โดย สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
จากบรรณาธิการ
นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๔๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ทุกคนที่ได้ติดตามพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ ๔, ๕ และ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ เชื่อว่าคงรู้สึกปลื้มปีติอย่างสูงสุดกับภาพงานพระราชพิธีตามขนบธรรมเนียมแห่งขัตติยะอันสืบทอดมายาวนานหลายร้อยปี
และยิ่งโลกสมัยปัจจุบัน นี่คงเป็นพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์อันนับเป็นหนึ่งเดียวในโลก
เป็นมรดกทางวัฒนธรรมทั้งของคนไทยและของโลก
ขณะที่ภาพพระจริยาวัตรอันสง่างามและรอยแย้มพระสรวลแห่งองค์พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี รัชกาลที่ ๑๐ และความอบอุ่นของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ในช่วงงานพระราชพิธี
จักเป็นที่จดจำของพสกนิกรชาวไทยไปอีกนาน
นอกจากพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวอันจับใจแล้ว วันที่ ๕ พฤษภาคม พสกนิกรอย่างเรายังได้มีโอกาสสดับฟังพระธรรมเทศนาจากสมเด็จพระสังฆราช เรื่อง “ทศพิธราชธรรม” ที่หาโอกาสฟังได้ยาก ด้วยเป็นพระราชธรรมที่มีมาแต่โบราณกษัตริย์
ตามความเชื่อที่ว่ากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม พระบารมีก็จักแผ่ไพศาล ในอีกมุมหนึ่งยังถือว่าทศพิธราชธรรมเป็นคุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง หรือใช้ได้กับผู้นำ ผู้บริหารขององค์กรใด ๆ ในสังคมสมัยใหม่
เก็บความจากพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระสังฆราชไว้โดยย่อ
๑. ทาน คือ การให้ ให้การดูแลผู้ใต้ปกครองด้วยวัตถุปัจจัยตามความเหมาะสมกับแต่ละบุคคล และยังรวมถึงการให้ความคิดหรือธรรมที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
๒. ศีล อย่างน้อยคือการรักษาศีล ๕ การไม่ประพฤติทุจริต ไม่ทำผิดกฎหมาย หรือจารีตประเพณี
๓. บริจาค คือ การเสียสละสิ่งไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์ เพื่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ใหญ่กว่า และเพื่อจะรักษาธรรมะ ก็พึงสละทรัพย์ อวัยวะ และแม้ชีวิตได้ทั้งสิ้น
๔. อาชวะ คือ ความซื่อตรง ซื่อตรงในการงานตามหน้าที่ซื่อสัตย์สุจริตต่อญาติมิตรพี่น้องและผู้ใต้ปกครอง ไม่หลอกลวงประทุษร้ายโดยอยุติธรรม
๕. มัททวะ คือ ความอ่อนโยน มีท่าทีอ่อนโยน ละมุนละม่อม ไม่ถือตัว รับฟังความเห็นของผู้อื่นด้วยความตั้งใจถี่ถ้วนถ้าดีก็ควรอนุโมทนาและปฏิบัติตาม และควรมีความอ่อนน้อมท่านผู้เจริญโดยวัยและคุณความดี
๖. ตบะ คือ การกำจัดความเกียจคร้านและความชั่ว ต้องพากเพียรและมีจิตใจมั่นคงในการปฏิบัติหน้าที่อย่างสม่ำเสมอและทำให้ดียิ่งขึ้น
๗. อักโกธะ คือ ความไม่มักโกรธ มีเมตตาสูง ไม่ก่อเวรภัยแก่ผู้อื่น แม้จะมีเหตุให้โกรธ ก็พึงข่มใจให้สงบ ไม่ทำกิริยาไม่น่ารัก ไม่น่าเคารพ
๘. อวิหิงสา คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ตลอดจนสรรพสัตว์ให้ตกทุกข์ได้ยาก ไม่สร้างความทุกข์แก่เพื่อนมนุษย์ หรือสัตว์ เพียงเพื่อความสนุก ไม่ขูดรีดราษฎรอย่างเหลือกำลัง ต้องดูแลผู้ใต้ปกครองดุจดังบิดรมารดารักษาบุตร
๙. ขันติ คือ ความอดทนต่อสิ่งที่ควรอดทน อดทนต่อความโลภ ความโกรธ ความหลง ต้องอดทนต่อสู้กับกิเลส อดทนต่อถ้อยคำติฉินนินทา
๑๐. อวิโรธนะ คือ การไม่ปฏิบัติให้ผิดจากการที่ถูกที่ตรง รักษาหลักกฎกติกา ไม่ให้เกิดความอยุติธรรม ยกย่องผู้กระทำดีที่สมควรได้รับการยกย่อง กำราบผู้กระทำผิด ไม่ใช้อำนาจข่มเหงผู้อื่นด้วยความลำเอียงสี่ประการ คือ ความชอบ ความชัง ความกลัว และความเขลา
……
อาจกล่าวได้ว่าทศพิธราชธรรมเป็นธรรมไว้กำกับผู้มีอำนาจ นับแต่โบราณกาล คุรุหรือปราชญ์ผู้มีปัญญาญาณคงเห็นมานักต่อนักแล้วว่า ยิ่งมีตำแหน่งและอำนาจเท่าใด ก็ยิ่งมีโอกาสใช้อำนาจอย่างผิดเพี้ยน
นับจากเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒ สืบไป ประชาชนชาวไทยได้เข้าสู่ใต้ร่มพระมหาบารมีและความสุขสวัสดิ์แห่งทศพิธราชธรรมในองค์พระประมุข รัชกาลที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์จักรี ที่สืบเนื่องมากว่า ๒๓๐ ปี
ขณะที่ระบอบประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลานมากว่า ๘๐ ปีแล้ว ก็ได้แต่หวังว่าจะมีนายกรัฐมนตรี หรือผู้นำทางการเมืองที่ปฏิบัติตามหลักทศพิธราชธรรมบ้าง