เก็บตก
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี
เครือข่ายภาคประชาสังคมชุมนุมอย่างสงบและจัดเวทีคู่ขนานการประชุมสมัชชาไฟฟ้าพลังน้ำโลก ชี้ให้เห็นผลกระทบจากเขื่อนทั้งทางสังคม สิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน (ภาพ : Todd Southgate)
“เราไม่สามารถทำตัวเป็นเพียงผู้รับชมอย่างเงียบๆ โดยปล่อยให้นักค้ากำไรในนามของบรรษัท นักการเงิน และพันธมิตรของพวกเขา ออกมาโฆษณาชวนเชื่อทางออกที่ผิดๆ ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ และการทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้”
แถลงการณ์องค์กรภาคประชาสังคม เวทีคู่ขนานการประชุมสมัชชาไฟฟ้าพลังน้ำโลก ๒๕๖๒
ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
….
เมื่อวันที่ ๑๔-๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ สมาคมไฟฟ้าพลังน้ำสากล (International Hydropower Association : IHA) จัดการประชุมสมัชชาไฟฟ้าพลังน้ำโลก (World Hydropower Congress) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อนำเสนอว่าเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมีความจำเป็นและเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ตั้งชื่อการประชุมว่า “การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการประชุมซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกสองปี องค์กรภาคประชาสังคมนำโดยประชาชนผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อน เครือข่ายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนได้จัดเวทีคู่ขนานขึ้นที่ Town Hall of the 6th Arrondissement of Paris เพื่อนำเสนอว่าการประชุมครั้งนี้เป็นความพยายามของกลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรมเขื่อนและบรรษัทในการสร้างภาพว่า “เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเป็นพลังงานสีเขียว” ทั้งที่จริงแล้วเขื่อนเป็นตัวการก่อความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นสาเหตุของการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน
หน้าปกหนังสือแถลงการณ์ “คำสัญญาที่ว่างเปล่าของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ” มีผู้ร่วมลงนามกว่า ๒๕๐ กลุ่ม จากกว่า ๗๐ ประเทศ และมีการแปลออกเป็น ๕ ภาษา
วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ก่อนงานประชุมใหญ่ ๑ วัน ภาคประชาสังคมรวมทั้งกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน
อาทิ Planète Amazone, GegenStrömung/CounterCurrent, Rivers without Boundaries, International Rivers และ AIDA ร่วมกับตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนซึ่งเดินทางจากทวีปต่างๆ โต้แย้งบทบาทของโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแง่การบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ นอกเหนือจากยืนยันหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าเขื่อนผลิตไฟฟ้าเป็นจุดเริ่มต้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อัสโซซา หัวหน้าเผ่าพิกมีจากประเทศกาบองในทวีฟแอฟริกา ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่บ้านเกิดว่าการสร้างเขื่อนสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ
“ที่กาบอง เขื่อนคินเกเลและเขื่อนชิมเบเลส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ช่วงฤดูน้ำหลาก บางหมู่บ้านถูกน้ำท่วมเนื่องจากน้ำเอ่อล้นจากอ่างเก็บน้ำ แม่น้ำถูกเปลี่ยนให้เป็นทะเลสาบ น้ำมีสภาพเน่าเสีย และสัตว์น้ำตาย ไม่มีมาตรการใด ๆ เพื่อช่วยเหลือพวกเราในพื้นที่ รัฐบาลก็ไม่รับฟังข้อร้องเรียนของเรา เป็นเหตุให้เราต้องมาร้องเรียนที่ต่างประเทศ”
เวทีประชุมคู่ขนานมีผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนในเดินทางมาเข้าร่วมจากหลายภูมิภาค แต่ละคนแต่ละกลุ่มผลัดกันชี้ให้เห็นถึงหายนะที่เกิดขึ้นกับผู้คน ชุมชน สังคม
ดร. มินต์ซอ นักกิจกรรมและนักวิจัยจากประเทศเมียนมาร์ หนึ่งในวิทยากรซึ่งเคยได้รับรางวัลโกลด์แมน เมื่อปี ๒๕๕๘ แลกเปลี่ยนว่า “ความมั่นคงด้านอาหารของประชาชนหลายล้านคน กำลังถูกคุกคามจากแผนการสร้างเขื่อนในแม่น้ำอิระวดี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อที่ดินเกษตรกรรมที่มีความสำคัญต่อการปลูกข้าวตามริมฝั่งแม่น้ำ และในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ”
ในเวทีมีการเปิดเผยว่าการสร้างผนังคอนกรีตขนาดยักษ์ของเขื่อนผลิตไฟฟ้าส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศน้ำจืด การไหลของน้ำและตะกอน เป็นอุปสรรคต่อพันธุ์ปลาอพยพ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ ทำลายแหล่งอาศัยที่มีลักษณะโดดเด่นทางธรรมชาติและทำลายความหลากหลายทางพันธุกรรม ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบเชื่อมโยงถึงสิทธิของประชาชนในท้องถิ่นซึ่งต้องพึ่งพาแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์และไหลอย่างเสรี ประเมินว่า โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนมากถึง ๔๗๒ ล้านคน ซึ่งอาศัยอยู่ด้านท้ายน้ำของเขื่อนทั่วโลก
แม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติสายท้ายๆ ในโลกที่ยังไม่มีเขื่อนกั้น รายงานที่สนับสนุนโดยธนาคารโลกเสนอให้รักษาแม่น้ำสายหลักของพม่าให้ไหลอิสระซึ่งรวมถึงแม่น้ำสาละวินและอิรวดี จากภาพชาวบ้านกำลังเตรียมทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำสาละวิน เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๒ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)
ตัวแทนเผ่าพื้นเมืองมุนดูรูกุจากป่าอเมซอนของบราซิล พยายามยื่นหนังสือที่สำนักงานใหญ่ของ eDF ตั้งคำถามกับโครงการสร้างเขื่อนที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมและทำลายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่าในป่าอเมซอน (ภาพ : Todd Southgate)
นอกจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ยังมีกรณีที่โครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ทำลายแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่างการสร้างเขื่อนอิลลิซูบนแม่น้ำไทกริสในตุรกี ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเมืองฮาซันคีฟซึ่งเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีอายุถึง ๑๐,๐๐๐ หมื่นปี ทำลายน้ำตก “ซีรี เคดาส” บนแม่น้ำเตเลสปีเรส ในเขตป่าอเมซอนของบราซิล ซึ่งเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และมีคุณค่าทางจิตวิญญาณอย่างสำคัญยิ่งต่อชนพื้นเมืองเผ่ามุนดูรูกุ อาปิอาก้า และคายาบี
นอกจากนี้ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อสังหารเนื่องจากความขัดแย้งเรื่องเขื่อน
ฆวน ปาโบล โซเลอร์จากกลุ่ม Movimento Ríos Vívos of Colombia กล่าวถึงเหตุการณ์ที่บ้านเกิดว่า “มิเกล แองเกล ปาบอน หายตัวไป เนื่องจากการรณรงค์ต่อต้านเขื่อนไฮโดรโซกาโมซาในโคลอมเบีย ซึ่งยังคงเดินหน้าต่อถึงแม้จะมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงก็ตาม”
หลังการประชุมเวทีคู่ขนานมีการเผยแพร่แถลงการณ์ “คำสัญญาที่ว่างเปล่าของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ” (The False Promises of Hydropower) ที่มีรายชื่อผู้ลงนามจากกว่า ๒๕๐ กลุ่มจากกว่า ๗๐ ประเทศ รวมทั้งเครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง และมีการแปลออกเป็น ๕ ภาษา มีการรวมกลุ่มประท้วงอย่างสงบที่ด้านหน้าซุ้มประตู Espace Grande Arche ในเขต La Defense เพื่อกระตุ้นให้ตัวแทนอุตสาหกรรมเขื่อนได้เห็นผลกระทบด้านลบของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ
เนื้อหาในแถลงการณ์ตอนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ความพยายามของกลุ่มอุตสาหกรรมเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ต้องการสร้างภาพว่าเขื่อนเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด อาจเป็นไปเพื่อให้บรรลุความตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ตามการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ ๒๑ หรือ COP21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ได้รับความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๘
และน่าจะมีเป้าหมายเพื่อขอรับเงินทุนสนับสนุนตามกลไกใหม่ อย่างเช่น กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund) ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) โดยเพิกเฉยต่อหายนะในระยะยาวด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม อันเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ มีรายงานว่าระหว่างการประชุม ตัวแทนหัวหน้าเผ่าพื้นเมืองมุนดูรูกุจากเขตป่าอเมซอนของบราซิล ได้พยายามยื่นหนังสือที่สำนักงานใหญ่ของอีดีเอฟ (Électricité de France : eDF) รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลฝรั่งเศสถือหุ้นใหญ่ เพื่อตั้งคำถามกับการที่บริษัทมีส่วนร่วมในโครงการสร้างเขื่อนยักษ์เซาลุยซ์โดทาปาโฮ ที่จะทำลายแม่น้ำ แผ่นดิน และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่ามุนดูรูกุในป่าอเมซอน แต่ตัวแทนบริษัทปฏิเสธที่จะออกมาพบกับพวกเขา