Passport  


ผงะนิดๆ ตอนเห็นทาดหมากโม (ທາດໝາກໂມ) เปลี่ยนโฉม

สว่างโล่แยงตาแต่ไกล ราวไม่ใช่พระธาตุองค์เดียวกับที่เคยเห็น

“ที่เป็นสีขาวอย่างนี้เพราะเพิ่งได้รับการบูรณะใหม่ ข้าเจ้าก็เสียดายสีดำแบบเดิมเพราะสวยกว่า แต่ทีมที่บูรณะเขาบอกว่าของเดิมก็เป็นสีขาว เดี๋ยวปล่อยนานไปก็จะกลับไปดำเหมือนเดิม”

สุกสาคอน ไซยะมงคน (ສຸກສາຄອນ ໄຊຢະມຸງຄຸນ) มัคคุเทศก์ชาวหลวงพะบาง (ຫລວງພະບາງ) เสริมว่าจะอย่างไรคนหลวงพะบางก็ศรัทธา เพราะคุณค่าแท้จริงอยู่ที่องค์พระธาตุ

“คนโบราณเล่าต่อกันว่าบริเวณข้างวัดเคยมีบึงต้องคำสาปตั้งอยู่ คนไปดูก็ตาย สัตว์ไปดูก็ตาย สองปีต่อมาหลังสร้างวัดเสร็จมเหสีของเจ้าชีวิตจึงเป็นผู้นำพาให้มีการสร้างทาดนี้ขึ้นมาโอบบึงไว้”

น้อย-สุกสาคอนเล่า แต่ดั้งเดิมคนลาวเรียกพระธาตุที่พระนางพันตินะเชียงเบด พระอัครมเหสีในพระเจ้าวิชุนนะราดผู้สละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างว่า “ทาดปะทุม” (ທາດປະທຸມ) สื่อความถึงดอกบัวศักดิ์สิทธิ์ ได้ชื่อว่าเป็นพระธาตุใหญ่ที่งดงามสุดในสมัยนั้น ต่อมาคนส่วนใหญ่เปลี่ยนมาเรียกทาดหมากโมตามรูปทรงกลมตัดครึ่งดูคล้ายแตงโมแบ่งครึ่งคว่ำครอบองค์พระธาตุไว้

“สมัยโบราณหลวงพะบางเคยมีวัดมากถึง ๖๕ วัด ปัจจุบันเหลือ ๓๒ วัด เนื่องจากเคยมีจีนฮ่อมาเผาผลาญเมืองหลวงพะบางรวมถึงวัดนี้ด้วยแต่กลับเหลือทาดนี้ไว้ เขาคงคิดว่าภายในไม่มีอะไร ความจริงบรรจุของมีค่าไว้มากมายทั้งทาดเจดีย์ พระพุทธรูปทองคำ เงิน ทอง เยอะแยะไปหมด”

ภายหลังที่พบรัฐบาลจึงนำวัตถุทั้งหมดซึ่งล้วนมีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมไปเก็บรักษาที่ “หอคำ” (หอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพะบาง) อดีตพระราชวังที่ประทับเจ้าชีวิตสายหลวงพะบาง

วันนี้ นอกจากทาดหมากโมจะได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ แผนกแถลงข่าว, วัฒนธรรม และท่องเที่ยวแขวงหลวงพะบาง ยังให้ปฏิสังขรณ์ควบคู่กับอุโบสถของวัดวิชุน (ວັດວິຊຸນ) อันเก่าแก่ที่สุดของเมืองหลวงพะบาง โดยปรับปรุงตั้งแต่หลังคาวัด ทาสีฝาผนัง ที่จับประตู และเสา ซ่อมแซมลวดลายต่างๆ ตามไม้ซี่ ไม้กลอนประตูหน้าต่าง และเสาไม้ ไปจนถึงบำรุงระบบไฟฟ้าใหม่และติดตั้งระบบป้องกันฟ้าผ่า

มัคคุเทศก์สาววัย ๒๓ ปี ย้อนประวัติศาสตร์ตามที่เธอศึกษาเรื่องราวท้องถิ่นให้ฟัง

“เมื่อห้าร้อยปีก่อนวัดเดิมนี้เคยใช้เสาจากไม้แท้ขนาดใหญ่ทั้งประดู่ มะค่า พะยูง จำนวน ๔,๐๐๐ กว่าต้น สมัยนั้นไม้สักยังไม่มีค่าเท่าไม้ที่คงทนมากเหล่านี้ ต่อมามีพวกโจรข้าศึกบุกโจมตี ปล้นสะดม ทำให้วัดนี้ถูกทำลายส่วนหนึ่ง อีกเกือบร้อยปีต่อมาได้จึงปฏิสังขรณ์ใหม่ ใช้เวลาปีเดียวก็สร้างเสร็จแต่ไม่สามารถหาไม้ขนาดใหญ่ได้ครบ ๔,๐๐๐ กว่าต้นดังเดิม เสาบางต้นจึงใช้ไม้ขนาดเล็กกว่าแล้วครอบชั้นนอกด้วยปูน”

ด้วยเป็นดำรัสของเจ้าชีวิตวิชุนนะราด (ພະເຈົ້າວິຊູນນະຣາດ) จึงตั้งชื่อวัดตามนามของพระองค์ แล้วอัญเชิญ “พะบาง” พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรจากวัดมะโนรม (ວັດມະໂນຣມ) มาประดิษฐาน

“จนถึงวันนี้ วัดวิชุนนะราดมีอายุร้อยกว่าปีแล้ว คนหลวงพะบางให้ความเคารพศรัทธามาตลอด ไม่เพียงเป็นวัดที่ได้รับการสร้างขึ้นก่อนวัดเซียงทองที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกรู้จักมากกว่า พระพุทธรูปหลายองค์สำคัญก็เคยประดิษฐานที่นี่ แม้ปัจจุบันวัตถุมรดกทางศาสนาจะย้ายไปรักษาที่หอคำเกือบหมดแล้ว ที่นี่ยังเคยสำคัญขนาดว่าก่อนที่เจ้ามหาชีวิตทุกพระองค์จะขึ้นครองราชย์ต้องบวชจากวัดนี้ก่อน แต่เมื่อจะสึกต้องไปสึกที่วัดอื่น ด้วยถือว่าที่นี่เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ เมื่อขึ้นครองราชย์ก็ต้องมาดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาจากโอ่งในวัดนี้”

เธอนำชมรอบบริเวณวัดพลางชี้ชวนให้สังเกตสิ่งสำคัญต่างๆ ขณะเดินผ่านสถาปัตยกรรมของพุทธสีมาวัดวิชุนแห่งนี้สวยงามต่างจากพุทธสีมาอื่นๆ ในลาว สันนิษฐานว่าเป็นสกุลช่างแบบไทลื้อสิบสองปันนา (ยกเว้นดอกดวงแกะสลักบนบานประตูเป็นสกุลช่างศิลปะแบบเชียงขวาง)

เลื่องลือว่าประตูไม้ที่ออกแบบลวดลายอย่างสวยงามนั้นไม่มีซ้ำวัดใดในหลวงพะบาง เนื่องจากได้รับต้นแบบมาจากวัดพูจำปาสักที่ตั้งอยู่ภาคใต้ของลาว

อิ่มเอมความสวยภายนอกพอสมควร หญิงเจ้าบ้านนำเยี่ยมชมต่อภายในอุโบสถ

“พระประธานหลวงในอุโบสถนี้เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สุดในหลวงพะบาง เวลานี้กำลังบูรณะและพอกทองคำเปลวให้ท่านใหม่ ใครมีจิตศรัทธาจะร่วมอนุโมทนาบุญติดทองคำเปลวก็บริจาคได้”

เธอส่งขันรับบริจาคให้ร่วมหย่อนธนบัตรสกุลกีบ บาท หรือดอลล่าร์ ก่อนนำชมพระพุทธรูปเก่าแก่องค์เล็กองค์น้อยอีกมากมายรวมถึงศิลาจารึกรูปแบบต่างๆ ที่เรียงรายอยู่หลังองค์พระประธาน

“ข้าเจ้าเคยรู้ว่าพระพุทธรูปของพม่ามี ๗๕ ปาง ในไทยมี ๖๔ ปาง แต่ที่ลาวมีเพียง ๑๒ ปาง”

มาหลวงพะบางคราวนี้ยินดีกว่าครั้งไหน ได้หลายเกร็ดความรู้จากเจ้าถิ่นซึ่งหาอ่านยากจากที่อื่น ต้องยอมรับว่าการมาเที่ยวกับผู้ที่กำข้อมูลเพียงครั้งยังคุ้มค่ากว่ามาเองหลายครั้งแต่ไม่เคยรู้อะไร

แม้เริ่มต้นจากความชะงักงันเมื่อแรกเห็นความไม่คุ้นตาของทาดหมากโม

จึงกลับออกจากวัดวิชุนด้วยยินดีที่สิ่งสำคัญของมรดกโลกได้รับการดูแล

สนับสนุนการลงพื้นที่ : สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.)

เรื่องและภาพ : สุชาดา ลิมป์