เรื่องและภาพ : สุชาดา ลิมป์

สปีดโบ้ทกำลังโต้คลื่นสูงกลางอันดามันไป “หมู่บ้านมอแกน”

พอมีเวลาชั่วโมงครึ่งให้ทบทวนเหตุการณ์เมื่อสองเดือนก่อน

หัวค่ำ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ชายคนหนึ่งกำลังซ่อมเรือยนต์หางยาวอยู่ใต้ถุนบ้าน น้ำมันที่เติมใส่เครื่องปั่นไฟเกิดไปถูกตะเกียงซึ่งจุดไว้ในจังหวะลมทะเลขมีขมัน

เพียงครู่ที่เกิดประกายไฟ หมู่บ้านบนหาดทรายก็กลายเป็นทะเลเพลิง

บ้านของชาวเลกว่า ๒๐๐ คน บนอ่าวบอนใหญ่ ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ที่ปลูกด้วยไม้หลังคามุงใบค้อกลายเป็นเชื้ออย่างดีให้ติดไฟลุกลามรวดเร็ว สว่างจ้าไปทั่วเกาะสุรินทร์ใต้
เพลิงผลาญบ้านและทรัพย์สินวายวอด ๖๗ หลัง รอด ๑๘ หลัง

เป็นภัยรุนแรงอีกครั้งของหมู่บ้านนับจากปี ๒๕๔๗ ที่เกิดสึนามิ

:: ย้อนรอยเจ้าสมุทรอันดามัน ::

พวกเขา “กล้าทะเล” สมนามสกุลพระราชทานเพียงใด รู้กันอยู่

นับแต่สึนามิเมื่อ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากทั้งต่างชาติและไทยรอดชีวิตโดยคำแนะนำของชนกลุ่มน้อยบนเกาะสุรินทร์ ยิ่งเป็นข่าวใหญ่เมื่อผู้มีชื่อเสียงหลายรายในเหตุการณ์ระทึกออกสื่อยกย่องภูมิปัญญา “รู้ทันทะเล” ของชาติพันธุ์พื้นถิ่นที่นำนักท่องเที่ยวหนีขึ้นภูเขาสำเร็จ

แม้จะเป็นคลื่นประหลาดที่ไม่มีใครเคยเห็น แต่ลูกหลานมอแกนรู้จากบทเพลงของบรรพบุรุษว่าเป็นสิ่งที่ต้องระวังเสมอ หากหูได้ยินเสียงคลื่นแปลก ตาเห็นน้ำขึ้น-ลงผิดสังเกต ต้องรีบเผ่นขึ้นภูเขาให้สูงที่สุด
เมื่อคลื่นยักษ์ซัดถล่ม ๖ จังหวัดในฝั่งอันดามัน คนไทยและต่างชาติที่มาเที่ยวต่างสูญเสียมหาศาลอย่างไม่ทันตั้งตัว เวลานั้นชาวกล้าทะเลเกาะสุรินทร์ก็สิ้นเนื้อประดาตัว ทั้งบ้าน เรือ ข้าวของเครื่องใช้ และทรัพย์สินพึงเก็บออมล้วนหายวับไปในทะเล…แต่ไม่มีใครเสียชีวิต เพราะพวกเขาทันตั้งตัว

ผ่านไป ๑๕ ปี ภูมิปัญญาบรรพชนมอแกนยังคงได้การยอมรับ ข้างร้านค้าสวัสดิการบนอ่าวช่องขาด ที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ มีป้ายบอกเส้นทางหนีสึนามิขึ้นภูเขาพร้อมให้ตามรอยเสมอ

แต่น้อยนักที่ผู้มาเยือนจะรู้ว่าอ่าวช่องขาดนี้ก็เคยเป็นหมู่บ้านของชาวมอแกน

แม้ว่าเดิมบรรพชนมอแกนจะมีวิถีโลดโผนอยู่บนผืนน้ำเค็มมากกว่าผืนแผ่นดิน

ไม่นิยมปลูกบ้านถาวรบนบก จะกิน-นอนอยู่บนเรือ “ก่าบาง” ขนาดใหญ่ตามวิถีชนเผ่านักเดินทะเลที่นักวิชาการสันนิษฐานว่าอพยพจากแถบคาบสมุทรมลายู งมหอย แทงปลา หาหมึก ตามหมู่เกาะมะริดในเมียนมาร์ลงไปทางใต้และตะวันออกจนถึงหมู่เกาะย่านทะเลซูลูในฟิลิปปินส์ รวมถึงเกาะ-ชายฝั่งมาเลเซียและอินโดนีเซีย เมื่อถึงฤดูมรสุมจึงพากันหาที่เหมาะปลูกบ้านริมหาด หมู่เกาะสุรินทร์มีลักษณะเป็นที่กำบังคลื่นลมได้เนื่องจากเกาะวางตัวอยู่เป็นกลุ่ม (เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะรี เกาะไข่ และเกาะกลาง) โดยมีอ่าวขนาดใหญ่ช่วยปกป้องพวกเขาจากคลื่นลม รอบเกาะสุรินทร์ยังแวดล้อมทรัพยากรนานา ชาวมอแกนจึงเลือกลงปักฐานอยู่ตามหาดต่างๆ บริเวณนี้มานับร้อยปีรวมถึงบนอ่าวช่องขาด

กระทั่งพระยาสุรินทราชา เทศาเมืองภูเก็ต ออกสำรวจทะเลอันดามันจนพบหมู่เกาะที่คนไทยยังไม่เคยรู้จักจึงตั้งชื่อ “หมู่เกาะสุรินทร์” ปี ๒๕๑๔ กรมป่าไม้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อออกสำรวจเพิ่มภายหลังและพบความสมบูรณ์มหาศาลจึงเสนอเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลซึ่งได้รับอนุมัติปี ๒๕๒๔

เมื่อกฎหมายอุทยานแห่งชาติจำต้องควบคุมชีวิตอิสระบนอันดามันที่อยู่ติดชายแดนเมียนมาร์ซึ่งห่างจากฝั่งทะเลด้านตะวันตกของไทยเพียง ๗๐ กิโลเมตร ชาติพันธุ์ชาวเลที่ตั้งบ้านบนอ่าวช่องขาดและหาดต่างๆ ถูกจัดระเบียบให้อยู่รวมหลักแหล่งที่เกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้ซึ่งตั้งชิดกันคล้ายเกาะแฝด กั้นด้วยพื้นน้ำตื้นกว้าง ๒๐๐ เมตร (แล้วหลังสึนามิก็ถูกโยกมาอยู่รวมที่เกาะสุรินทร์ใต้แห่งเดียว)
นับแต่นั้น พื้นที่อ่าวช่องขาดก็ปรับเป็นที่ตั้งอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ มอแกนวัยแรงงานได้รับการจุนเจือด้านอาชีพกับทางอุทยานฯ หมู่บ้านจึงกลายเป็นสถานที่ทำงาน แต่ละวันชายหนุ่มมีหน้าที่ขับเรือนำนักท่องเที่ยวออกทะเล ส่วนหญิงสาวก็เป็นแม่ครัว-แม่บ้านดูแลความสะอาดที่พักไว้รองรับนักท่องเที่ยว

มีเพียง “เสาหล่อโบง” ขนาดใหญ่ที่ตั้งหน้าหาดให้ชาวกล้าทะเลระลึกถึง

ว่าครั้งหนึ่งบนอ่าวช่องขาดนี้เคยเป็นบ้านบนบกของเจ้าสมุทรอันดามัน

:: บ้านใหม่ของจอมป่าเกาะสุรินทร์ ::

คนรักคติชนวิทยา ลองได้มาหมู่บ้านมอแกนบนอ่าวบอนใหญ่เป็นตกหลุมรัก

เดี๋ยวนี้ลูกหลานกล้าทะเลไม่ได้ร่อนเร่บนท้องน้ำเค็มโดยอาศัยบ้านเรือก่าบางเป็นหลัก หันมาใช้เรือหัวโทงตามนิยมของชาวประมงชายฝั่งทั่วไปและตั้งรกรากถาวรบนหาดทราย

๖๐ หลังคาเรือนตรงหน้าเพิ่งปลูกเสร็จหมาดเมื่อต้นเดือนเมษายน หลังผ่านเหตุการณ์ไฟไหม้สองเดือนก่อน ผู้ประสบเคราะห์ได้บ้านใหม่ด้วยน้ำใจจากหน่วยงานราชการและคงปลูกอยู่หน้าหาดตามวิถีติดทะเลเพื่อให้สอดรับกับธรรมชาติและคล้ายแบบเดิมภายใต้ระเบียบของอุทยานฯ บ้านของพวกเขาลักษณะเหมือนกัน แต่ละหลังมีขนาด ๖.๕ เมตร ตั้งเรียง ๓ แถว แถวละ ๒๐ หลัง คราวนี้เว้นระยะ ๔ เมตร ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคติดตั้งเครื่องปั่นไฟให้ บริษัท ทีโอที ตั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ตเผื่อใช้สื่อสารคราวจำเป็น หมู่บ้านของพวกเขาจึงผสมผสานระหว่างความสมถะกับความเจริญ

ครัวเรือนชาวมอแกนไม่ต้องสะสมอะไรนักเพราะพวกเขารู้จักป่าดีพอกับทะเล

เรื่องหาทรัพยากรมาใช้ประจำวันจึงชำนาญไม่แพ้กลุ่มชาติพันธุ์ภูเขาชาวดอย

แต่เดิมอาหารหลักของชาวมอแกนนอกจากสัตว์ใต้ทะเลแล้วก็มีพืชพรรณบนภูเขาอย่างหัวมัน หัวกลอย ผัก ยอดไม้ ผลไม้ ฯลฯ แม้เดี๋ยวนี้รู้จักขายเปลือกหอยและสัตว์ทะเลเพื่อซื้อข้าวสาร ปรุงกับข้าว กินขนม ดื่มน้ำอัดลมแบบคนเมือง แต่องค์ความรู้ที่บรรพบุรุษส่งต่อว่าพืชใดเป็นอาหาร ผลไม้ใดเป็นยา เมล็ดอะไรกินสดได้หรือต้องปรุงก่อน สิ่งที่กินไม่ได้ก็รู้ยังจักใช้พอก-ทาภายนอก รวมถึงไม่เคยลืมว่าพฤกษศาสตร์ต่างๆ ล้วนมีประโยชน์หากรู้วิธี อย่างนำ “ไม้ยาง” ทำเรือขุด แม้ถูกห้ามไม่ให้ล่าสัตว์อนุรักษ์หรือตัดไม้ใหญ่ในอุทยานแห่งชาติมาทำเรือขุดอีก ก็ยังรู้จักตัด “พูพอน” ของต้นไม้ทำกระดานท้ายเรือเพื่อทุ่นแรง ไม่ต้องโค่นไม้ทั้งต้นและไม่เสียเวลาขุดถากไม้ให้แบน-บางเป็นกระดาน แล้วนำใบเตยหนามมาเย็บหลังคาเรือ ยังใช้สานเสื่อ กระบุง กล่องใส่ข้าวของ ใช้ “ใบค้อ” ซึ่

เป็นปาล์มมีใบเป็นรูปพัดขนาดใหญ่มาสานเหน็บเข้ากับซี่ไม้ไผ่เพื่อมุงหลังคาและทำฝาบ้านป้องแดดกันฝน บางบ้านหลังคารั่วก็สอยใบค้อมาเหน็บทับรอยเดิม ฯลฯ

แค่สถาปัตยกรรมง่ายๆ แต่มีประสิทธิภาพฉบับมอแกนก็สะกดสายตาได้นาน

ที่ท้ายหมู่บ้านมีซุ้มนิทรรศการคล้ายเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กบอกเล่าที่มาของผู้คนและชุมชนทั้งวิถีวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ภาษา ฯลฯ เพื่อให้ผู้มาเยือนร่วมรู้จัก-เข้าใจเจ้าถิ่น

หนึ่งในนั้นมีเรื่อง “หล่อโบง” (เสาวิญญาณบรรพบุรุษ) ซึ่งของจริง บูชาจริง (ไม่ใช่เพียงตั้งประดับอย่างบนหาดหน้าที่ทำการอุทยานฯ) ก็ตั้งอยู่ด้านหน้าซุ้มนิทรรศการ เพิ่งทำขึ้นใหม่เอี่ยม แสดงวิถีบูชาผีเทวดาผ่านรูปไม้แกะสลักที่รับวัฒนธรรมจากอินเดีย หล่อโบงของจริงมีขนาดไม่สูงนัก แกะจากท่อนไม้เป็น “แอบ๊าบ” แทนผู้ชาย และ “เอบูม” แทนผู้หญิง แล้ววาดหน้าตามนุษย์ชนเผ่าอินเดียนแดง-ระบายสีสดใสแบบง่ายๆ ไม่จัดจ้าน พวกเขาจะทำขึ้นใหม่ทุกปีก่อนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ทางจันทรคติ

ปีนี้ชาวกล้าทะเลก็เพิ่งทำพิธี “เหนียะเอนหล่อโบง” (บวงสรวงเสา) เมื่อ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๒

ใช้เวลา ๓ วัน ๓ คืน ระหว่างนี้พวกเขาจะพักออกทะเลเพื่ออยู่ร่วมบวงสรวงวิญญาณให้ปกป้องคุ้มครองพวกตน มีพิธีเสี่ยงทายโชคชะตาของหมู่บ้าน ร้องรำทำเพลง กินดื่มเฉลิมฉลอง โดยมีญาติพี่น้องจากเกาะต่างๆ ฝั่งเมียนมาร์มาพบปะ ช่วงสายของวันถัดมาจึงประกอบพิธี “ลอยเรือก่าบางจำลอง” จะพากันออกเรือหัวโทงลำใหญ่เพื่อนำเรือก่าบางลำเล็กไปลอยกลางทะเลลึก คล้ายเป็นการสะเดาะเคราะห์ผ่านลอนคลื่นสีเขียวมรกตให้ทุกข์โศกโรคภัยของชาวมอแกนลอยไปจนสุดหล้าฟ้าใส ปลายทางของพวกเขาคือ “อ่าวแม่ยาย” ซึ่งเป็นสุสานบรรพชนมอแกน ชาวกล้าทะเลจะช่วยกันนำเสาหล่อโบงและศาลเดิมไปไว้ที่นั่น
หนึ่งในสิ่งที่ผิดไปนับแต่ใช้ชีวิตเคารพกฎของอุทยานฯ คือไม่สามารถล่า “เต่า” มาเซ่นไหว้บรรพชนได้อีก พวกเขาปรับวิถีมาใช้ไก่สังเวยแทน แม้ยอมปฏิบัติโดยดีแต่ในใจของผู้เฒ่าล้วนกังวลว่าไก่ไม่อาจแทนเต่า ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ความยั่งยืนแห่งท้องทะเล-บ้านมอแกน

เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหญ่ในชีวิต พวกเขาจึงเชื่อว่านั่นไม่ใช่ปรากฏการณ์ แต่คือการลงทัณฑ์ที่มนุษย์ไม่รู้ค่าความสำคัญของประเพณีวัฒนธรรมของบรรพชน เช่นเมื่อครั้งเกิดสึนามิก็เพราะมีการทำเสาหล่อโบงจำนวนมากเกินไป (ตั้งประดับหน้าที่ทำการอุทยานให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปเป็นที่ระลึก) นอกจากขนาดใหญ่เกินและแต่งหน้าทาสีสันตาเพี้ยนไปจากของชาวมอแกนแล้ว สิ่งสำคัญคือไม่ได้มีการบูชาเซ่นไหว้
คราวนี้ไฟไหม้หมู่บ้านวอดอีก พวกเขาไม่รู้แน่ว่าอะไรบันดาลให้เกิดอุบัติเหตุ
แต่ที่ติดค้างอยู่ในใจคือไม่อาจหาเต่ามาเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ตามจารีตเดิม

:: กล้าทะเลรุ่นใหม่ในหมู่บ้านมอแกน ::

“ถ้าอยากช่วยเหลืออย่าถ่ายรูปแล้วให้เงินนะครับ อุดหนุนของที่ระลึกฝีมือพวกเขาดีกว่า”

มัคคุเทศก์เตือนนักท่องเที่ยวเมื่อเท้าพวกเขาผ่านผิวน้ำย่ำลงผืนทราย-แผ่นดินบกของชาวกล้าทะเล

วันนี้ นอกจากความงดงามแห่งท้องทะเล หมู่บ้านมอแกนคือพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของเกาะสุรินทร์ ชนเผ่าผู้ตั้งรกรากบนหาดทรายกลายเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์จัดระเบียบให้บริษัททัวร์จัดโปรแกรมเยี่ยมชมได้คณะละชั่วโมง แต่ละวันมีผู้มาเยือนหมู่บ้านเล็กๆ นี้เกือบพันคน สิ่งที่ได้สัมผัสเหมือนกันคือบรรยากาศเงียบสงบ มีกลุ่มผู้หญิงอยู่ติดบ้าน ทั้งหญิงชรา หญิงหม้าย และเด็กหญิง ส่วนเด็กสาวออกไปทำงานที่อุทยานฯ หนุ่มๆ รับจ้างขับเรือให้บริษัททัวร์นำนักท่องเที่ยวดำน้ำ มีบ้างที่ยังยึดวิถีประมง เดินทางไกลไปตามเกาะฝั่งเมียนมาร์เพื่อจับปลา หาหอย งมปลิง ค้าขายอาหารทะเล
บนเกาะนี้มีโรงเรียนเล็กๆ ตั้งเพื่อเน้นสอนภาษาไทยให้เด็กๆ เพราะคนรุ่นพ่อแม่ล้วนพูดภาษาเผ่าที่ยากจะสื่อสารกับคนนอก แต่เมื่อโลกการท่องเที่ยวเปิดกว้างการเผชิญหน้าเพื่อสร้างรายได้จึงจำเป็น

“สร้อยข้อมือเส้นละห้าสิบบาท”

แม่ค้าตัวน้อยบอกราคา เธออธิบายวัสดุที่ใช้ว่ามีทั้งลูกปัดพลาสติก ตุ๊กตาพลาสติกรูปเต่าทะเล หินเทอคอวยซ์ หินสีขาวเซาะร่องเป็นห้าแฉกคล้ายดาวทะเล ฯลฯ

“สามเส้นร้อย รวมกับสร้อยข้อเท้าได้”

แผงที่ขายอยู่ข้างกันเสนอทางเลือก แม้สื่อสารสำนวนห้วนแต่น้ำเสียงใสตามวัยก็ชวนให้อุดหนุน

พวกเธอนั่ง-นอนอยู่บนผืนทราย วางสินค้าขายบนโต๊ะเตี้ยที่ตั้งอยู่หน้าบ้าน-หลังบ้าน เช่นเดียวกับแม่ค้าน้อยใหญ่ที่เรียงรายกันไปเป็นแถวจนสุดทางหมู่บ้าน คล้ายถนนคนเดินสายสั้น

“ตัวนั้น ๑๐๐ บาท ตัวนี้ ๒๐๐ บาท เรือลำละ ๓๐๐ บาท”

เด็กหญิงชี้ท่อนไม้ปอทะเลที่หาได้ง่ายบนเกาะ นำมาเหลาเป็นชิ้นส่วนต่างๆ แล้วประกอบใหม่เป็นรูปตัวฉลาม ถัดมาเป็นเต่าทะเล และเรือมอแกน ที่สวยคือยังเรียบงามตามธรรมชาติไม่ทาสีหรือเขียนลาย

สินค้าที่ระลึกทั้งหมู่บ้านยังมีให้เลือกซ้ำๆ กันไม่กี่อย่าง แต่เด็กๆ ก็พยายามรังสรรค์งานฝีมือในแบบตน บ้างตัดกระดาษขนาดเท่าโปสการ์ดแล้วบรรจงวาดรูป-ระบายสีน่ารักๆ

ตามจริง ชาวกล้าทะเลไม่ได้อยากเปลี่ยนวัฒนธรรมพ่อแม่ แต่ต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว อย่างน้อยก็พอให้มีรายได้สมทบทุนไว้ซื้อข้าวสารและข้าวของเครื่องใช้หลังถูกไฟไหม้

เราอุดหนุนเต่าจากไม้ปอทะเล นึกสนุกนำไปวางเล่นบนผืนทรายหน้าหาดหันหน้าออกทะเล

ชวนจินตนาการถึงชีวิตที่ได้รับการปลดปล่อย พลันนึกถึงขนบเดิมที่ถูกเปลี่ยนอย่างห้ามเซ่นเต่าว่าจะเกี่ยวกับความเป็นไปของหมู่บ้านแน่หรือ แต่อย่างไรวันนี้กล้าทะเลรุ่นใหม่ก็ต้องเริ่มยอมรับว่าทรัพยากรเป็นของทุกคน ยุคที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และเพาะพันธุ์เต่าทะเล พวกเขาไม่อาจพรากมันจากท้องสมุทรได้อีก เพราะอาจส่งผลให้วิถีเป็นอยู่ของมอแกนดำเนินต่อยากเหมือนกัน

เมื่อทุกชีวิตก็พึงมีสิทธิ์ได้รับความปลอดภัยขณะดำรงชีพในบ้านตน


jeedสุชาดา ลิมป์
ผู้ไม่เน้นความเป็นระเบียบในชีวิต ถูกจริตกับผ้าขาวม้า วิถีท้องทุ่ง เรื่องราววัฒนธรรมร่วมสมัย พอๆ กับศิลปะและการเดินทาง