ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


ขั้นตอนหนึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร เปรียบกับชาวบ้านทั่วไปก็คือการ “ขึ้นบ้านใหม่” เพื่อความเป็นสิริมงคล และความร่มเย็นเป็นสุข

พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นพิธีเสด็จขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน อันเป็นพระที่นั่งองค์ประธานในหมู่พระมหามณเฑียร โดยพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะเสด็จไปประทับ ณ ห้องบรรทมในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระบุรพกษัตริย์มาแต่ครั้งโบราณ

สิ่งมงคลที่ต้องใช้ในการเฉลิมพระราชมณเฑียรตามราชประเพณี ได้แก่วิฬาร์ (แมว) ศิลาบด (หินบดยา) พันธุ์พืชมงคล ฟักเขียว กุญแจทอง จั่นหมากทอง ซึ่งหลายอย่างล้วนเป็นข้าวของในพิธีขึ้นบ้านใหม่ของสามัญชนคนไทยอยู่แล้ว มีทั้งสิ่งจำเป็นแก่การเริ่มต้นครอบครัวใหม่ เช่นเมล็ดพันธุ์พืชและสัตว์เลี้ยง กับสิ่งมงคลที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์แทนคำอวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข เช่น

ฟัก ว่ากันว่าเป็น “ของเย็น” คงหมายถึงให้อยู่เย็นเป็นสุข โบราณน่าจะใช้ฟักเขียวลูกโตๆ แต่เคยเห็นในภาพถ่ายเก่างานแต่งงานและขึ้นบ้านใหม่รุ่นเมื่อสักครึ่งศตวรรษมาแล้ว ท่านอนุโลมใช้ฟักทองผลใหญ่แทนก็ได้

หินบด เป็นแท่งหินทรงกระบอก ปลายมน รูปร่างคล้ายลูกฟัก แขกอินเดียใช้เป็นเครื่องมือบดเครื่องแกงโดยนำมากลิ้งบดลงบนแท่นหินอีกอัน แต่อาจเพราะเราใช้ครกกับสากโขลกเครื่องแกงแทนไปแล้ว คนไทยจึงใช้หินบดเฉพาะกับเครื่องยาสมุนไพร หินบดนี้ ว่ากันว่าหมายถึงให้มีใจคอหนักแน่นเหมือนหิน

ส่วนวิฬาร์หรือแมว ถือเป็นคติมงคลว่าให้ “รู้อยู่” เหมือนแมวคราว คือแมวตัวผู้อายุมาก หนวดยาว

พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรจะจัดขึ้นในเวลาค่ำ โดยในหลวงจะเสด็จขึ้นประทับบนพระแท่นมณฑล ทรงรับกุญแจทอง จั่นหมากทอง ธารพระกร พันธุ์ผัก หินบด และแมว ฯลฯ เจ้านายผู้ใหญ่ฝ่ายในถวายพระพร แล้วเอนพระองค์ลงบนพระแท่น บรรทมพอเป็นมงคลฤกษ์

ในบางรัชกาลทรงมีพระราชนิยมให้เพิ่มสิ่งของในพิธีขึ้นไปอีก เช่นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เริ่มใช้พระแส้หางช้างเผือกผู้ และในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ในปี ๒๔๖๘ ยังเพิ่มไก่ขาวเข้ามาอีก

ว่ากันว่าก็เป็นการอนุโลมตามคติธรรมเนียมขึ้นบ้านใหม่ของคนไทย ที่ต้องมี “ไก่ขาว” กับ “ไม้เท้าผีสิง” ดังนั้นผู้อุ้มไก่ขาวจะเป็นผู้เชิญธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ด้วย

ทั้งนี้แต่โบราณกำหนดให้ผู้เชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรเป็นพระราชวงศ์ฝ่ายใน (เจ้านายสตรี) เช่นในหมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๗ ระบุว่า ผู้อุ้มวิฬาร์ ได้แก่หม่อมเจ้าสุริยนันทนา สุริยง พระธิดาในกรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส ส่วนผู้อุ้มไก่ขาวและถือธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ คือพระองค์เจ้าพิสิษฐสบสมัย พระธิดาใน “ทูลกระหม่อมบริพัตร” สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

ในภาพถ่ายหมู่เจ้านายฝ่ายในที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ในพิธี ทุกพระองค์ทรงมองกล้องถ่ายรูป ส่วนเจ้าแมวสีสวาดนั้น ดูเหมือนกำลังหันไปให้ความสนใจกับไก่ตัวโตที่อยู่ข้างๆ

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ มีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมนี้ไปบ้าง คือให้ข้าราชบริพารฝ่ายหน้า (ผู้ชาย) เป็นผู้เชิญเครื่องราชูปโภค สิ่งมงคล รวมถึงรูปปั้นสัตว์มงคล คือแมวไทยวิเชียรมาศและไก่ขาว ซึ่งประดิษฐ์โดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เลียนแบบแมวไทยตัวที่เอี้ยวคอเหลียวมองและไก่ขาวหงอนงาม ตามภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๗ เข้าร่วมพิธี

แม้ไม่มีคำอธิบาย “อย่างเป็นทางการ” ถึงสาเหตุที่เปลี่ยนมาใช้รูปปั้นแทนแมวและไก่จริงๆ แต่ย่อมสันนิษฐานได้ว่า การนำเอาสัตว์ “เป็นๆ” มาเข้าพิธีซึ่งต้องใช้เวลานาน คงไม่ใช่เรื่องสะดวกนัก ดังที่หม่อมราชวงศ์กิตินัดดา (ไชยันต์) ปกมนตรี ผู้เคยรับหน้าที่อุ้มแมวเมื่อครั้งพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๙ เมื่อปี ๒๔๙๓ เคยเล่าไว้ว่า ท่านต้องขอเปลี่ยนแมวที่เข้าพิธี จากแมวสีสวาดตัวผู้ ที่ทั้งแก่ทั้งอ้วนทั้งดุ มาเป็นแมวสีสวาดตัวเมีย ทั้งยังต้องไปแอบทำความคุ้นเคยกันล่วงหน้ามาก่อน จน “เธอ” ยอมให้คุณหญิงอุ้มได้

ม.ร.ว.กิตินัดดายังเล่าด้วยว่า ท่านผู้ที่รับหน้าที่อุ้มไก่ในงานเดียวกันนั้น โดนไก่ถ่ายรดอีกต่างหาก