ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
เมื่อจะศึกษา “คำหยาบ” โดยให้มี “หลักการ” มากกว่าคำกล่าวอ้างลอยๆ แค่ว่า “แถวบ้าน” เขาพูดกัน หรือเป็น “ภาษาถิ่น” ย่อมต้องหา “หลักฐาน” มาอ้างอิง ดังนั้นในที่นี้จึงจะ “เลือกสรร” คำหยาบจาก “ลูกคำ” ของคำว่า “อี” ในพจนานุกรม “อักขราภิธานศรัพท์” ของหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกันสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ พิมพ์เมื่อปี ๒๔๑๖ มาเป็นตัวอย่าง แต่ขออนุญาตปรับเปลี่ยนตัวสะกดบางอย่างให้คนสมัยนี้อ่านได้สะดวกขึ้น แทนการสะกดแบบโบราณ
คำหยาบ หรือคำด่า เป็นถ้อยคำที่ใช้ประณามคนอื่นๆ วิธีการพื้นฐานที่สุดก็คือการ “ลดทอน” ความเป็นมนุษย์ของฝ่ายตรงข้าม หรือแม้ต่อให้เป็นคนเหมือนกัน แต่เธอก็ยังเป็น “คนชั้นต่ำ” กว่าฉัน
แม้แต่คำว่า “อี” หนังสือ “อักขราภิธานศรัพท์” ก็อธิบายว่า “เปนคำหยาบสำหรับเรียกชื่อหญิงคนยาก, ที่เป็นหญิงทาษีนั้น.” หมายความว่าแค่การไป “จิก” เรียกใครว่า “อี” ก็เป็นคำด่าในตัวอยู่แล้ว เพราะเป็นการหาว่าเขาเป็น “ทาษี” (ทาสผู้หญิง) คือเป็นทาส ไม่ได้เป็นไท เป็นอิสรชน ยิ่งเมื่อเอาไปผนวกต่อท้ายด้วยคำอื่นๆ ก็ยิ่งขับเน้นความหมายนั้นมากขึ้นอีก เช่น
“อีขี้ข้า, คือเปนคำหยาบสำหรับด่าหญิงทาษีทั้งปวง, เปนคำด่าประจานหญิงนั้นว่าเปนข้าเขาเป็นต้น.”
นอกจากนั้น คำหยาบยังทำหน้าที่ลดทอนภาวะความเป็นมนุษย์ในลักษณะอื่นๆ ด้วย ตั้งแต่ว่าให้เป็นสัตว์ที่น่ารังเกียจบ้าง เป็นภูตผีปีศาจ เป็นยักษ์เป็นมาร (ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่ใช่ “คน”) ไม่ก็สาปแช่งให้ตายด้วยโรคร้ายที่เกิดจากผี เช่น“อีเปรต, คือคำเขาด่าหญิงโดยโกรธ, ว่าอีเปรตๆ นั้นเปนกำเนิดต่ำช้า, คนตายไปเกิดบ้าง, สัตว์นะรกมาเกิดเปนเปรตบ้าง.”
“อีผีทะเล, คือคำด่าหญิงโดยโกรธ, ว่ามึงเหมือนผีที่มันอยู่ที่ทะเลๆ คือคนเรือล่มจมน้ำตายเปนต้นนั้น.”
“อียักขินี, คือคำด่าหญิงโดยโกรธ, ว่ามึงราวกับอียักขินีนั้น, มันร้ายกาจกินเนื้อมะนุษฤๅเนื้อสัตว์เปนอาหาร, ต่ำชาตินัก.”
“อีห่าฟัด, เปนคำด่าหญิงโดยโกรธว่าอีห่าฟัด, ความว่าให้ผีห่าเช่นโรคลงราก เปนต้น เบียดเบียนนั้น.”
หรือเอาไปเปรียบเทียบกับสิ่งของที่ด้อยค่า ไร้ความหมาย เช่น“อีกาก, คือเปนคำหยาบสำหรับด่าหญิงคนโง่แล้วชั่วด้วยนั้น, เพราะหญิงนั้นเปรียบเหมือนกากของทั้งปวงนั้น.”
คำด่าอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับความนิยมพอกัน คือการสร้างภาวะ “ผิดที่ผิดทาง” โดยเฉพาะการเลือกหยิบยกเอาบรรดาที่ถูกนิยามว่าเป็น “ของต่ำ” เช่นรองเท้า เท้า อวัยวะเพศ สลับขึ้นมาอยู่บน “ที่สูง” คือใบหน้าหรือบนศีรษะของผู้ถูกด่า
“อีหน้าเกือก, เปนคำหยาบด่าประจานผู้หญิงว่าหน้าแข็ง ไม่มีอาย อย่างหนังเกือกเปนต้นนั้น”
“อีหน้าด้าน, คือเปนคำหยาบด่าประจานหญิง, ว่าหญิงนั้นไม่มีอาย หน้าด้านเหมือนส้นตีนนั้น.”
นอกจากนั้น คำเกี่ยวกับอวัยวะเพศและการร่วมเพศ ซึ่งโดยตัวของมันเองไม่ได้เป็นคำหยาบ แต่การหยิบยกออกมาพูดถึงในที่สาธารณะ รวมถึงการกล่าวถึง “ความวิปริตผิดปกติ” ของกิจกรรมในทัศนะของสังคมยุคนั้นเอง สามารถถูกหยิบยกไปใช้เป็นคำด่าทอได้ด้วย “อีแดกแห้ง, คือเปนคำหยาบด่าประจานหญิงเด็กๆ ว่าหญิงนั้นมีผัวแต่อายุสิบสองปี, ยังแห้งอยู่ ยังไม่มีระดู เปนต้น.”
“อีทิ่มขึ้น, คือคำหยาบด่าประจานผู้หญิงว่าหญิงนั้นนอนเบื้องบนผัวๆ นอนเบื้องล่าง เปนต้นนั้น.”
“อีร้อยซ้อน, เปนคำด่าหญิงชั่วว่าอีร้อยซ้อน, อธิบายความว่ามีผัวอยู่แล้วคบชายอีกร้อยคนนั้น.”
น่าสังเกตว่า หมอบรัดเลย์และทีมงาน เลือกเก็บคำด่าผู้หญิงเป็นหลัก จึงมีนับสิบๆ คำ ขณะที่ลูกคำของ “ไอ้” อันเป็นคำด่าผู้ชาย ใน “อักขราภิธานศรัพท์” มีอยู่แค่เพียงไม่กี่คำเท่านั้น
ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต