เก็บตก
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี


ด.ญ.ระริน สถิตธนาสาร หรือลิลลี่ เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการเพิ่มวิชา eco education เป็นวิชาบังคับในหลักสูตรทุกระดับชั้น

“สวัสดีค่ะ หนูชื่อลิลลี่ หนูอายุ ๑๑ ปี หนูมีวัตถุประสงค์อยากเข้าพบท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำวิชา eco education ให้เป็นวิชาบังคับในหลักสูตรทุกระดับชั้น หนูจะนำเสนอตัวอย่างโรงเรียนที่ทำโครงการนี้ไปแล้ว เป็นตัวอย่างจากโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนมัธยมต้น มัธยมปลายและมหาวิทยาลัย…”

บทเปิดของจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ของ ด.ญ.ระริน สถิตธนาสาร แสดงเจตจำนงว่าต้องการให้ “ผู้หลักผู้ใหญ่” ในบ้านเมืองหันมาสนใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เริ่มต้นจากปรับหลักสูตรการศึกษาด้วยการเพิ่มวิชาด้านสิ่งแวดล้อม

ต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒ ก่อนหน้าการประชุมร่วมกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี และก่อนหน้าที่คณะรัฐมนตรีชุดเก่าจะสิ้นสุดการทำหน้าที่
นักเรียนชั้นมัธยมต้นคนหนึ่งชื่อว่า ลิลลี่ ได้ร่างจดหมายเปิดผนึกขึ้นมาและหาทางที่จะนำไปยื่นให้กับผู้มีอำนาจ

เนื้อหาจดหมายเธออธิบายความหมายของคำ “eco education” ว่า “เป็นวิชาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและต้องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้ถุงพลาสติกที่ใช้ได้ครั้งเดียว เช่น หลอดพลาสติก กล่องพลาสติก และแก้วพลาสติก ในวิชานี้เราจะสอนนักเรียนว่าทำไมของที่ทำจากพลาสติกถึงทำร้ายโลกเรา แล้วถ้าเราหยุดใช้ของที่ทำจากพลาสติกโลกเราจะสะอาดแล้วดีขึ้น ถ้าเราจะไปข้างนอกซื้อของเราควรจะนำเอาถุงผ้ามาเอง ไม่ใช้หลอดพลาสติกเวลาไปร้านสะดวกซื้อ และนำกล่องอาหารมาเองแทนการใช้พลาสติก ขอให้คุณครูสอนนักเรียนให้หยุดใช้พลาสติก เพราะว่าเด็กๆ จะอยู่ในโลกนี้อีกนาน เราอยากให้โลกสะอาดและปลอดภัย”

ลิลลี่ยังอธิบายว่า “โรงเรียนหลายแห่งเริ่มวิชานี้แล้ว หนูเลยอยากให้โรงเรียนรัฐบาลทุกแห่งมีวิชา eco education ใน ๗๗ จังหวัดด้วย”

ก่อนหน้านี้ ลิลลี่เคยร่วมกิจกรรมทางสังคมเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐและผู้คนตระหนักถึงปัญหามลภาวะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกคุกคามสิ่งมีชีวิตในทะเล ยกตัวอย่างเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ เมื่อเรือเรนโบว์เวอริเออร์เรือรณรงค์ที่เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มกรีนพีซ (Greenpeace) เดินทางมาเยือนประเทศไทย เธอได้รับเกียรติให้กล่าวสุนทรพจน์บนเรือที่มีเนื้อความบางส่วนว่า

นอกจากลิลลี่แล้วยังมีเยาวชนไทยและต่างชาติร่วมเรียกร้องให้ผู้ใหญ่หันมาสนใจปัญหาโลกร้อน และมลภาวะจากขยะพลาสติก (ภาพ : วรวัฒน์ สภาวสุ)

ลิลลี่เข้าพบคุณประเสริฐ บุญเรือง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

“หนูอยากเรียกร้องให้ทั่วโลกยกเลิกการใช้ถุงพลาสติก เพราะว่าพลาสติกกำลังก่อมลพิษให้กับโลกและมหาสมุทร คร่าชีวิตสัตว์ทะเลไปนับไม่ถ้วน ยกตัวอย่างเช่น วาฬตัวหนึ่งได้ขึ้นมาเกยตื้น และเมื่อเสียชีวิตพบว่ามีถุงพลาสติกมากถึง ๘๐ ชิ้นอยู่ในท้อง ทำให้วาฬตัวนั้นไม่สามารถกินอาหารหรือทำอะไรได้เลย ดังนั้นหนูจึงอยากให้ขยะพลาสติกหมดไปจากทะเลและโลก รวมถึงให้โลกของเรายังสามารถเกื้อกูลคนรุ่นหลังได้…ในเมืองใหญ่ เราใช้พลาสติกนับแสนใบในแต่ละวัน ที่แต่ละคนใช้รวมกันแล้วมีขนาดใหญ่กว่าตัวหนูสองเท่า ลองคิดดูว่าในปีหนึ่งจะมีมากแค่ไหน แล้วสิบปีล่ะ แล้วร้อยปีล่ะ เราไม่มีที่จะเก็บพลาสติกทั้งหมดได้นะ นี่คือเรื่องสำคัญสำหรับทุกชีวิต”

นอกจากนี้ลิลลี่ยังเคยร่วมกิจกรรม Climate Strike Bangkok ครั้งที่ ๑ และ ๒ เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม และ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ซึ่งได้รับแรงบันดาลจากการรณรงค์ School Strike for climate หยุดเรียนทุกวันศุกร์ประท้วงเรื่องโลกร้อนของเกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) เด็กหญิงนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนวัย ๑๖ ปี กลุ่มนักรณรงค์ชาวไทยจัดกิจกรรมนี้ขึ้นพร้อมๆ กับนักกิจกรรมในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ผลของการยื่นจดหมายเปิดผนึกเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนเจ้าหน้าที่รับเรื่องและกล่าวว่าจะสนับสนุนแนวคิด eco education โดยให้มีหลักสูตรที่สอนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การรักษาโลก ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา คาดว่าโรงเรียนนำร่องจะเป็นโรงเรียนเทพศิรินทร์

ลิลลี่ถ่ายภาพกับ ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี (คนซ้าย) นักวิจัยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้ากลุ่ม Chula Zerowaste และคุณชลำ อรรถธรรม (คนกลาง) เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

ลิลลี่กล่าวสุนทรพจน์บนเรือเรนโบว์เวอริเออร์ เมื่อครั้งแล่นมาเยือนประเทศไทยช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑

วันที่ ๕ มิถุนายน ลิลลี่และผู้ปกครองเดินทางไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ได้พบรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน คุณแม่ของลิลลี่เล่าว่า “วันนี้ที่กระทรวงศึกษาธิการ เราได้พบกับรองปลัดและโฆษกกระทรวง เขารับเรื่องแล้ว การนำไปปฏิบัติจริงได้รับคำชี้แจงว่าเครือข่ายครูในโรงเรียนไทย โรงเรียนอินเตอร์ และทางฝั่งกระทรวงศึกษาธิการจะนัดพูดคุยเพื่อร่วมกันออกแบบหลักสูตร”

คุณแม่ของลิลลี่กล่าวถึงการสนับสนุนให้ลูกของตนเป็นตัวแทนเด็กๆ และเยาวชนส่งเสียงไปถึงผู้มีอำนาจ

“อยากให้เห็นความสำคัญของปัญหาโลกร้อนและการช่วยกันแก้ปัญหา เราขอเป็นกระบอกเสียงไปถึงผู้มีอำนาจทุกฝ่ายและถึงประชาชนทุกคนให้เห็นความสำคัญของปัญหาโลกร้อนและช่วยจัดการปัญหาร่วมกัน”

เพราะว่าเด็กๆ จะอยู่ในโลกนี้อีกนาน…

และเพราะว่าใครก็มีส่วนในการสร้างปัญหาโลกร้อนได้ทั้งนั้น….

ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่จึงต่างก็มีส่วนสำคัญและสามารถช่วยยับยั้งปัญหาโลกร้อน