เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๘  บนเนื้อที่ ๑,๒๔๒ ไร่ ๒๐ ตารางวา  เดิมเป็นที่ทำกินของเกษตรกรกว่า ๑๐๐ ครอบครัว สภาพดั้งเดิมเป็นเรือกสวนไร่นา จนเริ่มเปลี่ยนสภาพเป็นเมืองหลังจากมีการสร้างอาคารและตัดถนนในมหาวิทยาลัยถึง ๑๗ สายในยุคหลัง  การสำรวจพบว่าแต่ละวันมีผู้เข้ามาใช้พื้นที่ราว ๒๕,๐๐๐ คน รถยนต์ ๓,๐๐๐ คัน และรถจอดริมถนนกว่า ๗๐๐ คัน

ปี ๒๕๕๑ เมื่อพบว่าจำนวนรถยนต์ในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นทวีคูณ คณะผู้บริหารตัดสินใจทำโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) กำหนดเป็นผังแม่บทศาลายา (The Master Plan of Salaya Campus) โดยมีหลักการว่า พื้นที่ร้อยละ ๗๐ ต้องเป็นพื้นที่สีเขียว และจำกัดพื้นที่เมืองไว้ที่ร้อยละ ๓๐ ถือเป็นการคุมทิศทางการเติบโตด้านกายภาพของมหาวิทยาลัย  ประมาณการว่าพื้นที่ร้อยละ ๓๐ นี้จะบริหารจัดการให้ประชาชนเข้ามาใช้พื้นที่ได้สูงสุดถึงวันละ ๕ หมื่นคน

ดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่ออนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่สีเขียวหลายโครงการ อาทิ โครงการแนวรั้วสีเขียวบนเนินดิน (ทำรั้วที่เป็นมิตรกับชุมชนรอบมหาวิทยาลัย) โครงการแปลงผักปลอดสารพิษ (เปลี่ยนพื้นที่ว่างเป็นแปลงผัก)  โครงการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำในมหาวิทยาลัย โครงการธนาคารขยะ เป็นต้น

จักรยานสีขาวที่นักศึกษา ม.มหิดลเรียกติดปากว่า “จั๊กก้า” เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามคืนพื้นผิวจราจรในโครงการเติมหัวใจให้ถนน ลดความแออัดของการจราจรในมหาวิทยาลัย  จั๊กก้าเป็นจักรยานสาธารณะ (Public  Bicycle) มีสีขาวทั้งคัน พบจอดที่ไหนก็นำไปขี่ได้ทันทียกเว้นขี่ออกนอกมหาวิทยาลัย

จักรยานสีขาวรุ่นแรกมีประมาณ ๒๐๐ คัน ต่อมาทางมหาวิทยาลัยนำจักรยานเก่าที่ได้รับบริจาคมาปรับปรุงใหม่  ข้อมูลล่าสุดปี ๒๕๕๓ มีจั๊กก้าทั้งสิ้น ๓๒๐ คัน  นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์การกีฬาอาสามาดูแล โดยมีการตั้งจุดซ่อมกลาง ออกสำรวจและนำจักรยานมาซ่อม ๒ สัปดาห์/ครั้ง และจัดเตรียมจุดเติมลมที่ป้อมยามทุกแห่งภายในมหาวิทยาลัย

ประเมินว่าปริมาณจักรยานส่วนบุคคลและจักรยานให้เช่าในวิทยาเขตมีไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ คัน จากการเปิดให้ลงทะเบียนจักรยานตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ โดยเก็บข้อมูลลงเว็บไซต์กองกิจการนักศึกษา  อย่างไรก็ตาม ๓ ปีที่ผ่านมา จั๊กก้าหลายคันจอดเสียด้วยสภาพเก่ามาตั้งแต่รับบริจาค

มีความพยายามสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการเดินและขี่จักรยาน เช่นสร้างวัฒนธรรม “ส่งต่อจักรยาน” จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง รวมถึงลดปัจจัยที่เอื้อต่อการใช้รถยนต์ เช่นลดเลนรถยนต์เหลือ ๒ เลน ทำให้การจอดรถยากขึ้น เป็นกลวิธีทางอ้อมให้คนหันมาใช้จักรยาน  มีการสร้างทางจักรยานแยกจากถนนเป็นสัดส่วนระยะทางกว่า ๒.๕ กิโลเมตร สร้างทางจักรยานสายรองรอบมหา-วิทยาลัย มีจุดจอดจักรยานจำนวนมาก ปลูกต้นไม้ ติดไฟส่องสว่างให้ทั่วถึง และทาสีเลนจักรยานให้คนขับรถยนต์เห็นชัดเจน วางระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อความมั่นใจของผู้ใช้จักรยาน

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี รองอธิการบดี ม.มหิดล ผู้ดูแลโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียว บอกว่าไม่กลัวเสียงบ่นจากคนขับรถยนต์ แต่ยินดีรับฟัง  “ถ้าเขาบอกเดินไกลจากจุดจอดรถเราก็จัดรถรางให้ ทางเดินไม่ดีก็ทำให้มันน่าเดิน ที่สำคัญคือเราพยายามปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ  สิ่งที่เราทำเป็นเรื่องกายภาพ ถ้าเขาไม่ตระหนักเรื่องนี้โครงสร้างพื้นฐานก็แทบจะไม่มีความหมาย ดังนั้นเราไม่ได้ทำทางจักรยานอย่างเดียว เรายังลงไปถึงการส่งเสริมกิจกรรมนักศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย”

คาดว่าโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียวจะเปลี่ยนวิทยาเขตศาลายาเป็น “สังคมจักรยาน” และจะรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำ พันธุ์พืช สัตว์เลื้อยคลานชนิดต่างๆ และนกที่มีไม่ต่ำกว่า ๘๐ ชนิด รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ดีในมหาวิทยาลัยต่อไป

ขอขอบคุณ :

  • คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
  • ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม
  • สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย