เรื่องและภาพ : สุชาดา ลิมป์

รถเคลื่อนจากจุดผ่านแดนบ้านห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน กับด่านน้ำเงิน เมืองเงิน แขวงไซยะบูลี (ເມືອງເງິນ ແຂວງໄຊຍະບູລີ)

ปรกติออกจากน่านไปหลวงพะบางด้วยถนนตัดภูเขาใช้เวลา ๖ ชั่วโมง วันนี้เหลือ ๓ ชั่วโมงเศษ

เป็นอีกหนึ่งข่าวดีนับแต่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประกาศตนเป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบพร้อมประชาสัมพันธ์แคมเปญ “Visit Laos Year 2018”

:: เมื่อถนนตัดภูเขาเป็นมากกว่าเส้นทางเดินรถ ::

ที่จริงมีนักท่องเที่ยวไทย-ลาวหาสู่กันด้วยถนนสายนี้มานาน

รู้มากขึ้นปี ๒๕๖๐ บริษัท ขนส่งจำกัด (บขส.) จับมือบริษัท นาหลวงขนส่งโดยสารและท่องเที่ยว ผู้ประกอบการของ สปป.ลาว เปิดเดินรถโดยสารมินิบัส “น่าน-ไซยะบูลี-หลวงพะบาง” ด้วยระยะทาง ๓๗๓ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ๘.๓๐ ชั่วโมง ค่าโดยสาร ๖๖๐ บาท (๑๖๕,๐๐๐ กีบ)

“แต่มีผู้ใช้บริการน้อย ไม่สะดวกตรงให้บริการไป-กลับวันละเที่ยว เดินทางนาน และถนนยังไม่ดี”

วรกิตติ ศรีทิพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน สะท้อนว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของสองเมือง (น่าน-หลวงพะบาง) จะพัฒนาศักยภาพได้ไกลกว่านี้อีกหากเดินทางสะดวกขึ้น

“ไม่นานนี้ผมไปประชุมคณะกรรมการชายแดนร่วมกับท่านเจ้าแขวงไซยะบูลี เราต่างก็หวังว่าถนนจะพัฒนาการท่องเที่ยวคู่กับเศรษฐกิจ หน้าด่านห้วยโก๋นมีอาคารพร้อมที่พักสินค้าเข้า-ออกแล้ว แขวงไซยะบูลีอยู่ติดแขวงหลวงพะบางนักท่องเที่ยวก็พักทานอาหารที่เมืองหงสาก่อนเดินทางต่อได้ หลวงพะบางเองก็กำลังสร้างสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมจากเมืองคุนหมิงของจีนเตรียมรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศปีละ ๑๐-๒๐ ล้านคน ซึ่งวิ่งผ่านหลวงพะบาง วังเวียง (ວັງວຽງ) ไปถึงเวียงจัน (ວຽງຈັນ)”

รัฐบาลไทยก็รู้ ปี ๒๕๕๗ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติอนุมัติให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินจำนวน ๑,๙๗๗ ล้านบาท แก่ สปป.ลาว เพื่อพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวโดยก่อสร้างถนนเชื่อมจากด่านห้วยโก๋นในจังหวัดน่านของไทยเข้าสู่พื้นที่การปกครองของสองแขวงในลาว (ไซยะบูลีและหลวงพะบาง) โดยมีจุดเริ่มที่บริเวณบ้านนาปุง เมืองหงสา แขวงไซยะบูลี และสิ้นสุดโครงการที่บ้านเชียงแมน เมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพะบาง เป้าหมายเพื่อร่นระยะเดินทางครึ่งหนึ่งเหลือ ๑๑๔ กิโลเมตร ใช้เวลาสัญจรเพียง ๓ ชั่วโมงเศษ

“เราเริ่มก่อสร้างปี ๒๕๕๘ เสร็จเมษายน ๒๕๖๒ เน้นประโยชน์ท่องเที่ยวในภูมิภาคเป็นหลักเพราะเส้นทางนี้เชื่อมถนนใน สปป.ลาว ให้เดินทางจากไทยไปกรุงฮานอยในเวียดนามสะดวกขึ้น มีประโยชน์ด้านการค้าเป็นส่วนสนับสนุน เพราะในอนาคตเมืองระหว่างทางก็มีโอกาสพัฒนา อย่างเมื่อ ๒-๓ ปีที่แล้ว เมืองต้นทางของฝั่งลาวอย่างหงสายังเงียบมากเพราะไม่ใช่ย่านชุมชน มีโรงงานตั้งนิดหน่อย ตอนนี้มี ปตท. เปิดกิจการแล้ว นั่นหมายถึงเขาเห็นโอกาสจึงมาจับจอง หากมีผู้ใช้ถนนเต็มที่ก็เป็นได้ว่าจะมีนักธุรกิจมาลงทุนเพิ่ม อย่างร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม เพื่อพัฒนาเป็นเมืองพักก่อนมุ่งหน้าสู่หลวงพะบาง”

แล้วปลายมิถุนายน ๒๕๖๒ ก็ถึงเวลาส่งมอบถนน พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการ สพพ. (NEDA) จึงนำคณะสื่อมวลชนไทยพิสูจน์ศักยภาพเส้นทางใหม่โดยสัญจรรถตู้ออกจากด่านบ้านห้วยโก๋น

หากไม่เมาทางเลี้ยวลดคดโค้งตลอดถนนสองเลนจนต้องข่มตาหลับ

จะได้อิ่มเอมทัศนียภาพของ สปป.ลาว เป็นภูเขาและที่ราบสูงมีต้นไม้ขึ้นหนาทึบในป่าสมบูรณ์

“ถนนสายนี้ผมคิดว่าเหมาะสมและเพียงพอที่จะรองรับจำนวนรถบัส รถตู้ รถยนต์ ที่มาใช้บริการไปได้อีกนาน แต่หากในอนาคตมีความจำเป็นต้องพัฒนาเพิ่มก็ค่อยพิจารณาความเป็นไปได้ต่อ”

:: หมู่เฮารับมอบแล้วเด้อ ::

กิโลเมตรที่ ๐ สามแยกบ้านนาปุง เมืองหงสา คือจุดเริ่มโครงการสร้างถนน

พิธีส่งมอบเป็นไปแบบเรียบง่าย เพียงตัวแทนผู้เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนไทย

“แต่ชาวลาวก็รับรู้เพราะมีออกข่าวทางสถานีโทรภาพแห่งชาติลาวหลายครั้ง”

แพง ดวงเงิน (ແພງ ດວງເງິນ) อธิบดีกรมขัวทาง กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว สะท้อนความเห็นว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลได้สำรวจความต้องการของประชาชนชาวลาวมาแล้ว

“เพราะเส้นทางตั้งแต่เมืองหงสาไปหาเมืองจอมเพ็ดมีความสำคัญหลาย มันหมายถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของลาว โดยเฉพาะในแขวงไซยะบูลีและหลวงพะบางซึ่งรับใช้การลำเลียงขนส่งสินค้ารวมถึงนักท่องเที่ยวระหว่างสองเมืองซึ่งมีชายแดนติดต่อกับจังหวัดน่านของราชอาณาจักรไทย”

สปป.ลาว ในความเห็นของท่านแพงยังไม่มีกำลังพอจะพัฒนาประเทศเองทั้งหมด จำเป็นต้องรับไมตรีจากต่างชาติที่ต้องการสานสัมพันธ์หรือเข้ามาลงทุนด้วย

“เฮาเป็นแขนงด้านคมนาคม รู้ว่าทางด้านวิศวกรรมมีความยากเพราะเป็นเส้นทางภูเขา ระหว่างก่อสร้างก็มีฝนตกหนัก ดินสไลด์ เจออุปสรรคหลาย ได้เห็นถนนสายนี้ประสบผลสำเร็จก็ยินดีนัก”

“สมัยก่อนเมืองไซยะบูลีถึงเมืองจอมเพ็ดไม่ได้สะดวกแบบนี้ นักธุรกิจไทยจะมุ่งหน้าไปลงทุนแต่ในหลวงพะบางจนที่ดินมีราคาแพงมาก หลวงพะบางมีแหล่งท่องเที่ยว ๒๐๐ กว่าแห่ง แต่โดยมากเที่ยวกันแค่สิบกว่าแห่งที่เหลือต่างชาติยังไม่ค่อยรู้จัก ขณะที่เมืองผ่านทางเป็นที่ดินราคาถูก สองข้างทางเป็นพื้นที่เปล่าไม่มีหมู่บ้าน แต่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เฮาจึงหวังว่าถนนสายนี้จะช่วยให้อีกหลายเมืองได้พัฒนาขึ้นด้วย”

วงสะหวัน เทบพะจัน (ວົງສະຫວັນ ເທບພະຈັນ) รองเจ้าแขวง แขวงหลวงพะบาง ยกตัวอย่างผู้มาลงทุนสร้าง “Green Jungle Park” อุทยานสวนดอกไม้ในป่าใหญ่ที่มีน้ำตกฮ้อยคัว (ຕາດຮ້ອຍຄົວ) ตระหง่านอยู่ในเขตสวนป่าดงดิบบริเวณบ้านปากหลึง (ບ້ານປາກຫຼຶງ) ของเมืองจอมเพ็ด

“เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ห่างจากเทศบาลเมืองจอมเพ็ดเพียง ๑๒ กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทางจากเมืองหลวงพะบางเพียง ๓๐ นาที ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ได้กระจายการท่องเที่ยวออกรอบนอกเทศบาลหรือเมืองมรดกโลกบ้าง ข้าเจ้าเชื่อมั่นว่าถนนสายนี้จะนำพาการลงทุนเข้ามาอีกแน่”

แต่ในสายคนไทยที่ได้เห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดจากประเทศกำลังพัฒนา อดกังวลใจแทนไม่ได้ว่าหากการท่องเที่ยวลาวเจริญแบบซ้ำรอยไทย ชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อยอาจถูกทอดทิ้ง

“อาชีพพื้นฐานของชาวจอมเพ็ดเป็นเรื่องกสิกรรมทั้งปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ ขณะเดียวกันก็มีฝีมือดีด้านหัตถกรรม นำวัตถุดิบธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ทั้งจักสาน ทอผ้า การพัฒนาเมืองให้เกิดความสัมพันธ์ด้านการดูแลทรัพยากรจึงยังต้องส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาวชุมชนไว้อยู่”

แววมะนี ดวงดาลา (ແວວມະນີ ດວງດາລາ) รองประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรม หลวงพะบาง ให้ความเห็นฐานะที่พ่วงบทบาทนักธุรกิจผู้ก่อตั้งศูนย์หัตถกรรม “ออก พบ ตก” (ອອກ ພົບ ຕົກ) ซึ่งกำเนิดจากเธอ-หญิงตะวันออกลูกนักทอผ้าฝีมือฉกาจแห่งหลวงพะบางกับสตรีอังกฤษช่างภาพนิตยสารผู้หลงใหลศิลปวัฒนธรรมที่ต่างจากตะวันตกจึงผูกไมตรีการค้าเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากันผ่านสิ่งทอ

“คนลาวมีศักยภาพด้านกิจกรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ทั้งการออกแบบและแปรรูป ในลาวมีชาติพันธุ์กว่า ๑๕ กลุ่ม พวกเขามีเรื่องราวน่าสนใจและมีฝีมือทอผ้า ข้าเจ้าตั้งใจดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมจึงเปิดเป็นศูนย์หัตถกรรมเพื่อสร้างโอกาสเรียนรู้และพัฒนาอาชีพให้แม่หญิงชนเผ่าอย่างยั่งยืน”

นอกจากเน้นงานฝีมือ-ลวดลายในแบบชนเผ่าต่างๆ ออก พบ ตก ริมฝั่งแม่น้ำโขง จึงเป็นสถานที่ให้หญิงชนเผ่าได้แสดงกระบวนการปั่นฝ้าย ย้อมด้ายสีธรรมชาติ ไปจนทอผ้า แบ่งปันภูมิปัญญาสู่ผู้มาเยือนผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้สิ่งทอมรดกของลาว

น่าสนใจว่าพนักงานทั้งหมดสามารถสื่อสารกับนักท่องเที่ยวได้มากกว่าภาษาลาว

เพราะพวกเขาผ่านการฝึกทักษะทั้งภาษาอังกฤษ งานขาย และบริการด้านโรงแรม

ท่านนางแววมะนีเล่าว่าเธอทำงานกับผู้หญิงจำนวนมากในหมู่บ้านต่างๆ เห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ปฏิสัมพันธ์กับชุมชน การยกระดับสิ่งทอและช่างฝีมือจะยิ่งเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ

ที่เหลือปล่อยให้เส้นทางถนนสะดวกสบายนำพานักท่องเที่ยวทั่วโลกมาสัมผัส

กิโลเมตรที่ ๑๐๘ สี่แยกเมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพะบาง คือจุดสิ้นสุดโครงการสร้างถนน

แต่ความเจริญไปถึงเมืองรอบนอกที่อยู่ห่างไกลจากเมืองมรดกโลกยอดนิยม กำลังเริ่มต้น

:: ระบบน้ำลิน (ນໍ້າລິນ) แด่หมู่ม้งผู้เสียสละ ::

การพัฒนาประเทศเป็นประโยชน์ของคนหมู่มาก

ที่บ่อยครั้งจำเป็นต้องมีคนกลุ่มหนึ่งยอมเสียสละ

ระหว่างเส้นทางเมืองหงสา-บ้านเชียงแมน (เมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพะบาง) มีกลุ่มชาติพันธุ์ม้งรับผลกระทบจากการสร้างถนน เดิมหมู่บ้านทั้ง ๗๐ ครัวเรือน ตั้งอยู่บนภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๒๐๐ เมตร ห่างจากเมืองหลวงพะบาง ๖๐ กิโลเมตร ระหว่างก่อสร้างได้เกิดรอยร้าวที่ผิวดินและมีดินสไลด์ใกล้หมู่บ้าน รัฐบาลลาวจึงจัดสรรที่อยู่ให้ใหม่บริเวณบ้านกิ่วแท่ง เมืองจอมเพ็ด ห่างจากที่ตั้งเดิมไปทางเมืองหลวงพะบาง ๕ กิโลเมตร สูงจากระดับน้ำทะเล ๗๘๐ เมตร แต่ยังขาดแหล่งน้ำสะอาด เพราะระดับลำธารอยู่ต่ำกว่าที่ตั้งหมู่บ้าน สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) จึงจับมือบริษัท ลาว เวิลด์ เอนจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด สร้างระบบน้ำลิน (ประปาภูเขา) ให้

ภาพจาก NEDA

“ที่จริงการย้ายมาที่นี่ชาวบ้านบ่ได้มีปัญหาเพราะช่วยให้เขามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ได้บ้านแข็งแรงขึ้น มีสังกะสีมุงเรือน มีโรงเรียนในหมู่บ้านให้เด็กๆ เพียงแต่ชาวบ้านทำมาหากินด้วยการเกษตร ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ แต่ยังไม่มีระบบน้ำลินใช้และไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำในชุมชน ที่ผ่านมาต้องไปตักน้ำซึ่งอยู่ห่างหมู่บ้านไปเกือบ ๒ กิโลเมตร นำมาเก็บตามเรือนใครเรือนมัน”

ท่านวงสะหวัน รองเจ้าแขวง แขวงหลวงพะบาง อธิบายเหตุผลจำเป็น

แหล่งน้ำธรรมชาติที่ผุดจากฐานหินทรายไหลออกมาปริมาณมากบนเขา “พูห้วยไค้” ใกล้หมู่บ้านซึ่งเป็นพื้นที่ป่าทึบของชุมชน คือจุดสร้างบ่อพักน้ำคอนกรีตขนาดกว้าง ๕ เมตร ยาว ๕ เมตร สูง ๒ เมตร เพื่อกักเก็บน้ำบนภูเขาจุ ๕๐,๐๐๐ ลิตร แล้วต่อท่อยางสีดำขนาด ๖๓ มิลลิเมตร ยาว ๒,๘๐๐ เมตร ลำเลียงน้ำจากต้นน้ำผ่านระบบส่งน้ำมาหมู่บ้านก่อนกระจายการจ่ายน้ำไปยังบริเวณครัวเรือนจำนวน ๙ แห่ง

“ข้าพเจ้าขอขอบอกขอบใจรัฐบาลไทยที่ให้ความช่วยเหลือ และรู้สึกดีอกดีใจที่ได้เป็นตัวแทนรับมอบโครงการน้ำลินซึ่งจะช่วยลดทอนความลำบากของชาวบ้าน น้ำหมดก็ค่อยมาตักไป”

สิ้นเสียงท่านรองเจ้าแขวง กลุ่มชาวม้งร่วมปรบมือเป็นพยาน

เด็กน้อยยิ้มกว้างขณะเปิดก๊อกให้พวกผู้ใหญ่ดูน้ำไหลเป็นสาย

:: ขัว (ຂົວ) ข้ามน้ำของ (ນໍ້າຂອງ) สู่อนาคตหลวงพะบาง ::

วันนี้ท่าเรือข้ามหลวงพะบาง-เชียงแมน (จอมเพ็ด) ยังเป็นทางเลือกเดียว

เพราะถนนเชื่อมโยงเศรษฐกิจท่องเที่ยวระหว่างน่าน-หลวงพะบางสิ้นสุดเพียงเมืองจอมเพ็ด

หากจะนำรถข้ามแม่น้ำโขงซึ่งกว้าง ๕๔๐ เมตร สู่เมืองมรดกโลกต้องใช้บริการแพขนานยนต์

“สมัยก่อนถนนในหลวงพะบางชันมากไม่เหมือนที่เห็นปัจจุบัน หน้าร้อนก็ฝุ่นเยอะหน้าฝนก็ลื่น คนขี่มอเตอร์ไซค์ไถลกันประจำ มีโป๊ะให้ขนรถข้ามได้ก็สะดวกขึ้น แต่ราคาก็แพงสำหรับชาวบ้าน รถยนต์คันละ ๑๖๐ บาท ไป-กลับกี่ครั้งต้องจ่ายใหม่ทุกครั้ง และหลังหกโมงเย็นก็จะเก็บแพงขึ้นอีก”

สุกสาคอน ไซยะมงคน (ສຸກສາຄອນ ໄຊຢະມຸງຄຸນ) หญิงมักคุเทศน์ชาวหลวงพะบางสะท้อนว่าราคาที่ท่าเรือเอกชนเรียกเก็บเป็นจำนวนเท่ากันหมด ไม่มีข้อยกเว้นว่าเป็นคนลาวหรือต่างชาติ

“เขาลดให้แค่ข้าราชการที่ต้องข้ามฝั่งไปทำงาน แต่ก็มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้อย่างน้อยเดือนละ ๖๐๐ บาท ถ้าใช้มอเตอร์ไซค์ก็เดือนละ ๒๐๐ บาท ซึ่งเงินเดือนที่ลาวยังให้น้อยมากนะถ้าเทียบกับไทย”

“แล้วปัจจุบันยังมีเรือบัครองรับอยู่เพียง ๑๐ ลำ ในเวลาปรกติใช้เวลารอคิว ๑๕-๒๐ นาที แต่ถ้าเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือฤดูหนาวช่วงหยุดยาวปีใหม่จะมีรถยนต์นับร้อยคันมาจอดรอใช้บริการเพื่อจะนำรถข้ามไปยังเมืองมรดกโลก ทั้งรถของนักท่องเที่ยวและรถขนส่งสินค้าให้ตามร้านอาหารหรือโรงแรมต่างๆ ทำให้การจราจรติดขัดมาก และไม่สะดวกในด้านการคมนาคมขนส่ง”

พีรเมศร์ ผู้อำนวยการ สพพ. (NEDA) ประเมินว่าในวันนี้ยังอาจเพียงพอ แต่อีก ๓-๔ ปีข้างหน้าไม่พอแน่ เนื่องจากสถิติการท่องเที่ยวในหลวงพระบางเติบโตมากขึ้นทุกปี

“เพื่อให้การเดินทางสมบูรณ์ตามที่ควรเป็น เราจึงจะทำโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงระยะทางยาว ๖๐๐ เมตร ต่อยอดเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงจังหวัดน่านกับเมืองมรดกโลกหลวงพะบางที่เนด้าได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินไปแล้ว ในงานประชุมอาเซียนที่เพิ่งผ่านมา ท่านนายกของไทยและ สปป.ลาว ก็มีการหารือกัน ทางลาวได้แจ้งความต้องการด้านต่างๆ มาแล้ว ส่วนไทยก็อยู่ในขั้นตอนออกแบบ”

ผู้อำนวยการ สพพ. (NEDA) คาดว่าใช้เวลาออกแบบอีก ๑ ปี แล้ว ๒ ปีข้างหน้าจึงเริ่มสร้าง

บริเวณเหมาะสมจะอยู่เหนือท่าอากาศยานนานาชาติหลวงพะบาง เชื่อมต่อถนนจากเมืองหงสา-บ้านเชียงแมน (จอมเพ็ด) กับถนนหมายเลข ๑๓

ถนน-สะพานเพื่อการท่องเที่ยว น่าน-หงสา-จอมเพ็ด-หลวงพะบาง ยังต้องวัดผลสำเร็จ

แต่ที่เกิดขึ้นแล้วคือผลดีของหลวงพะบางที่สนองต่อแคมเปญ “Visit Laos Year 2018”

สุชาดา ลิมป์
ผู้ไม่เน้นความเป็นระเบียบในชีวิต ถูกจริตกับผ้าขาวม้า วิถีท้องทุ่ง เรื่องราววัฒนธรรมร่วมสมัย พอๆ กับศิลปะและการเดินทาง