วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


Hand of business lady analyzing financial report

ภาพโดย OOee Pichayapa

ในงานเขียนเรื่องหนึ่งควรมีจุดสนใจให้ตรึงตราคนอ่าน

เป็นข้อเรียกร้องต่อมาหลังจากมือใหม่ก้าวผ่านขั้นพื้นฐานมาแล้ว

เมื่อแรกฝึกเขียนอาจเริ่มต้นอย่างง่ายๆ ที่สุด ด้วยการฝึกจากการตั้ง “ชื่อเรื่อง” ให้ได้

หยิบจุดน่าสนใจมา “เปิดเรื่อง”

เล่า “ตัวเรื่อง” ไปจนจบความ โดยไม่ลืมขยักบางอย่างไว้ “ปิดเรื่อง” ด้วย

เมื่อเข้าใจหลักเบื้องต้นในแง่โครงสร้างการเล่าเรื่องแล้ว ก็ขยับไปสู่การจับใจความสำคัญของเรื่องมาเล่าให้ได้ จะทำให้งานชิ้นนั้นไม่ถูกอ่านแค่เพียงผ่านๆ

กลุ่มงานสารคดี ในค่ายบ่มเพาะนักเขียนหน้าใหม่ รุ่นที่ ๕ หลังจากร่วมเรียนรู้ด้วยกันมาเป็นเวลาเกินครึ่งค่อนค่าย เข้าใจหลักเบื้องต้นเรื่องการเขียนสารคดีกันตามสมควรแล้ว เป้าหมายต่อไปคือเขียนสารคดีเรื่องใหญ่กันคนละชิ้นเพื่อพิมพ์รวมเล่ม และทำต้นฉบับงานเดี่ยวของตนคนละเล่ม

ก่อนได้ยลผลงานที่ตีพิมพ์เป็นเล่ม ขอตัดเอาใจความสำคัญของบางเรื่องมาให้ลองอ่านกันในที่นี้ระหว่างรอฉบับเต็ม

ภาพโดย OOee Pichayapa

ชาวสยามเวลานั้นมีวัฒนธรรมการกินหมากเช่นเดียวชาวกับพม่า เพราะเชื่อว่าฟันของคนควรจะต้องมีสีที่แตกต่างไปจากฟันของสัตว์เดรัจฉานซึ่งมีสีขาว ตามบันทึกของ นิโกลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise) นักเดินทางชาวฝรั่งเศสผู้ติดตามคณะมิชชันนารีเข้ามาในสยามสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๘ เล่าไว้ว่า “เหล่าแม่นางชาวสยามมิอาจทนดูที่พวกเรามีฟันขาวได้ พวกหล่อนเชื่อว่าภูตผีปีศาจมีฟันขาวและยังน่าอัปยศอดสูที่คนจะมีฟันขาวเยี่ยงเหล่าเดรัจฉาน”

การกินหมากกลายเป็นวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของชาวสยาม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องพิธีกรรมงานบุญโดยใช้หมากพลูเป็นเครื่องเซ่นไหว้ สะท้อนอุดมคติในเรื่องความสวยความงาม อย่างในวรรณคดีเรื่อง อิเหนา มีการชื่นชมความงามของตัวละครวิหยาสะกำว่า “ทนต์แดงดั่งแสงทับทิม” หรือแม้แต่ในเรื่องของการแสดงความรักใน ขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนลำเลิกความรักที่ตนมีต่อนางวันทองว่า
“พี่เคี้ยวหมากเจ้าอยากพี่ยังคาย” การที่ขุนแผนทำเช่นนี้ถือเป็นการแสดงความรักและความเสียสละ เพราะเมื่อแรกเคี้ยวหมากจะมีรสขมฝาด ต้องเคี้ยวไปก่อนสักพักจึงค่อยมีรสหวานอร่อย

“หลง(ใหล)ในพม่า บันทึกการสัญจรบนเส้นทางสีน้ำหมาก” โดย เจนภพ แสนหลวง

การทำแนวกันไฟ คือการทำพื้นที่บริเวณนั้นให้ว่างไม่ให้มีเชื้อไฟ เป็นทางยาวลากไปตามแนวเขตเพื่อกั้นการลุกลามโดยการกำจัดกิ่งไม้ใบไม้แห้งซึ่งเป็นเชื้อของการเกิดไฟ ออกจากทางดินรวมไปถึงกิ่งก้านของยอดไม้ด้านบนไม่ให้เอนพาดกันกลายเป็นสะพานไฟในที่สุด

คณะชาวบ้านและพระสงฆ์แบ่งกันเป็นสามกลุ่ม ตามเครื่องมือที่แต่ละคนถนัด กลุ่มแรกเป็นผู้เบิกทางถางพง จึงเป็นหน้าที่ของคนถือมีดตัดกิ่งไม้ เปิดเส้นทางที่มีลำไผ่แก่ล้มเอนออกให้พ้นทางเครื่องตัดหญ้าแบบสะพายนั้นก็ช่วยทุ่นแรงได้ดี ทำให้แนวกันไฟเสร็จเร็วขึ้น

ตามด้วยคราดและจอบ ทำหน้าที่ถากต้นหญ้าออกจากหน้าดิน ปิดท้ายขบวนด้วยไม้กวาดทางมะพร้าว คอยกวาดเศษใบไม้ที่หลงเหลือจากการใช้คราด จนเปิดหน้าดินโล่งเตียนไม่เหลือให้เชื้อไฟลุกลาม

จริงอยู่ที่กระแสลมนั้นทำให้ไฟลามไปได้ทั่วทิศ แต่ถ้าหากเรารู้ทิศทางของการเกิดไฟป่า ในที่นี้เป็นไปได้ทิศทางเดียวคือนอกรั้วลวดหนามของวัด

ฉะนั้นการทำแนวกันไฟ จึงไม่ใช่แค่การกวาดเชื้อไฟออกให้พ้นทาง แต่ต้องกวาดให้ถูกทางด้วยกิ่งไผ่และใบไม้แห้งจึงมากองทับถมกันอยู่ในเขตของวัดรอเป็นปุ๋ยดินใต้โคนต้นไม้

“ทางกันไฟ” โดย เสาวรัตน์ ปันทจักร

ฉัน พี่พยาบาล พนักงานขับรถของโรงพยาบาล และกล่องเครื่องมือชันสูตร กำลังมุ่งหน้าสู่ที่เกิดเหตุ หมอหน้าใหม่ทำงานวันแรกกำลังอ่านคู่มือชันสูตรด้วยความเร็วสูง โดยมีพี่พยาบาลคอยชี้แนะ

“หมอไม่ต้องเครียดนะ พี่กลัวหมอจะหมดสติไปอีกคน”

คนไข้คนแรกหลังจากจบเป็นหมอเต็มตัว คือร่างไร้ลมหายใจที่เสียชีวิตบนจั่วบ้าน หน้าที่ของทีมแพทย์ร่วมกับทีมพนักงานสอบสวนคือร่วมมือกันพิสูจน์ศพที่น่าสงสัยรวมถึงประมาณเวลาที่เสียชีวิตด้วย อาจจะเรียกให้ดูโก้หน่อยว่า “การชันสูตรพลิกศพ” อ้างอิงจากคู่มือการปฏิบัติงานนิติเวช (สำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์) จัดทำโดยกระทรวงสาธารณสุข “คือการตรวจศพตามที่กฎหมายบังคับ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา: ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๘ – ๑๕๖) ต้องจัดการโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ และเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนการตายที่มีพนักงานสอบสวนเป็นผู้รับผิดชอบหลัก” โดยตามกฎหมายมีการตายเพียง ๕ ประการที่ต้องเรียกทีมแพทย์ไปชันสูตรคือ ฆ่าตัวตาย ถูกผู้อื่นทำให้ตาย ถูกสัตว์ทำร้าย ตายโดยอุบัติเหตุ และตายโดยยังไม่ปรากฏเหตุ

ถ้าโคนันสามารถยิงเข็มสลบแล้วเลียนเสียงฉันเพื่อไขคดีปริศนานี้ได้ก็คงไม่เลว แต่ในชีวิตจริงแพทย์อย่างฉันจำเป็นต้องเค้นความรู้วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ เช่น ตำแหน่งการตกตะกอนของเลือด รอยบาดแผลบนร่างที่ไร้ลมหายใจ เพื่อช่วยไขคดีปริศนานี้แทน

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าการชันสูตรพลิกศพเป็นหนึ่งในหน้าที่ (อีกมากมาย) ของแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ทันทีที่ก้าวขาออกนอกรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นหมอในโลกแห่งความเป็นจริง เสื้อกาวน์สั้นตัวเดิมที่เคยสวมใส่สมัยเป็นน้องเอ๊กซ์เทิร์นที่ยังไม่ค่อยรู้ประสีประสา แต่พอโดนปัก พญ. นำหน้าทำให้กลายเป็น “เสื้อสามารถ” ในบัดดล

“ชีวิตชายขอบของหมอจบใหม่ฯ” โดย พญ. ศรัณยา ศรีวราสาสน์

ตัดทอนมาให้อ่านกันเพียง ๓ ผลงาน เป็นการอุ่นเครื่องก่อนอ่านฉบับเต็มรวมทั้งกลุ่มงานเขียนอื่นๆ อีกหลายสิบชิ้น ในการพิมพ์รวมเล่มโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ซึ่งจะเปิดตัวหนังสือกันในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ที่หอศิลป์ร่วมสมัย ถนนราชดำเนิน


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา