วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี
ภาพโดย กล่อง อาคุงกล่อง
ค่ายบ่มเพาะนักเขียนหน้าใหม่ ช่วงเสวนาเรื่อง “บทความ – สารคดี : การสืบค้นและการสร้างสรรค์” เมื่อสายวันเสาร์ ที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถือเป็นรายการพิเศษที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าร่วมฟังด้วย นอกชาวค่าย รุ่นที่ ๕ จำนวน ๔๐ คน ที่เป็นสมาชิกประจำ
โดยเชิญนักเขียนบทความและนักเขียนสารคดีมาร่วมเวทีเสวนา นำโดย อรสม สุทธิสาคร วิศรุต สินพงศพร วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ดำเนินการเสวนาโดย โตมร ศุขปรีชา
ทั้งสารคดีและบทความถือเป็นงานเขียนในกลุ่ม Nonfiction ด้วยกัน แต่ต่างก็มีลักษณะเฉพาะของตน ที่เป็นสิ่งบอกความต่างจากงานประเภทอื่น เมื่อยกอ้างมาเทียบเคียงกัน
หากมองจากสารคดีเป็นตัวตั้ง อย่างง่ายและได้ประโยชน์ก็มองจาก “กลุ่มข้อมูล”
งานเขียนสารคดีเป็นส่วนผสมที่กลมกล่อมระหว่างข้อมูล ๓ กลุ่ม
- ข้อมูลค้นคว้า ได้มาจากการศึกษาสืบค้นเอกสาร ข้อมูลทุติยภูมิทั้งหลายทุกแหล่ง
- ข้อมูลสัมผัส จากการลงพื้นที่ เข้ามีส่วนร่วม สังเกตการณ์
- ข้อมูลสัมภาษณ์ ที่ได้จากการพูดคุย ฟังเรื่องราวจากแหล่งข้อมูล
กลุ่มแรกสุดและหลังสุด ถือเป็นข้อมูล “ข้างนอก” ที่เราหยิบนำและอ้างอิงมาจากผู้อื่น ส่วนข้อมูลสัมผัสนั้นออกมาจาก “ข้างใน” ของผู้เขียนเอง จากการได้เห็น สัมผัส จากมุมมอง ความรู้สึก การตีความ ฯลฯ
แต่ท้ายสุดเมื่อข้อมูลทั้งหมดนั้นมาอยู่ในงานเขียนเรื่องหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นการเล่าของผู้เขียน และนับเป็นเรื่องเล่าของผู้เขียนคนนั้น
งานสารคดีที่ดีต้องประกอบขึ้นจากข้อมูล ๓ ส่วนดังกล่าวอย่างสมดุล และอ่านรื่นรมย์ด้วยความงามทางวรรณศิลป์ ขณะที่บทความไม่เรียกร้องส่วนหลังนี้มากนัก เพราะมุ่งอ่านเอาความรู้ความคิดเห็นเป็นหลัก
ในแง่ข้อมูล บทความก็สามารถใช้การสัมภาษณ์และข้อมูลค้นคว้าอ้างอิง แต่ด้านหลักมักมาจากความรู้ความเห็น ความเจนจัดของผู้เขียนต่อเรื่องที่เขียน ด้วยเป็นงานที่มุ่งชี้ให้เห็นข้อดี ข้อไม่ดี ปัญหาที่เป็นอยู่ ฯลฯ และมุ่งโน้มน้าวผู้อ่านให้เห็นคล้อยตาม ด้านหนึ่งตัวผู้เขียนบทความจึงมักเชื่อมโยงอยู่กับความเป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เขียนด้วย ขณะที่นักเขียนสารคดีเป็นเพียง “นักเล่าเรื่อง” หรือเป็นสะพานเชื่อมผู้อ่านกับเรื่องราวเหล่านั้น
เนื้อหาของงานสารคดีจึงไม่มุ่งโน้มน้าวจูงใจแบบชัดแจ้ง แต่เป็นการ “แบ” ข้อมูล และเรื่องราวที่ผู้เขียนรู้ ให้ผู้อ่านรู้เห็น เข้าใจ และตัดสินใจเอง
เมื่อนักเขียนใหม่เข้าใจและแยกแยะได้ ก็จะเขียนงานได้อย่างมีเป้าหมาย และถึงเป้าหมายที่ต้องการสื่อ
แต่อย่างไรก็ตาม หลักการคร่าวๆ ที่นำมาเล่าสู่กันฟังนี้ ก็ยังถือเป็นความรู้ความเข้าใจ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับภาคการปฏิบัติ
หลักทฤษฎีเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นให้นักเขียนมือใหม่พอมีหลักยึดเมื่อเริ่มออกเดิน หาใช่ข้อบังคับแบบตายตัว จึงไม่จำเป็นต้องพะวงกับการยึดกุมกรอบเกณฑ์จนเคร่งเครียด
ศึกษาหลักเกณฑ์เพื่อรู้ให้รอบ แล้วลงมือทำเพื่อรู้ตัวเอง