ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


หนึ่งในหนังสือ “ตำรากับข้าว” รุ่นแรกๆ ของเมืองไทย คือ “แม่ครัวหัวป่าก์” ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภริยาของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) พิมพ์ครั้งแรกช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ ราวปี ๒๔๕๑-๕๒ ตำราชุดนี้ถือเป็น “ขุมทรัพย์” ของผู้สนใจเรื่องประวัติศาสตร์อาหารการกินของสยาม ด้วยว่าท่านผู้หญิงได้บันทึกเกร็ดต่างๆ ปะปนอยู่กับตำราอาหารของท่านไว้มากมาย ยกตัวอย่างเช่น “ข้าวแช่” แบบที่ใส่ “น้ำแข็ง” ลงไปในน้ำ เหมือนที่เดี๋ยวนี้กินกัน ท่านผู้หญิงเล่าว่าก็เป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงตั้งแต่ยุคปลายรัชกาลที่ ๕ แล้ว เป็นต้น

อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในแง่ความเชื่อก็คือ แม่ครัวหัวป่าก์ ชุดที่รู้จักกันในปัจจุบัน ประกอบด้วยหนังสือเล่มเล็กห้าเล่ม ท่านผู้หญิงเปลี่ยนประเดิม “ไหว้ครู” ในหน้า ๑ ของเล่ม ๑ ด้วย “คำนมัสการ” ว่า นโมพุทธายะ! ศรีคเณศายะนะมะ! คือถวายสักการะแก่พระรัตนตรัย มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วต่อด้วยการกราบไหว้พระคเณศ ผู้เป็น “เจ้าวิชาอันศักดิ์สิทธิ์”

ดังนั้น จากที่เดิมเรามักเชื่อกันว่า ก่อนหน้านี้ คนไทยนับถือพระคเณศ เทพฮินดูที่มีเศียรเป็นช้างในฐานะเทพเจ้าแห่งช้างและวิชาคชกรรมคือการบังคับช้าง กระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีพระราชนิยมการบูชาพระคเณศในฐานะเทพเจ้าแห่งสรรพวิชาความรู้ กระทั่งกลายเป็นตราประจำกรมศิลปากรในเวลาต่อมา ซึ่งข้อมูลจาก “แม่ครัวหัวป่าก์” บอกเราว่า อย่างน้อยตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕ ท่านผู้หญิงเปลี่ยนก็เริ่มสักการะพระคเณศ ในฐานะ “เจ้าวิชา” มาก่อนแล้ว

หลังจาก “คำนมัสการ” เล่มแรกของ “แม่ครัวหัวป่าก์” ต่อด้วยคำบรรยายเรื่อง “อาหารในพิธีกรรม” (ถ้าเรียกตามภาษาปัจจุบัน) ได้แก่ สำรับเลี้ยงพระ เครื่องกระยาบวชสำหรับถวายพระภูมิเจ้าที่ เครื่องสังเวยเทวดา ของเซ่นผีบ้านผีเรือนเมื่อแต่งงานมีเขยเข้าบ้าน และ “สำรับครู” สำหรับการไหว้ครู

ท่านผู้หญิงให้ความรู้แก่เราว่า ของไหว้ครูบาอาจารย์ ล้วนต้องจัดแจงโดยละเอียด ต้องรู้ว่าใครชอบอะไรไม่ชอบอะไร ดังที่ท่านอธิบายเรื่องการจัดสำรับไหว้ครูฝ่ายดนตรีและนาฏศิลป์ไว้ว่า

“มีที่ ๑ ศีร์ษะสุกร ทั้งตีนแลหาง วางบนจานใหญ่ขึ้นโต๊ะ มีถ้วยน้ำพริกเผาด้วย…
“ถ้าไหว้ครูมะโหรีย์ไม่ใช้ศีร์ษะสุกร เพราะครูเปนแขก
“ถ้าครูลครตัวยักษ์มีหัวหมูดิบเติม เหล้า ๑ ขวด มีหมี่คลุก ห้ามไม่ให้ชิม ๑ จาน บู้หรี่ ๒ ตัว กันชา ๒ กิ่งเติมด้วย “ถ้าครูลิงมีผลไม้เติมด้วย”

แสดงให้เห็นว่า “ความรับรู้” บางอย่างยังคงตกทอดกันมาเป็นลำดับ เช่นที่ว่าครูมโหรีเป็น “แขก” คือเป็นมุสลิม จึงไม่ให้ไหว้ด้วยหัวหมู ปรากฏว่าตรงกับที่นักวิชาการยุคหลังๆ เพิ่งค้นพบว่า วงมโหรีแต่เดิมมีต้นทางมาจากเปอร์เซียหรืออิหร่านโบราณ ดังมักปรากฏภาพวาดวงดนตรีชายล้วนโพกหัวเป็นแขก บรรเลงซอสามสาย โทนรำมะนา และขับร้อง อยู่ในภาพจิตรกรรมโบราณของเปอร์เซียทั่วไป

ส่วนครูละครฝ่ายยักษ์นั้น นอกจากท่านจะมีรสนิยมสุราและกับแกล้มของดิบแล้ว ยังต้องไหว้ครูด้วยบุหรี่อีก ๒ ตัว และมีกัญชา ๒ กิ่ง ถวายด้วย จึงจะเป็นที่พอใจแก่บรรดาครูๆ !


srun ศรัณย์ ทองปาน เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี