วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


ค่ายอบรมการเขียน “หอมกลิ่นลำดวน” เป็นค่ายใหม่แต่มาแรง เพิ่งเริ่มเปิดมา ๒ ปี แต่จะเป็นรุ่นที่ ๔ แล้วในสุดสัปดาห์ข้างหน้านี้ ในการสร้างนักเขียนให้เขียนเรื่องใกล้ๆ ตัว อย่างชีวิตของบุพการี

งานเขียนชีวประวัติบุคคลในลักษณะก็คือ ”สารคดีชีวิต” ซึ่งสามารถนำสูตรการเขียนสารคดีมาใช้ได้เลย

แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้หมายมั่นจะเป็นนักเขียนอาชีพ อาจจับหลักง่ายๆ เพียง ๒ ข้อ มาใช้ในการทำงาน คือ

การสัมภาษณ์
และชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง

การสัมภาษณ์ เป็นเครื่องมือหลักในการดึงเรื่องราวจากชีวิตคนออกมาเป็นงานเขียน บุพพการีที่เราอยู่ด้วยมาตั้งแต่เกิด ได้รับรู้และอยู่ร่วมในเหตุการณ์ต่างๆ มามากมายอย่างแน่นอน แต่ก็ย่อมมีบางเรื่องบางด้านที่เราไม่รู้ละเอียด การสัมภาษณ์จะช่วยเราไขข้อมูลส่วนนี้ออกมาได้

ส่วน ชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง จะช่วยให้เรื่องเล่าของเราไปพ้นความธรรมดาทั่วไป ไปพ้นความเป็นเรื่องส่วนตัวภายในครอบครัวผู้เขียน แต่เข้าถึงความรู้สึกร่วมของคนอ่านที่เรียกกันว่า “มีความเป็นสากล”
ผลงานที่เข้าข่ายนี้จะเป็นที่ติดอกติดใจคนอ่าน เป็นความรื่นรมย์อันชวนติดตาม ซึ่งนำไปสู่การชื่นชมยอมรับผู้เขียนในฐานะ-นักเขียน ผู้เล่าเรื่อง

นักเขียน “หอมกลิ่นลำดวน” รุ่นที่ ๓ ทยอยส่งผลงานกันมาแล้ว

ลองอ่านบางตอนของชิ้นพอชิมลางก่อนอ่านฉบับเต็มตอนพิมพ์รวมเล่ม

ฉันใช้เวลากว่าสี่ชั่วโมงขับรถกลับบ้านไปหาแม่ ทันทีที่แม่เห็นฉัน ท่านโผกอดพร้อมร้องไห้เสียง สะอื้นดังอย่างที่ฉันไม่เคยเห็นมาก่อน แม้รายล้อมด้วยลูกค้าจํานวนมากในร้านอะไหล่รถยนต์ก็ตาม ทั้งที่ปกติแล้วแม่จะเอาใจใส่ลูกค้ามาก จะไม่ให้ลูกค้ายืนรอนาน และรีบตั้งหน้าตั้งตาขายของ แต่แม่กลับหยุด สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นชีวิตของแม่ การค้าขายทุกวันตลอดสามสิบกว่าปี เพื่อมากอดฉัน

อ้อมกอดนั้น ทําให้ฉันเข้าใจแล้วว่า จริงอยู่ที่ชีวิตของแม่คือการทํางาน แต่แม่ทํางานเพื่อฉัน เพราะฉะนั้นฉันจึงสําคัญกับแม่มากกว่าสิ่งใดทั้งหมด

ในความทรงจําตั้งแต่เยาว์วัย แม่เป็นเหมือนนักรบผู้ยิ่งใหญ่ แต่ในตอนนั้นฉันสัมผัสได้ว่าท่านไม่ใช่ นักรบแต่เป็น แม่ ที่เข้ามาสวมกอดฉันแน่น น้ำตาแม่มหาศาลที่ซึมผ่านเสื้อผ้าที่ฉันใส่ไปยังเนื้อผิวทําให้ฉัน หลั่งน้ำตาตามโดยไม่รู้ตัว หากแต่คราวนี้ไม่ใช่น้ำตาจากความเสียใจเหมือนตอนที่อดีตสามีทําร้ายฉันไม่ว่า ด้วยคําพูดหรือการกระทําตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาแต่เป็นน้ำตาแห่งความอิ่มเอมใจที่ฉันได้เข้าใจอย่าง กระจ่างชัดว่าแม่รักฉันมากขนาดไหน

(“รักร้ายลบรอยร้าว” โดย ทิพากร)

ฉันคอยอยู่ดูแลม๊าเป็นหลักด้วยเหตุผลที่ว่าหากเราทุกคนทำมาหากินจะร่ำรวยแค่ไหนก็คงไม่มีประโยชน์ถ้าม๊าไม่มีใครดูแลม๊าปล่อยให้ม๊าต้องเจ็บป่วยไม่มีคนพาหาหมอ

คืนหนึ่งเมื่อปี ๒๕๔๘ ที่ภูใจใสฉันจำได้ไม่มีวันลืม ขณะนั่งกินข้าวกับลูกทัวร์ที่เป็นคุณหมอฟัน ช่วงหนึ่งม๊าเล่าให้คุณหมอท่านนั้นฟังว่า “ม๊าไปทำฟันและเกิดปัญหามีอาการเสียวจี๊ดคงเป็นความิดพลาดอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างทำฟัน หมอฟันบอกให้ม๊ารีบไปโรงพยาบาลทันที ม๊าขึ้นแท็กซี่ไปตามที่หมอฟันแนะนำ แต่โรงพยาบาลแรกที่ไปถึง เจ้าหน้าที่ห้องบัตรบอกม๊าว่า ยายไปที่อื่นเถอะ ที่นี่ปิดรับบัตรแล้ว ม๊าปวดจนน้ำตาไหล”

วินาทีนั้นฉันน้ำตาซึมเมื่อคำพูดนี้หลุดออกมาจากปากม๊า พร้อมความรู้สึกว่า ทำไมม๊าเลี้ยงพวกเราลูกทั้ง ๔ คนได้ แต่ยามม๊าเจ็บป่วยไม่มีใครพาม๊าไปหาหมอ ปล่อยให้ม๊าต้องทุกข์ทรมาน

ม๊าเป็นผู้หญิงชราที่ไม่แต่งตัวและชีวิตจำกัดอยู่แค่ครอบครัว ไม่เคยรู้จักโลกภายนอก ไม่ดูดีตามคตินิยมที่ดูกันภายนอก

จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชีวิตของม๊าเปลี่ยนไปมีโรคประจำตัวที่แสนจะทรมานอันเนื่องมาจากการปวดเส้นประสาทคู่ที่ ๕ เพราะรักษาไม่ทันและไม่ถูกจุด ทรมานมาก อ้าปากกินข้าวไม่ได้ น้ำหนักลดลง ๑๐ กิโลในช่วงเวลาไม่นาน เคยปวดแล้วร้องไห้ต่อหน้าหมอที่รักษา จนถึงขั้นต้องให้มอร์ฟีนระงับปวด และกลายเป็นการเจ็บป่วยที่เรื้อรัง

(“แม่ผู้เสียสละ” โดย สุนันท์ คุณากรไพบูลย์ศิริ)