สัมภาษณ์ : วันดี สันติวุฒิเมธี, อัจฉราวดี บัวคลี่
เรียบเรียงบทสัมภาษณ์ : วันดี สันติวุฒิเมธี
ถ่ายภาพ : นิตยสาร สาละวินโพสต์

อองซาน ซูจี ชื่อของผู้หญิงวัย ๖๕ ปีคนนี้ ปรากฏตามสื่อต่างๆ ทั่วโลกตลอดเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมาในฐานะ “วีรสตรีเพื่อประชาธิปไตยในพม่า” ช่วงชีวิตของเธอตลอดสองทศวรรษบนเส้นทางการต่อสู้ ใช้เวลาอย่างน้อย ๑๕ ปีถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพัก มีเพียงเสรีภาพระยะสั้นๆ ที่รัฐบาลพม่ายอมปล่อยตัวเธอเพื่อลดกระแสกดดันจากนานาชาติ ส่งผลให้เธอไม่ได้พบหน้านายไมเคิล อริส สามีชาวอังกฤษก่อนเขาจะลาจากโลกนี้ไป รวมทั้งไม่ได้พบหน้าบุตรชายทั้งสองคนจนกระทั่งทั้งคู่เติบใหญ่ และเพิ่งจะได้พบหน้าลูกชายคนเล็กหลังการปล่อยตัวครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ นี้เอง

การต่อสู้ของเธอทำให้ทั่วโลกต่างยกย่องถึงความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น และเสียสละ บางคนมองว่าเธอสูญเสียชีวิตครอบครัว เสรีภาพและอีกหลายอย่างเฉกเช่นผู้หญิงคนหนึ่งควรได้รับ แต่ทว่าเรากลับไม่รู้เลยว่า แท้จริงแล้วในใจของผู้หญิงที่ชื่อ อองซาน ซูจี หรือ “ดอว์ซู” (คำที่ชาวพม่านิยมเรียก หมายถึง ป้าซู) ของประชาชนพม่านั้น…เธอคิดอย่างไร

บทสัมภาษณ์ที่คุณกำลังจะอ่านต่อไปนี้ได้สะท้อนมุมมองของเธอหลากหลายมิติ ตั้งแต่เรื่องการเมืองในพม่า ประเทศเพื่อนบ้าน ชีวิต ไปจนถึงเคล็ดลับความงาม ซึ่งผู้สื่อข่าวหญิงจากเมืองไทยมีโอกาสได้สัมภาษณ์เธออย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ๓๐ นาที ณ ที่ทำการพรรคเอ็นแอลดี กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า

กว่าจะมาเป็นบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เริ่มต้นจากในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ หลังดอว์ซูได้รับการปล่อยตัวครั้งล่าสุดเพียง ๒ สัปดาห์ ผู้เขียนซึ่งทำหน้าที่บรรณาธิการนิตยสาร สาละวินโพสต์ ก็ได้เริ่มติดต่อขอนัดสัมภาษณ์ดอว์ซูในช่วงปลายเดือนนั้นเอง โดยอาศัยมินเส่ง เพื่อนชาวพม่า (ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา) ผู้เคยเขียนเรื่องดอว์ซูตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี ฉบับเดือนกันยายน ๒๕๕๒ เป็นผู้ประสานงานติดต่อการสัมภาษณ์

หนึ่งเดือนต่อมา มินเส่งแจ้งว่าดอว์ซูยินดีให้สัมภาษณ์และขอให้ผู้เขียนติดต่อนัดหมายวันเวลาสัมภาษณ์ที่แน่นอนกับคนสนิทของดอว์ซู ผู้ทำหน้าที่จัดตารางนัดหมายให้เธอ แต่ทว่า…การติดต่อระหว่างผู้เขียนกับคนสนิทของดอว์ซู ทั้งทางอีเมลและโทรศัพท์ข้ามประเทศจากเมืองไทยกลับขาดหายไป ในที่สุดผู้เขียนจึงตัดสินใจที่จะเดินทางจากเมืองไทยเข้าไปในประเทศพม่าเพื่อขอนัดหมายการสัมภาษณ์ด้วยตนเอง

เย็นวันอาทิตย์ที่ ๑๙ ธันวาคม พวกเรา-ทีมงานนิตยสาร สาละวินโพสต์ และคุณอัจฉราวดี บัวคลี่ ผู้สื่อข่าวทีวีไทย เดินทางถึงกรุงย่างกุ้งด้วยความไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสสัมภาษณ์ดอว์ซูเมื่อไหร่ เพราะรู้ดีว่าผู้สื่อข่าวทั่วโลกต่างพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์เธอ ขณะที่เธอเองก็มีภารกิจมากมายเนื่องจากเพิ่งได้รับการปล่อยตัว

คืนวันแรกในกรุงย่างกุ้ง เราโชคดีที่มีโอกาสได้รับประทานอาหารเย็นร่วมกับบุตรสาวของคนสนิทดอว์ซู ซึ่งเธอได้ช่วยทำหน้าที่นัดหมายให้พบกับบิดาของเธอในเช้าวันรุ่งขึ้น เราจึงได้รับคำตอบแน่นอนว่าดอว์ซูตกลงให้พวกเราเข้าพบในช่วงเช้าวันที่ ๒๒ ธันวาคม ณ ที่ทำการพรรคเอ็นแอลดี โดยคนสนิทของดอว์ซูแนะนำว่า เพื่อความปลอดภัย หลังการสัมภาษณ์ดอว์ซูแล้วเราควรเดินทางกลับออกจากประเทศพม่าในเย็นวันนั้น เพราะรัฐบาลพม่าไม่อนุญาตให้นักข่าวเข้าประเทศ หากพบหลักฐานการสัมภาษณ์ดอว์ซู เราอาจถูกจับหรือถูกยึดหลักฐานทั้งหมดทันที ด้วยเหตุนี้เราจึงระมัดระวังเรื่องการเก็บรักษาหลักฐานการสัมภาษณ์ทั้งหมด และรีบเดินทางกลับประเทศไทยในเย็นวันเดียวกันตามคำแนะนำ

………………….

เช้าวันที่ ๒๒ ธันวาคม บรรยากาศภายในที่ทำการพรรคเอ็นแอลดีใจกลางกรุงย่างกุ้ง คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวและผู้สื่อข่าวชาวต่างชาติที่มารอพบเธอหลายสิบคน หลังจากดอว์ซูเดินทางมาถึง เธอทักทายทุกคนด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส จากนั้นจึงเดินขึ้นไปยังห้องทำงานซึ่งอยู่ชั้นสอง เพื่อเตรียมให้สัมภาษณ์บรรดาผู้สื่อข่าว

ความรู้สึกของพวกเราก่อนและหลังพบดอว์ซูนั้นแตกต่างกันมาก เพราะก่อนหน้านี้เราเคยเห็นเธอให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ โดยนั่งตรงข้ามกับผู้สัมภาษณ์แบบมีระยะห่าง แต่ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีของพวกเรา คือการสัมภาษณ์ในบรรยากาศกันเองราวกับเพื่อนบ้านที่มาเยี่ยมเยียนหาสู่กัน…เรายังจำได้ดีถึงนาทีแรกที่เปิดประตูเข้าไปในห้องทำงานของเธอ ดอว์ซูจูงมือเราไปนั่งเก้าอี้ข้างๆ แล้วเริ่มทักทายพวกเราราวกับญาติสนิท การสัมภาษณ์ครั้งนี้จึงมีทั้งรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และแง่มุมที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยินมาก่อน

สวัสดีค่ะ พวกเรารู้สึกดีใจมากที่คุณให้โอกาสผู้สื่อข่าวจากประเทศไทยเข้าสัมภาษณ์ในวันนี้
ฉันคิดว่าประเทศไทยมีความสำคัญมากสำหรับพวกเรา พวกเราเป็นเพื่อนบ้านกัน ทุกวันนี้มีแรงงานและผู้ลี้ภัยชาวพม่าอยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก ฉันคิดว่าเราควรจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

ที่ผ่านมาประเทศไทยและประเทศพม่ามักนำเรื่องราวที่เคยสู้รบกันในประวัติศาสตร์มาตอกย้ำความเป็นศัตรู เราคิดว่าถึงเวลาแล้วที่พวกเราควรเปลี่ยนเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันเสียที
ฉันเห็นด้วยว่าไทยกับพม่าควรเป็นเพื่อนกัน และควรเลิกคิดเรื่องศัตรู เพราะนั่นเป็นเรื่องของอดีต เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฉันไปส่งลูกชายที่สนามบินและได้พบกับนักท่องเที่ยวชาวไทยซึ่งกำลังจะเดินทางกลับประเทศ พวกเขาทักทายฉันอย่างอบอุ่นและสนับสนุนฉันอย่างมาก ฉันรู้สึกดีใจมากที่พวกเขาห่วงใยประชาชนพม่า

เนื่องจากนิตยสาร สาละวินโพสต์ ได้จัดทำหนังสือ หลากรสหลายชาติพันธุ์ ๒๘ เมนูอร่อยจากกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ วันนี้เรานำฉบับภาษาอังกฤษมามอบให้คุณค่ะ (หลังจากเห็นหนังสือ ดอว์ซูแสดงท่าทีตื่นเต้นกับเมนูอาหารพม่าหลากหลายชาติพันธุ์ซึ่งจัดทำขึ้นโดยคนไทย พร้อมกับเริ่มต้นบทสนทนาต่ออย่างเป็นกันเอง)
โอ…ฉันชอบทำอาหารมาก ในช่วงที่ฉันถูกกักบริเวณ ฉันเรียนรู้ที่จะกินอาหารง่ายๆ ส่วนใหญ่เน้นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็ค่อนข้างน่าเบื่ออยู่เหมือนกัน ฉันรู้สึกว่าอาหารที่ไม่มีประโยชน์ดูจะน่ากินกว่า (หัวเราะ) ฉันชอบทำอาหารให้คนในครอบครัวและเพื่อนกินเมื่อมีเวลา ตอนที่ลูกชายมาหา ฉันตั้งใจว่าจะทำอาหารให้เขากินแต่ก็ไม่มีเวลาเพราะฉันเพิ่งได้รับการปล่อยตัว เพื่อนๆ พากันมาเยี่ยมและนำอาหารมากมายมาด้วย ในที่สุดเขาก็ทำอาหารให้ฉันกินแทน เช้าวันหนึ่งเขาทำไข่ออมเล็ตให้ฉันกิน เป็นช่วงเวลาที่ฉันมีความสุขมาก และฉันก็คิดว่าเป็นเรื่องดีที่ลูกชายทำอาหารให้แม่กิน (เธอแสดงอาการภูมิใจเล่นๆ พร้อมกับหัวเราะ)

วันนี้พวกเราเตรียมคำถามมาถามคุณ ๓ ประเด็นหลักๆ คือเรื่องอนาคตการเมืองพม่า เรื่องประเทศเพื่อนบ้าน และมุมมองต่อการใช้ชีวิตของคุณ ขออนุญาตเข้าสู่คำถามแรกเลยนะคะ ขณะนี้การเลือกตั้งผ่านไปแล้ว แต่ดูเหมือนผลการเลือกตั้งจะไม่ได้รับการยอมรับในสายตานานาชาติ คุณคิดว่าการเมืองพม่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
สิ่งที่เราพยายามทำคือการทำให้พรรคเอ็นแอลดีดำรงอยู่ต่อไป แม้รัฐบาลจะบอกว่าเราไม่ได้จดทะเบียนพรรคก็ตาม เรากำลังต่อสู้ในศาล เพราะภายใต้กฎหมายใหม่เราไม่อาจจดทะเบียนได้ (เนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งระบุว่าให้พรรคขับสมาชิกพรรคที่ต้องโทษคดีการเมืองออกจากพรรค ซึ่งหมายรวมถึงนางอองซาน ซูจี ที่ถูกกักบริเวณในบ้านพักในช่วงเวลาดังกล่าว-ผู้เขียน) เราเชื่อว่าถ้าต้องการให้การเลือกตั้งมีความน่าเชื่อถือ พม่าจำเป็นต้องมีกระบวนการเลือกตั้งที่เปิดกว้าง ให้ทั้งพรรคเอ็นแอลดี ชนกลุ่มน้อย องค์กรทางการเมืองและสังคมเข้ามามีส่วนร่วม หากไม่เปิดกว้าง การเลือกตั้งก็จะไม่มีความน่าเชื่อถือ ฉันไม่คิดว่าเอ็นแอลดีเป็นพรรคการเมืองผิดกฎหมาย เราเพียงแค่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๓ เท่านั้น ความหมายจึงต่างกัน สิ่งสำคัญคือเราได้รับการสนับสนุนโดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่และคนที่ตื่นตัวทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ฉันจึงเชื่อว่าเอ็นแอลดีจะเป็นกลุ่มการเมืองที่ประสบความสำเร็จ

พรรคเอ็นแอลดีทำอะไรได้มากแค่ไหนภายใต้สถานะไม่ได้จดทะเบียน
เราทำได้หลายอย่าง ทั้งการพบปะกับพรรคการเมืองต่างๆ ชนกลุ่มน้อย และองค์กรทางสังคม ตอนนี้เรากำลังเพิ่มกิจกรรมมากขึ้น ทั้งการส่งคนไปช่วยเหลือเหยื่อภัยพิบัติ และเรายังมีโครงการด้านมนุษยธรรมอื่นๆ ที่กำลังจะดำเนินการเช่นกัน

หมายความว่าพรรคเอ็นแอลดียังคงทำงานในฐานะพรรคการเมืองหรือเปล่า
แน่นอน แม้ว่าเราจะยังไม่ได้จดทะเบียน แต่เรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการของศาล ดังนั้นคุณยังไม่อาจตัดสินว่าเราเป็นพรรคที่ไม่ได้จดทะเบียน

อีกนานแค่ไหนกว่าที่กระบวนการในศาลจะแล้วเสร็จ
เราไม่แน่ใจ มีคดีอื่นอีกหลายคดี เราพยายามเร่งเวลา เราทำงานสองอย่างพร้อมกัน พวกเขาก็ต้องพิจารณาเรื่องอื่นๆ ด้วย แต่เราก็จะอุทธรณ์ภายในกรอบเวลา

ตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ เราเห็นประชาชนนับแสนคนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยบนท้องถนนกันหลายครั้ง แต่ทำไมถึงยังไม่ได้ประชาธิปไตยที่ปกครองโดยประชาชนอย่างที่ต้องการ
ฉันคิดว่าบางทีเรายังไม่พบทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ฉันไม่คิดว่าปัญหาทุกอย่างจะแก้ได้ด้วยการประท้วงบนท้องถนน ฉันว่าบางปัญหาก็อาจแก้ได้ แต่ไม่ใช่ทุกปัญหา ทางหนึ่งฉันก็อยากจะคิดว่า เราแก้ปัญหาได้ด้วยการเจรจา ในระยะยาว สำหรับประชาธิปไตยมันจะดีกว่าถ้าเราแสวงหาหลักของการเจรจามากกว่าการสู้รบกัน

แต่การที่ประชาชนออกมาเดินขบวนบนท้องถนนหมายความว่าประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงใช่ไหม
ใช่ค่ะ ฉันคิดว่าเมื่อพระสงฆ์ออกมาเดินขบวนในปี ๒๕๕๐ และมีการปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้คนหวาดกลัวและอาจไม่กล้าออกมาประท้วงอีก แต่ก็ไม่แน่หรอก คนออกมาประท้วงตามท้องถนนเพราะเขารู้สึกว่าทนสถานการณ์ต่างๆ ไม่ได้แล้ว

หลังจากได้รับการปล่อยตัว คุณพูดถึงการจัดประชุมปางโหลงครั้งที่ ๒ มันมีความหมายแตกต่างจากครั้งที่ ๑ อย่างไร
การประชุมปางโหลงคือการเสริมสร้างความเป็นเอกภาพของรัฐ การประชุมปางโหลงครั้งแรก (เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐) มีเป้าหมายเพื่อนำกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มมารวมกันเป็นประเทศเดียวเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ แต่ช่วงหลายปีมานี้มีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ประเทศพม่ายังไม่ได้ปกครองแบบสหภาพที่แท้จริง และยังไม่มีสันติภาพที่สมบูรณ์ ดังนั้นสิ่งที่ฉันต้องการคือการเสริมสร้างการทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่ความเป็นเอกภาพ เราจะเห็นได้ว่าสนธิสัญญาปางโหลงครั้งแรกยังไม่ได้แก้ปัญหาหลายเรื่อง ปัญหาจึงยังคงมีอยู่ เป้าหมายของการจัดประชุมปางโหลงครั้งที่ ๒ คือการพยายามกำจัดปัญหาที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ปางโหลงครั้งแรก จากนี้เราจึงจะก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง

ที่ผ่านมา ความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ต้องการเป็นสหพันธรัฐ คืออยู่ร่วมกันกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ภายใต้ชื่อสหพันธรัฐ และอีกกลุ่มต้องการการแยกประเทศเป็นอิสระ คุณมองปัญหานี้อย่างไร
ฉันไม่คิดเช่นนั้น ฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิด ฉันได้รับทราบจากกลุ่มชาติพันธุ์มากมายที่อยากอยู่ร่วมกันเป็นสหพันธรัฐ ที่จริงแล้วกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการให้จัดการประชุมปางโหลงครั้งที่ ๒ บอกชัดว่าจะหาทางที่ไม่นำไปสู่การแยกตัวและไม่มีการแยกเป็นอิสระ พวกเขาพูดชัดเจนว่าต้องการปกครองตนเอง หรือ autonomy แต่ไม่ใช่การแยกตัวเป็นอิสระ

แต่สถานการณ์สู้รบตามแนวชายแดนไทย-พม่าที่ผ่านมา มักมีข่าวว่าทหารจากกองกำลังรัฐฉานต่อสู้เพื่อแยกตัวเป็นอิสระ คุณคิดอย่างไร
ฉันคิดว่าไม่น่าใช่นะ ฉันไม่คิดว่าพวกเขาสู้เพื่อแยกตัวเป็นอิสระ ที่ฉันเข้าใจคือพวกเขาต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองของรัฐฉาน ไม่ใช่สู้เพื่อแยกตัวเป็นอิสระ และแม้แต่ในการประชุมปางโหลงครั้งแรก เราก็ยอมรับในข้อเสนอปกครองตนเอง

คุณคิดว่ามีความเป็นไปได้ในการปกครองตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ไหม
ทำไมจะไม่ได้ล่ะ หลายประเทศก็มีการปกครองตนเองที่เข้มแข็งภายใต้ระบบสหพันธรัฐ ซึ่งให้อำนาจการปกครองตนเองในหลายพื้นที่ ดูตัวอย่างในสวิตเซอร์แลนด์ พวกเขาเป็นสหพันธรัฐแต่รวมตัวกันเหนียวแน่นมาก แต่ละภาคส่วนก็มีสิทธิปกครองตนเอง ตอนนี้มีความเข้าใจระบบสหพันธรัฐที่แตกต่างหลากหลายในพม่า เพราะว่า เอ่อ…คงต้องบอกว่าเป็นความหวาดหวั่นของนักการเมือง หรือนักวิชาการบางคน มีหลายคนเข้าใจว่าการเป็นสหพันธรัฐหมายถึงรัฐนั้นมีสิทธิเลือกที่จะแยกตัวและตั้งเป็นประเทศอธิปไตย ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้นเลย พวกคุณก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามันไม่ใช่ แต่หมายความว่าในรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้นจะกำหนดให้แต่ละภาคส่วนของสหพันธรัฐมีหน้าที่และสิทธิของตัวเอง แยกจากรัฐบาลกลาง คือมีรัฐบาลท้องถิ่น เท่านั้นเอง คุณจะเรียกสหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ หรืออะไรก็ได้ที่ต้องการ แต่ข้อเท็จจริงคือ สหพันธรัฐจะแยกหน้าที่กันตามรัฐธรรมนูญ ก็เหมือนกับสหรัฐอเมริกาไม่ได้เรียกตัวเองว่าสหพันธรัฐหรือสมาพันธรัฐ แต่เรียกว่า “สหรัฐอเมริกา” สาระสำคัญคือพวกเขาแบ่งแยกหน้าที่ระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น

คุณคิดว่าการประชุมปางโหลงครั้งที่ ๒ เป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์การเมืองในพม่าไหม
แน่นอน แต่เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญและต้องหารือกัน ไม่ใช่สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงหรือวิ่งหนีเพียงเพราะมันเป็นเรื่องยาก

หลายคนเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของคุณ เมื่อหยิบยกเรื่องการประชุมปางโหลงครั้งที่ ๒ ขึ้นมา
ไม่จำเป็นต้องพูดถึงความปลอดภัยของฉันหรอกค่ะ

คุณกลัวไหม
ไม่ค่ะ ฉันแค่ไม่อยากพูดในสิ่งที่จะสร้างความเข้าใจผิด เพราะไม่อยากสร้างความตึงเครียดในหมู่ประชาชน ไม่ใช่เรื่องที่ต้องพูดถึงความปลอดภัยของฉัน ฉันพยายามสร้างการเคลื่อนไหวที่เป็นเอกภาพ ไม่อยากพูดอะไรที่ทำลายความเป็นเอกภาพ ฉันไม่เคยคิดถึงเรื่องความปลอดภัยของตัวเอง

หลายคนคิดว่าหลังจากคุณได้รับการปล่อยตัวครั้งนี้ คุณดูมีท่าทีประนีประนอมกับรัฐบาลมากกว่าเมื่อก่อน
ฉันไม่รู้ว่าทำไมคนถึงพูดเช่นนั้น เพราะฉันพูดเสมอว่าฉันพร้อมประนีประนอม เวลามีคนบอกว่าฉันมักเผชิญหน้ากับรัฐบาล ฉันจะถามกลับว่า ช่วยยกตัวอย่างได้ไหมว่าฉันเผชิญหน้าอย่างไร ถ้าคุณยกตัวอย่างที่น่าเชื่อถือว่าฉันเคยเผชิญหน้ากับรัฐบาลไม่ได้ คุณก็พูดไม่ได้ว่าตอนนี้ฉันประนีประนอมมากขึ้น ช่วยยกตัวอย่างว่าฉันเคยเผชิญหน้าอย่างไร วิธีไหน หรือภายใต้สภาพแวดล้อมอย่างไร เพราะฉันพูดเสมอว่าฉันพร้อมจะเจรจากับรัฐบาลทหาร

คุณคิดว่าการที่พม่าอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมาตลอด ๕๐ ปี ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไรบ้าง
ตอนนี้ชาวพม่าไม่คุ้นเคยกับการตัดสินใจด้วยตัวเอง แน่นอนว่าการอยู่ใต้การปกครองของเผด็จการมานานทำให้ประชาชนไม่ชินกับการตัดสินใจด้วยตัวเอง และไม่มั่นใจในตัวเอง พวกเขาลืมไปว่าจริงๆ แล้วพวกเขามีความสำคัญต่อประเทศนี้ หากไม่มีประชาชนก็ไม่มีประเทศ ดังนั้นเราจึงพยายามช่วยให้ประชาชนกลับมามีความเชื่อมั่นและเข้าใจว่าพวกเขาต้องเป็นคนตัดสินใจว่าจะให้ประเทศนี้เป็นอย่างไร ระบอบเผด็จการที่ผ่านมาทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน

คุณคิดอย่างไรต่อคนรุ่นใหม่
ฉันคิดว่าเด็กรุ่นใหม่พัฒนาขึ้นมากเพราะการสื่อสารพัฒนาขึ้น คนรุ่นใหม่มีโอกาสติดต่อกับโลกภายนอกเพราะการพัฒนาด้านไอที ซึ่งช่วยได้มาก เมื่อพวกเขารู้ว่าประเทศอื่นๆ เป็นอย่างไรและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ฉันคิดว่าจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่พวกเขา และช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมด้วย

จากเรื่องภายในพม่า ขอข้ามมามองเรื่องเพื่อนบ้านอย่างไทยบ้าง ตอนนี้ปัญหาในพม่าส่งผลต่อไทย ทั้งแรงงานต่างด้าวและผู้อพยพเข้าประเทศ คุณคิดว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาในพม่าที่ไทยไม่ควรเข้าไปข้องเกี่ยวหรือไม่ ฉันคิดว่าไทยคงไม่คิดว่านี่เป็นปัญหาภายในประเทศพม่า เพราะว่ามีผู้ลี้ภัยชาวพม่าเข้าไปอยู่ในไทยมากมาย และยังมีแรงงานพม่าอีก ฉันคิดว่าคงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับไทยในการรับมือปัญหาผู้ลี้ภัยและแรงงานต่างด้าว มันเป็นปัญหาของสองประเทศ เพราะทั้งผู้ลี้ภัยและแรงงานต่างด้าวต่างก็มีชีวิตที่ลำบากกันทั้งนั้น แต่ขณะเดียวกัน สังคมไทยก็ต้องได้รับผลกระทบจากการทะลักเข้าไปของทั้งผู้ลี้ภัยและแรงงานต่างด้าว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทั้งสองประเทศต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา เพราะมันส่งผลกระทบต่อทั้งสองประเทศ จะบอกว่าเป็นปัญหาภายในพม่าคงไม่ได้

แต่ประเทศเพื่อนบ้านและสมาชิกอาเซียนมักพูดเสมอว่า ปัญหาการเมืองพม่าเป็นเรื่องภายในของพม่านี่เป็นปัญหาส่วนหนึ่งของอาเซียน และควรจะเปลี่ยนแปลง หากอาเซียนยอมรับว่าการหารือและปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาติในกลุ่มอาเซียนมีความแน่นแฟ้นดี ดังนั้นก็ควรหันมาทบทวนว่าอะไรเป็นเรื่องภายใน อะไรเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทั้งภูมิภาค

หากคุณได้พบเลขาธิการอาเซียน คุณจะพูดอะไร
จริงๆ ฉันอยากจะทราบเสียก่อนว่า ท่านจะพูดอะไรกับฉัน คนมักถามฉันเสมอว่า ถ้าได้พบกับคนนั้นคนนี้ ฉันอยากพูดอะไร น่าแปลกเหมือนกันนะ…เพราะเวลาที่เราพบกับใคร ก็เป็นเรื่องของทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่คำถามว่าฉันจะพูดอะไร แต่ต้องถามด้วยว่าแล้วคนที่มาพบอยากพูดอะไร ฉันมองในมุมของการแลกเปลี่ยน มากกว่าการพูดเรื่องที่ตัวเองต้องการ

การที่ประเทศเพื่อนบ้านจะเข้ามามีส่วนร่วมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศพม่า ก็ไม่ควรเลือกคุยเฉพาะกับรัฐบาล แต่ต้องคุยกับเรา (หมายถึงพรรคเอ็นแอลดี-ผู้เขียน) ด้วย เพราะเราก็เป็นตัวแทนของประชาชนกลุ่มใหญ่ มีคนมากมายที่เชื่อมั่นและสนับสนุนการเคลื่อนไหวของเรา ดังนั้นฉันคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศในภูมิภาคควรจะเข้ามาพูดคุยกับเราด้วย เช่นเดียวกับที่คุยกับรัฐบาล เพื่อจะได้เรียนรู้ปัญหาที่แท้จริงของประเทศพม่า ไม่เพียงรู้เฉพาะปัญหาที่รัฐบาลพม่ายกขึ้นมา

หลังจากคุณได้รับการปล่อยตัวครั้งนี้ คุณให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายคว่ำบาตรของกลุ่มประเทศตะวันตก ว่าควรยืดหยุ่นให้มากขึ้น หมายความว่าอย่างไร
ฉันพูดว่า เราควรจะทบทวนเรื่องนโยบายคว่ำบาตรว่าส่งผลต่อพม่าอย่างไร ฉันไม่คิดว่าการยกเลิกการคว่ำบาตรจะช่วยเศรษฐกิจของพม่าให้ดีขึ้นได้ และสหรัฐอเมริกาก็เคยมีรายงานออกมาเหมือนกันว่า การคว่ำบาตรนั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของพม่าน้อยมาก

ดังนั้นนานาประเทศควรจะทำอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องการเมืองของพม่า
ขณะนี้สิ่งที่ฉันอยากเรียกร้องต่อนานาชาติ คือการยืนยันว่ากระบวนการต่างๆ ในทางการเมืองของพม่าควรจะต้องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม อย่างที่เห็นแล้วว่ากระบวนการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่น่าเชื่อถือ กระบวนการทางการเมืองควรต้องเน้นการมีส่วนร่วม ให้ทุกเชื้อชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มการเมืองต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองด้วย

ประเทศไทยกำลังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพม่า เช่น การสร้างเขื่อน หรือโครงการท่าเรือทวาย เป็นต้น คุณคิดว่าเป็นโอกาสดีที่ไทยควรเข้ามาลงทุนในพม่าตอนนี้หรือไม่
ฉันอยากเห็นการลงทุนแบบมีความรับผิดชอบซึ่งเกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่าย คนมักพูดว่าการลงทุนจากไทย จากจีนเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ประเด็นสำคัญคือ รัฐบาลพม่าต้องปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและปกป้องทรัพยากรของชาติ เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนจะเกิดประโยชน์กับประชาชนในชาติจริงๆ และมีความน่าเชื่อถือในทุกขั้นตอนของการลงทุน ฉันคิดว่าเราควรจะริเริ่มความรับผิดชอบนั้นก่อน

คุณมองผลประโยชน์และผลกระทบต่อประชาชนท้องถิ่นอย่างไร
เรื่องนี้มีความเห็นที่ต่างกันไป และมีหลายคนบอกว่ามันไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้ชีวิตประชาชนลำบากยิ่งขึ้นในระยะยาว แต่ก็มีคนได้รับประโยชน์จากการลงทุนที่อ้างว่าการพัฒนาจะเป็นผลดีต่อท้องถิ่น ดังนั้นจึงมีข้อถกเถียงที่แตกต่างกันอยู่ แต่ฉันเองก็ไม่มีโอกาสลงไปสัมผัสสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่

ถามเรื่องการเมืองหนักๆ ไปแล้ว ขอถามถึงมุมมองต่อเรื่องชีวิตของคุณบ้าง จนถึงตอนนี้คุณต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมา ๒๐ ปีแล้ว คุณคิดจะหยุดพักบ้างไหม
ไม่ค่ะ ฉันไม่ได้ต่อสู้คนเดียวนะ เราต่อสู้ร่วมกันมา และยังมีคนอายุ ๘๐ ปีที่ยังคงต่อสู้อยู่ ฉันจะหยุดได้อย่างไร

คุณยังดูมีพลังราวกับคนหนุ่มสาว ต้องทำงานต่อไปได้อีกนานแน่ๆ
เราทุกคนยังมีกำลังอีกมาก เรามีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันซึ่งทำให้เราเดินหน้าต่อไป

หากมองย้อนกลับไปบนเส้นทางการต่อสู้ที่ผ่านมา ๒๐ ปี คุณคิดว่าคุณได้และสูญเสียอะไรไปบ้าง
ฉันไม่เคยคิดเรื่องได้หรือเสีย ฉันคิดเพียงแค่ว่านี่คือสิ่งที่ฉันเลือกจะทำ บางครั้งเราประสบความสำเร็จมากกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ บางครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง แต่ฉันไม่คิดในแง่มุมว่าฉันได้หรือฉันสูญเสีย

ทุกวันนี้คุณได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ เพื่อประชาธิปไตยในพม่า คุณรู้สึกว่ามีแรงกดดันมากไหม
ฉันคิดว่าคำว่า “สัญลักษณ์” คงไม่เหมาะกับตัวฉัน เพราะฉันไม่คิดว่าตัวเองเป็นสัญลักษณ์ แต่คิดเพียงว่าฉันเป็นคนทำงานคนหนึ่ง ฉันอยากให้เรียกว่า “คนทำงานเพื่อประชาธิปไตย” มากกว่า เพราะคำว่าสัญลักษณ์มีความหมายราวกับว่าฉันไม่ได้ทำอะไร แค่นั่งเฉยๆ อยู่ในตึก ฉันไม่ชอบทำอย่างนั้นหรอก

ถ้ามองประเทศพม่าจากจุดนี้ คุณอยากเห็นประเทศพม่าเป็นอย่างไรในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า
ฉันหวังว่าจะเห็นประเทศพม่าที่ดีกว่านี้ มีเสรีภาพมากขึ้น มีความมั่นคงและก้าวหน้ามากกว่านี้ ตอนนี้ฉันบอกไม่ได้หรอกว่าอนาคตจะเป็นเช่นนั้นไหม แต่นั่นคือสิ่งที่ฉันพยายามจะทำให้สำเร็จ ฉันอยากเห็นความก้าวหน้า ฉันอยากเห็นประชาชนมีความมั่นใจและมีโอกาสมากกว่านี้

สิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกกล้าหาญคืออะไร
ฉันไม่คิดว่าฉันกล้าหาญอะไรมากมาย คนมักพูดถึงว่าฉันเป็นคนกล้าหาญ แต่จริงๆ คือฉันค่อยๆ รับมือไปในแต่ละวัน ทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และพยายามทำในสิ่งที่จิตสำนึกบอกว่าควรจะทำ

ตอนนี้คุณมีความสุขกับเรื่องอะไรบ้าง
ความสุขของฉันคือการได้พูดคุยกับลูกชาย ฉันมีเพื่อนที่ดี มีเพื่อนร่วมงานที่ดี มีเหตุผลมากมายที่คนเราจะมีความสุข ถ้าคุณรู้จักวิธีการมองโลกในแง่ดี แต่ถ้าจะมองโลกในแง่ร้ายก็ได้เหมือนกัน สิ่งที่ฉันเรียนรู้ก็คือ เราควรรู้จักมองโลกตามความเป็นจริง

คุณต้องเข้าใจว่าคุณไม่มีทางเจอแต่เรื่องดีๆ หรือเรื่องร้ายๆ อย่างเดียว มันผสมกันไป คุณต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่กับมันอย่างไร จะใช้ประโยชน์จากมันอย่างไร ถ้าคุณมีประสบการณ์ที่เลวร้ายก็จงนำมาเป็นบทเรียนให้ชีวิตดีขึ้น แข็งแกร่งขึ้น ถ้าคุณมีประสบการณ์ดีๆ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะชื่นชม เรียนรู้ที่จะมีความสุขกับชีวิตที่เป็นไป

คำถามต่อไปเป็นสิ่งที่ผู้หญิงหลายคนทั่วโลกอยากรู้ คือคุณทำอย่างไรจึงยังดูอ่อนเยาว์อยู่เสมอ เคล็ดลับความงามและสุขภาพที่ดีของคุณคืออะไร
(หลังฟังคำถาม เธอยิ้มอย่างอารมณ์ดี) ฉันคิดว่าฉันใช้ชีวิตอย่างมีวินัย และฉันก็ทำสมาธิด้วย ฉันคิดว่าวินัยเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่างที่บอกก่อนหน้านี้ มีอาหารหลายอย่างที่ฉันชอบแต่มันไม่ดีต่อสุขภาพนัก ฉันจึงเลือกกินแต่อาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าอาหารที่ฉันชอบ บางที…ฉันอาจจะชอบอาหารขยะเหมือนกันนะ (หัวเราะ) จริงๆ แล้วฉันก็ไม่ได้กินอาหารขยะนั้นหรอก

ตอนที่ถูกคุมตัวอยู่ในบ้านพัก ใครเป็นคนทำอาหารให้กิน
ฉันทำเองบ้าง บางทีเพื่อนของฉัน (หมายถึงคนดูแลที่รัฐบาลพม่าอนุญาตให้อยู่ในบ้านเธอระหว่างการกักบริเวณ-ผู้เขียน) ก็ทำบ้าง แต่ฉันมักจะทำอาหารง่ายๆ จนเบื่อมากที่ต้องกินอาหารเหมือนเดิมทุกวันๆ บางทีเพื่อนก็พยายามทำอาหารเมนูอื่นให้กินบ้างเหมือนกัน

คำถามสุดท้าย คุณอยากบอกอะไรกับคนไทยบ้าง
ฉันอยากบอกว่า เราเป็นเพื่อนบ้านกัน และเราก็อยากเป็นเพื่อนบ้านที่ดี และอยากจะทำงานร่วมกันเพื่ออนาคต ในฐานะมิตรประเทศ ในฐานะคนที่เข้าใจกัน อย่างที่ฉันบอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ทุกวันนี้มีคนพม่ามากมายที่อยู่เมืองไทยในฐานะผู้ลี้ภัยหรือแรงงานต่างด้าว

ฉันอยากเห็นว่า สักวันหนึ่งพม่าจะให้ความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์ภูมิภาคที่ดีขึ้นได้ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้พึ่งพิงให้คนอื่นต้องช่วยเหลือ และนั่นเป็นความมุ่งหมายของเรา