ณ ดอย
เรื่องเล่าคัดสรรโดยเหล่าคนภูเขาตัวเล็ก-ฝันใหญ่ที่จะมาทำให้ใครๆ ตกหลุมรักบ้านนอก
เรื่อง / ภาพ : พญ. ศรัณยา ศรีวราสาสน์
เป็นอินเทิร์น ๓ พักใหญ่ วิชาแกร่งกล้าขึ้นตามกาลเวลา
วันนี้ทำหน้าที่แพทย์เวรร่วมกับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๖
น้องๆ มาเพราะวิชาเวชศาสตร์ชุมชน (community medicine) หลักสูตรหวังสะท้อนภาพโรงพยาบาลชุมชนและสนับสนุนให้แก่นักเรียนแพทย์สร้างสรรค์กิจกรรมด้านสุขภาพแก่ท้องถิ่น
เวรสงบมาตั้งแต่เย็น กระทั่งเกือบสองทุ่มเสียงโทรศัพท์จึงดัง
“มีคนไข้โดนตีหัวมาเมื่อวาน ซึมมาก น่าจะต้องใส่ทิ้วบ์”
พยาบาลรุ่นน้องรีบรายงานเคสราวกับพายุลูกใหญ่กำลังก่อตัวหลังจากคลื่นลมสงบมานาน
ทางการแพทย์มีหลักประเมินระดับความรู้สึกตัวจากองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ การลืมตา กำลังกล้ามเนื้อ และการพูด หากรวมแล้วคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ก็จำเป็นต้องใส่ “ทิ้วบ์” (tube) ท่อช่วยหายใจ
ชายหนุ่มร่างกำยำภายใต้หน้ากากออกซิเจนครอบหน้านอนนิ่งไม่ไหวติงต่อความพลุกพล่านรอบตัว
มีเพียงเครื่องวัดความดันข้างกายที่ยืนยันว่า หัวใจของเขายังเต้นอยู่ แต่มีอาการความดันโลหิตสูงปรี๊ดและรูม่านตาที่ตอบสนองต่อแสงไฟไม่เท่ากัน แสดงถึงภาวะเลือดออกในสมอง
ญาติให้ข้อมูลว่าผู้ป่วยถูกตีหัวเมื่อคืนก่อน ตอนแรกสลบไปเพียงครู่จึงยังไม่มาโรงพยาบาล
“จากนั้นซึมตั้งแต่ตีห้า ญาติปลุกเท่าไรก็ไม่ลุก แต่ไม่กล้ามาหาหมอเพราะไม่มีสิทธิรักษา”
พยาบาลแจ้งประวัติว่าเขาเป็นคนไข้ “ไม่มีนามสกุล” สิทธิการรักษาจึงเป็น “ต่างด้าว ชำระเงินเอง”
เป็นเหตุผลเดียวกับที่ชาวชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ไม่กล้าพาญาติที่ป่วยมาใช้บริการห้องฉุกเฉิน
ภาวะฉุกเฉินของคนไข้ไม่มีนามสกุลจึงเป็นภาวะลำบากใจของโรงพยาบาลชายแดนเสมอ
เพราะค่าใช้จ่ายช่วยชีวิตเบื้องต้นจนค่าส่งต่อผู้ป่วยจำนวนหลายพันบาทจะตกเป็นภาระที่โรงพยาบาลต้องแบกรับ ยังไม่รวมถึงค่ารักษาอื่นที่จะถูกเรียกเก็บเพิ่มเติมจากโรงพยาบาลปลายทาง
แต่หากเพิกเฉยต่อคนไข้ในเวลาวิกฤตของชีวิตก็ย่อมถูกตีตราว่าไร้จรรยาบรรณ
ฉันสวมหมวกคลุมผม ใส่หน้ากากอนามัย กระชับถุงมือยางให้เข้าที่ คว้าเครื่องมือแพทย์ค่อยๆ สอดผ่านมุมปากคนไข้อย่างระวัง กวาดรวบลิ้นไปฝั่งตรงข้ามเปิดทางให้เห็นฝาปิดกล่องเสียงเพื่อเตรียมใส่ท่อช่วยหายใจผ่านช่องว่างระหว่างเส้นเสียง ขณะที่มีก้อนน้ำลายเหนียวสีเหลืองอ๋อยขย้อนออกมาปิดเส้นเสียงไว้
เบื้องต้นสันนิษฐานว่าก้อนเสมหะสีประหลาดนั้นน่าจะเกิดจากขมิ้น
ชาวบ้านละแวกนี้มีความเชื่อว่าขมิ้นสามารถรักษาทุกโรค หลายคนจึงใช้ขมิ้นทาแผลสด ทาสิว ทาตัว ฯลฯ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้พบเคสคนไข้ใช้ขมิ้นรักษาอาการซึม ทั้งที่จริงในกรณีผู้ป่วยที่ซึมหมดสติ ไม่ควรนำของทุกชนิดเข้าปาก เพราะมีโอกาสสำลักลงปอด อาจทำให้เกิดปอดอักเสบติดเชื้อ
แต่สำหรับการใส่ท่อช่วยหายใจให้คนไข้ที่ซึมนี้ เป็นวิธีป้องกันภาวะสำลัก
“หมอพยายามช่วยอยู่นะ คุณก็ต้องช่วยหมอด้วยนะคะ”
ฉันกระซิบข้างหูคนไข้ที่ไม่รู้สติ แอบหวังให้เขาได้รู้สึกตัว
กระบวนการใส่เครื่องมือช่วยชีวิตไม่ง่าย ส่วนหนึ่งเพราะมีสิ่งกีดขวางในคอและไม่อาจจัดท่าคนไข้ให้แหงนคอเพื่อสะดวกต่อการสอดท่อช่วยหายใจ เพราะยังต้องใส่แผ่นรองคอแบบแข็ง (hard collar) เช่นเดียวกับในคนไข้ทุกรายที่เกิดอุบัติเหตุตรงศีรษะ จนกว่าจะแน่ใจว่ากระดูกต้นคอไม่หัก
หนแรกท่อช่วยหายใจจึงพลั้งลงในหลอดอาหารซึ่งอยู่ด้านหลังหลอดลมคอ ต้องรีบถอดท่อช่วยหายใจ แล้วกลับมาครอบหน้ากากออกซิเจนไว้ดังเดิมก่อน
คราวนี้มัดกล้ามเนื้อที่ผ่านการทำงานสู้ชีวิตอย่างหนักของผู้ป่วยเริ่มออกแรงปัดป่ายไปมาจนต้องขอแรงจากผู้ช่วยถึง ๔ คน จับผู้ป่วยตรึงกับเตียงไว้แล้วบีบออกซิเจนผ่านหน้ากากครอบจนเลขบอกระดับ ๑๐๐
ฉันเตรียมใส่ท่อช่วยหายใจอีกครั้ง รอบนี้เสมหะยังขวางกั้นเส้นเสียงเช่นเดิม ต่างกันคือฉันใช้วิธีย่อตัวลงจนเข่าสองข้างรับรู้ถึงความเย็นเยือกบนพื้นห้องฉุกเฉิน เพื่อให้สายตาฉันอยู่ระดับเดียวกับกล่องเสียงเขา
เมื่อฝาปิดกล่องเสียงถูกยกขึ้น เผยแผ่นขาวบางคู่ขนานเหนือหลอดลมก็ถึงเวลาเหมาะสม
“ขอท่อหน่อย”
ฉันยื่นมือรอรับท่อช่วยหายใจจากบุรุษพยาบาล สายตาไม่ยอมละจากภาพตรงหน้า
รอบนี้ฉันใส่ท่อช่วยหายใจอย่างมั่นใจ เมื่อบุรุษพยาบาลดึงแกนนำออกจากท่อช่วยหายใจ เสียงลมหายใจเฮือกใหญ่ของคนไข้ก็ดังลอดท่อออกมา ทีมแพทย์ทุกคนพลอยถอนหายใจด้วยความโล่งอก
ฉันวางหูฟังบนช่องท้องและหน้าอกทั้งสองข้างของผู้ป่วย เมื่อแน่ใจว่าเสียงลมดังที่ปอดเท่ากันทั้งสองข้างแล้วจึงส่งมอบหน้าที่ให้ทีมการรักษาช่วยตรึงท่อช่วยหายใจต่อไป
แล้วรีบเดินเรื่องเอกสารเพื่อเตรียมส่งต่อคนไข้รายนี้ไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัด ซึ่งแต่ไหนแต่ไรยังคงมีเส้นขีดบางๆ ระหว่างความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ กับปัญหาค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลภาครัฐต้องแบกรับด้วยกำลังที่อ่อนล้าเต็มทีและเป็นปัญหาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
ยังไม่แน่ว่าญาติเจ้าของเคส “ต่างด้าว ชำระเงินเอง” นี้จะแสดงความรับผิดชอบได้แค่ไหน
หรือ “ลมหายใจฉุกเฉิน” ของคนไข้ไม่มีนามสกุลรายนี้จะตกเป็นภาระโรงพยาบาลอีกครั้ง
แต่อย่างไรชีวิตหนึ่งของเพื่อนมนุษย์ก็สำคัญสำหรับทีมแพทย์-โรงพยาบาลชายแดนเสมอ
แพทย์หญิงศรัณยา ศรีวราสาสน์
หลังจบการศึกษาจากแพทยศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับสอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากสวมเสื้อกาวน์ประกอบอาชีพที่รักในโรงพยาบาลทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ยังสนุกกับการเขียนหนังสือ เคยมีผลงาน “โอ้วเอ๋ว…อดีต ปัจจุบัน อนาคต” เผยแพร่กับนิตยสาร สารคดี เมื่อปี ๒๕๕๙ และบทความ “เสียงเพรียกแห่งพงไพร” เคยได้รับรางวัลกำลังใจ จากแพทยสภา ในปี ๒๕๖๑
…….
สุชาดา ลิมป์
นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้เสพติดการเดินทางพอกับหลงใหลธรรมชาติ-วิถีชาติพันธุ์ ทดลองขยับเป็นบรรณาธิการปรุงฝันให้ทุกอาชีพในชนบทได้แปลงประสบการณ์หลากรสออกมาเป็นงานเขียน