จิดาภา เนาสราญวงศ์ : เรื่อง
อกาลิโก นาคทองคง : ภาพ
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 15

โบสถ์ ศูนย์รวมจิตใจของคนไทยในชุมชนย่านสามเสน ที่แฝงตัวอยู่กับความเรียบง่ายของชุมชนได้อย่างน่าอัศจรรย์

หากพูดถึง “สามเสน” แล้วคุณนึกถึงอะไร?

สำหรับเราคงนึกถึงโรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ เพราะเป็นสถานที่คุ้นเคย สมัยประถมฯ เคยเรียนที่นั่น แล้วถ้าถามว่าแถวนั้นมีอะไรอร่อย เราคงตอบทันทีว่าร้านเมตตาหมูทอด จำได้ว่าสมัยเด็กกินบ่อยมาก เราชอบข้าวเหนียวร้านนี้มาก มีให้เลือกหลายแบบ แถมกินแล้วไม่ติดมือ แต่ถ้าให้พูดถึง “ชุมชนสามเสน” เราแทบไม่รู้จักอะไรเลย รู้แค่ว่าตรงนี้คือที่ไหน แต่ไม่เคยเดินเข้าไปในชุมชนเลย เหมือนเราแค่มาเรียนแล้วกลับบ้านเท่านั้น
การที่ค่ายสารคดีเลือกมาลงพื้นที่ที่ “ชุมชนสามเสน” ทำให้เราได้รู้จักกับสามเสนในมุมที่กว้างขึ้น เหมือนได้พบว่าอันที่จริงแล้วชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนหนึ่งที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่ามากมาย

รอยยิ้มกินใจ บ่งบอกถึงความสุขเอ่อล้นที่พร้อมส่งต่อให้กับผู้บริโภค

ชุมชนสามเสนมีอะไร

จากการค้นหาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับชุมชนสามเสน พบว่าชุมชนสามเสนเป็นชุมชนเก่าแก่มีผู้คนอาศัยมาอย่างยาวนานประมาณ 400-500 ปี ซึ่งมีผู้คนหลายชาติเข้ามาอาศัยอยู่ ถ้าพูดถึงชุมชนสามเสนแล้วหลายคนอาจจะนึกถึงชาวญวน แต่ความจริงแล้วชุมชนแห่งนี้ประกอบไปด้วยกลุ่มคน 4 กลุ่ม ได้แก่ ชาวเขมร ชาวญวน ชาวไทย และชาวจีน
เดิมทีชาติแรกที่เข้ามาคือโปรตุเกส โดยเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพื่อค้าขายและเผยแพร่ศาสนา แต่กลุ่มคนชาติแรกที่เข้ามาอาศัยคือชาวเขมร เข้ามาช่วงที่อยุธยากับเขมรทำสงครามกัน โดยอาศัยบริเวณแถววัดแม่พระปฏิสนธินิรมล หรือวัดคอนเซ็ปชัญ จึงถูกเรียกว่า “วัดเขมร” และหมู่บ้านที่อยู่รอบวัดเรียกว่า “บ้านเขมร”
ส่วนชาวญวนเริ่มเข้ามาอาศัยที่ชุมชนสามเสนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ช่วงแรกหนีจากภัยบ้านเมืองเข้ามาอาศัยบริเวณเดียวกับชาวเขมร ต่อมาคนเริ่มหนีมามากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้คริสตังชาวญวนประมาณ 1,500 คน อาศัยอยู่บริเวณริมวัดส้มเกลี้ยง เหนือบ้านเขมร จึงเกิดวัดเซนต์ฟรังซิสชาเวียร์ซึ่งถูกเรียกว่า “วัดญวน” และหมู่บ้านโดยรอบเรียกว่า “บ้านญวน”
กลุ่มคนกลุ่มที่ 3 คือชุมชนชาวน้ำซึ่งเป็นชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธได้มาขอจอดเรือแถวบ้านญวน เรียกว่าชุมชนมิตรคาม ซึ่งทอดยาวไปถึงแถววัดราชาธิวาส
กลุ่มคนสุดท้ายคือชาวจีนไหหลํา จะอยู่บริเวณสะพานกรุงธน (ซังฮี้) เรียกว่าชุมชนราชผาทับทิม ซึ่งมีศาลเจ้าแม่ทับทิมอยู่บริเวณนี้ แม้ชุมชนสามเสนจะเป็นเพียงชุมชนขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ภายในชุมชนแห่งนี้เป็นอีกหนึ่
ชุมชนที่แฝงไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม

“ปากิมปลา” อาหารคาวที่ไม่คาว

ตอนเช้า ณ วัดคอนเซ็ปชัญ

วัดคอนเซ็ปชัญคือสถานที่นัดพบของค่ายสารคดี เรารู้สึกว่าทางไปวัดค่อนข้างซับซ้อน ต้องเข้าตรอกซอยเล็กๆ หลายซอยกว่าจะถึงจนเกือบหลงทางต้องถามทางชาวบ้านแถวนั้น แต่มันมีสัญญาณหนึ่งบอกว่าเราใกล้ถึงที่หมายแล้วคือเสียงเพลงบทสวดมนต์ของศาสนาคริสต์ จึงเดินตามเสียงเพลงนั้นเข้ามา พอไปถึงก็เจอเพื่อนในค่ายนั่งคุยอยู่กับคุณลุงประสงค์ซึ่งเป็นคนดูแลวัดนี้จึงไปร่วมในบทสนทนานี้ด้วย

ได้นั่งฟังคุณลุงเล่าเกี่ยวกับศาสนาคริสต์และพิธีกรรมต่างๆ ที่บางอย่างเราพอรู้จากการที่เคยเรียนโรงเรียนคริสต์มาก่อน เช่น ขนมปังแทนพระกายของพระเยซู ส่วนเหล้าองุ่นแทนพระโลหิต มีการสารภาพบาปสำหรับชาวคริสต์ แต่ที่เราเพิ่งเคยรู้คือ สำหรับคนเปลี่ยนศาสนา ไม่ใช่ว่าใครก็สามารถเปลี่ยนได้เลย ต้องศึกษาคำสอนตามคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ก่อนถึงจะเปลี่ยนศาสนาได้ และได้เข้าชมในโบสถ์ก่อนจะเริ่มพิธี ภายในโบสถ์พบได้ถึงความเงียบสงบ เจอคุณป้าที่กำลังนั่งขอพรจากพระเจ้า และภาพที่น่ารักที่เราชอบ คือมีลูกชายพาคุณแม่มาเข้าโบสถ์ เป็นอะไรที่เห็นแล้วรู้สึกอบอุ่นหัวใจมากเลย

เดินสำรวจ ณ ตลาดบ้านญวน ซอยสามเสน 13

หลังจากเจอกันที่จุดนัดพบแล้ว ทางค่ายสารคดีได้แบ่งเป็น 3 กลุ่มเพื่อสำรวจลงพื้นที่ต่างๆ โดยแต่ละกลุ่มได้ไปสถานที่ต่างกัน กลุ่มเราได้ไปสำรวจที่ตลาดบ้านญวนและชุมชนนักประดาน้ำ เป็นอะไรที่เราชอบมาก เพราะชอบกินและเชื่ออีกหนึ่งอย่างว่าเราสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมบางอย่างได้จากอาหาร ในอาหารเวียดนามก็เช่นกัน ได้เรียนรู้ว่าคนเวียดนามชอบกินผัก เพราะอาหารเวียดนามมักมีผักมาให้ด้วยเสมอ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นผักสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมแรง เช่น ผักแพว สะระแหน่ ผักชีลาว โหระพา เป็นต้น และสิ่งที่ขาดไม่ได้ในอาหารเวียดนามคือน้ำจิ้ม มักจะมีน้ำปลา ไม่ก็น้ำกะปิเป็นตัวปรุงรสเค็ม และเวียดนามได้รับวัฒนธรรมบางส่วนมาจากจีน เพราะมีเมนูที่ทำมาจากเส้นเยอะ เช่นกวยจั๊บญวน (จ๋าวแก๊น) เป็นต้น

ตลาดบ้านญวนเป็นตลาดเล็กๆ ประจำชุมชนแห่งนี้ ตั้งอยู่บริเวณซอยสามเสน 13 โดยจะมีทุกวันตอนเช้าตั้งแต่เวลา 06.00–09.00 น. แต่เราไปเดินสำรวจกันตอนตลาดวายแล้ว มีโอกาสได้คุยกับป้าฝ้าย(มยุรี พรมปู่) ซึ่งคุณป้าขายปากหม้อญวน (บั๋นก๋วน) มาเป็นเวลา 39 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังขายเปาะเปี๊ยะสด (ไบ๋ก๋วน) เปาะเปี๊ยะทอด (จ่าหย่อ) และไส้กรอกเลือด (โย่ย) ที่ทำขายเฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้น และคุยกับป้าสายใจ (สายใจ ค่อยประเสริฐ) ที่ขายปากิมปลาอยู่ท้ายซอย

อาจสงสัยว่าปากิมปลาคืออะไร มันคล้ายกวยจั๊บญวน คือใช้เส้นแบบเดียวกัน แต่ที่ต่างคือใช้เนื้อปลาช่อนแทน และเพิ่มความอร่อยด้วยการบีบมะนาวลงไป
จากการที่ได้คุยกับคุณป้าทั้งสองเราได้ความรู้เกี่ยวกับอาหารมากมาย และสิ่งที่พูดคล้ายๆ กันคือ “ความสุขของป้าคือการได้ทำอาหารแล้วคนมาทานชมว่าอร่อย”
เราสัมผัสได้ถึงความสุขของคุณป้าทั้งสอง เพราะแกพูดพร้อมทั้งรอยยิ้ม

ดำดิ่งหาสมบัติจากสัญชาตญาณ ผ่านประสบการณ์ที่บรรพบุรุษสั่งสมมา ถ่ายทอดผ่านดีเอ็นเอจากรุ่นสู่รุ่น

นักชำนาญการข้างแม่น้ำ

เราเดินกันมาเกือบสุดซอยเพื่อพบชุมชนมิตรคามที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งหลายคนในชุมชนประกอบอาชีพนักประดาน้ำเก็บของเก่า ซึ่งเป็นอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจไม่ใช่ว่าใครจะทำก็ได้ รวมถึงอีกไม่นานชุมชนแห่งนี้จะถูกเวนคืนที่เพราะโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
การมาที่ชุมชนนี้ทำให้เราได้คุยกับคุณลุงเล็ก (ภูมินทร์ สำอางค์) ผู้ทำอาชีพนี้มาตั้งแต่อายุ 25
คุณลุงเล่าว่า “อาชีพนี้ดีตรงที่เป็นอิสระ จะทำหรือเลิกเมื่อไรก็ได้ แต่รายได้ขึ้นอยู่ความขยันและโชค บางวันไม่ได้อะไรเลยก็มี” ซึ่งลุงเคยได้เข็มขัดทองคำหนัก 30 บาทมาซึ่งเป็นของโบราณมาก เพราะมีรูปพระนเรศวรทรงช้างอยู่
โดยความรู้เรื่องของเก่าลุงอาศัยจากประสบการณ์ที่เคยพบ รวมถึงประเด็นที่ชุมชนแห่งนี้จะถูกเวนคืน ลุงบอกว่ามีการย้ายไปที่ทางการจัดหาให้คือแถวนนทบุรี
เมื่อได้ยินแบบนั้นทำให้เราตระหนักได้ว่า การที่เราต้องการพัฒนาให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น แต่อาจมีร่องรอยของการสูญเสียโดยที่เราไม่รู้ตัว

คุณลุงประเวธย์ ผู้หลงใหลการเฝ้ามองและดื่มด่ำบรรยากาศของสายธารแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา

จบเย็นที่ศาลารับเสด็จ

มาที่วัดคอนเซ็ปชัญอีกครั้งหลังจากออกสำรวจพื้นที่ต่างๆ เสร็จ เราได้คุยกับคุณป้าคุณลุงที่ขายของอยู่หน้าวัดแนะนำว่า ลองเดินไปที่ศาลารับเสด็จมีวิวสวยมาก ซึ่งก็จริงอย่างที่เขาว่า พอไปก็พบกับคุณลุงประเวธย์ (ประเวธย์ โสภามิตร) ผู้มานั่งที่ศาลารับเสด็จทุกวัน เพราะความสุขของลุงคือการมานั่งมองแม่น้ำทุกเย็น จนสนิทกับเด็กที่มาเล่นน้ำ
ตอนทำงานลุงก็นั่งเรือด่วนกลับบ้านทุกวัน แม่น้ำเหมือนส่วนหนึ่งของชีวิตลุงในทุกช่วงเวลา ลุงยังเล่าอีกว่าศาลารับเสด็จเป็นที่รับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 กับสมเด็จพระบรมราชินีนาถ (พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) เมื่อสมัยมางานครบรอบ 200 ปีของวัดคอนเซ็ปชัญ
เราชอบศาลานี้มาก เพราะเป็นสถานที่ต้อนรับคนแปลกหน้าธรรมดาๆ อย่างเราได้
การกลับมาอีกครั้งที่สามเสนทำให้นึกถึงประโยค “Everything has beauty, but not everyone sees it.”(ทุกสิ่งอย่างมีความงาม แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มองเห็นความงามนั้น) ของขงจื๊อ
ทำให้เรานึกย้อนไปตอนเด็กว่าทำไมไม่เคยรู้เรื่องชุมชนแห่งนี้เลย มันเป็นอะไรที่น่าประทับใจกว่าที่คิดเมื่อได้ลองมาสัมผัส
สิ่งที่พิเศษในชุมชนแห่งนี้คือผู้คน เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องราวที่บอกเล่าไม่ใช่แค่การเล่าผ่านสถานที่เพียงเท่านั้น ซึ่งอาจจะหมายถึงการบอกเล่าผ่านผู้คนด้วยเช่นกัน

ขอขอบคุณ
ชาวบ้านชุมชนสามเสน สถานที่ชุมชนสามเสน (วันที่ 2 มิถุนายน 2562)

เอกสารอ้างอิง:

  • ปราณี กล่ำส้ม. ย่านเก่าในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2545.
  • อบเชย อิ่มสบาย. รสเยี่ยมจากเวียดนาม. กรุงเทพฯ : แสงแดด, 2546
  • https://mgronline.com/onlinesection/detail/9600000075929
  • http://lek-prapai.org/home/view.php?id=5243
  • https://www.facebook.com/pages/category/Community-Center/ตลาดบ้านญวนสามเสน-390639181302034/
  • https://thematter.co/pulse/philosopher-4-change/16518

จิดาภา เนาสราญวงศ์ : เรื่อง

อกาลิโก นาคทองคง : ภาพ