วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


Businessman handing pencil and working laptop new business project. Generic design notebook on the table. Blurred background

ผู้รู้บางคนหรือตำราหลายเล่มอาจจำแนกประเภทงานสารคดีแตกต่างกันไป แต่นักเขียนใหม่ไม่ต้องสับสนไขว้เขว

ความเข้าใจเรื่องประเภทไม่ใช่การตอบข้อสอบแบบที่จะชี้ถูกผิดตายตัว แต่เพียงเพื่อจะช่วยให้ผู้เขียนชัดเจนในประเด็นและง่ายต่อการทำงานตลอดกระบวนการ ตั้งแต่คิดโครงเรื่องจนเป็นชิ้นงาน

โจทย์งานชิ้นใหญ่ในค่ายสารคดี รุ่นที่ ๑๕ ว่าด้วยหัวข้อ “อาชีพ”

ความเข้าใจต่อเรื่องประเภทของงานสารคดี จะมีส่วนช่วยให้นักเขียนแต่ละคนจับประเด็นหลักของเรื่องได้แม่นยำ เพราะต่อเรื่องหนึ่งๆ จะเลือกแง่มุมใดขึ้นมาเป็นประเด็นหลักก็ได้ ผู้เขียนจะควบคุมขอบเขตเนื้อหาที่เขียนได้เมื่อรู้ว่าจะให้งานสารคดีของตนอยู่ในกลุ่มประเภทใด

ประเภทของงานสารคดีตามที่นิตยสาร สารคดี จำแนกไว้มีอย่างน้อย ๖ ประเภท

  • สารคดีชีวิต
  • สารคดีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • สารคดีวิทยาศาสตร์
  • สารคดีประวัติศาสตร์
  • สารคดีศิลปวัฒนธรรม
  • สารคดีท่องเที่ยว
  • ฯลฯ

หัวข้อสารคดีเกี่ยวกับอาชีพตามที่โจทย์กำหนด มีแนวโน้มที่จะหนักไปทางประเภทสารคดีชีวิต คือมุ่งเล่าเรื่องให้เห็นภาพชีวิต ความเป็น “นัก” นั่นนี่ของ “มืออาชีพ” ในอาชีพนั้นๆ ที่ผู้เขียนแต่ละคนเลือกสรรมานำเสนอ มากกว่าจะมุ่งที่ตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะทำให้สารคดีเรื่องนั้นหลุดไปจากเรื่องอาชีพ

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ จากบางเรื่องจำนวนนักเขียน ๒๕ คน ในค่ายรุ่นนี้ ที่เสนอเรื่องที่เข้าข่ายนี้ อย่างเรื่อง ดาบเหล็กน้ำพี้ เสื่อกกจันบูร ถ้าเน้นประเด็นหลักไม่ถูกที่ ไปเน้นที่ตัวผลิตภัณฑ์ก็ง่ายที่จะกลายเป็นสารคดีประเภทศิลปวัฒนธรรม คือผลงานหัตถกรรม ซึ่งหลุดไปจากความเป็น (มือ)อาชีพ ตามที่โจทย์กำหนด

สารคดีสองเรื่องนี้ต้องเน้นเสนอความเป็นมืออาชีพของคนทำ มากกว่าตัวผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในเรื่องได้ ในฐานะประเด็นย่อยประเด็นรอง

ดังนี้การจำแนกประเภทจึงจะสำเร็จประโยชน์ในทางการเขียน มากกว่าแบบความรู้เพื่อตอบข้อสอบ