เก็บตก
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี


เปรมชัย กรรณสูต พร้อมคนขับรถ แม่บ้าน นายพราน ขณะลักลอบตั้งแคมป์พักแรมในจุดไม่ได้รับอนุญาต ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก (ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)

“หากเหตุการณ์นี้ ไม่มีอะไรแล้ว ก็ขอกันได้ อยากจะส่งลูกน้องบรรทุกมาให้”
“เป็นคนจริงใจ จะส่งลูกน้องใส่รถบรรทุกมาให้เลย”
“เดี๋ยวให้ผู้ใหญ่ก็มาคุย มันมีช่อง กฎหมายก็มีช่อง”

ส่วนหนึ่งของคลิปเสียงระหว่างควบคุมตัวคณะลักลอบล่าเสือดำและสัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีพยานบุคคลอื่นอยู่ด้วย

นับตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ที่มีการควบคุมตัว เปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพวกรวม ๔ คน ถึงช่วงกลางเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒ ก็นับเป็นเวลาร่วม ๑ ปี ๔ เดือน ที่ข่าวลักลอบล่าเสือดำและสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับความสนใจในวงกว้าง

จากจุดเริ่มต้นที่ วิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก นำกำลังเข้าควบคุมตัวคุณเปรมชัยและพวกประกอบด้วยคนขับรถ แม่บ้าน และนายพราน ระหว่างลักลอบตั้งแคมป์พักแรมในจุดไม่ได้รับอนุญาต ก่อนขยายผลตรวจค้นพบอาวุธปืน เครื่องกระสุน ซากเสือดำและสัตว์ป่า เจ้าหน้าที่จึงส่งตัวทั้งหมดไปยังสถานีตำรวจภูธรทองผาภูมิพร้อมแจ้งข้อหา มีการเก็บหลักฐานเพิ่มเติม สืบสวนสอบสวน ขยายผลตามมา

จาก “คดีล่าเสือดำและสัตว์ป่า” (คดีหมายเลขดำที่ อ.๒๑๙/๒๕๖๑ และคดีหมายเลขแดง อ.๖๓/๒๕๖๒) ซึ่งถือเป็นคดีหลัก พนักงานอัยการยังส่งฟ้องคดี “ติดสินบนเจ้าพนักงาน” (คดีหมายเลขดำ อท.๑๐/๒๕๖๑) ที่มีหลักฐานคือพยานบุคคลและคลิปเสียง

หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นบ้านพักของคุณเปรมชัยในกรุงเทพฯ ยังมีการส่งฟ้อง “ครอบครองงาช้าง” (คดีหมายเลขดำ อ.๑๑๔๓/๒๕๖๑) และคดี “ครอบครองอาวุธปืนไรเฟิล” (คดีหมายเลขดำ อ.๑๑๔๔/๒๕๖๑)
.
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ ศาลจังหวัดทองผาภูมิ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรีได้อ่านคำพิพากษาคดีล่าเสือดำและสัตว์ป่า นับเป็น “คดีแรก” ที่ “ศาลชั้นต้น” อ่านคำพิพากษา สรุปบทลงโทษจำเลยทั้ง ๔ คน ดังนี้

เปรมชัย กรรณสูต จำเลยที่ ๑ จำคุกรวม ๑๖ เดือน ไม่รอลงอาญา, ยงค์ โดดเครือ จำเลยที่ ๒ จำคุกรวม ๑๓ เดือน ไม่รอลงอาญา, นที เรียมแสน จำเลยที่ ๓ จำคุก รวม ๔ เดือน และปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา มีกำหนด ๒ ปี, ธานี ทุมมาศ จำเลยที่ ๔ จำคุก รวม ๒ ปี ๑๗ เดือน ไม่รอลงอาญา

ค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติให้จำเลยที่ ๑ และ ๔ ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๒ ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เป็นต้นมาแก่อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จนกว่าจะชำระเสร็จ

หลังศาลจังหวัดทองผาภูมิมีคำพิพากษา ทนายความฝ่ายคุณเปรมชัยยื่นขอประกันตัว ผู้พิพากษาพิจารณาว่าระหว่างดำเนินคดีจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ประกันตัวจำเลยที่ ๑ และ ๒ คนละ ๔๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๔ จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท กำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาต

ราวสองเดือนต่อมา คือวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ พนักงานอัยการศาลสูงจังหวัดกาญจนบุรีจึงยื่นอุทธรณ์ให้มีการเพิ่มโทษจำเลยทั้ง ๔ คน ยกตัวอย่างในส่วนของคุณเปรมชัย จำเลยที่ ๑ 

๑) อุทธรณ์ให้ลงโทษฐาน “เป็นตัวการ” ให้ผู้อื่นล่าสัตว์ป่า(เสือดำ) จากเดิมศาลวินิจฉัยว่าเป็นผู้สนับสนุน
๒) อุทธรณ์ให้ลงโทษฐานร่วมกันเก็บหาของป่าภายในเขตป่าสงวน
๓) อุทธรณ์ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง(เสือดำ) จากเดิมศาลพิพากษายกฟ้อง
๔) อุทธรณ์ว่าการมีซากเสือดำและซากไก่ป่า(ไก่ฟ้าหลังเทา) เป็นการกระทำหลายกรรม จากเดิมศาลพิพากษาว่าเป็นกรรมเดียว
๕) อุทธรณ์ข้อหาร่วมกันพาอาวุธปืน และพาอาวุธมีด เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จากเดิมศาลพิพากษาว่าเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงบทหนัก ฐานพาอาวุธปืน และข้ออุทธรณ์อื่นๆ เช่น ขอให้จำเลยทั้ง ๔ คน ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๓,๐๑๒,๐๐๐ บาท เต็มตามฟ้องโจทก์

นอกจากนี้ยังอุทธรณ์ขอให้ริบเกลือป่น ถุงเกลือป่น (ถุงเปล่า) ถุงดำ และรถยนต์ แบบนั่งสองตอนของกลาง เนื่องจากเห็นว่าเป็นทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำผิด จากเดิมศาลพิพากษาให้คืน

จากคดีล่าเสือดำและสัตว์ป่าซึ่งนับเป็น “คดีหลัก” และ “คดีแรก” ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ถึงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๒ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๗ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงครามได้อ่านคำพิพากษา “คดีที่สอง”

เวลาประมาณ ๙.๐๐ น. ศาลอ่านคำพิพากษากรณีพนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค ๗ ยื่นฟ้อง เปรมชัย กรรณสูต จำเลยที่ ๑ และยงค์ โดดเครือ จำเลยที่ ๒ ในข้อหา “ร่วมกันให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๔ ประกอบมาตรา ๘๓ หรือ “คดีติดสินบนเจ้าพนักงาน”

สรุปบทลงโทษคือจำคุก เปรมชัย กรรณสูตร จำเลยที่ ๑ เป็นเวลา ๑ ปี ไม่รอลงอาญา โดยศาลสั่งให้นับโทษต่อจาก “คดีล่าเสือดำและสัตว์ป่า” ซึ่งศาลจังหวัดทองผาภูมิได้พิพากษาไปก่อนหน้าแล้วว่าให้จำคุก ๑๖ เดือน หากนับโทษรวมกันสองคดีจะเท่ากับจำคุก ๑ ปี ๑๖ เดือน

ขณะที่ “คดีครอบครองงาช้าง” และ “คดีครอบครองอาวุธปืนไรเฟิล” ทั้งสองคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงไม่สามารถนับโทษต่อได้

ส่วนนายยงค์ โดดเครือ จำเลยที่ 2 ศาลยกฟ้องคดีติดสินบนเจ้าพนักงาน เนื่องจากเห็นว่าคลิปเสียงตามที่ปรากฏเป็นข่าวเป็นการสนทนาตามปกติ และขณะนั้นนายเปรมชัยไม่ได้อยู่ในบริเวณดังกล่าว

หลังศาลอ่านคำพิพากษา ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวคุณเปรมชัยโดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ศาลอนุญาตให้ประกันตัวโดยมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาต

จากนั้นคุณเปรมชัยเดินทางออกจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๗

นับแต่วันเกิดเหตุถึงกลางเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒ ผ่านมาแล้ว ๑ ปี ๔ เดือน “คดีติดสินบนเจ้าพนักงาน” นับเป็นคดีที่สองที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ต่อจากคดีแรกคือ “คดีล่าเสือดำและสัตว์ป่า”

โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

หลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๗ อ่านคำพิพากษา โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นว่า ทั้งสองคดีนี้เป็นตัวอย่างที่ยืนยันว่ากฎหมายไม่ได้เลือกปฏิบัติ

“ผลการตัดสินเมื่อวานนี้เป็นคดีเรื่องการทุจริตการติดสินบนเจ้าพนักงาน ไม่ใช่คดีล่าเสือดำ ถึงตอนนี้คุณเปรมชัยถูกศาลตัดสินจำคุกมาเป็นคดีที่สองแล้วนะครับ แล้วยังมีคดีครอบครองงาช้าง ครอบครองอาวุธปืนหลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นที่บ้านซึ่งก็ต้องดำเนินการกันต่อไป จะเห็นว่าอัยการทำงานตามพยานหลักฐาน ตามสำนวนที่มีการสอบสวนส่งมาให้ คำกล่าวที่เป็นอคติต่อกระบวนการยุติธรรมที่ว่า ‘คุกมีไว้ขังแต่คนจน คนรวยไม่ติดคุก” ควรเลิกคิดกันได้แล้ว”

โกศลวัฒน์ยืนยันว่าทุกคนไม่ว่าจะมีฐานะทางสังคมเช่นไรต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน มีสิทธิ์ และความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และย้ำว่านี่เป็นบทเรียนสำคัญของสังคมไทย

“นี่คือตัวอย่างสำหรับผู้มีฐานะทั้งหลาย ว่าต้องระมัดระวัง การกระทำการใดๆ ของท่าน ยิ่งท่านมีฐานะดีเท่าไหร่ สังคมก็สนใจมากเท่านั้น ผมอยากให้ดูทั้งสองคดีนี้เป็นตัวอย่าง”

ทั้งนี้ สิทธิตามกฏหมายของคดีติดสินบนเจ้าพนักงาน ทั้งฝ่ายโจทย์และจำเลยสามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจจิตและประพฤติมิชอบได้ภายใน ๑ เดือน
.
จาก “คดีล่าเสือดำและสัตว์ป่า” ถึง “คดีติดสินบนเจ้าพนักงาน” ทั้งสองคดีต่างอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์ในชั้นศาล
๑ ปี ๔ เดือนจากเสียงปืนในวันนั้น เส้นทางตามกระบวนการยุติธรรมยังดำเนินต่อไป

หมายเหตุ : เก็บตกจากเวทีเสวนา ๑ ปีคดีเสือดำกับคำตัดสินที่รอคอย วันที่ 20 มีนาคม 2562 ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร