื่นไถลหรือมือสะดุดก็ยังมีมือเพื่อนคอยพยุงขึ้นในทางลาดชัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันจนสำเร็จ ผลสำเร็จของมันจึงทำให้เรามีกำลังใจที่จะทำหน้าที่ของเราต่อไป”
ก้อง ภานุวัฒน์ บุญสมประสงค์ ทีมสีน้ำเงิน บอกเล่า

“ถ้าถามว่าอินกับกิจกรรมไหนมากที่สุด หนูอินกับมิตรภาพรอบตัว หนูจะไม่ให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่าอะไรเพราะหนูรู้สึกว่าถ้าหนูอินกับสิ่งแวดล้อมแล้วหนูไม่ได้สนใจเพื่อนเลย มันก็ไปด้วยกันไม่ได้ แต่ถ้าหนูอินกับมิตรภาพที่เกิดขึ้นกับเพื่อนหนูแล้วเราก็สัมผัสธรรมชาติไปด้วยกัน หนูคิดว่ามันเป็นอะไรที่ดีมาก”

“ป่าหรือสภาพแวดล้อมมันทำให้เรานิ่ง ตอนที่ปิดตาตอนกลางคืน หนูรู้สึกนิ่งมาก หนูเงียบ หนูมีความสุข มันเป็นเสียงที่อยู่ในเมืองจะไม่มีวันได้ยิน ถ้าคุณไม่รู้จักหัวใจคุณจะไม่มีวันได้ยิน ตอนแรกหนูนั่งหนูฟุ้งซ่าน หนูไม่ได้ยินอะไรเลย ได้ยินแค่เสียงแต่พอหนูนั่งไปสักพักหนูคิดว่าหนูมาถึงที่นี่แล้ว หนูจะมานั่งคิดเรื่องอื่นที่ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร หนูก็เลยหยุดคิด แล้วหนูก็มองใบไม้ ต้นไม้รอบตัว มองความมืด รู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ดีมาก ถ้าเราไม่รู้จักที่จะลำดับความสำคัญของความคิดเราจะไม่มีวันสัมผัสมันได้เลย”

ต้นน้ำ วนัชพร เพชรลอย ทีมสีเขียว หนึ่งในเสียงหัวเราะที่ดังที่สุดในค่ายเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง