วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี
สิบกว่าก่อน มีคนตาบอดบอกกับผมว่า “คนตาบอดก็เหมือนคนทั่วไป เพียงแต่ประสาทสัมผัสขาดไปอย่างหนึ่ง”
แต่ในช่วงสิบกว่าปีที่มีโอกาสไปแบ่งปันประสบการณ์ แนะนำคนนั้นคนนี้ให้เขียนสารคดี ผมยังไม่เคยร่วมทำกิจกรรมนี้กับกลุ่มคนตาบอด
เมื่อต้องมาร่วมห้องเรียนสร้างนักเขียนตาบอด ของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ที่มีคุณวันดี สันติวุฒิเมธี เป็นผู้ทำโครงการ ผมยังไม่แน่ใจเลยว่าจะมีส่วนช่วยหนุนเสริมให้เขาเขียนสารคดีได้มากน้อยแค่ไหน
ด้วยปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งของงานสารคดี อยู่ที่การได้ลงพื้นที่สัมผัสสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลด้วย
คนตาบอดขาดสัมผัสด้านการดู แต่มีทักษะคุณสมบัติด้านการฟังสูงมาก คนทั่วไปจำคนจากหน้าตา แต่คนตาบอดจำใครต่อใครจากเสียงพูด
และการเรียนรู้ เขาก็จะฟังอย่างตั้งใจและจดจำได้ดี บางทีก็จดโน้ตด้วยเครื่องเขียนเบรล ในตอนนั้นห้องเรียนจะระงมด้วยเสียงปากกาสเลทกดกระดาษ
อีกทั้งคนที่มาเรียนส่วนใหญ่ก็มีพื้นฐานด้านการเขียนกันมาพอสมควร หลายคนเข้าใจ Fiction / Nonfiction และยังสามารถแยกแยะได้อย่างละเอียดว่าในแต่ละกลุ่มมีงานเขียนประเภทใดบ้าง ช่วงเวลาครึ่งวันของห้องเรียนช่วงเช้าจึงมุ่งไปที่วิธีการเขียนสารคดีกันได้เลย ก่อนจะลงพื้นที่ด้วยกันในช่วงบ่าย
แล้วผมก็ได้เห็นกับตาว่า คนตาบอดเก็บข้อมูลผ่านการ “สัมผัส” จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นลวดลายปูนปั้นของประติมากรรมนูนสูง ไปจนถึงแบบลอยตัวอย่าง ตัวสิงห์ ตุ๊กตาหินจีน ฯลฯ ส่วนที่เป็นข้อมูลเชิงความรู้ ข้อมูลเชิงวิชาการ เขาก็ใช้การค้นคว้าจากการฟังและสัมภาษณ์ผู้รู้เช่นเดียวกับนักสารคดีทั่วไป
ทีมงานเตรียมสถานที่วัดบวรนิเวศวิหารไว้เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลของนักเขียนตาบอด โดยครูอรสม สุทธิสาคร ได้ติดต่อ อ.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ และมหา – ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต เป็นวิทยากรให้ความรู้
หลังจากนั้นให้เวลา ๓ วัน สำหรับการเขียนประสบการณ์ ๑-๒ หน้า ส่งให้ครูที่ปรึกษาการเขียนช่วยอ่าน ก่อนเผยแพร่ในวงกว้างในแบบสิ่งพิมพ์ออนไลน์ทาง “Blind Magazine Online” โดยผู้อ่านไม่ต้องกังวลกับอุปสรรคในการอ่าน
นักเขียนตาบอดบันทึกข้อมูล และเขียนร่างแรกด้วยเบรล จากนั้นจะพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์แบบมีเสียง ผู้เขียนเห็นงานเขียนของตัวเองผ่านเสียงที่คอมอ่านให้ฟัง ขัดเกลาแก้ไขจนพอใจ ก่อนส่งเผยแพร่ผ่านหน้ากระดาษออนไลน์ให้คนทั่วไปอ่านได้ทั่วกัน
งานอบรมครั้งนี้ยาวนาน ๓ เดือน กับหลากหลายประเทภงานเขียน ด้วยเป้าหมายให้คนตาบอดทำงานเขียนเป็นอาชีพได้
เมื่อบรรลุตามเป้าหมายนี้ได้ นอกจากนักเขียนคนตาบอดได้อาชีพ เมืองไทยก็จะได้นักเขียนเพิ่มขึ้นด้วย
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา