วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


วันเสาร์ที่แล้วได้พบพี่ธีรภาพ โลหิตกุล ที่งานชุมนุมนักเขียนหอมกลิ่นลำดวน รุ่นที่ ๓ นักสารคดียามพบหน้ากันจะคุยสัพเพเหระอื่นใดก็ไม่พ้นต้องมีเรื่องสารคดีอยู่ด้วย

วันนั้นผมถามพี่ธีรภาพเรื่องหนึ่ง

วีระศักดิ์ : พี่ธีร์ครับ ร่องรอยของฝรั่งต่างชาติที่เข้ามาเมืองไทยตั้งแต่แรก เราจะมองจากอะไรที่ยังเห็นได้ในทุกวันนี้
ธีรภาพ : ชาวสยามสมัยก่อนเห็นคนโปตุเกสเอาไขมันสัตว์ถูตัวตอนอาบน้ำ ชี้ถาม “นั่นอะไร?” (พี่ธีร์แสดงท่าทางไปด้วย เหมือนสมมติตัวเองว่าเป็นชาวสยามคนนั้น)
คนโปตุเกสบอก “ซาปู”
“อ้อ สบู่”

นี่แหละที่เราใช้กันมาจนทุกคนนี้ เราได้การอาบน้ำด้วยสบู่มาจากคนโปตุเกส ก่อนนั้นคนสยามใช้รังบวบถูตัว

นักหัดเขียนสารคดีเห็นอะไรไหม ?

หากเป็นการตอบแบบวิชาการหรือผู้รู้ทั่วๆ ไป ก็คงจะตอบคำถามนี้ว่า สบู่เป็นสิ่งหนึ่งที่มากับชาวโปตุเกสเมื่อ ๔๐๐-๕๐๐ ปีก่อน และยังอยู่ในวิถีชีวิตคนไทยจนปัจจุบัน

แต่งานสารคดีมีความเป็นเรื่องเล่า ต้องทำให้ผู้เสพรู้สึกสนุกและน่าจดจำ

นักเขียนสารคดีจึงต้องมีความเป็นนักเล่าเรื่อง

เรื่องเล่าจะสนุกต้องมีเรื่องราว แสดงให้เห็นเหตุการณ์ เห็นฉาก มีเสียง มีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่แม้กับเรื่องที่ผ่านเป็นอดีตไปแล้ว

หัดเขียนสารก็คือฝึกเล่าเรื่อง ซึ่งทำได้แม้ในตอนที่เล่าผ่านคำพูด เป็นการฝึกจัดลำดับความคิด ลำดับเรื่อง รวมทั้งสำนวนภาษา

จึงตอนฟังบางคนเล่าเรื่องปากเปล่าบางทีสนุกเหมือนอ่านงานเขียน และแน่นอนว่าถ้านักเล่าเรื่องคนนั้นเป็นนักเขียนก็น่าเล่าเรื่องผ่านงานเขียนได้ดีด้วย

เรียกว่าพูดได้เหมือนงานเขียน เขียนออกมาเหมือนที่พูด

บางทีถ้อยคำก็ส่องสะท้อนกันไปมา หากฝึกเล่าเรื่องผ่านปากเปล่าได้สนุกกระชับชัดเจนเหมือนงานเขียน ตอนเขียนก็เขียนออกมาเหมือนพูด