เรื่องและภาพ : กลุ่ม Margin
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 15
แสงไฟหน้าม่านค่อยๆ มืดดับ เหลือเพียงแสงไฟทังสเตนสามดวงฉายผ่านผ้าขาวผืนใหญ่ซึ่งขึงเป็นจอหนัง หนุ่มน้อยนักเชิดหนังหลายคนย่างเท้าออกมาหน้าฉากตามจังหวะที่วงดนตรีปี่พาทย์เครื่องคู่บรรเลงโหมโรง สิ่งเหล่านี้ได้ถ่ายทอดผ่านคติความเชื่อ ผ่านยุคสมัย ผ่านสายตาของผู้คนที่เป็นส่วนสำคัญในการแสดงมหรสพโดยได้รวมศิลปะอันวิจิตรบรรจงและทรงคุณค่าหลายแขนง ได้รับการอนุรักษ์และสืบทอดไว้ ณ วัดขนอน อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เรียกกันว่า “หนังใหญ่”
“หนัง” มีมาตั้งแต่มนุษย์รู้จักเล่นกับแสงและเงา เชื่อกันว่าเริ่มมาจากดินแดนชมพูทวีป โดยการแกะสลักหนังสัตว์เพื่อเล่าวรรณกรรมเรื่อง “รามายณะ” จากนั้นจึงส่งต่อมายังเขมรโดยการเผยแผ่ศาสนา การค้าขาย และเข้ามาในบ้านเราในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย จนกลายเป็นมหรสพที่ทำการเล่นตอนกลางคืนภายในวัง ก่อนจะเผยแพร่ออกมาสู่ชุมชน ผ่านงานพระราชพิธีมหรสพของวัง
หนังใหญ่เข้ามาสู่วัดขนอน เนื่องจากวัดนี้เคยเป็นด่านเก็บภาษีของผู้ที่มาค้าขายผ่านแม่น้ำแม่กลอง ผู้มาค้าขายจะนำแผ่นหนังวัวมาจ่ายเป็นภาษี ซึ่งต่อมาได้มีการยกเลิกด่านเก็บภาษี ท่านพระครูศรัทธาสุนทร อดีตเจ้าอาวาสวัดขนอน ได้ริเริ่มนำหนังวัวมาฉลุลายเป็นตัวหนัง นำมาเล่นเป็นหนังใหญ่จนกลายมาเป็นหนังใหญ่วัดขนอนในปัจจุบัน
พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้ผลักดันให้เกิดการทำนุบำรุงและสานต่อการเชิดหนังใหญ่ โดยจัดตั้งตลาดด่านขนอนเป็นพื้นที่การแสดง เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เชิญชวนให้ผู้ชมเข้ามาเยี่ยมชมหนังใหญ่ ณ วัดขนอนแห่งนี้
ก่อนการแสดงคณะผู้เชิดจะคลานเข้ากราบเศียรพ่อแก่ วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงสาธุการเพื่อบูชาครู ตามด้วยบทสวดนมัสการพระพุทธเจ้า บทสวดบูชาครู แล้วค่อยทำการแสดงเชิดหนัง ผู้พากย์แสดงวาทศิลป์การพากย์โดยมีบทร้อยแก้ว ร้อยกรอง พร้อมใส่อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครลงไปในน้ำเสียง ส่วนวงปี่พาทย์ก็บรรเลงเพลงตามจังหวะทำนอง สอดประสานเรื่องราวอารมณ์ของตัวแสดงสู่ผู้ชม
หนึ่งในเรื่องที่นิยมเล่นกันคือรามเกียรติ์ ตอน “ยกรบ” หรือการทำสงครามระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์ นับเป็นตอนหนึ่งที่นิยมเล่น เนื่องจากเต็มไปด้วยท่วงท่า ลีลา และจังหวะอันวิจิตรงดงาม โดยเฉพาะการ “ขึ้นลอย” หนึ่งในท่าการต่อสู้ที่ตัวผู้เชิดได้ขึ้นยืนค้างบนตัวผู้เชิดอีกคน ยิ่งไปกว่านั้นจังหวะที่พระรามแผลงศรใส่ทศกัณฑ์ ผู้ชมจะเห็นภาพเงาลูกศรรูปนาคบนจอหนังเคลื่อนเข้าหาตัวยักษ์ นับเป็นศิลปะการเล่นแสงเงาที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ชมอย่างมาก
นอกจากภาพการแสดงจากเบื้องหน้าที่ชวนน่าหลงใหลแล้ว การได้เข้าไปเห็นภาพเบื้องหลังของการแสดงยิ่งช่วยตอกย้ำว่าหนังใหญ่เป็นมหรสพซึ่งได้รวบรวมองค์ประกอบศิลป์ห้าแขนง อันได้แก่ หัตถศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ วาทศิลป์ และวรรณศิลป์ อย่างชัดเจน
ไฟหน้าม่านสว่างขึ้นมาอีกครั้ง ผู้เชิดและผู้พากย์ออกมายืนขอบคุณที่หน้าจอหนัง ผู้ชมต่างปรบมือเป็นกำลังใจ…ให้พวกเขายังคงเชื่อมั่นและมั่นใจกับศิลปะที่ได้อนุรักษ์ไว้ ดังคำที่พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน ได้กล่าวไว้ว่า
“หนังใหญ่วัดขนอนเป็นศิลปะชั้นสูง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน ทุกคนมีความเคารพในพระครูศรัทธาสุนทร รวมทั้งเคารพในตัวหนังใหญ่ด้วย และทำให้หนังใหญ่อยู่คู่กับสังคมไทย”