วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


ภาพ : กฤต พรพิชิตภัย

ค่ายสารคดี ประจำปี ๒๕๖๒ เป็นรุ่นที่ ๑๕ แล้ว ก่อนค่ายจะเริ่มต้นในวันเสาร์แรกของเดือนมิถุนายน เมื่อเสาร์ที่สองของเดือนพฤษภาคมเราเชิญคนที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก ๑๐๐ คน จากกองใบสมัครหลายร้อย มาทำความรู้จักกันก่อน

ให้ค่ายได้รู้จักคนที่จะมาเรียน และคนมาเรียนได้รู้จักค่ายก่อน

โดยทั่วไปอาจเรียกว่าการสอบสัมภาษณ์ แต่การสัมภาษณ์โดยทั่วไป เจ้าของงานมักเป็นฝ่ายเลือก แต่การสัมภาษณ์ของค่ายสารคดีถือเป็นโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสได้เลือกกันและกัน หลังจากได้รู้จักกันแล้ว

ค่ายจะรู้จักผู้สมัครจากการแลกเปลี่ยนสนทนา ส่วนผู้ที่จะมาเรียนจะได้รู้จักค่ายจากที่ทีมงานพูดคุยให้ฟัง

ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

เรื่องแรกที่ผู้ผ่านคัดเลือกรอบแรกและมีโอกาสได้มาพบปะสนทนากันต้องรู้ คือผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นสมาชิกค่ายทั้ง ๕๐ คนในรุ่นนี้และรวมทั้งรุ่นก่อนๆ ที่ผ่านมา ไม่ได้มาด้วยความเก่งเพียงอย่าเดียว

ความเก่งด้านฝีมือเป็นข้อหนึ่ง แต่ค่ายยังพิจารณาจากความเหมาะสมที่จะเข้ารับการเรียนรู้ตามหลักสูตร และการกระจายโอกาสให้กับเยาวชนกลุ่มต่างๆ และท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศอย่างทั่วถึงด้วย

ภาพ : โพธิ์ธารา จันทร์ส่งแสง

เรื่องต่อมา ค่ายสารคดีมีหลักสูตรการเรียนรู้ที่ชัดเจนแน่นนอนแบบต่อเนื่อง ๔ เดือน ผู้เรียนต้องเข้าร่วมตลอดหลักสูตรจึงจะเกิดผลชัดเจน ดังนั้นคนที่จะเข้าร่วมต้องมาด้วยความมั่นใจ วางใจและตั้งใจชัดเจนแล้วว่าใน ๔ เดือนนี้จะให้เวลาและให้ใจกับเรื่องนี้

ไม่ใช่เพียงผ่านค่ายเข้ามาเพื่อแสวงหาเส้นทาง หรือทดลองแบบครึ่งๆ กลางๆ

ทั้งนี้ค่ายไม่ได้บังคับผูกพันว่าจบแล้วผู้ผ่านค่ายจะต้องไปเป็นนักเขียนหรือช่างภาพ เป้าหมายปลายทางเป็นความใฝ่ฝันส่วนตัวของแต่ละคน

เพียงแต่ ๔ เดือนในค่ายขอให้เป็นเวลาที่ทุ่มเทให้กับการเรียนรู้เรื่องสารคดี

ภาพ : กฤต พรพิชิตภัย

อีกเรื่องที่ผู้ได้รับโอกาสต้องรู้ คือสมาชิกค่ายสารคดีมีฐานะเหมือน “นักเรียนทุน” ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรหัวละหลายหมื่นบาท ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนที่ปรารถนาจะสร้างนักเขียนและช่างภาพรุ่นใหม่ๆ ให้กับประเทศนี้

ผู้ได้รับเลือกจึงต้องใช้ทุนให้คุ้มค่า ทั้งในระหว่างเรียน รวมทั้งเป็นความคาดหวังว่าจะใช้ฝีมือในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไปเมื่อผ่านค่ายไปแล้ว

การเรียนรู้ในค่ายมีทั้งภาคทฤษฎีแบบชั้นเรียน ออกไปลงพื้นที่ปฏิบัติจริงกลางแจ้ง ค้างแรมในพื้นที่ ซึ่งใจและกายของผู้เรียนต้องพร้อมและเปิดรับ

และที่สำคัญมีการนำเสนอและวิจารณ์ผลงาน ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้สร้างได้มองเห็นผลงานของตัวเองจากหลายมุม เป็นช่องทางให้เกิดการเติบโตได้เร็วขึ้น ซึ่งถือเป็นรูปแบบวิธีการเรียนรู้โดยทั่วไป แต่บางทีก็ทำใจได้ยากสำหรับบางคน

ค่ายจึงบอกให้รู้ก่อน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีโอกาสเป็นฝ่ายได้เลือกค่ายด้วย

ภาพ : กฤต พรพิชิตภัย

รู้จักกันก่อน ในช่วงสั้นๆ เพียงวันเดียว แต่มีผลอย่างสำคัญกับการเดินต่อไปด้วยกัน

ใน ๑๐๐ คน ที่ได้มาเจอกันครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ ที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒ จะมีเพียง ๕๐ คน ที่ค่ายสามารถรับเข้าร่วมในรุ่นที่ ๑๕

เป็นความหวังว่าผลจากการที่เรามีโอกาสได้เลือกกันและกัน จะทำให้สมาชิกค่ายตัวจริง ไปถึงจุดหมายกันครบทุกคนในอีก ๔ เดือนข้างหน้า ซึ่งในบางรุ่นก่อนนี้ก็เคยมีมาแล้ว


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา