ณ ดอย
เรื่องเล่าคัดสรรโดยเหล่าคนภูเขาตัวเล็ก-ฝันใหญ่ที่จะมาทำให้ใครๆ ตกหลุมรักบ้านนอก


เรื่อง / ภาพ : พญ. ศรัณยา ศรีวราสาสน์

ดึกสงัดท่ามกลางเมืองหมอกฝนของทองผาภูมิเดือนมิถุนายน

แพทย์เวรเพิ่งได้หลับตาไม่นานนักก็มีเสียงโทรศัพท์มือถือปลุก

“หมอคะ คนไข้เจ็บหน้าอกมา ๕ ชั่วโมง พี่ทำ อีเคจี ส่งไลน์ให้แล้วนะคะ”

พยาบาลประจำห้องฉุกเฉินรายงานสถานการณ์ทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG : Electrocardiogram) ให้คนไข้ที่เจ็บหน้าอกอย่างเฉียบพลันเพื่อวินิจฉัย “ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน”

แล้วก็เป็นตามคาด เมื่อคลื่นไฟฟ้าหัวใจแสดงผลว่าคนไข้มีเส้นเลือดอุดตันสนิทบริเวณผนังหัวใจด้านหน้า ฉันจึงต้องรีบสลัดความงัวเงียใส่เกียร์สุนัขจ้ำไปยังห้องฉุกเฉิน

ชายวัยกลางกำลังนอนร้องโอดโอยเหงื่อแตกพลั่กขณะพยาบาลเริ่มให้ออกซิเจนทางจมูกและอมยาใต้ลิ้นเพื่อระงับอาการเจ็บหน้าอก ฉันส่งเลือดตรวจค่าเอนไซม์ของภาวะหัวใจขาดเลือดแล้วให้กินยาละลายลิ่มเลือดทันทีเพราะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจเสียชีวิตได้ แล้วรีบต่อสายโทรศัพท์ไปยังแพทย์เวรอายุรกรรมของโรงพยาบาลประจำจังหวัดเพื่อทำเรื่องส่งต่อคนไข้โดยเร่งด่วน

“ถามคนไข้ใหม่ว่าเริ่มเจ็บหน้าอกเมื่อไรแน่ onset สำคัญนะ ถ้าเจ็บมา ๕ ชั่วโมง ป่านนี้คงไม่รอด”

หมออายุรกรรมช่วยเตือนสติเรื่องระยะเวลาเจ็บหน้าอก

วางสายโทรศัพท์ตอนตีสองครึ่ง ฉันตั้งสติแล้วซักประวัติอีกครั้ง เพราะระยะเวลาเริ่มต้นเจ็บหน้าอกจะมีผลต่อการเริ่มยาละลายลิ่มเลือดที่ฉีดทางหลอดเลือดดำ

“เจ็บหน้าอกที่เหมือนโดนช้างเหยียบตอนกี่โมง”

ฉันถอดคำพูดตามที่อาจารย์เคยพร่ำสอนว่าอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจะมีลักษณะปวดเฉพาะไม่เหมือนโรคอื่น คือ “เจ็บเหมือนโดนช้างเหยียบจนหายใจไม่ออก”

คนไข้นิ่งคิด พยายามเรียบเรียงเหตุการณ์ตอบ

“เจ็บครั้งแรกจี๊ดๆ ตอนสามทุ่มแล้วหาย เริ่มปวดรอบใหม่ตอนเกือบตีหนึ่งแล้วอยู่ยาวถึงตอนนี้”

เป็นอันว่าอาการเกิดเพียง ๒ ชั่วโมง ไม่อยู่ในข้อห้ามให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ คนไข้จึงได้รับยาฉีดพร้อมส่งต่อไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัด

“เห็นหรือยังว่าประวัติคนไข้สำคัญมาก ถ้าเป็นตั้งแต่สามทุ่มป่านนี้ก็อดได้ยาแล้วทั้งที่เขาควรได้”

แพทย์รุ่นพี่สอนให้จำไว้เป็นบทเรียน เพราะทุกรายละเอียดสำคัญต่อชีวิตคนไข้เสมอ

ได้นอนต่อไม่ถึงชั่วโมงพยาบาลคนเดิมโทร. มารายงานว่ามีคนไข้รายใหม่ “โดนช้างเหยียบ”

ช่วงนี้มีข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์แทบทุกวันว่าช้างป่ากว่า ๓๐ ตัว บุกพื้นที่ไร่สวนของชาวบ้าน (แม้ความจริงพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยต่างหากที่รุกล้ำเข้าพงไพรซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า) ล่าสุดมีฝูงช้างเข้าถึงตัวตลาดทองผาภูมิซึ่งเป็นแหล่งชุมชน ทางอำเภอทองผาภูมิประกาศเป็นเขตภัยพิบัติช้างป่าโรงเรียนก็ประกาศหยุดการเรียนการสอนชั่วคราว มีกลุ่มจิตอาสาผลัดเวรกันมาไล่ช้างป่า ทางตำบลท่าขนุนก็ร่วมประกาศเตือนห้ามขับรถยามวิกาลเพราะเสี่ยงพบช้างป่าทำร้ายได้ เช่นคนไข้ผู้เคราะห์ร้ายรายนี้

ภาพจาก MGR Online

เขาขับรถจักรยานยนต์ชนช้างบนถนนสายหลัก แม้รอดชีวิต ตื่นดี รู้สติ แต่แขนและขาทั้งสองข้างก็ผิดรูป เจ็บปวดให้ต้องร้องโอดครวญไม่หยุด

“ผมต้องกรีดยางครับหมอ น้ำยางจะออกดีแค่ช่วงเวลานี้”

เขาอธิบายให้หมอเข้าใจความจำเป็นที่ต้องฝืนกฎกติกา

จริงอยู่ว่าในสังคมที่มีผู้คนหลากมิติ กฎระเบียบเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มากไม่อาจใช้กับคนส่วนน้อยที่มีวิถีทำกินแตกต่าง ถึงอย่างนั้นหากมองย้อนถึงต้นตอที่ทำให้ช้างป่าลงเขามาบุกบ้านเรือนเรือกสวนก็เป็นปัญหาที่ใครต่างก็รับรู้อยู่เต็มอก แต่เลือกปิดตาปิดใจไม่แก้ไขให้ถูกต้อง

ก่อนคนไข้จะขึ้นรถฉุกเฉิน ฉันเดินมาถามอาการเจ็บปวดครั้งสุดท้าย

“เจ็บอกครับ ช้างเหยียบเจ็บมาก”

คนไข้ผงกหัวไปยังหน้าอก บริเวณที่ผลเอ็กซเรย์ปอดยืนยันว่าปอดช้ำจากแรงกระแทกรุนแรง ซึ่งเวลานี้โครงกระดูกรยางค์ทั้งสี่ถูกดามกับไม้หน้าสามป้องกันการขยับเขยื้อน

“คนไข้คนก่อนก็เจ็บอกเหมือนโดนช้างเหยียบ สงสัยช้างเหยียบจะเป็นโรคติดต่อ”

ฉันหยอกเย้าพอให้บรรยากาศผ่อนคลายแล้วมองรถฉุกเฉินขับเคลื่อนออกจากโรงพยาบาล

นึกถึงตำราที่เคยเรียน หากคนเมืองเกิดอาการแน่นอกเหมือนโดนช้างเหยียบ คงไม่พ้นภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แต่หากชาวภูเขาบอกว่าแน่นอกเหมือนโดนช้างเหยียบ อย่าเพิ่งรีบวินิจฉัยว่าเป็นภาวะเดียวกัน เพราะเขาอาจโดนช้างป่าเล่นงานมาจริงๆ

หลังสถานการณ์สงบจึงได้พักหลับตาให้เต็มอิ่มอีกครั้ง พลางทบทวนบทเรียนจากเวรดึกนี้

หมอต้องแม่นยำต่อการตรวจสอบประวัติคนไข้ ยามสถานการณ์ฉุกเฉินหมอต้องควบคุมสติอารมณ์ให้ดี และไม่ว่าอย่างไรหมอต้องมองคนไข้ในฐานะมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง


แพทย์หญิงศรัณยา ศรีวราสาสน์
หลังจบการศึกษาจากแพทยศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับสอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากสวมเสื้อกาวน์ประกอบอาชีพที่รักในโรงพยาบาลทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ยังสนุกกับการเขียนหนังสือ เคยมีผลงาน “โอ้วเอ๋ว…อดีต ปัจจุบัน อนาคต” เผยแพร่กับนิตยสาร สารคดี เมื่อปี ๒๕๕๙ และบทความ “เสียงเพรียกแห่งพงไพร” เคยได้รับรางวัลกำลังใจ จากแพทยสภา ในปี ๒๕๖๑

…….

สุชาดา ลิมป์
นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้เสพติดการเดินทางพอกับหลงใหลธรรมชาติ-วิถีชาติพันธุ์ ทดลองขยับเป็นบรรณาธิการปรุงฝันให้ทุกอาชีพในชนบทได้แปลงประสบการณ์หลากรสออกมาเป็นงานเขียน