เรื่อง : ณัฐณิชา เทพสำเริง
ภาพ : ดีนี่ จันทร์เทียน จรรยางาม
ผลงานจากนักเรียนโครงการ “ทำ ก่อน ฝัน The Dream Explorers รุ่น 4”
เมื่อกล่าวถึงผนังสีขาว พระเจ้า และกระจกแก้วหลากสี หากเป็นคนทั่วไปคงไม่ได้นึกถึงสิ่งใดเป็นพิเศษ เพราะไม่ได้มีการคลุกคลีหรือทำกิจกรรมร่วมกับสถานที่นั้น ๆ อย่างสม่ำเสมอ เมื่อเทียบกับคนที่ได้ร่วมศึกษาหรือปฏิบัติตนอย่างถ่องแท้แล้ว พวกเขาอาจนึกไปถึงศาสนสถานที่พวกเขาได้ทำการศึกษาหรือได้ผ่านเข้า-ออกเพื่อทำกิจกรรมทางศาสนาอยู่บ่อยครั้ง
ลักษณะเด่นของโบสถ์ทางศาสนาคริสต์ไม่ได้มีแต่เพียงเท่านี้ หากยังรวมไปถึงสถาปัตยกรรมตึกทอดสูงยาว มีผนังเปิดกว้าง และมีแบบที่ออกมาเป็นลายเส้นอันซับซ้อน ทุกส่วนล้วนประกอบเข้าด้วยกันเป็นสัญลักษณ์นิยมทางศาสนา
อันเนื่องมาจากลักษณะของสถาปัตยกรรมในยุคสมัยของศิลปะกอทิก เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่รุ่งเรืองในช่วงกลางของยุคกลางถึงปลายของยุคกลาง โดยวิวัฒนาการมาจากสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์และตามด้วยสถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา สถาปัตยกรรมกอทิกเกิดขึ้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12 ถึง 16 โดยเริ่มขึ้นในประเทศฝรั่งเศสก่อนเผยแพร่ไปยังประเทศอังกฤษ และต่อไปทั่วทวีปยุโรป
ทว่าโบสถ์คอนเซ็ปชัญนั้นแตกต่างออกไป ตัวโบสถ์คอนเซ็ปชัญมีความโดดเด่นในด้านงานสถาปัตยกรรมมากกว่าโบสถ์ทั่วไป เนื่องจากเป็นโบสถ์ลูกครึ่งไทยและฮอลันดา หรือที่เรียกว่า ‘วิลันดา’ ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีลักษณะเด่นจากการใช้ระบบผนังรับน้ำหนัก มีเสาไม้รับโครงของหลังคาแบบไทยและตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นลายเทศเลียนแบบต่างชาติ โดยลดลายเส้นกนกออกไป จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดคอนเซ็ปชัญได้มีการเพิ่มเติมส่วนของหอระฆัง โดยมีสถาปนิกโจอาคิม กรัสซี (Joachim Grassi) ชาวออสเตรีย เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งเป็นการออกแบบหอระฆังด้วยสถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา มีหัวเสาแบบโรมาเนสก์รองรับช่วงชั้นต่าง ๆ ของอาคาร และการวางเป็นซุ้มโค้งแบบโรมัน ด้วยเหตุนี้ทำให้โบสถ์คอนเซ็ปชัญ ประกอบด้วยงานสถาปัตยกรรมถึง 3 รูปแบบ คือ ไทย ฮอลันดา และโรมัน
วัดคอนเซ็ปชัญเป็นวัดของคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาธอลิก บริเวณที่ตั้งวัดเป็นที่ดินพระราชทาน ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระราชทานให้แก่มิสซังสยาม ซึ่งบริเวณนั้นมี ‘ชาวกุย’ หรือ ‘ชาวกวย’ อาศัยอยู่
โบสถ์หลังแรกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2217 เรียกกันว่า ‘วัดน้อย’ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2328 มีชาวโปรตุเกสและชาวเขมรเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณ โบสถ์หลังนี้จึงถูกเรียกว่า ‘โบสถ์บ้านเขมร’ ในสมัยของรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ.2377 ได้มีชาวญวนอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระองค์ทรงพระราชทานที่ดินที่อยู่ใกล้กับวัดให้เป็นที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย พร้อมกับพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ให้สร้างโบสถ์ขึ้นอีกหลังหนึ่ง เรียกกันว่า ‘โบสถ์บ้านญวน’ หรือ ‘วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์’
ส่วนโบสถ์คอนเซ็ปชัญหลังปัจจุบันสร้างขึ้นใน พ.ศ.2379 โดยสังฆราชปาเลอกัวซ์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น ผู้ดูแลโบสถ์เล่าว่า “รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จพระราชดำเนินเนื่องในพิธีฉลองครบรอบ 300 ปี ในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ.1974 ในตอนนั้นป้ายังไม่ได้ทำงานที่นี่ แต่มีป้ายที่เป็นลายลักษณ์อักษรแปะไว้ที่ด้านข้างเสาโบสถ์”
แผ่นป้ายสีทองสลักตัวอักษรสีทองเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวติดอยู่ที่เสาปูน ด้านล่างประดับด้วยดอกไม้สีขาว นอกจากตัวโบสถ์แล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือรูปสลักพระแม่เจ้าพระนางมหามารีอาในโบสถ์คอนเซ็ปชัญแห่งนี้
กิตติศักดิ์ ขจัดภัย ชาวบ้านหมู่บ้านญวนเล่าว่า “เคยมีกรณีที่จะอัญเชิญรูปสลักพระแม่เจ้าไปอยู่สถานที่อื่น แต่ว่าเกิดเหตุเรือไม่เคลื่อนที่ อาจเป็นเพราะพลังของพระแม่หรืออำนาจปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ตอนหลังก็เลยตั้งรูปปั้นไว้ที่เดิม มีอีกเรื่องคือเมื่อหลายปีมาแล้วไฟไหม้แถวนี้ แต่ว่าไฟไม่ได้ลามมาถึงชุมชน ชาวบ้านต่างก็เชื่อกันว่าเป็นเพราะพระแม่ช่วยดูแลพวกเราอยู่”
นอกจากสถาปัตยกรรม รูปสลักพระแม่เจ้า หรือเรื่องเล่าต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ในประเทศไทย มีวัดคาธอลิกเพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงมีพิธีถอดพระ และหนึ่งในนั้นคือวัดคอนเซ็ปชัญ ซึ่งจะมีพิธีในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์