จินตพร จันทร์แต่งผล : เรื่อง
ณัฐฐินี ศิริจันทร์ : ภาพ
ผลงานจากค่ายสารดดีครั้งที่ 15
“มีคนจีนที่ไหนต้องมีศาลเจ้าที่นั่น” เป็นคำกล่าวของใครบางคน
“มีศาลเจ้าที่ไหนต้องมีมังกรที่นั่น” เป็นคำกล่าวของเราเอง
ศาลเจ้าจีน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นจีนสกุลไหนหากอพยพย้ายเข้าไปตั้งถิ่นที่ใดก็ต้องมีการสร้างศาลเจ้าที่นั่น แม้ในปัจจุบันศาลเจ้าจีนจะไม่ได้มีบทบาทเหมือนในอดีต แต่สิ่งที่ยังคงดำรงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงคือร่องรอยของวัฒนธรรมความเชื่อที่ยังสะท้อนให้เห็นผ่านงานศิลปะต่างๆ ในศาลเจ้าจีน งานศิลปะเป็นสิ่งที่มีปรากฏทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม มีให้เห็นในศาลเจ้าจีนทุกแห่งในประเทศไทย
ครั้งนี้เรามีโอกาสได้มาเยือน ศาลเจ้าแม่ทับทิม หรือภาษาจีนเรียกว่า ศาลเจ้าจุ้ยโบเนี้ยว ศาลเจ้าของชาวจีนไหหลำที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ เชิงสะพานกรุงธนบุรี (ซังฮี้) ฝั่งพระนคร เจ้าแม่ทับทิมเป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนไหหลำนับถือเป็นอย่างมาก มีหลักฐานว่าศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2384 (สมัยรัชกาลที่ 3) โดยพ่อค้าชาวจีน
หลายคนมาที่ศาลเจ้าก็เพื่อมาหาที่พึ่งทางใจ ผู้คนที่เดินทางเข้ามาต่างมาด้วยใจที่ไม่สิ้นหวัง ส่วนใหญ่จะเป็นคนสูงอายุและวัยกลางคนพาลูกหลานเข้ามากราบไหว้เจ้าแม่ทับทิม บางคนมาไหว้ บางคนก็มาขอพรจากเจ้าแม่ทับทิม
บรรยากาศโดยรอบเต็มไปด้วยความเงียบสงบไม่ได้คึกคักเหมือนในอดีต ค่อยๆ เดิน มองดูรายละเอียดของงานศิลปะที่มีอยู่รอบศาลเจ้า แล้วนั่งอยู่บริเวณหน้าร้านขายขนมจีนไหหลำหน้าศาลเจ้า เพ่งมองสิ่งต่างๆ รอบศาลเจ้าแม่ทับทิม สายตาก็ไปสะดุดกับงานรูปปั้นมังกรสองตัวที่พันอยู่กับเสาประตูซ้ายขวาหน้าทางเข้าศาลเจ้า เงยหน้ามองขึ้นไปบนหลังคาก็ยังเห็นมังกรตัว มองแล้วก็เกิดความสงสัยว่า มังกร มีความสำคัญกับศาลเจ้าจีนอย่างไร ทำไมถึงมีปรากฏให้เห็นบริเวณจุดสำคัญในศาลเจ้า อาทิ เสา ประตูต่างๆ และหลังคา นอกจากมังกรแล้วเรายังสังเกตเห็นกำแพงหน้าต่างข้างประตูทางเข้ามีประติมากรรมแกะสลักรูปหงส์อยู่ทั้งสองด้าน ยิ่งพินิจพิจารณาศิลปะรูปสัตว์เหล่านี้คงไม่ใช่เพียงสัตว์ของตกแต่งประจำศาลเจ้า
“มังกร” และ “หงส์” ในศาลเจ้าจีนไม่ใช่เพียงเพื่อความสวยงาม
“ไม่ใช่เป็นเพียงภาพจิตรกรรมทั่วไปหรอก แต่ภาพสัตว์เหล่านี้มีความหมาย เพราะเป็นสัตว์มงคลตามคติความเชื่อของชาวจีน จึงนำมาไว้ที่นี่เพื่อความเป็นสิริมงคล” รวีชาติ เหลืองวิถี (โกตี๋) เจ้าของคณะงิ้วนำศิลป์และผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิม กล่าว
การประดับตกแต่งศาลเจ้าด้วยสัญลักษณ์มงคล มังกร ถือเป็นสัตว์มงคลที่มีความสำคัญมากที่สุด ตามความเชื่อของชาวจีนมังกรเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ สามารถกันไฟได้ และเมื่อใช้มังกรกับไข่มุกไฟคู่กันก็ทำให้เกิดความสมบูรณ์ของพลังหยิน-หยาง ซึ่งการนำสัญลักษณ์มังกรมาใช้ในศาลเจ้าจึงมีความเกี่ยวข้องกับธาตุทั้งห้า คือ ทอง น้ำ ไม้ ไฟ และดิน (รูปแบบศิลปกรรมที่ปรากฏในศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร : 2556)
มังกรจีนกำเนิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพระเจ้าอึ่งตี่หรือหวงตี้ โดยทรงมีพระราชประสงค์ในการสร้างมังกร เพื่อให้เป็นเครื่องหมายประจำชาติ ด้วยการนำเอาสัญลักษณ์ของกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ภายในประเทศจีนขณะนั้นมาผสมกัน (มหาวิทยาลัยศิลปากร : 2547)
มังกรในความเชื่อของชาวจีน มักได้รับการกล่าวขานในแง่ของความเป็นมิตรมากกว่าความร้ายกาจ และถูกยกให้เป็นสัญลักษณ์ที่นำมาซึ่งความสุขและความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง มังกรในความเชื่อของจีนสามารถพบได้ในแม่น้ำและทะเลสาบ ชอบที่จะอยู่ท่ามกลางสายฝน ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้างกฎแห่งความใจบุญ และเป็นสิ่งที่เสริมสร้างความมั่นใจ ความเชื่อมั่นให้แก่กษัตริย์ และมังกรจักรพรรดินั้นจะพิเศษกว่ามังกรโดยทั่วไป นั่นคือมันจะมีห้าเล็บ (ศิลปะในบางกอก : 2514)
ลักษณะและรูปร่างของมังกรจีนเป็นการผสมผสานอวัยวะของสัตว์หลายชนิดมารวมกันเป็นมังกร ตามตำนาน มังกรเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีหัวคล้ายอูฐ เขาคล้ายเขากวาง ดวงตาคล้ายดวงตากระต่ายป่า หูคล้ายหูวัว ปีกคล้ายนกอินทรี ลำคอยาวคล้ายงู ท้องคล้ายกบหรือหอยกาบ เกล็ดเหมือนปลาคาร์พ รูปร่างคล้ายกับปลาตัวใหญ่ เท้าคล้ายกับเท้าเสือ มีเขี้ยวขนาดใหญ่หนึ่งคู่อยู่ที่ขากรรไกรบน หนวดยาวเหมือนไม้เลื้อย แผงคอเหมือนสิงโต มีเกล็ด 117 แผ่น เขามีสันหลังทอดยาวไปตามหลังและหางเป็นหนามยาวไปตามหลังและหางเป็นหนามยาวและสั้นสลับกัน มีโหนกอยู่บนหัวไว้สำหรับบิน สีของมังกรจีนมีหลายสี ตั้งแต่แกมเขียวจนถึงทองหรือบางแหล่งก็ว่ามังกรจีนมีสีน้ำเงิน ดำ ขาว แดง เขียว และเหลือง (มหาวิทยาลัยศิลปากร : 2547)
จากสัตว์ในเทพนิยาย กลายเป็นสัตว์ชั้นเทพ สัญลักษณ์ที่เป็นสิริมงคลแก่ชาวจีนมาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่ไม่ใช่มังกรทุกสีจะถูกนำมาใช้ในศาลเจ้า สำหรับประติมากรรมมังกรจีนในศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่ปรากฏให้เห็นตามจุดต่างๆ มังกรคู่ประตูด้านหน้าทางทิศตะวันตกฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา มังกรคู่ชูพระอาทิตย์ หรือมุกอัคนีสันหลังคา มังกรคู่พันเสาหน้าศาลเจ้า มังกรยักษ์พันเสาสูงตระหง่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา และภาพจิตรกรรมมังกร ส่วนใหญ่พบว่าเป็นมังกรสีเขียว และสีทอง
ดนัย ผลึกมณฑล ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษาได้บอกเล่าถึงความหมายของมังกรสีเขียวไว้ว่า
“มังกรชนิดหนึ่งอยู่ในกลุ่มสัตว์มงคลของธาตุห้าประการ ท่านว่า มังกรตะวันออกเป็นมังกรธาตุไม้ หมายถึงความเจริญงอกงาม อีกทั้งมีความเชื่อว่า มังกรตะวันออกเป็นมังกรให้น้ำ ที่เป็นปัจจัยสำคัญของสังคมเกษตรกรรม ดังนั้นมังกรตะวันออกจึงเป็นมังกรที่ได้รับการกราบไหว้บูชา เพื่อขอฝน ขอให้บันดาลความมั่งมีโชคลาภของพวกพ่อค้า
“สัญลักษณ์ของมังกรตะวันออก คือ ตัวมีสีน้ำเงินอ่อน หรือ เขียว ที่ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียก แชเล้ง ที่ท่านมักจะวาด หรือ ทำเขาของมังกรเป็นแขนงของกิ่งไผ่หรือกิ่งไม้ โดยมีสำนวนว่า แชเล้งเต็กกัก (มังกรเขียว เขาไม้ไผ่) มังกรที่ตั้งบนหิ้งบูชาในศาลเจ้าหลายแห่งในบ้านเรา ท่านทำเขาเป็นกิ่งไผ่ ที่น้อยคนนักจะไปเพ่งสังเกต”
คนจีนสมัยโบราณมีความเชื่อว่าจักรวาลที่สรรพสิ่งอาศัยอยู่นี้เป็นศูนย์กลางมีจักรวาลอื่นอีกสี่ จักรวาลล้อมรอบอยู่ทางทิศต่างๆ เรียกว่า “สี ลิ่ว” หมายถึง สัตว์ทั้งสี่ในเทพโบราณ ได้แก่ เต่าดำ หงส์แดง เสือขาว และ มังกรเขียว ซึ่งมังกรเขียวจะแทนทิศตะวันออก หมายถึงบริวารทางด้านวิชาการ หรือเรียกว่า ฝ่ายบุ๋น (เปรียบเสมือน หยาง) คือ เกียรติยศ ชื่อเสียง และความเจริญรุ่งเรือง
เพราะมังกรไม่ใช่เป็นเพียงสัตว์สามัญธรรมดา และในศาลเจ้าไม่ได้มีแค่เทพเจ้า แต่ยังมีความเชื่อมรดกที่สืบทอดกันมาอย่างศิลปะมังกรในศาลเจ้าจีน แม้ในปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงไปของยุคสมัยจะมีผลทำให้คนจีนน้อยคนนักที่จะรู้เรื่องราวความสำคัญของมังกรในแบบที่คนในอดีตยึดถือปฏิบัติมา
มรดกความเชื่อนี้อาจค่อยๆ จางหายไป มังกรกับศาลเจ้าบางแห่งออกแบบผิดเพี้ยนไปจากในอดีต หากขาดผู้รู้ มังกรก็อาจเป็นเพียงสัตว์ประดับตกแต่งในศาลเจ้าเพียงเท่านั้น
จินตพร จันทร์แต่งผล
ณัฐฐินี ศิริจันทร์