เรื่องและภาพ : สุชาดา ลิมป์
เป็นปรกติของช่วงเวลาปิดเทอม ที่พ่อแม่มักพาลูกมาที่ทำงาน
กอง บก. สารคดี จึงได้ต้อนรับเด็กชาย-เจ้าของตัวต่อพลาสติกหลากสีที่ลักษณะเหมือนก้อนอิฐจิ๋วมีปุ่ม เขามักต่อเครื่องบินหรือเรือรบให้เสร็จที่โต๊ะพ่อค่อยเดินอวดผลงานให้ลุงป้าน้าอาร่วมจินตนาการ
“ปิดเทอมคราวหน้า พ่อจะพาธาราไปเลโก้แลนด์ที่มาเลย์ด้วยนะ”
เด็กชายวัย ๗ ขวบ อวดพลางอธิบายว่าที่นั่นเป็นอย่างไรจากภาพที่เห็นในอินเทอร์เน็ต
หยอกว่าถ้าจะไปต้องมีเงินเยอะมากนะ มีเท่าไรก็คงไม่พอ ของเล่นน่าซื้อเยอะไปหมด
“ธารามีเงินเก็บสามหมื่นบาทแล้วนะ ปู่ให้ธารา ปู่รวย ธาราจะเอาไปซื้อเลโก้”
เจ้าของน้ำเสียงเจื้อยแจ้ววางท่าหนุ่มสายเปย์ แม้ไม่ชัดเจนว่ามูลค่าของเงินหมื่นจะซื้ออะไรได้บ้าง หรือเอาเข้าจริงพ่อกับแม่จะยอมให้ซื้อได้กี่ชิ้น แต่ในหัวใจเด็กน้อยเวลานี้นับวันเก็บกระเป๋าเดินทาง
ฟังเขาต่อภาพอนาคต พลอยหวนถึงครั้งได้เยือนปี ๒๕๕๙ สี่ปีหลังจาก “เลโก้แลนด์ มาเลเซีย” กำเนิดที่เมืองยะโฮร์บาห์รู ประเทศมาเลเซีย เป็นลำดับที่ ๖ ของโลก และเป็นเมืองเลโก้แห่งแรกของเอเชีย
ตื่นตาตั้งแต่ทางเข้า-ออกหลักของสวนสนุก
ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยประตูตัวต่อสีจัดจ้าน รูปแบบดั้งเดิมที่คนรักเลโก้คุ้นตา ลอดผ่านจะเจอ “BIG SHOP” ร้านค้าเลโก้แลนด์ที่ใหญ่สุดในเอเชีย จำหน่ายสารพัดผลิตภัณฑ์ตัวต่อพลาสติกภายใต้ชื่อ “LEGO”
โลกแห่งจินตนาการเริ่มด้วยอาคารทรงประกอบแบบเลโก้ที่ผ่านการทดสอบอย่างดี มีเกมให้เล่นสร้างบ้าน ตึกระฟ้า รถยนต์ ฯลฯ ด้วยรูปแบบ Interactive Lego แต่ความหรรษาจริงอยู่กลางแจ้งเกือบหมด มีเครื่องเล่นมากกว่า ๔๐ รายการ ที่สร้างด้วยตัวต่อเลโก้กว่าล้านชิ้นไว้บริการเด็กเล็ก เด็กโต และผู้ใหญ่
น่าทึ่งว่า ๗๐ ปีก่อนคงไม่มีใครนึกว่าวันหนึ่งจะมีผู้ต่อเลโก้เป็นสวนสนุกของมนุษย์
กระทั่ง บริษัทเดอะเลโก้กรุ๊ป นึกสนุกผุดไอเดียซนรองรับการเติบโตในธุรกิจของเล่น
มิถุนายน ๒๕๑๑ จึงเกิด “เลโก้แลนด์” (LEGOLAND) แห่งแรกในเมืองบิลลุนด์ อวดประติมากรรมการประกอบตัวต่อเลโก้นานาชนิดบนพื้นที่ ๓ เอเคอร์ ด้วยจำนวนตัวต่อ ๑๘ ล้านชิ้น แล้วอีก ๒๐ ปีต่อมาก็ขยายพื้นที่ไปในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งเลโก้แลนด์ วินเซอร์ ในสหราชอาณาจักร, เลโก้แลนด์ แคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกา, เลโก้แลนด์ ด็อยช์ลันด์ ในเยอรมนี และเลโก้แลนด์ ฟลอริดา ในสหรัฐอเมริกา กระทั่งปี ๒๕๕๕ จึงกำเนิด “เลโก้แลนด์ มาเลเซีย” แห่งล่าสุดภายในพื้นที่ ๗๖ เอเคอร์ นับเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่ครบวงจรเพราะนอกจากมีสวนสนุกเลโก้แลนด์ มาเลเซีย ยังมีสวนน้ำ “เลโก้แลนด์ วอเตอร์พาร์ค” เปิดตามกันในปีถัดมา ต่อด้วยโรงแรม “เลโก้แลนด์ มาเลเซีย รีสอร์ท” ในปี ๒๕๕๗ และล่าสุดเมื่อปลายปี ๒๕๖๐ เลโก้แลนด์ มาเลเซีย รีสอร์ท ก็เพิ่งเปิดตัว “เลโก้รถไฟเหาะเสมือนจริงแห่งแรกของโลก”
เสน่ห์ที่ทำให้ผู้คนหลงรักสวนสนุกเลโก้ ไม่ใช่เพราะเครื่องเล่นสนุกกว่าที่อื่น
แต่เป็นเครื่องเล่นประกอบจากตัวต่อ-ของเล่นที่ใครก็รักซึ่งสวนสนุกอื่นไม่มี
วัยเด็กของใครหลายคนเติบโตมากับตัวต่อเลโก้ที่แบ่งหมวดตามอายุ ตั้งแต่ “เลโก้ เบบี้” ที่เหมาะสำหรับทารกแรกเกิดถึง ๖ เดือน พอโตขึ้นก็มีหมวดอื่นๆ เช่น เลโก้ ซิสเต็ม, เลโก้ ดูโป, เลโก้ เทคนิค, เลโก้ ดักตา (DACTA) ฯลฯ เพื่อรับส่งพัฒนาการแต่ละช่วงวัย แต่ละหมวดยังมีธีมย่อยให้เล่นสนุกมากน้อย-ยากง่ายต่างกัน และหนึ่งในการเล่นยอดฮิตก็คือสร้างเมืองจำลองด้วยตัวต่อเลโก้
๑ ใน ๗ โซนเด็ดของเลโก้แลนด์จึงเอาใจด้วยพื้นที่ “มินิแลนด์”
เนรมิตเลโก้ให้เป็นมากกว่า “ของเล่น” เปี่ยมด้วย “งานศิลปะ”
ไม่ใช่แค่รวบรวมแลนด์มาร์กต่างๆ ในเอเชียมาสร้างด้วยตัวต่อ ยังใส่ใจให้สถานที่มีชีวิตชีวาด้วย “มินิฟิก” หุ่นจำลองคนจิ๋วผิวสีเหลืองขนาดสูงเฉลี่ย ๔ เซนติเมตร ดั่งเผ่าพันธุ์หนึ่งในโลกเลโก้ ประชากรเลโก้ยังน่ารักด้วยท่วงท่าที่เสมือนมีลมหายใจในชีวิตประจำวัน บ้างประกอบอาชีพต่างๆ อยู่ในอิริยาบถแตกต่าง เลี้ยงสัตว์ อยู่เป็นครอบครัว ฯลฯ แต่ละมินิฟิกล้วนมีปฏิสัมพันธ์กับสถานที่ในบริเวณ บางเลโก้อย่างรถไฟ เครื่องบิน เรือ จักรยาน มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ ฯลฯ ยังเคลื่อนไหวด้วยจักรกลที่ซ่อนการมองเห็นไม่ให้ขวางจินตนาการ หมดรอบแต่อยากชมซ้ำก็เพียงช่วยกดปุ่มเริ่มใหม่ เพลินได้ตั้งแต่ ๑๐ โมงเช้าถึง ๖ โมงเย็น
เอาเข้าจริง ถ้ายังไม่ใกล้เวลาปิดทำการก็ไม่ค่อยมีใครอยากรีบกลับ
เพราะแม้จะเป็นเรื่องง่ายในการเที่ยวให้ทั่วในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่สำหรับคนที่ชอบของเล่น รักการสร้างสรรค์ และให้คุณค่ากับโลกจินตนาการ แค่สังเกตตัวต่อรูปทรงต่างๆ ที่อาคาร เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเล่น หุ่นจัดแสดง ฯลฯ ตามปุ่มและร่องที่รองรับการต่อติดได้โดยไม่ต้องใช้กาวก็ต้องใช้เวลาสนุกค่อนวันแล้ว
และนั่นก็เป็นไปตามคอนเซ็ปต์ที่ “โอเล เคิร์ก คริสเตียนเสน” (Ole Kirk Christiansen) หนุ่มช่างไม้ชาวเมืองบิลลุนด์ ประเทศเดนมาร์ก เจ้าของ LEGO เจตนาเล่นชื่อให้พ้องรากศัพท์ภาษาเดนมาร์กว่า
“LEg GOdt” หมายถึง “Play Well” ทำนองว่า “เล่นได้เล่นดี”
เลโก้แลนด์จึงไม่ได้เหมาะเฉพาะเด็กๆ ที่หลงใหลการเล่นตัวต่อ คนโตแล้วลองได้มาเยือนก็เหมือนได้สมมติตนเป็นวิศวกรประกอบความเป็นเด็กคืนร่างผู้ใหญ่อีกครั้ง
ก่อนกลับบ้าน เสียงร้องไห้จ้าดังจากเจ้าเด็กชายวัยประถม ผู้ทำกระป๋องใส่ตัวต่อพลาสติกหล่นพื้น
ผู้ใหญ่พากันปลอบว่าไม่เป็นไร พ่อของเขาเอ่ยชวนให้ช่วยกันเก็บขึ้นใหม่ เจ้าหนูยอมสงบโดยดี แม้ไม่รู้เขาคิดอะไรหัวใจจึงเปราะบางกับของเล่น แต่จินตนาการของผู้ผ่านโลกเลโก้แลนด์มาแล้วเดาต่อ
สิ่งที่เขากำลังเก็บแต่ละชิ้นไม่ใช่แค่ตัวต่อ แต่เป็นถึงอะไหล่เครื่องบินหรือเรือรบ