ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


ธงชาติส่วนใหญ่ในโลกนี้มักมี “สีแดง” เป็นส่วนประกอบ ทว่าความหมายของสีแดงในธงชาติต่างๆ ก็ย่อมสุดแท้แต่จะให้นิยามกันไป เช่นวงกลมสีแดงในธงชาติญี่ปุ่น หมายถึงพระอาทิตย์ ขณะที่พื้นสีแดงในธงไต้หวัน กลับหมายถึงพื้นพิภพ

แต่ที่พบแพร่หลายคือการใช้สีแดงในธงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเลือดเนื้อที่ต้องเสียสละไปเพื่อสร้าง “ชาติ” ขึ้นมา โดยเฉพาะกลุ่มรัฐที่ปกครองตามแนวทางสังคมนิยม เริ่มจากสหภาพโซเวียต แพร่ไปสู่ประเทศอื่นๆ ในแนวทางการเมืองเดียวกัน เช่นสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ในความหมายแบบนี้ ธงแดงจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่รัฐบาลไทยในยุคหนึ่งจงเกลียดจงชัง เพราะเป็นเครื่องหมายของ “คอมมิวนิสต์” ซึ่งมีอยู่ตรงกันข้ามกับ “ความเป็นไทย” สารพัดอย่าง ดังนั้น “แดง” จึงถูกใช้เป็นคำขยายของการเป็นคอมมิวนิสต์ด้วย เช่นที่เคยมีคำเรียกสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า “จีนแดง”

แม้แต่คำว่า “แดง” เฉยๆ ก็สามารถหมายถึงพวกคอมมิวนิสต์ได้ เช่นในเนื้อเพลง แผ่นดินไทย เพลงยอดนิยมที่รายการประกวดร้องเพลงทางสถานีโทรทัศน์ของทหารใช้เป็น “เพลงบังคับ” ในยุคนั้น

“หากแม้นแดงแฝงเข้า ผองไทยเราก็คงแหลกราน อกตรมและซมซาน สุขสราญมลายไปสิ้น…”

เล่าลือกันว่า ความรังเกียจ “แดง” (คอมมิวนิสต์) ของรัฐบาลยุคทศวรรษ ๒๕๐๐ ถึงกับทำให้สีแดงกลายเป็นของต้องห้าม อย่างหัวกระดาษเอกสารของทางราชการ ซึ่งแต่เดิมใช้รูปครุฑเป็นลายเส้นสีแดง เลียนแบบตราครุฑที่ประทับด้วยชาดสีแดง ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นลายเส้นสีดำ อย่างที่ใช้กันมาจนปัจจุบัน

แม้กระทั่งโรงงานเบียร์ของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ยังต้องสนองนโยบายต้าน “แดง” ของรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยเปลี่ยนสีสัญลักษณ์ลายเส้นตราสิงห์ในฉลาก จากเดิมที่เคยใช้สีแดง มาเป็นสีทอง อย่างที่เห็นจนเดี๋ยวนี้

จากธงแดงที่หลายคนว่ากันว่าเป็นต้นกำเนิดของธงชาติไทย แต่เมื่อถึงยุคกลัวคอมมิวนิสต์ “แดง” กลายเป็นของต้องห้ามในเขตที่อำนาจรัฐปกแผ่ไปถึง ทว่าในเขตป่าเขา ธงแดงกลับสะพรั่งพรึบ ในบทเพลงปฏิวัติของกองทัพปลดแอกประชาชนไทย (ทปท.) และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ล้วนเต็มไปด้วย “ธงแดง”

อย่างเช่นตอนต้นของเพลง “ภูพานปฏิวัติ” บทประพันธ์ของจิตร ภูมิศักดิ์

“ยืนตระหง่านฟ้า แผ่ไพศาลทิวยาวยอดสูงสง่า
ภูพานมิ่งขวัญคู่หล้าแหล่งไทย
ธงพรรคแดงเพลิง สะบัดโบกพลิ้วเหนือภู
สู้พายุโหมหวิวหวูไม่เคยหวั่นไหว…”

อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ พคท. เคยเสนอไว้ด้วยซ้ำว่า ท่านเชื่อว่าหากการปฏิวัติของ พคท. บรรลุจุดมุ่งหมายตามความใฝ่ฝันสูงสุดของแนวร่วมฝ่ายซ้ายในยุคนั้น คือการยึดอำนาจรัฐ (ถึงกับมีเพลงที่แต่งไว้ใช้ในโอกาสเช่นนั้นแล้วด้วย เช่น “อีกไม่นานจะเอาธงแดงปักกลางนคร”)

“ภูพานปฏิวัติ” คงถูกเลือกให้เป็นเพลงชาติฉบับใหม่แน่นอน


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี