จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ : เรื่อง
ขวัญชนก ฉัตรสีรุ้ง : ภาพ
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 15
คลื่นลมโบกโชยในย่ามบ่ายอันอ่อนล้า…เมื่อล่องเรือโดยสารลำโตเครื่องยนต์เสียงดังกึกก้องทั่วท้องน้ำสองฟากฝั่งเจ้าพระยาพบศาลเจ้าสีแดงตั้งเด่นตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาปลุกจิตใจให้สดชื่นอีกครั้ง สุภัทรา โยธินศิริกุล กล่าวใน “สิริมงคลจีนกับความเชื่อตามศาสตร์ฮวงจุ้ยของชาวไทยเชื้อสายจีน…”ตอนหนึ่งว่า “สีแดงเป็นสีของหยางทำให้เกิดความโชคดีอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หมายถึงความสุข ความเจริญรุ่งเรือง ไฟ และความอบอุ่น คนจีนเชื่อว่าสีแดงเป็นสีแห่งความเป็นสิริมงคลและยังสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้”
ตามประวัติเล่าว่าศาลเจ้าแห่งนี้เป็นศาลเจ้าแม่ทับทิมที่เก่าแก่ที่สุดในรัตนโกสินทร์ ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ยืนยันความเก่าแก่ของศาลเจ้าแห่งนี้ว่า “ศาลเจ้าแห่งนี้เก่าแก่ที่สุดในย่านสามเสนไปจนถึงบางโพ พร้อมพบป้ายจารึกศักราช ปี พ.ศ.2384 จึงสันนิษฐานว่าศาลเจ้าแห่งนี้น่าจะสร้างมาช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 หรือในราวสมัยรัชกาลที่ 3”
สำหรับคนนอกวัฒนธรรมอาจจะเป็นเรื่องยากในการจำแนกกลุ่มคนจีนที่ผสมกลมกลืนกับกลุ่มอื่นในสังคมไทยตอนนี้ ฮ.ศุภวุฒิ ได้ชี้ให้เห็นความแตกต่างของกลุ่มคนจีนไหหลำจากจีนกลุ่มอื่นว่า “จีนไหหลำเป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาไหหน่ำอวย หรือเรียกอีกอย่างเข่งบุ่น ส่วนใหญ่แล้วมาจากเมืองบุ่ยเซียว ไฮ้เข่า…”
จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชุมชนปากน้ำประแสที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของที่นี่เป็นคนจีนไหหลำปะปนกับคนแต้จิ๋ว พบว่าคนจีนไหหลำส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงและเป็นนักเดินเรือ ส่วนคนแต้จิ๋วนั้นถนัดเรื่องการค้าขายมากกว่าอาชีพอื่นๆ ว่ากันว่าคนจีนแต่ละกลุ่มมีลักษณะเฉพาะอย่างที่ รวีชาติ เหลืองรวี หรือโกตี๋ นักแสดงงิ้วไหหลำมืออาชีพและผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมสามเสนเล่าว่า “ชาวไหหลำหาปลาเก่งและส่วนใหญ่มักจะอยู่ริมน้ำเพื่อทำประมง ศาลเจ้าแม่ทับทิมตามที่ต่างๆ จึงมักปรากฏอยู่ริมน้ำ
“เพื่อคุ้มครองชาวเรือ อย่างที่ชาวจีนไหหลำเชื่อกัน”
ย่างเท้าเข้ามาเรื่อยๆ พบบรรยากาศของผู้มากราบไหว้สักการะขอพรจากเจ้าแม่ทับทิมอย่างคึกคัก มีร้านขายขนมอยู่สองฝั่งซ้ายขวาของประตูศาลราวกับว่าเป็นทวารบาลคู่บารมีของศาลอย่างไรอย่างนั้น พร้อมร้องเรียกแขกไปไทยมาที่มาไหว้เจ้าแม่
“ซื้อของไหว้ไหมคะ ไหว้เจ้าแม่ค่ะ”
ในร้านมีแต่ของกินเต็มโต๊ะไปหมด ทั้งบ๊ะจ่าง ขนมบั๊วะจินเด ซาลาเปาทอด หมี่หวาน เราก็พึมพำกับตัวเองในใจว่าเขามาขายอะไรกันตรงหน้าประตูนี้ พอเข้าไปภายในศาลปรากฏว่าขนมทุกอย่างที่มีอยู่ข้างนอกนั้นคือขนมที่ใช้ไหว้เจ้าแม่ทับทิม
น้าปูด หรือ ธารา ผโลดม หนึ่งในผู้ดูแลศาลเจ้ามาหลายทศวรรษเล่าว่า “การไหว้เจ้าแม่มักไหว้ด้วยของหวาน ขนม หรือผลไม้ เพราะเจ้าแม่กินเจ…” พร้อมอนุญาตให้เราชิมขนมที่ผ่านพิธีกรรมการไหว้เจ้าแม่แล้วได้ตามสบาย เราก็มัวแต่เคอะเขินกลัวๆ กล้าๆ จึงไม่มีใครกล้าลองชิมดูในตอนนั้น
โกตี๋เข้ามาเสริมอีกว่า “ขนมที่เห็นอยู่กองใหญ่ต่อหน้านี้ที่ศาลอื่นไม่มีนะ ต้องที่นี่ที่เดียวและเป็นสูตรดั้งเดิมจากไหหลำที่ขายอยู่ที่นี่มานาน หลักๆ คือขนมบั๊วะ หรือขนมเข่งไหหลำแบบมีไส้ ขนมจินเด ขนมบิโฮะหรือซาลาเปาทอด และบ๊ะจ่าง”
ของไหว้เจ้าแม่ทับทิม เทพเจ้าแห่งสายน้ำ
การไหว้ศาลเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันอยู่เหนือธรรมชาติในแต่ละแห่งล้วนแต่มีความแตกต่างตามภูมิหลังของตำนานที่เล่าขานของความเชื่อที่มีต่อสิ่งนั้น เจ้าแม่ทับทิมคือเทพเจ้าแห่งสายน้ำที่ชาวเรือจากแดนไกลเคารพบูชามาแต่ครั้งบรรพบุรุษ
โกตี๋เล่าถึงตำนานมุขปาฐะที่ตนได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็กถึงความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ที่มีต่อสายน้ำเจ้าพระยาและผู้คนโดยเฉพาะกลุ่มคนจีนไหหลำที่ตั้งรกรากในละแวกนี้ว่า “มีชาวประมงหาปลาที่หาเท่าไหร่ก็ไม่ได้สักที เจอแต่ท่อนไม้ท่อนหนึ่งอยู่หลายรอบ กระทั่งกล่าวทีเล่นทีจริงไปว่าหากท่อนไม้นี้ศักดิ์สิทธิ์จริงละก็…ขอให้ได้ปลาเยอะๆ และโชคดีร่ำรวย จะนำไม้ท่อนนี้มาแกะสลักเป็นรูปเจ้าแม่ให้คนบูชา ไม่นานพรนั้นก็เป็นจริง แต่ชาวเรือละเลยที่จะทำตามสัญญา เจ้าแม่จึงไปเข้าฝันทวงขอคำสัตย์ที่ได้ให้ไว้ จึงเกิดเป็นศาลเจ้าแม่ทับทิมนี้ขึ้นมา”
จากนั้นศาลเจ้าแม่ทับทิมจึงเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางน้ำ เป็นสิ่งมงคลที่เชื่อว่าจะเสริมความร่ำรวย รุ่งโรจน์สำหรับคนที่มาขอพรกับท่าน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปชาวบ้านไม่ได้หาอยู่หากินอย่างก่อน อาชีพหลากหลายมากขึ้น ศาลเจ้าแม่ทับทิม เทพเจ้าแห่งน้ำนี้จึงมีบทบาทใหม่สำหรับผู้ประกอบการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตามสมัยนิยม หากสังเกตโดยรอบศาลจะพบว่ามีเครื่องสำอางและกระจกเต็มไปหมด เป็นผลอันเนื่องมาจากผู้ประกอบการเครื่องสำอางมาไหว้แล้วพรนั้นเป็นผลสำเร็จจึงมาแก้บน คนอื่นๆ เห็นจึงทำตามสืบทอดกันมาเรื่อยๆ
ได้ยินเสียงกระซิบของน้าปูดและโกตี๋บอกกับเราว่า “ที่นี่ขอลูกกับความรักก็เป็นผลดีนะ…” พร้อมบอกเคล็ดลับว่าต้องไหว้เจ้าแม่ด้วยของโปรดท่าน คือแพะตุ๋นยาจีนและห่าน ในช่วงเฉพาะวันเกิดเจ้าแม่คือช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือปีนี้ตรงกับวันลอยกระทงพอดี มีงิ้วไหหลำให้ดูอย่างคึกคักสนุกสนาน หรือหากจะไหว้ในวันธรรมดาก็อาจจะเป็นขนมหรือดอกไม้ก็ได้ จากการสังเกตเห็นหนุ่มสาววัย 20-30 มาไหว้อย่างไม่ขาดสาย ในมือมีดอกไม้และขนมชุดของไหว้อยู่คนละชุด จึงเปลี่ยนความคิดที่ติดภาพที่ว่าการไปวัด ไปศาลเจ้าต้องมีแต่คนแก่ แต่ตอนนี้พบว่าเด็กและหนุ่มสาวรุ่นราวคราวเดียวกับเราเข้ามาเป็นจำนวนมาก
หลายคนเมื่อไปศาลเจ้าอาจจะงงว่าควรทำสิ่งใดก่อนเพราะทั่วทั้งศาลล้วนมีความหมายสำหรับคนที่มาไหว้ การไหว้เจ้าในศาลเจ้าจีนจะสัมฤทธิผลอย่างใจต้องการนั้นเชื่อว่าต้องไหว้ให้ถูกวิธี คือต้องไหว้ทีละจุดและไล่ตามลำดับของเทพเจ้า ซึ่งในศาลจะมีป้ายกำกับให้ผู้ไหว้รู้ว่าจุดไหว้ที่หนึ่ง จุดไหว้ที่สอง สาม สี่ ฯลฯ
หลักการก็คือให้ไหว้ “ทีกง” หรือ “เทพฟ้าดิน” ก่อน เพราะถือว่าท่านเป็นใหญ่ที่สุด ถือเป็นพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดตัวเราและสรรพสิ่งในโลกเป็นแห่งแรก จากนั้นแล้วค่อยไหว้เจ้าเสาทีกง บางทีเรียกว่า “เสามังกร” หรือ “เสาทีกงเต็ง” แล้วเคลื่อนย้ายไปตามจุดสำคัญต่างๆ ในศาลเจ้า
เทพต่างๆ ใช้จำนวนธูปแตกต่างกัน การไหว้ศาลเจ้าหากเป็นการไหว้ฟ้าดินหน้าประตูใช้ 1 ดอก ไหว้เจ้าที่ใช้ 5 ดอก ส่วนเทพเจ้าด้านในศาลต่างๆ ใช้ 3 ดอก เป็นต้น นอกจากนั้นรายละเอียดของสีก็เป็นสิ่งที่มองข้ามผ่านไปไม่ได้ สีของธูปก็เป็นเรื่องของคนช่างไหว้ที่พิถีพิถัน คิดสรรให้สอดคล้องกับเทพ เช่น ไหว้พระก็ใช้ธูปสีปกติที่เทียบได้ว่าเป็นธูปสีทอง คนจีนชอบสีแดงก็นิยมใช้ธูปแดงในงานแต่งงาน เป็นต้น
ขนมแห่งศรัทธา
บรรยากาศศาลเจ้าอบอวลไปด้วยกลิ่นธูปและแสงเทียนอันส่องสว่าง แสงแดดรำไรทะลุผ่านช่องลมที่ถูกฉลุด้วยศิลปะจีนไหหลำอย่างอ่อนช้อยสวยงาม คุณลุงคุณป้าเดินวนเวียนไปมา ท่ามกลางเสียงสนทนาภาษาไหหลำที่ฟังไม่ออก ผู้เขียนจึงเดินออกไปพบกับพี่วา แซ่อุ่น หญิงวัย 35 เล่าว่าตนนั้นมาจากเมืองจีนไหหลำอันห่างไกลเพื่อมาค้าขายแสวงโชคที่เมืองไทยแห่งนี้ตั้งแต่เด็กโดยการเดินตามเส้นทางที่คุณย่าได้นำทางมา พี่วาเป็นแม่ค้าขายขนมหน้าศาลเจ้าที่ใครต่อใครก็มาซื้อไปไหว้เจ้าแม่ เจ้าของเสียงหวานที่เชื้อเชิญคนมาซื้อของไหว้นั่นแล
พี่วากล่าวต่อว่าตนเป็นชาวจีนแท้ๆ มาจากไหหลำมาอยู่ที่บางโพ แล้วช่วงกลางวันมาขายขนมที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมนี้ซึ่งมาแทนตำแหน่งของคุณย่าที่ขายมายาวนานหลายสิบปีที่เพิ่งจะวางมือไปไม่นาน ส่วนตนนั้นมานั่งตรงนี้ได้ 10 กว่าปีแล้ว และกลับไปเมืองจีนบ้างนานๆ ครั้งเพราะต้องไปเยี่ยมพ่อแม่ที่ยังอยู่ที่นั่น ส่วนตัวพี่วามีสามีซึ่งมาจากบ้านเดิมถิ่นเดียวกัน แต่งงานมีลูกแล้วตั้งถิ่นฐานกันที่บางโพซึ่งเป็นแหล่งชาวไหหลำแห่งใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
หญิงสาววัยกลางคนผู้หนึ่งยื่นเงินให้พี่วาค่าขนม เธอรีบจัดแจงใส่จานอย่างเร็วไว ในจานนั้นมีซาลาเปาทอดโรยงา ที่ออกเสียงภาษาไหหลำอย่างโกตี๋ที่ผู้เขียนพอจับความได้ว่า “บิโฮะ” ต่อมาเป็นขนมที่มีลักษณะเผินๆ คล้ายกันจนแทบแยกไม่ออกคือจินเดและบั๊วะ หรือขนมเข่งไหหลำที่สอดไส้มะพร้าวอ่อนหอมๆ ละมุนลิ้น สูตรไหหลำแท้ๆ ที่คุณย่าส่งทอดให้กับพี่วาขนมไหว้เหล่านี้ไม่ได้มีขึ้นมาลอยๆ ตามตำนานเล่าว่า “จินเด” ในภาษาไหหลำ หรือ “อิ่วตุ่ย” ในภาษาแต้จิ๋ว หมายถึงถุงอัญมณี ทำมาจากแป้งข้าวเหนียวทอดยัดไส้ต่างๆ คลุกด้วยงา รสชาติหวานนุ่ม ฮ. ศุภวุฒิ จันทสาโร กล่าวถึงที่มาว่า “เดิมนั้นจินเดเป็นอาหารชาววังในสมัยราชวงศ์ถัง ต่อมามีการอพยพย้ายถิ่นลงใต้ อาหารชนิดนี้ก็ได้แพร่หลายตามมาด้วย ซึ่งชาวจีนบนเกาะไหหลำใช้จินเดสักการะเทพเจ้าในเทศกาลหยวนเซียว (เทศกาลโคมไฟ) และเทศกาลกุนพอ คือทุกวันที่ 15 เดือนยี่ ตามปฏิทินจันทรคติจีน ต้องทำลูกใหญ่ขนาดพอๆ กับลูกบาสเกตบอลเพื่อให้เทพเจ้าโปรด” ต่อมาคือบั๊วะ หรือคนไทยรู้จักดีในนาม “ขนมเข่งไหหลำ” เพราะจะต่างจากขนมเข่งทั่วไปคือมีการยัดไส้ ซึ่งมาจากคำว่า “อี่บั๊วะ” หมายถึงความคนึงหา เป็นขนมที่หาทานยากในปัจจุบัน และซาลาเปาทอดคลุกงาหอมๆ เป็นลูกกลมๆ ขนาดเท่าๆ กับจินเด แต่หากมองในรายละเอียดแล้วค่อนข้างจะแตกต่าง เพราะมีเนื้อแน่นกว่า ไม่มีไส้ รสชาติไม่หวานมาก เหมาะกับคนที่ไม่ชอบรับประทานหวานจัด
การทำขนมเป็นสิ่งพิถีพิถันพอสมควร พี่วาเรียนรู้จากคุณย่าของเขามาเป็นเวลากว่า 10 ปี จนตอนนี้มีผู้ติดใจซื้อกลับบ้านด้วย หรือตั้งใจจะมาซื้อขนมของพี่วาโดยตรง อย่างไรเสียความมีสำนึกร่วมทางชาติพันธุ์ได้นำพาคนที่ห่างไกลมาพบกันโดยมีศาลเจ้าแห่งศรัทธานี้เป็นศูนย์กลาง คนไทยอีสานอย่างเราจึงมีโอกาสได้รู้จักขนมอร่อยๆ นี้จากการที่คนนำมาไหว้เจ้าแม่อย่างไม่ขาดสาย ส่งอานิสงส์ไปยังผู้ผลิตมีกำลังแรงใจผลิตและสืบทอดกรรมวิธีของบรรพบุรุษให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานสืบไป “อยากกินต้องมาที่นี่ ศาลอื่นไม่มี เพราะเป็นขนมที่ไหว้เจ้าแม่” พี่วากล่าวด้วยอารมณ์เบิกบาน
อ้างอิง
- เนตรนภา แก้วแสงธรรม ยาเนซโกวา. ไหว้เทพเจ้า 9 ศาลจีนมงคล. กรุงเทพฯ : อมรินทร์. ๒๕๕๔, หน้า ๑๘-๒๕.
- สุภัทรา โยธินศิริกุล. สิริมงคลจีนกับความเชื่อตามศาสตร์ฮวงจุ้ยของชาวไทยเชื้อสายจีนในชุมชนเยาวราช.วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 38 ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2556.
- อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช. ชวนเดินสายเยือน-คารวะ “ศาลเจ้า-ศาลจีน” ในบางกอก กับ ‘มติชนอคาเดมี’. https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_845798
- ฮ. ศุภวุฒิ จันทสาโร. หอเจี๊ยตึ้ง : ตำนานอาหารจีน. กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป, ๒๕๖๐.
ขอขอบคุณ
คุณรวีชาติ เหลืองรวี คุณธารา ผโลดม และคุณวา แซ่อุ่น
แหวน – จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ (นักเขียน)
ชอบเดินเที่ยวตามตรอก แล้วพาตัวเองออกไปยังโลกที่ค่อยๆ กว้างขึ้น
น้องวุ้น ขวัญชนก ฉัตรสีรุ้ง (ช่างภาพ)
ช่างภาพที่มักจะพาตัวเองไปนั่งดูหนังคนเดียวในโรงหนังและออกมาเขียนรีวิวเงียบๆให้ตัวเองอ่าน