พาฝัน หน่อแก้ว: เรื่อง
พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์ : ภาพ
ผลงานจากค่ายสารดดีครั้งที่ 15
ท่ามกลางการไหลผ่านของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้ไหลแบ่งแยกกรุงเทพมหานครออกเป็นสองฟาก ระหว่างฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร เปรียบเสมือนสายน้ำเส้นนี้ได้ทำหน้าที่คล้ายกับอนุสรณ์ แสดงให้เห็นถึงการไหลรวมของความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ
ชุมชนสามเสนมีที่ตั้งอยู่ที่ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ติดแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร โดยชุมชนนี้มีจุดเด่นคือความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่ได้อาศัยร่วมกันอย่างลงตัวควบคู่ไปกับความเป็นหนึ่งเดียวของศาสนาในแต่ละเชื้อชาติ ประกอบไปด้วยชุมชนชาวจีนเชื้อสายไหหลำ ณ บริเวณ ศาลเจ้าแม่ทับทิม, ชุมชนชาวพุทธ ณ บริเวณวัดราชาธิวาส และชุมชนชาวคาทอลิก ณ บริเวณวัดคอนเซ็ปชั
อัลเลลู อัลเลลู อัลเลลู อัลเลลูยาแด่องค์พระเจ้า
อัลเลลู อัลเลลู อัลเลลู อัลเลลูยาแด่องค์พระเจ้า
เชิญให้เราร้องอัลเลลูยา เชิญให้เราร้องอัลเลลูยา
เชิญให้เราร้องอัลเลลูยา สรรเสริญพระเจ้า
๑๐.๐๐ นาฬิกา เสียงเพลงการขับร้องบทสวดเพลงอัลเลลูยาได้เริ่มต้นขึ้นและก้องกังวานไปทั่วทั้งโบสถ์ ขณะที่ผู้เขียนได้เดินทางไปเข้าร่วมในงานพิธีมิสซาปลงศพ ณ วัดคอนเซ็ปชัญ สามเสน
ท้องฟ้าสีเทาบรรยากาศอึมครึม ครึ้มฟ้าครึ้มฝน ควบคู่กับบทสวดที่ทุกคนภายในโบสถ์วัดคอนเซ็ปชัญได้ช่วยกันสวดและขับร้องเพลงกึกก้องไปทั่วทั้งโบสถ์ ยิ่งส่งผลให้บรรยากาศรอบตัวคล้ายกับมีมนตร์ขลัง เสียงสวดและการขับร้องสลับไปกับความเงียบของบรรยากาศที่ไร้ผู้คนเอื้อนเอ่ยวาจาใดๆ นอกจากการขับร้องบทสวด
วัดคอนเซ็ปชัญ สามเสน เป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมายาวนานเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ ร่วม 345 ปี และถือเป็นที่พึ่งทางใจของคนที่เป็นศาสนิกชนในชุมชนสามเสนและรอบนอกอีกด้วย โดยวัดคอนเซ็ปชัญมีวัตถุอันล้ำค่าอยู่สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านต่างเคารพบูชาและหวงแหนอย่างที่สุด วัตถุนั้นคือรูปสลักพระรูปพระนางมหามารีอา ซึ่งแกะสลักด้วยฝีมือประณีตบรรจง และลงรักปิดทองสวยงามหาที่ติมิได้
“วัดเป็นของเก่า เกิดมาก็เห็นโบสถ์แล้ว มีความผูกพันกับวัดมาก มีศาสนาเป็นตัวหลัก จะมีความทุกข์ความสุขก็เข้าโบสถ์เข้าวัดพึ่งไว้ก่อน ลุงถือว่าเป็นที่พึ่งทางด้านชีวิตของลุงทั้งหมด” วิศิษฐ์ ตาวิชกุล อายุ 70 ปี ชาวบ้านในชุมชนสามเสนกล่าวเพื่อตอกย้ำความเป็นหนึ่งเดียว เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจระหว่างชุมชนกับคริสต์ศาสนา
ทุกศาสนาล้วนแต่สั่งสอนให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนไปในทางที่ดี นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและหล่อหลอมให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันของแต่ละสังคม ผ่านการถ่ายทอดทางจารีต ประเพณี วัฒนธรรมของแต่ละศาสนาเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนเบื้องต้นอีกด้วย ศาสนาแต่ละศาสนาล้วนมีเอกลักษณ์และพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไปทั้งงานมงคล หรือแม้กระทั่งงานอัปมงคล
“ส่วนมนุษย์ชีวิตเป็นเช่นต้นหญ้า เหมือนไม้ป่างามงอกดอกสยาย เมื่อลมพัดถูกต้นหล่นกระจายมันสูญหายใครไม่เห็นเร้นตามลม” บทคำสอนบางส่วนจากผู้ดำเนินรายการในพิธีฌาปนกิจ ณ วัดคอนเซ็ปชัญ
เสียงการขับร้องบทสวดที่ดังไปตลอดพิธีการหามศพจากศาลาวัดมาถึงในตัวโบสถ์ดังไม่ขาดสาย โดยมีคณะบาทหลวงผู้ประกอบพิธีกรรมเป็นผู้เดินนำหน้าขบวน ตามด้วยรูปผู้วายชนม์ และโลงที่บรรจุร่างไร้วิญญาณ โดยการหามศพจะประกอบด้วยผู้ชาย 5-8 คนเป็นผู้หาม ภายในขบวนมีเหล่าญาติของผู้เสียชีวิตและผู้ใกล้ชิดของผู้ตายเดินตามมาด้วย เมื่อศพเคลื่อนเข้ามาภายในโบสถ์ ศาสนิกชนที่ประกอบพิธีกรรมภายในโบสถ์จะหยุดกิจกรรมที่ดำเนินมาก่อนหน้าทั้งหมดอย่างพร้อมเพียง และทำการยืนขึ้นเพื่อต้อนรับและเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ที่จากไป หลังจากนั้นโลงศพจะถูกยกไปตั้งอยู่บริเวณกลางของโถงทางเดิน
เปียโนได้บรรเลงไปพร้อมกับการร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า การอธิษฐานเพื่อขอพรและการปลอบประโลมใจแก่ครอบครัวผู้วายชนม์ การอ่านพระคัมภีร์ การเทศนาบรรยายธรรม ซึ่งเน้นเรื่องความหวังหลังความตาย และเล่าถึงบทเรียนชีวิตของผู้ล่วงลับ (บางครั้งคริสเตียนใช้คำว่า “ล่วงหลับ” คือการไปหลับอยู่กับผู้ที่จากไปก่อน) เพื่อระลึกถึงคุณความดีและตัวอย่างที่ดีของผู้ที่จากไป
“กริ๊ง กริ๊ง กริ๊ง กริ๊ง” เสียงกริ่งระฆังดังขึ้น ขณะที่พิธีกรรมภายในโบสถ์ใกล้จะสิ้นสุดลงและจะทำการหามศพไปยังสุสานเป็นลำดับต่อไป ชุมชนในละแวกวัดคอนเซ็ปชัญต่างรับรู้ความหมายของเสียงระฆังอย่างทั่วกัน โดยเสียงของระฆังมีสัญญะในการเป็นสัญญานเตือนภัย เช่นอัคคีภัย เป็นสัญญะแทนการสูญเสีย เช่นการเสียชีวิตของสมาชิกในชุมชน และสัญญะในการบอกเวลาเข้าร่วมพิธีมิสซา
กาลเวลาเปลี่ยน วัฒนธรรมเปลี่ยน วิถีชีวิตเปลี่ยน เหมือนกับการที่เราต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติตามทฤษฎีของดาร์วิน การคัดเลือกตามธรรมชาติ (natural selection) เฉกเช่นเดียวกับพิธีฌาปนกิจของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ณ บริเวณสุสานวัดคอนเซ็ปชัญ ที่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการฝังศพ จากเดิมจะเป็นการขุดดินแล้วนำศพลงมาฝังที่ดิน แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนผ่านวิธีการเหล่านั้นเป็นการฝังศพแบบ “แฟลต”
จากก้อนหิน ธุลีดิน และต้นหญ้า ได้เปลี่ยนผ่านมาเป็นอิฐบล็อกและเนื้อปูน สู่การเป็นสุสาน “แฟลต” ที่ก่อตั้งขนาบข้างกำแพง บริเวณทั้งสองฝั่งและท้ายของสุสาน ที่ได้ก่อตัวขึ้นเป็นลำดับชั้นราวกับตู้เก็บของก็ไม่ปาน
ขบวนหามศพได้เคลื่อนออกจากตัวโบสถ์มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ผ่านที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในชุมชน ซึ่งเพียงย่างกรายออกมาจากประตูโบสถ์ก็จะเห็นซุ้มประตูแสดงอาณาเขตของสุสานที่ได้มีการเตรียมการต้อนรับจากบรรดาญาติของผู้เสียชีวิตที่ได้ทำการแจกดอกกุหลาบพร้อมกับดินสอพองที่บรรจุหีบห่อด้วยกระดาษขนาดกะทัดรัด ในอดีตจะใช้ดินของสุสาน แต่ทุกวันนี้ได้ผันเปลี่ยนมาใช้ดินสอพองแทนเพื่อเอื้อความสะดวก ซึ่งมีความหมายโดยนัยว่า ร่างกายของมนุษย์นั้นมาจากดิน และเมื่อสิ้นชีพร่างกายก็ต้องกลับคืนสู่ดิน โดยแขกเหรื่อที่มาร่วมงานจะนำสิ่งของเหล่านี้ไปเคารพหน้าศพเพื่อเป็นการแสดงความอาลัยครั้งสุดท้ายต่อผู้เสียชีวิต
เมื่อขบวนหามศพได้เดินทางเข้ามาในสุสาน บาทหลวงหรือคุณพ่อจะทำการปลุกเสกป่าช้า หลุมฝังศพ และทำพิธีกรรมสวดส่งดวงวิญญาณเป็นครั้งสุดท้าย
“การไปสวดศพให้คนตายเป็นครั้งสุดท้ายถือเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่เพราะเป็นการทำบุญครั้งสุดท้ายในชีวิตของเขา เพราะเราอยากเป็นผู้ให้ เราให้กับคนที่ตายแล้วเค้าก็ให้เราคืนไม่ได้ เราเพียงแค่อยากให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน” วิศิษฐ์ ตาวิชกุล ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการสวดส่งวิญญาณครั้งสุดท้ายว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการฌาปนกิจ
“ในแต่ละช่องแฟลต แล้วแต่ว่าจะมีกี่ศพ ส่วนมากเขาจะนิยมนำศพไปอยู่ที่เดียวกับคนในตระกูล หากในตระกูลมีศพอยู่ก่อนหน้าอยู่แล้วก็จะนำกระดูกของศพเดิมมาวางในหีบศพและนำเข้าแฟลตไปพร้อมกันอีกที” จินณรงค์ แดงเจริญ หรือลุงแมว ผู้ดูแลสุสานประจำวัดคอนเซ็ปชัญร่วม 20 ปีอธิบาย
โดยผู้ดูแลสุสานวัย 62 ปี ได้อธิบายไปพร้อมกับพิธีที่กำลังดำเนินต่อไป ลุงแมวยังกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการร่อนเนื้อของผู้วายชนม์เพิ่มเติมอีกว่า “สมัยนี้เราไม่นิยมทำกันแล้ว เราจะรอจนศพเหลือแค่กระดูกแห้งๆ เลย แค่เพียงดูปี พ.ศ. ลุงก็สามารถบอกได้แล้วว่าศพนั้นแห้งหรือไม่แห้ง สัก 15 ปีเนี่ยกำลังพอดี แต่หากไม่ถึง 10 ปี ไม่ได้นะ หากเปิดฝาโลงมากลิ่นไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่ยังมีเนื้อมีหนัง เราจับเค้าไม่ได้มันน่าเกลียด” การเสวนากับลุงแมวได้ถูกขัดขึ้นด้วยพิธีการลำดับขั้นตอนสุดท้าย คือการนำศพเข้าไปยังแฟลต ที่ถูกประดับตกแต่งและโรยด้วยดอกไม้สีสันสดใส
โลงศพได้ถูกหามและถูกนำเข้าไปวางในแฟลตโดยผู้ดูแลสุสานและชาวบ้านที่มาช่วยกันยกร่างผู้วายชนม์ ช่วงเวลาแห่งการอำลาและการจดจำครั้งสุดท้ายได้ถูกบันทึกผ่านภาพถ่ายที่จะเป็นเสมือนเครื่องเตือนความจำครั้งสุดท้ายที่ถูกบันทึกขึ้นโดยเหล่าญาติของผู้เสียชีวิต
การจากลาที่ไม่ได้กล่าวลาได้สิ้นสุดลงที่ฝาแผ่นปูนสี่เหลี่ยมได้ถูกยกมาวางและปิดผนึกเข้ากับช่องของแฟลต เปรียบดั่งสัญญะแห่งการบอกลาครั้งสุดท้าย เพราะเมื่อฝาปูนสี่เหลี่ยมได้ปิดลงก็ยากที่แสงแดดจากข้างนอกจะสาดส่องเข้าไปถึงข้างใน เปรียบแสงแดดก็เหมือนกับชีวิตมนุษย์ เมื่อฝาปูนสี่เหลี่ยมของแฟลตเริ่มใกล้เข้ามา แสงเหล่านั้นก็ยิ่งริบหรี่ลงไปจนท้ายที่สุดก็ไม่มีแม้กระทั่งประกายแสง (ชีวิต) แผ่นปูนสี่เหลี่ยมถูกยกมาวางให้พอดีกับช่องของแฟลตตามด้วยการฉาบปูนเพื่อผนึกฝาแฟลตอีกครั้งหนึ่งถือว่าเสร็จสิ้นพิธีกรรมเป็นที่เรียบร้อย “เปาะ แปะ เปาะ แปะ” เสียงฝนเริ่มโปรยลงมาภายในสุสานเหมือนเป็นการแสดงความอาลัยทิ้งท้ายให้ผู้วายชนม์
เอกสารประกอบงานเขียน
- มองความตายใน 3 ศาสนา (ออนไลน์) https://goodlifeupdate.com/healthymind/dhamma/8981.html
- วัดคอนเซ็ปชัญ (ออนไลน์) http://catholichaab.com/main/index.php/1/church7/2/1257-2016-07-15-03-39-19
พาฝัน หน่อแก้ว
บุคคลที่เชื่อว่า งานเขียนเป็นมากกว่างานเขียน
จะดีจะร้าย ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของปลายปากกา
พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์
ชื่อ ต่อ ครับ ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ที่มทร.ธัญบุรี เอกถ่ายภาพและภาพยนตร์ ส่วนตัวจะชอบการถ่ายกีฬาและถ่ายข่าวครับ แต่ถึงแม้ว่าธรรมชาติจะถือหุ้น99% ฝีมือเราก็ยังเป็น1%ที่เหลือ ฉะนั้น “คิดก่อนถ่าย” และ “ประสบการณ์” จึงสำคัญครับ