ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
หลังจากราชอาณาจักรสยามใช้ธงช้างเผือกบนพื้นแดงเป็น “ธงชาติ” มาได้ราว ๖๐ ปี คือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ผ่านรัชสมัยพระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ มาจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงมีการปรับปรุงแบบธงชาติใหม่ในปี ๒๔๕๙ โดยให้ยกเลิกธงช้างเผือกแบบเดิม คือรูปช้างเผือกยืนหันหน้าเข้าหาเสา เปลี่ยนเป็นธงช้างเผือกทรงเครื่อง ยืนบนแท่น หันหน้าออกจากเสาแทน แต่ธงอย่างนี้ก็ให้ใช้เฉพาะในเรือหลวงเป็นหลัก ส่วนประชาชนทั่วไป กฎหมายกำหนดให้ชักธงริ้วแดง – ขาว – แดง – ขาว – แดง ในเรือค้าขายสัญชาติสยามของเอกชน
กล่าวกันว่าความเปลี่ยนแปลงนี้มีที่มาสองทาง อย่างหนึ่งคือในหลวงทรงมีพระราชดำริว่า “ช้างเผือก” นั้นเป็นช้างของพระเจ้าแผ่นดิน จะยืนตัวเปล่าๆ เหมือนช้างป่าไม่ได้ ต้อง “ทรงเครื่อง” เพราะเป็น “ช้างทรง” ของในหลวง คือต้องมี “เครื่องคชาภรณ์” นานา ตั้งแต่กำไลเป็นปลอกใส่งา ที่เรียก “วลัย” มีผ้าปูเหนือศีรษะ คือ “ปกกระพอง” ผ้าปูบนหลัง ได้แก่ “ปกหลัง” มี “พู่จามรี” ห้อยหน้าหู ฯลฯ
อีกอย่างหนึ่งคือในหมู่ข้าราชบริพารใกล้ชิด เล่ากันว่าเคยพบเห็นเหตุการณ์ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๖ เสด็จเมืองอุทัยธานี แล้วราษฎรชักธงช้างรับเสด็จ แต่จะเพราะความรีบร้อน ความเลินเล่อ หรือเหตุใดไม่ปรากฏ ช้างเผือกนั้นกลับตีลังกา นอนหงายท้องเอาเท้าชี้ฟ้า
จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) มหาดเล็กผู้อยู่ในขบวนเสด็จฯ บันทึกไว้ภายหลังว่า
“เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นธงผืนที่กล่าวนั้น…ฉับพลันสายพระเนตรก็แปรไปมองทางอื่น, เสมือนมิได้มีสิ่งใดเป็นที่พึงสังเกตผิดปกติเกิดขึ้น, แต่ทว่าสีพระพักตร์นั่นสิ…ดูประหนึ่งจะทรงมีความสะเทือนพระราชหฤทัยไปในทางทรงสลดสังเวชมากกว่าทรงพระพิโรธ…บรรยากาศขณะนั้นได้เกิดวิกฤตขึ้นชั่วครู่หนึ่ง…ไม่มีใครกล้ามองไปที่ธงผืนนั้นอีกเป็นครั้งที่สอง”
นี่เองอาจเป็นที่มาของการกำหนดให้ธงเรือสัญชาติสยามชักธงริ้วที่ไม่มีบน – ล่าง เพราะจะชักตีลังกาอย่างไร ก็ดูเหมือนกันทั้งสองด้าน
พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ใช้อยู่เพียงไม่ถึงปี ก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
วันเสาร์ที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๖๐ จดหมายเหตุรายวัน (ไดอารี) ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีข้อความที่ทรงแปลจากหนังสือพิมพ์ Bangkok Daily Mail (กรุงเทพเดลิเมล์) ฉบับวันที่ ๑๕ สิงหาคม เป็นข้อเขียนของผู้ใช้นามแฝงว่า “อะแควเรียส” (Aqaurius – “ราศีกุมภ์”) แสดงทัศนะว่ามีสหายของผู้เขียนคนหนึ่งมา “กระซิบ” ว่าไม่ค่อยพอใจในแบบธงริ้วแดงสลับขาวนั้นเท่าไหร่นัก
“…สหายฃ้าพเจ้าเห็นว่าไม่สง่าพอสำหรับประเทศ ฃ้าพเจ้าต้องยอมรับว่าตัวฃ้าพเจ้าเองเห็นด้วยกับเฃา…สหายฃ้าพเจ้าออกความเห็นว่า ริ้วแดงกลางควรจะเปลี่ยนเปนสีน้ำเงิน…และด้วยประการฉนี้กรุงสยามก็จะได้มีธงสีแดง, ขาว, กับน้ำเงิน อันเปนสีธงสามสี (ฝรั่งเศส), ธงยูเนียนแย๊ก (อังกฤษ), และธงดาวและริ้ว (อะเมริกัน)…”
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ทรงบันทึกแนบท้ายไว้ว่า
“อย่างที่เฃาคิดนี้ ลองเขียนแบบขึ้นดูก็งามดี…”
และจากความเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์นั้นเอง นำมาสู่ธงชาติแบบใหม่ของสยามในปี ๒๔๖๐ ธงชาติที่จะไม่มีบนมีล่าง สามารถชักได้โดยไม่ต้องกลัวช้างตีลังกาอีกต่อไป
มิหนำซ้ำยังเป็นธงชาติที่แสดงความแนบแน่นกับมหาอำนาจตะวันตก เหมาะแก่กาลสมัยเมื่อรัฐบาลสยามเพิ่งประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๑ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ๒๔๖๐
นั่นคือธงไตรรงค์ แดง-ขาว-น้ำเงิน-ขาว-แดง