More Media
เก็บตกสาระ แนะนำสื่อภาพยนตร์ และสื่อแขนงอื่นๆ จากที่เห็นและเป็นไป ในและนอกกระแส
ยัติภังค์ : รวบรวม
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวู้ดถูกยึดครองด้วยหนังซุปเปอร์ฮีโร่ เราจะได้ชมหนังประเภทนี้ตั้งแต่ต้นปียันท้ายปี โดยเฉพาะช่วงซัมเมอร์ของสหรัฐอเมริกา
ก่อนหน้านั้นการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่ถูกฮอลลีวู้ดนำมาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์และซีรี่ส์โทรทัศน์มาโดยตลอด แต่ก็เป็นกระแสที่อยู่ได้ไม่นานก็เลิกรา ถอดใจกันอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากไม่มีหลักประกันความสำเร็จที่ชัดเจนนัก
ในบรรดาผู้สร้างหนังกลุ่มนี้ มีเพียงหนังที่สร้างจาก มาร์เวล สตูดิโอ ซึ่งอยู่ภายใต้ชายคาของ ดิสนี่ย์ พิคเจอร์ส ที่สร้างหนังซุปเปอร์ฮีโร่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องทั้งรายได้และคำวิจารณ์ ต่างกับ ดีซี คอมมิค ซึ่งอยู่ภายใต้การสร้างของ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส พิคเจอร์ส หรือหนังจากสตูดิโออื่นๆ ที่ซื้อลิขสิทธิ์จากมาร์เวล หรือสำนักพิมพ์อื่นๆ มาสร้างและไม่ได้รับการยอมรับเทียบเท่า
และผู้ที่มีบทบาทอย่างสูงในการควบคุมดูแลการผลิตคือโปรดิวเซอร์อย่าง เควิน ไฟกี ซึ่งได้รับรางวัล Motion Picture Showman of the Year award ในปี ค.ศ. ๒๐๑๓ เฮนรี่ โบลลิงเกอร์ ประธานคณะกรรมการผู้มอบรางวัลกล่าวถึงเขาว่า “ความรอบรู้และการสร้างความพึงพอใจของไฟกีในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เป็นบทบาทสำคัญที่สร้างความสำเร็จให้กับภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนของมาร์เวล คอมมิคตลอด 10 ปีที่ผ่านมา”
ไม่ว่าคุณจะชอบหนังซุปเปอร์ฮีโร่ของมาร์เวลหรือไม่ เบื่อหน่ายกับกระแสห้ามสปอยล์หนังเรื่อง The Avengers : Endgame หรือการปูพรมรอบฉายของหนังฟอร์มยักษืเรื่องนี้จนไม่มีหนังเรื่องอื่นฉายในโรงภาพยนตร์ ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องราวความสำเร็จของเขานั้นน่าสนใจศึกษาและทำความรู้จักอย่างยิ่ง
เด็กผู้ชอบแต่งเรื่องในหนังใหม่
ไฟกี เป็นชาวอเมริกันเกิดในรัฐแมสซาชูเสตต์ แต่เติบโตมาในเมืองเวสต์ฟิลด์ รัฐนิวเจอร์ซี่ย์ เขาเป็นหลานของ โรเบิร์ต อี.ชอร์ท โปรดิวเซอร์ซีรี่ส์โทรทัศน์เรื่อง The Guiding Lightไฟกีเล่าว่าในวัยเด็กนั้นเขาโตมากับการเข้าโรงหนังทุกวันศุกร์ เข้าร้านหนังสืออ่านการ์ตูนในวันพุธเป็นบางครั้ง ซึ่งเป็นยุคที่ X-Men กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เด็กทุกคนรู้จักการ์ตูนเรื่องนี้จากทั้งหนังสือและอนิเมชั่นฉบับโทรทัศน์
“ผมหลงใหลตำนานต่างๆ แบบเจาะลึก ส่วนใหญ่คือเรื่อง Star Wars จากเกมของ West End Games ที่สร้างเกมเล่นตามบทบาท แต่ก็ไม่ได้เก่งกาจอะไร หนังสือจากเกมส์นี้น่าทึ่งเพราะเขาเจาะลึกมากๆ” ไฟกีบอกว่าเกมนี้ทำให้เรารู้จักปูมหลังตัวละครต่างๆ ของหนัง และทำให้เขานำตัวละครเหล่านั้นมาเล่นแต่งเรื่องเองที่สวนหลังบ้านในวัยเด็ก “งานอดิเรกนี้ของผมทำให้ผิดหวังกับภาคต่อ ก่อนจะคิดถึงเวอร์ชั่นใหม่ในหัวขึ้นมาเอง”
เรียนหนังที่เดียวกับผู้กำกับที่ชอบ
ไฟกีชื่นชอบหนังไตรภาคชุด อินเดียนาโจนส์ ผลงานการกำกับของ สตีเว่น สปีลเบิร์ก และอำนวยการสร้างโดย จอร์จ ลูคัส รวมถึงหนังของบริษัทแอมลินส์ (บริษัทสร้างหนังของสปีลเบิร์ก) ซึ่งเขามองว่าเป็นงานที่มีอิทธิพลมาจากหนังสือการ์ตูน และเมื่อเขาอ่านประวัติของลูคัสจนราบว่าเขาเรียนที่ University of Southern California ทำให้ไฟกีตัดสินสมัครเรียนที่นี่ ซึ่งไม่ได้มีเพียงศิษย์เก่าอย่าง จอร์จ ลูคัส แต่ยังมีผู้กำกับที่ไฟกีชื่นชอบอีกหลายคน ได้แก่ รอน โฮเวิร์ด(A Beautiful Mind), และโรเบิร์ต เซเมคคิส(Forrest Gump)
มุ่งมั่นในสิ่งที่รัก
เขายื่นสมัครสอบที่ University of Southern California ถึง 5 ครั้งแต่ไม่ผ่าน หากไฟกีก็ไม่ละความพยายามจนสอบผ่านได้เข้าเรียนในครั้งที่ 6
“ผมถูกปฏิเสธจากโรงเรียนภาพยนตร์มาไม่รู้กี่ครั้ง ผมเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อสมัครสอบตั้งแต่รอบ Early Admission ในช่วงปีสุดท้าย โรงเรียนปฏิเสธรวมห้าหรือครั้ง ผมสมัครทุกๆ เทอมจนกระทั่งได้เรียน มันมีช่วงหนึ่งที่ผมเคยคิดว่า โห ผมคงไม่ได้เข้าเรียนที่นี่แล้ว ผมต้องหาเรียนที่อื่น แต่ยังไม่ถึงขั้นที่คิดว่าต้องหาอาชีพอื่นทำ ผมมุ่งมั่นกับการทำงานด้านภาพยนตร์มาตลอด”
อดีตผู้ช่วยโปรดิวเซอร์หัวไว
ก่อนจะกลายเป็นโปรดิวเซอร์มือทองอย่างทุกวันนี้ ช่วงก่อนจบไฟกีเริ่มทำงานเป็นผู้ช่วยของโปรดิวเซอร์ ลอเรน ชูเลอร์ ดอนเนอร์ โดยได้ร่วมงานตำแหน่งนี้ไม่นานนักกับงานอย่าง Volcano(๑๙๙๗) และ You’ve Got Mail(๑๙๙๘) ดังที่เขาเล่าความทรงจำในตอนนั้นว่างานของเขาใน You’ve Got Mail หนังโรแมนติคเรื่องดัง คือการสอน เม็ก ไรอัน ให้ใช้อีเมลของ American Online(AOL) กระนั้นลอเรนก็กล่าวว่าไฟกีเรียนรู้งานได้เร็ว
“เราคล้ายกันมากนะ โปรดิวเซอร์ชายกับหญิงนั้นต่างกัน ผู้หญิงจะใช้ความรู้สึกและสัญชาตญาณน้อยมาก ฉันคิดว่าเขาแค่เลือกที่จะซึมซับแนวคิดนั้นมาใช้ คุณนำทางเขาได้ แต่สอนเขาทุกอย่างไม่ได้หรอก เควินมีสัญชาตญาณและเซนส์ในเนื้อเรื่อง เขามีธรรมชาติที่เข้าใจเรื่องนี้ได้เร็ว”
จากแฟนการ์ตูนสู่โปรดิวเซอร์
จุดเปลี่ยนของเขามาถึงในปี ค.ศ.๒๐๐๐ เมื่อมาร์เวลจ้าง ลอเรน ชูเลอร์ ดอนเนอร์ มาโปรดิวเซอร์ให้กับการดัดแปลงการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่ของมาร์เวลเรื่อง X-Men หากเมื่อ เอวี่ อาราด ซีอีโอของบริษัทได้ลองพูดคุยกับไฟกี แล้วประทับใจในความรอบรู้ด้านการ์ตูนของมาร์เวลของเขาเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้นอกจากเขาจะเป็นโปรดิวเซอร์ร่วมเป็นครั้งแรก อาราดยังให้อำนาจในการสั่งการเป็นลำดับที่สองในการทำงานอีกด้วย
“เควินกับผม สมองกับหัวใจของเราทั้งคู่แทบจะไม่เคยมีอะไรที่คิดไม่ตรงกัน” อาราดกล่าว
ก่อตั้ง มาร์เวล สตูดิโอ
จากประสบการณ์ที่เขาได้ร่วมงานโปรดิวเซอร์หนังซุปเปอร์ฮีโร่กับหลายบริษัท เห็นทั้งหนังที่ทำเงินและล้มเหลว ไฟกีพบว่าบทที่ถูกเขียนมาจำนวนมากหลงทาง และไม่ได้มีความเข้าใจในต้นกำเนิดที่แท้ของซุปเปอร์ฮีโร่แต่ละคนเลยสักนิด
“คุณมองไปที่หนังที่ถูกสร้างในช่วงเจ็ดปีของผม(ในฐานะโปรดิวเซอร์)ตั้งแต่ ปี ๒๐๐๐ ถึง ๒๐๐๗ ก่อนเราจะตั้ง มาร์เวล สตูดิโอ คุณเห็นเลยว่าหนังเรื่องไหนเวิร์ค เรื่องไหนไม่เวิร์ค หนังที่ออกมาไม่ดีบางครั้งก็เกี่ยวกับการคัดเลือกนักแสดงซึ่งผมมองว่าเลือกผิดฝากผิดตัว บางครั้งโปรเจ็คท์ก็รีบเร่งก่อนจะพร้อมดี หนังในช่วงเจ็ดปีนี้ที่ออกมาไม่ดีนั้น ผมมักจะคิดว่า “ว่าแล้วไง !” เราแนะนำไปแล้วแต่พวกเขาไม่ฟัง และเราควบคุมอะไรไม่ได้ ซึ่งผมเกลียดเรื่องแบบนี้”
ในปี ค.ศ.๒๐๐๗ ไฟกีได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานของมาร์เวล สตูดิโอ และทางเลือกสำคัญของบริษัทคือการเปลี่ยนจากเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือการ์ตูนชื่อดังกลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์นั่นเอง ซึ่งกลายเป็นผลงานเรื่อง Iron Man ในปี ค.ศ.๒๐๐๘ ซึ่งทำเงินในอเมริกาไปถึง ๓๑๘ ล้านเหรียญฯ และความสำเร็จจากครั้งนี้ทำให้เขาเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว
นับจากปี ค.ศ.๒๐๐๘ – ค.ศ.๒๐๑๙ มาร์เวลสตูดิโอนอกจากจะรอดพ้นสถานะที่เคยมีหนี้สินกลายเป็นบริษัทที่ทำกำไรมหาศาล ผลิตหนังซุปเปอร์ฮีโร่กว่า ๒๐ เรื่องที่ทำเงินรวมกันกว่า ๑๘,๐๐๐ ล้านเหรียญฯ ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์ กลายเป็นแบรนด์ที่มีแฟนหนังกลุ่มใหญ่ตั้งตารอชมผลงานเรื่องต่อไปอย่างใจจดใจจ่อ
ต่อสู้เพื่อให้งานออกมาดี
ในช่วงต้นแม้จะเป็นผู้สร้าง แต่ไฟกีก็ต้องต่อสู้กับข้อเสนอในการปรับเปลี่ยนบทอยู่หลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือเรื่อง Captain America: The First Avenger ซึ่งผู้ร่วมทุนอยากให้มันไม่ใช่หนังย้อนยุค แต่ให้ครึ่งหนึ่งของเรื่องเป็นเหตุการณ์ปัจจุบัน แต่ไฟกีแย้งว่ามันเป็นต้องเรื่องที่เกิดในอดีตเท่านั้น
“เควินต้องล๊อบบี้อย่างมาก ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่สมควรแล้ว เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องจริงๆ ไม่มีทางที่ สตีฟ โรเจอร์ จะทำให้คนดูผูกพันได้เลยถ้าไม่ได้ดูหนังเรื่องแรกและเข้าใจว่าเขามีความเป็นมาอย่างไร ?” โจ เคซาดา บรรณาธิการ มาร์เวล คอมิค กล่าว
ทำหนังให้ดีเสียก่อนแล้วค่อยสร้างจักรวาล
แม้หนังซุปเปอร์ฮีโร่ของมาร์เวลจะขึ้นชื่อเรื่องการเชื่อมเรื่องไปสู่หนังเรื่องต่อไป ทั้งในเครดิตท้ายเรื่องบ้าง หรือในเนื้อเรื่องของหนังเองบ้าง จนถูกเรียกเป็นจักรวางของหนังมาร์เวลที่สร้างฐานแฟนภาพยนตร์ติดตามคาดเดาเนื้อเรื่อง และรอคอยงานชิ้นต่อไป ส่งผลให้มีหลายสตูดิโอพยายามทำตามบ้างนั้น
หากเควิน ไฟกีได้ให้สัมภาษณ์ถึงเคล็ดลับของมันว่า “คำแนะนำเดียว และผมน่าจะเคยพูดไปแล้วว่า อย่าเพิ่งห่วงเรื่องจักรวาล ห่วงเรื่องการสร้างหนังก่อน เราไม่เคยตั้งต้นที่จะสร้างจักรวาลก่อน เราตั้งต้นที่การสร้างหนัง Iron Man, สร้างหนัง Hulk, สร้างหนัง Thor สร้างหนังเรื่องหนึ่งให้ออกมาดีก่อน ค่อยๆ ทำแบบนั้นออกมาทีละเรื่อง ไม่มีใครหรอกที่จับพวกเขามารวมกันเลย”
แฟนบอยผู้ติดดิน
แม้จะเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่จนทำรายมหาศาลทั่วโลก หากภาพลักษณ์ของไฟกีที่มักปรากฎออกสื่อกลับไม่ได้ดูเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก เขายังคงชอบใส่หมวกเบสบอล และใส่รองเท้าผ้าใบ ซึ่งถ้าใครไม่รู้ว่าเขาคือโปรดิวเซอร์เงินล้าน ก็คงคิดว่าเขาเป็นแฟนบอยการ์ตูนรุ่นใหญ่เป็นแน่แท้
ความติดดินนี่เอง ที่ คริส เฮมเวิร์ธ (นักแสดงผู้รับบท Thor) บอกว่าไฟกีเป็นคนทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ยังได้รับความเคารพรักจากคนที่ทำงานอย่างยิ่ง
ข้อมูลจาก
- boxofficemojo.com
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2014-04-03/kevin-feige-marvels-superhero-at-running-movie-franchises#p3
- https://www.vanityfair.com/hollywood/2017/12/marvel-kevin-feige-interview
- https://www.tvovermind.com/five-things-didnt-know-kevin-feige/
ยัติภังค์
อดีตนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ที่มีงานหลักเลี้ยงลูก มีความบันเทิงจากการดูหนังฟังเพลงเป็นยาใจพอให้ได้ขีด