ธงแดง ตอนที่ 7 “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่เรียกว่า “ธงชาติ”
โดย ศรัณย์ ทองปาน
สงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลงในปี 2461 ฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งหมายรวมถึงสยาม ได้รับชัยชนะ กองทหารอาสาของสยามมีโอกาสเชิญธงชัยเฉลิมพลพระราชทานนำขบวนสวนสนามผ่านประตูชัยกรุงปารีส เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2462 นับแต่นั้นมา ธงไตรรงค์กลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของประเทศสยามที่โลกรู้จัก และเริ่มก่อกำเนิดความผูกพันกับประชาชน ดังนั้นในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อมีผู้เสนอว่าควรรื้อฟื้นเอาธงช้างเผือกกลับมาเป็นธงชาติตามเดิม ผู้ที่แสดงทัศนะคัดค้านตามหน้าหนังสือพิมพ์ ล้วนแต่หยิบยกเอาความภาคภูมิในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสงครามโลกมาเป็นข้อสนับสนุน
24 มิถุนายน 2475 – พร้อมๆ กับการยึดอำนาจการปกครองโดยคณะราษฎร ธงไตรรงค์ถูกเชิญขึ้นสู่เสา ณ ยอดโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม กองบัญชาการชั่วคราวของคณะราษฎร แทนที่ธงมหาราชซึ่งเคยโบกสะบัดยามในหลวงประทับในพระนคร
ในเวลาต่อมา ธงชาติผืนนั้นจึงถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในฐานะ “หมุดหมายใหม่” ของระบอบใหม่ – ประชาธิปไตย (แต่ดูเหมือนจะหายสาบสูญไปนานแล้ว…)
รัฐบาลยุคหลัง 2475 หันมาใช้ธงไตรรงค์ – ซึ่งว่าที่จริงก็เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคราชาธิปไตย – ในฐานะเครื่องมือสำคัญเพื่อการนิยามตนเอง และ “ชาติไทย” ที่เป็น “ประชารัฐ” (Nation State)
ธงชาติไทยกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ราษฎรทั้งหลายพึงให้ความเคารพเทิดทูนเสมอด้วยชีวิต รวมถึงเกิดข้อกำหนดกฎเกณฑ์มากมายเกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องนี้ เช่นการแสดงความเคารพระหว่างการเชิญธงขึ้นลงในเวลา 8 นาฬิกาและ 18 นาฬิกา กลายเป็นกิจวัตรอันสำคัญยิ่งสำหรับพลเมืองแห่งรัฐไทยยุคใหม่
รายการสนทนาทางวิทยุ (สมัยนั้นยังไม่มีโทรทัศน์) ระหว่างโฆษกคู่ขวัญแห่งยุคทศวรรษ 2480 ผู้ใช้นามแฝงว่า “นายมั่น – นายคง” อันเป็นสื่อมวลชนสำคัญของรัฐบาล เคยแจกแจงวิธีการเคารพธงชาติไว้อย่างละเอียดลออ มีรายละเอียดถึงระดับที่ว่า
- รถสามล้อรับจ้างต้องหยุด ผู้ขับขี่และคนโดยสารลงจากรถทำความเคารพ
- ถ้ากำลังหาบของ หรือกำลังกระเดียดกระจาดอยู่ วางหาบและกระจาดตรงหน้าแล้วยืนตรง
- กำลังอาบน้ำ ทำครัว หรือทำงานใดๆ อยู่ ให้ยืนตรงนิ่ง
- ถ้ากำลังแบกหามของหนักมาก เช่นแบกกระสอบข้าวสาร เป็นต้น เมื่อจวนจะถึง 8.00 น. ควรวางลงเสียก่อน
- เวลาพายเรือ แจวเรืออยู่ ถ้าเป็นเรือเล็กยืนขึ้นจะล่ม ก็ให้นั่งตรง ชายถอดหมวก หนีบด้ามพายไว้ในรักแร้ ทอดใบพายไปข้างหลัง ถ้าเป็นเรือใหญ่ใช้แจว ทอดแจวไปทางท้ายเรือ แล้วยืนตรง ชายถอดหมวก
- ผู้กำลังทำหน้าที่ขับยานพาหนะ ถ้าแสดงการเคารพจะเป็นการละทิ้งหน้าที่หรือทำให้เกิดอันตรายขึ้น เช่นกำลังถือท้ายเรือยนต์ เรือกลไฟ เป็นต้น ก็ไม่ต้องแสดงเคารพ เป็นแต่นั่งตรงก็พอแล้ว ถ้ายืนถือพวงมาลัยได้ก็ยืน จะงามดี
- คนขับรถราง ถ้ารถรางหยุดอยู่ให้ยืนตรงนิ่ง และทำวันทยหัตถ์ เพราะมีเครื่องแบบ ถ้ารถกำลังแล่น ก็เบาลง แล้วขับต่อไป ไม่ต้องแสดงความเคารพ เพราะจะเป็นอันตราย ฯลฯ
ธงชาติจึงถูกทำให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ “มีชีวิต” ของตนเอง คือได้รับการเชิญขึ้นสู่ยอดเสาตอนแปดโมงเช้า และเชิญลงหกโมงเย็น โดยมีเพลงชาติบรรเลงประกอบทั้งสองเวลา เฉกเช่นเทพเจ้าฮินดู ที่พราหมณ์ประจำเทวสถานจะต้องปลุกให้ตื่นทุกเช้า อัญเชิญเข้าที่บรรทมทุกค่ำคืน พร้อมประโคมดุริยดนตรีอึงมี่
และเมื่อธงชาติเก่าขาดชำรุดไปจะต้องถูกแปรรูปด้วยความเคารพ แนวทางปฏิบัติสำหรับธงชาติไทยคือให้ฉีกแต่ละแถบสีจนขาดจากกัน หมดสภาพความเป็น “ธงชาติ” เสียก่อน ส่วนธงชาติอินเดีย (มีชื่อว่าธงไตรรงค์ – tiranga เหมือนธงไทย) ซึ่งประกอบด้วยแถบสีแสด สีขาว สีเขียว มีรูปธรรมจักรสีน้ำเงินอยู่ตรงกลาง มีข้อกำหนดพิเศษขึ้นไปอีก ว่าอาจนำไปฝังดิน ถ่วงให้จมลงในแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ หรือจัดพิธีฌาปนกิจทั้งผืนในที่รโหฐาน ด้วยความนอบน้อมคารวะก็ได้