ณภัทร สงวนแก้ว : เรื่อง
วัชรวิชญ์ ภู่ดอก : ภาพ
ผลงานจากค่ายสารดดีครั้งที่ 15

ในวันที่โลกมีการเชื่อมต่ออย่างเต็มรูปแบบ การทำงานข้ามกรอบพื้นที่กับผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นอีกในอนาคต เพราะเมื่อเราเปิดใจเรียนรู้ “วิธีคิด วิธีมองโลก” เราย่อมเกิดความเข้าใจ ความเชื่อใจ ความเห็นอกเห็นใจ อันจะทำให้เราสามารถร่วมมือกันทำงาน(corporation) กับมนุษย์คนอื่นๆ บนโลกที่มีเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อแตกต่างจากเราได้ด้วยความเคารพและไม่แตกแยก… นั่นทำให้ “ชุมชนบ้านญวนสามเสน” กลายเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ของอดีตที่เข้มข้นเพื่อใช้ “ฝึกวิชารักและเข้าใจเพื่อนมนุษย์” ที่ยอดเยี่ยมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยด้านทิศตะวันตกของชุมชนแห่งนี้ถูกโอบกอดด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา กินพื้นที่เรื่อยไปจนถึงถนนสามเสนทางทิศตะวันออก เป็นชุมชนขนาดกะทัดรัดที่ปัจจุบันสามารถเดินทางไปได้อย่างไม่ยากนัก

หลังจากนั่งรถเมล์โดยสารจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ในที่สุดเวลา 08.15 น. ของเช้าวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน 2562 ผู้เขียนและเพื่อนๆ ชาวค่ายสารคดีทั้งหมด 50 กว่าชีวิตได้มาลงพื้นที่ในชุมชนที่เคยมีคนตั้งชื่อสะท้อนความเป็นจริงได้อย่างสมบูรณ์แบบว่า “ชุมชนต่างศรัทธา” หรือที่ผมกับเพื่อนช่างกล้องสุดเฟี้ยวคิดคำใหม่ว่า “วิถีพหุความเชื่อ” เพื่อฉายภาพมุมกว้างให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว ณ ที่แห่งนี้เป็นภาพตัวแทนหรือโมเดลที่สามารถถ่างออกในการศึกษาทำความเข้าใจ “สังคมไทยโดยรวม” ได้ เพราะประกอบไปด้วยพี่น้องชาวบ้านที่มี “รากเหง้า” ที่แตกต่างหลากหลาย ได้แก่ จีนไหหลำ เขมร ญวน ไทย หรือแม้กระทั่งโปรตุเกส ที่หมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนเป็นตัวเด่นบ้าง ตัวรองบ้าง ตลอดระยะเวลา 300-400 ปีให้หลังมานี้

หลังจากที่สายตาและจมูกอันหิวโหยได้ทำความรู้จักกับอาหารพื้นถิ่นเมนูแปลกๆ ตามรายทางที่ซอกแซกเลี้ยวคด ทว่าแซมไปด้วยรายละเอียดที่บอกได้ว่าไม่สามารถพบได้ในหมู่บ้านจัดสรรหรือคอนโดฯ หรูๆ กลางกรุง ไม่ว่าจะเป็นกำแพงเหล็กดัดรูปกางเขน ตุ๊กตานางรำที่วางซุกอยู่ในอ้อมกอดตุ๊กตาหินรูปสิงห์ในวัดจีนไหหลำ โบสถ์คาทอลิกที่ทราบมาว่าเก่าแก่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย แล้วสุดท้ายผมก็มาหยุดชะงักอยู่ที่หน้ากำแพงบ้านไม้ที่สามแยกในซอยเล็กๆ ใจกลางชุมชนชาวคริสต์แห่งนี้

โบสถ์วัดคอนเซ็ปชัญ ศูนย์รวมจิตใจและสถานประกอบศาสนกิจในชุมชน
ศาลาริมน้ำประจ าชุมชน ในอดีตศาลาแห่งนี้เคยเป็นศาลารับเสด็จในรัชกาลที่ 9

“บ้านสงวนแก้ว” ป้ายไม้สลักสีทองแบบที่เราอาจพบได้ตามบ้านคนปรกติทั่วไปๆ แต่ที่มันไม่ปรกติก็เพราะนามสกุลบนผนังบ้าน เป็นนามสกุลเดียวกับที่อยู่บนป้ายชื่อ ค่ายสารคดีครั้งที่ 15 ของผม!!!

อย่างที่พอคาดเดาได้และอาจเป็นสิ่งที่ผู้อ่านอาจทำแบบเดียวกันคือการเช็กกับครอบครัว… ผลคือผมค้นพบว่าตนเองมีเชื้อสายโปรตุเกสเป็นครั้งแรกในชีวิต และตระกูลสงวนแก้วกลายเป็นนามสกุลเก่าแก่ที่อยู่คู่กับชุมชนชาวคริสต์ ณ ที่แห่งนี้มานมนาน

“ปู่ของน้องกับปู่ของพี่เป็นพี่น้องกัน นั่นทำให้พ่อของเรากับพ่อของพี่เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน”

เป็นประโยคที่ออกจากปากของผู้ชายสันจมูกโด่งผิวเหลืองท่าทางใจดีที่เดินอ้อมมาจากข้างหลังผมและกำลังเดินเข้าบ้านในขณะที่ผมยืนอ้าปากค้างอยู่หน้าป้ายนามสกุลของตัวเอง

ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับวงศาคณาญาติที่ออกจากปากพี่นุ่น (นายจักรพันธ์ สงวนแก้ว อายุ 47 ปี ณ ปี พ.ศ. 2562) ทำให้ผมระลึกชาติถึงบางประโยคที่พ่อเคยบอกเล่าถึงลูกพี่ลูกน้องสมัยเด็กที่มีวีรกรรมกับพ่อมามากมาย แต่ก็จากกันไปตามเส้นทางชีวิตที่โลดโผนของแต่ละคน

“ต้นตระกูลสงวนแก้วมีเชื้อสายชาวโปรตุเกสนะ รอบๆ บ้านนี้ก็ญาติพี่น้องเราทั้งนั้น ในสุสานข้างๆ นี้ก็มีสงวนแก้ว เราสามารถเดินเข้าไปดูได้เลย”

พี่นุ่นกับป้าย บ้านสงวนแก้ว
พระแม่ขนมจีน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน และเป็นประติมากรรมที่ผสมระหว่างความเป็นไทยและคริสต์ได้อย่างลงตัว

หากดูตามประวัติศาสตร์พื้นที่ของชุมชนแห่งนี้ในสมัยพระนารายณ์มหาราช เราจะพบว่าตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีชาวโปรตุเกสเข้ามาทำมาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก บ้างก็รับราชการเป็นทหาร บ้างก็มาเผยแผ่ศาสนา ด้วยเหตุนี้พระนารายณ์จึงทรงพระราชทานที่ดินสำหรับสร้างวัดและเป็นที่อยู่อาศัยให้กับชาวโปรตุเกสเหล่านี้ ซึ่งในภายหลังก็มีการเข้ามาสมทบของชนชาติอื่นอีกมากมาย ทั้งชาวเขมร ชาวญวน และชาวจีน

เสียงเพลงแห่งความทรงจำที่เปล่งออกมาจากเสี้ยวที่ลึกที่สุดในวัยเด็กยามที่ได้ไปร่วมกิจกรรมร้องเพลงในโบสถ์ยังคงก้องกังวานซ้อนทับกับเสียงร้องเพลงประสานเสียงที่ดังออกมาจากตัวโบสถ์วัดคอนเซปชัญเมื่อเช้านี้ ทำให้ผมเอ่ยปากถามพี่นุ่นว่าคนต่างศาสนาสามารถเข้าไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ภายในโบสถ์ได้หรือไม่

“มา ลองมาดู ลองมานั่งซักชั่วโมงหนึ่ง เวลาที่มีให้เรายืน เรานั่ง เราคุกเข่า เราก็อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร คนที่อยู่ในโบสถ์เขาก็จะรู้เองว่าเราไม่ใช่คนคริสต์ แต่ก็ไม่เป็นไร ไม่ค่อยซีเรียส คนคริสต์ในไทยไม่ค่อยเคร่งเรื่องต่างศาสนาเท่าไหร่ เรื่องของคริสต์กับพุทธมันจะมีส่วนต่างกันแค่พุทธจะเน้นไปที่เหตุและผล มันมีความเป็นวิทยาศาสตร์ ส่วนทางคริสต์จะเน้นไปที่ศรัทธา เช่น ถ้าเรารักคนอื่น คนอื่นก็จะรักเรา อย่างพี่ก็จะไม่ค่อยได้เถียงกับเพื่อนเท่าไหร่ เพราะรู้ว่าบางทีเราอาจจะไม่ได้เน้นไปที่ตัวเหตุผล แต่จะไปดูปลายทางที่เป็นผลกับจิตใจของเรามากกว่า”

หรือนี่อาจเป็นตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรมของวิธีคิดของคนในชุมชนจริงๆ เป็นคนที่เจอกับสภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่างหลากหลายจนก่อกำเนิดเป็นวิธีคิดที่ค่อนข้างเปิดกว้างและผ่อนคลายโดยแสดงออกอย่างชัดเจนทั้งสีหน้าแววตาในขณะเล่าเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกเหล่านี้

การสนทนาในครั้งนี้นับว่าเป็นการพูดคุยกับเพื่อนต่างศาสนาที่รื่นรมย์มากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต ยังไม่นับรวมถึงประวัติส่วนตัวของพี่นุ่นที่ขับเน้น “ทักษะแห่งอนาคตใหม่” ที่พวกเราตั้งใจมาเรียนรู้

“แฟนพี่เป็นคนพุทธ อย่างตอนแฟนพี่ตักบาตรหรือไปวันพระใหญ่ๆ ไปเวียนเทียนพี่ก็ไปด้วยได้ อย่างการตักบาตรก็มองว่าเป็นการให้ทาน เพราะพระท่านก็ทำกับข้าวไม่ได้ จะได้เอาเวลาว่างไปศึกษาธรรมอย่างเต็มที่”

เสียงระฆังตามสายก้องกังวานเป็นจังหวะพอดีคล้ายให้ผมได้มีเวลาตกผลึก แยกแยะ และนั่งคิดเกี่ยวกับความใกล้ชิดกันของหลักคำสอนของศาสนา

หากใครเดินทางมาที่ชุมชนแห่งนี้จะเห็นการกระจายตัวของทั้งโรงเรียน สุสาน และโบสถ์ต่างๆ หลากหลายชื่อเต็มไปหมด คล้ายๆ กับการเล่นเกมล่าสมบัติเพราะเราจะสามารถพบชิ้นส่วนที่เป็นเหมือน “คําใบ้” เล็กๆ น้อยๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ทุกหนแห่ง จะบอกได้ว่าโซนไหนที่คนคริสต์อยู่อาศัย บ้านหลังไหนนับถือคริสต์ เช่นการค้นพบสัญลักษณ์ไม้กางเขนประปรายในรูปแบบต่างๆ ทั้งสติกเกอร์รูปไม้กางเขน แผ่นป้ายต่างๆ ขอบรั้วบ้าน หรือแม้กระทั่งบ้านทั้งหลังที่มีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์ เรายังเห็นการเกาะกลุ่มของบ้านที่มีสไตล์คล้ายๆ กัน เป็นบ้านไม้ที่มีความโค้งมน มีเสาบ้านแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ด้วยความที่พี่นุ่นเกิด เติบโต และเรียนหนังสือทั้งในวัดคริสต์และวัดพุทธ (เคยสอบได้ที่ 1 ในวิชาพระพุทธศาสนาทั้งๆ เป็นคริสต์คนเดียวในชั้น) พี่นุ่นจึงพอจะบอกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของชุมชนนี้ได้บ้าง

“จริงๆ แล้วละแวกนี้ที่พี่เติบโตมา บ้านแต่ละหลังจะเป็นบ้านไม้ ตีปูซ้อนๆ กัน ทาสีเคลือบที่เรียกว่าสีปี๊บ ไม่ได้ดีไซน์เป็นบ้านแบบฝรั่ง เป็นบ้านไม้ทั้งหลัง ที่เราเห็นสวยๆ อยู่นี่ส่วนใหญ่เป็นบ้านที่สร้างขึ้นมาใหม่ ฐานข้างล่างจะเป็นปูน ถ้าเราอยากเห็นบ้านเก่าแบบดั้งเดิมจริงๆ ให้ไปดูท้ายอุโมงค์ซุ้มแม่พระ”

ภายในสุสานวัดคอนเซ็ปชัญ
จากศาลาท่าน้ำจะมองเห็นชุมชนริมน้ำ ซึ่งปัจจุบันได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว

ประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ผมนึกถึงความเป็น “ตระกูลสงวน” ที่บัดนี้รู้จากคำบอกเล่าเพียงว่าเป็นชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสเมื่อประมาณสี่ห้ารุ่นชั่วอายุคนที่แล้ว ผมจึงขอให้พี่นุ่นเล่าภาพรวมของการบริหารและปกครองชุมชนของที่นี่ รวมถึง “ที่ทางและบทบาท” ของนามสกุลสงวนในอดีต

ผมถามถึงคำว่าสงวน แต่พี่นุ่นกลับชี้มือไปยังฝั่งตรงกันข้ามบ้านที่เรานั่งคุยกันอยู่ มองออกไปไม่ถึง 20 เมตรจะเห็นสนามหญ้าที่เต็มไปด้วยไม้กางเขนสลักชื่อผู้เสียชีวิตอยู่เรียงราย…ผมเดินตามไป ณ โลกที่คนเป็นไม่อาจล่วงรู้

“รู้มั้ยว่า R.I.P. แปลว่าอะไร” พี่นุ่นชี้ไปที่สัญลักษณ์ที่ผมและชาวโลกโซเชียลฯ ทุกคนรู้ดี

“จริงๆ Rest In Peace เป็นคำที่สลักอยู่บนสุสานคนตายในศาสนาคริสต์ แต่ตอนนี้ใครๆ ก็เอาไปใช้กันเป็นเรื่องปรกติ”

ผมฟังแล้วก็คงไม่ขัดแย้งอะไร เพราะคำ R.I.P. ที่ชี้อยู่นั้นมันสลักอยู่บนหลุมศพที่เก่าแก่เกือบ 100 ปี ก่อนที่ผมจะสังเกตเห็นมวลหมู่ไม้กางเขนที่เต็มไปด้วยคำว่าสงวนแก้ว…นับเป็นความรู้สึกที่ประหลาดทีเดียว
“ถ้าพี่ตายจะมีคนมาฝังให้พี่ไหมเนี่ย” พี่นุ่นแซวกับผมเล่นๆ ก่อนจะเดินออกมานั่งคุยที่บ้านตามเดิม

“ที่นี่มีโบสถ์อยู่หลายแห่ง แต่ว่าคนที่เราไปเจอกันทุกวันอาทิตย์ก็มักจะเห็นหน้าค่าตากันบ่อยๆ มันก็จะมีการแบ่งโซนของคนที่อยู่อาศัยใกล้ๆ โบสถ์แต่ละแห่งอยู่แล้ว อย่างพี่ก็คงไม่สะดวกที่จะเดินไปโบสถ์ไกลๆ”

“วัดจะมีสภาวัด คือคนในหมู่บ้านที่เข้าไปช่วยบริหารทุกเรื่องในหมูบ้าน แต่วิถีชุมชนแยกตัวออกมาต่างหาก ทำอะไรที่เป็นจ๊อบย่อยๆ มากกว่า เช่น ป้ายซอยที่เขียนว่าซอยคอนเซ็ปชัญพวกนี้ก็ทำโดยวิถีชุมชน หรือเรื่องอนุรักษ์เรื่องอาหารนี่ก็ใช่ ที่ทำพวกนี้ก็เพื่อที่จะได้ให้คนภายนอกเข้ามารับรู้ ส่วนสังฆมณฑลคือคนที่บริหารสภาวัดอีกที จะดูโบสถ์คริสต์ทั่วประเทศ แต่ว่าสังฆมณฑลคงไม่ได้เข้ามาบริหารหมู่บ้านนี้อะไรแล้วละ”

ดูเหมือนว่าพี่นุ่นจะรู้จักความเป็นไปต่างๆ ของชุมชนนี้เป็นอย่างดี แล้วก็อย่างที่คาด พี่นุ่นเผยว่าจริงๆ เคยทำงานเป็นกรรมการของสภาวัดแต่ตอนนี้ออกมาแล้ว ก่อนจากกันพี่นุ่นบอกว่าที่นี่เรามีชุมชนชาวคริสต์เหลืออยู่กันแค่ 100 กว่าหลังคาเรือน และจำนวนกำลังลดลงเรื่อยๆ เพราะคนรุ่นใหม่ๆ ก็ย้ายกันออกไป

“เมื่อก่อนเรามีชุมชนที่อยู่ริมน้ำด้วย แต่เนื่องจากนโยบายประเทศ คนพวกนั้นก็เลยต้องย้ายออกไปอยู่ข้างนอก จริงๆ แล้วคนที่เป็นคริสตังในหมู่บ้านสมัยก่อนเขามีบางส่วนอยู่ในแม่น้ำด้วยนะเป็นบ้านเรือ ถ้าเราเดินไปตรงทิศหน้าโบสถ์มันจะเลาะไปถึงศาลาริมแม่น้ำ เป็นศาลาที่ในหลวง ร.9 เคยเสด็จฯ มาด้วย (ศาลารับเสด็จ) แต่ก่อนตอนพี่เด็กๆ ตรงนั้นทั้งซ้ายขวาจะเต็มไปด้วยแพ”

“พี่ยินดีเล่าทั้งหมดนี้เพราะอยากให้คนข้างนอกเข้ามารับรู้ เพราะปัจจุบันหมู่บ้านจะโดนล้อมไปด้วยธุรกิจหมดเลย ธุรกิจโรงเรียน ธุรกิจรีสอร์ต หมู่บ้านมันก็เลยดูแบบเหมือนอยู่ข้างในใจกลาง ไม่ค่อยมีใครรู้จัก”
ผมยกมือไหว้พร้อมกล่าวคำขอบคุณพี่นุ่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าคล้ายเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ… ผมไม่รู้ว่าเพราะไม้กางเขนในสุสานเหล่านั้น เสียงระฆังจากโบสถ์ที่ยังคงก้องกังวานอยู่ในหัว หรือภาพเสาไม้ของบ้านริมแม่น้ำที่ถูกถอดรื้อ ในชั่วขณะจิตนั้นมีความรู้สึกบางอย่างผุดขึ้น เป็นความรู้สึกที่ปนความฉงนสงสัย เป็นคำถามว่าจริงๆ “เราเป็นใคร เรามาจากที่ไหน และบ้านที่แท้จริงของเราอยู่ที่ใดกันแน่”

อ้างอิง

  • www.weforum.org/reports/new-vision-for-education-fostering-social-and-emotional-learning-through-technology
  • http://www.catholichaab.com/main/index.php/1/church7/2/1257-2016-07-15-03-39-19

ณภัทร สงวนแก้ว (ตุ๊ยหนุ่ย)

บุคคลผู้ยอมเขียน ‘คำถาม’ เป็นหน้าๆ โดยหาได้รู้คำตอบแม้ใกล้รุ่งสาง

วัชรวิชญ์ ภู่ดอก

“ชอบทำประเด็นเกี่ยวกับคน คิดว่าคนควรมีสิทธิเท่าเทียมกัน”