ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน
ที่มา : http://tupian.hudong.com
Marja Sklodowska Curie หรือที่รู้จักในประเทศฝรั่งเศสว่า มารี คูรี (Marie Curie) เป็นนักเคมี-ฟิสิกส์ฝรั่งเศสเชื้อชาติโปแลนด์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีและสาขาฟิสิกส์จากผลงานการศึกษาธรรมชาติของกัมมันตรังสีและการพบธาตุเรเดียม (radium) กับพอโลเนียม (polonium) นอกจากผลงานอันโด่งดังนี้แล้วเธอยังเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับดุษฎีบัณฑิต เป็นศาสตราจารย์สตรีคนแรกแห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ในปารีส และเมื่อหนังสือชีวประวัติ Madame Curie เรียบเรียงโดย Ève Curie บุตรสาวของเธอ ออกวางจำหน่าย เธอก็ได้กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่โลกรู้จักดีเป็นอันดับ ๒ รองจาก อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
Marja Sklodowska เกิดที่กรุงวอร์ซอในโปแลนด์ เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๖๗ ช่วงที่รัสเซียยึดครองโปแลนด์ คนโปแลนด์จำนวนมากที่ต่อต้านรัสเซียจะถูกฆ่า จำคุก หรือถูกเนรเทศไปไซบีเรีย นอกจากนี้รัฐบาลรัสเซียยังบังคับให้นักเรียนโปแลนด์ทุกคนต้องเรียนภาษารัสเซียเพื่อไม่ให้ชาวโปแลนด์มีภาษาของตนเอง ทั้งไม่สนับสนุนให้ชาวโปแลนด์ได้รับการศึกษาขั้นสูง ยิ่งถ้าเป็นสตรีก็ยิ่งถูกปิดกั้นโอกาส เด็กหญิง Marja ผู้ใฝ่รู้จึงสมัครไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยคราโคว์ในกรุงคราโคว์ซึ่งขณะนั้นตกอยู่ในความปกครองของออสเตรีย แต่กลับได้รับคำตอบว่าเธอน่าจะเรียนคหกรรมศาสตร์มากกว่า เด็กหญิงจึงเปลี่ยนความตั้งใจไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศสแทน เพราะเธอพูดภาษาฝรั่งเศสได้คล่อง และสตรียุโรปเช่นผู้หญิงอังกฤษที่ต้องการเรียนแพทย์ก็มักเลือกไปฝรั่งเศส เธอจึงสมัครไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ในกรุงปารีส และได้รับการตอบรับเพราะฝรั่งเศสเห็นอกเห็นใจชาวโปแลนด์ที่ถูกกดขี่
แต่การเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศต้องใช้เงินมาก เธอกับพี่สาว Bronya จึงผลัดกันไปเรียนโดยเธอทำงานเป็นครูสอนพิเศษหาเงินส่งพี่สาวให้เรียนจบแพทย์ก่อน จากนั้น Marja จึงออกเดินทางไปศึกษาต่อโดยให้พี่สาวหาเงินส่งเธอเรียนบ้าง
ในปี ๑๘๙๑ Marja วัย ๒๔ ปีซึ่งเปลี่ยนชื่อต้นเป็น Marie(เป็นชื่อฝรั่งเศส) ได้เข้าเรียนฟิสิกส์กับคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ อีก ๒ ปี
ต่อมาเธอก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาฟิสิกส์ และปริญญาโทสาขาคณิตศาสตร์ในอีก ๑ ปีให้หลัง
เดือนเมษายน ๑๘๙๔ มารีเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าห้องปฏิบัติการแห่ง Municipal School of Industrial Physics and Chemistry ที่ปารีส และได้เข้าฟังการสอบวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของ ปิแยร์ คูรี (Pierre Curie) หนุ่มวัย ๓๖ ปี ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ เธอตกหลุมรักชายหนุ่มรูปร่างสูงสง่า นัยน์ตาและผมสีน้ำตาล ใบหน้าเหลี่ยม บุคลิกเรียบง่าย ยิ่งเมื่อได้พบว่าปิแยร์รักวิทยาศาสตร์เหมือนกัน ในที่สุดทั้งคู่ก็ตัดสินใจแต่งงานเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ค.ศ.๑๘๙๕ โดยจัดพิธีแบบเรียบ ๆ ที่ไม่ต้องใช้แหวนหมั้น จากนั้นเดินทางไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ด้วยการขี่จักรยานเที่ยวในฝรั่งเศส
ปี ๑๘๙๗ มารีให้กำเนิดบุตรสาวคนแรกชื่อ Irène แม้ต้องรับภาระเพิ่มขึ้นคือการเลี้ยงดูลูก แต่เธอก็ยังทำงานวิทยาศาสตร์ควบคู่กับการทำหน้าที่ภรรยา คนทั้งสองแบ่งงานกันทำ เช่นขณะภรรยาทำครัว สามีก็จะช่วยดูแลลูก มารีตัดสินใจเรียนต่อระดับดุษฎีบัณฑิตด้านฟิสิกส์ และเธอได้ตั้งปณิธานว่า จะต้องแบ่งเวลาดูแลลูก ทำงานบ้าน และเรียนหนังสือ เพราะเธอรักงานเหล่านี้ทุกงาน เธอจึงไม่สลัดทิ้งงานหนึ่งงานใด การตัดสินใจเช่นนี้ทำให้ปิแยร์รู้สึกสุขใจและภูมิใจไปด้วย
เมื่อเข้าเรียนระดับดุษฎีบัณฑิต มารีต้องเลือกหัวข้อทำวิทยานิพนธ์ ช่วงเวลานั้นเธอได้ทราบว่าเมื่อ ๒ ปีก่อน คือในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๙๕ วิลเฮล์ม เรินต์เกน (Wilhelm Röntgen) พบรังสีเอ็กซ์ซึ่งเป็นรังสีที่ตามองไม่เห็น และมีอำนาจทะลุทะลวงสูงโดยผ่านเนื้อเยื่อคนไปถึงกระดูกได้ ทำให้เห็นกระดูกในร่างกายคนเป็น ๆ โดยไม่ต้องใช้วิธีผ่าตัด
อีก ๓ เดือนต่อมา อองตวน เบกแครล (Antoine Becquerel) เสนอรายงานว่าสารประกอบยูเรเนียมแม้อยู่ในที่มืดก็อาจปล่อยรังสีออกมาจนทำให้แผ่นฟิล์มมัวหมองได้
จากข่าวการค้นพบทั้งสองนี้ มารีใคร่ศึกษาต่อยอดว่ารังสีที่สารประกอบยูเรเนียมปล่อยออกมาคือรังสีอะไร และสารประกอบอื่น ๆ มีความสามารถในทำนองเดียวกันนี้หรือไม่ สาเหตุที่ทำให้ธาตุเปล่งรังสีคืออะไร และรังสีที่ออกมามีความรุนแรงเพียงใด
ในการทดลองเบื้องต้น ปิแยร์และน้องชายชื่อ Jacques ได้ออกแบบอุปกรณ์วัดกระแสไฟฟ้าที่มีความไวสูงให้มารีใช้ และเธอก็ใช้อุปกรณ์นี้ศึกษารังสีที่สารประกอบยูเรเนียมปล่อยออกมา เธอคิดว่ารังสีเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอะตอมยูเรเนียม แต่ก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ สนับสนุนความคิดนี้อย่างชัดเจน
ในปี ๑๘๙๘ มารีได้นำแร่ pitchblende ซึ่งเป็นแร่สีดำแข็งมาวิเคราะห์จนพบธาตุใหม่ ๒ ธาตุ คือ พอโลเนียม (ซึ่งเธอตั้งชื่อตามประเทศบ้านเกิดของเธอ) และเรเดียมซึ่งมีสีเงินเรืองแสงได้ และได้พบว่าธาตุเรเดียมนี้ปล่อยรังสีออกมารุนแรงกว่ายูเรเนียมราว ๙๐๐ เท่า ในปี ๑๙๐๒ เธอก็สกัดแร่เรเดียมบริสุทธิ์ได้ และประจักษ์ว่าแร่มีกัมมันตภาพรังสีรุนแรงมากจนผิวของปิแยร์ถูกเผาไหม้ ทำให้จับมีดและส้อมไม่ได้ เมื่องานวิจัยสิ้นสุด สุขภาพของสองสามีภรรยาก็เริ่มทรุดโทรม
เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๓ มารีวัย ๓๖ ปี ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาฟิสิกส์ ลุถึงเดือนพฤศจิกายนปีนั้น ทั้ง อองตวน เบกแครล และสามีภรรยาคูรีก็ได้รับการประกาศว่าเป็นผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี ๑๙๐๓ จากผลงานการพบปรากฏการณ์กัมมันตรังสีของเบกแครล และการศึกษาธรรมชาติของสารกัมมันตรังสีของมารีและปิแยร์ คูรี (radioactivity เป็นคำที่มารีคิดขึ้นใช้คนแรก)
หลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่าในเบื้องต้น มารีไม่ได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลโนเบล แต่ Magnus Goesta Mittag-Leffler นักคณิตศาสตร์ชาวสวีเดน หนึ่งในคณะกรรมการรางวัลโนเบล ได้เสนอชื่อเธอให้ได้รับรางวัลด้วย ทั้งนี้เพราะคณะกรรมการสมัยนั้นเชื่อว่าผู้หญิงเข้าใจวิทยาศาสตร์น้อยกว่าผู้ชายและทำงานหนักไม่เท่าผู้ชาย แต่ Mittag-Leffler ยืนยันว่า มารี คูรี มีความสามารถทัดเทียมนักวิทยาศาสตร์ชาย
เมื่อได้รับรางวัลโนเบล ครอบครัวเธอก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีตำแหน่งการงานดีขึ้นด้วย ปิแยร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ และมีมารีเป็นผู้ช่วย ถึงกระนั้นคนทั้งสองก็ยังทำงานหนักจนดึก ๆ ดื่น ๆ และไม่ชอบออกงานสังคมเลย ทั้ง ๆ ที่สังคมสนใจอยากรู้ชีวิตครอบครัวของคนทั้งสองมาก สองสามีภรรยาจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ตอบจดหมายที่คนทั่วไปเขียนถึง
เดือนธันวาคม ๑๙๐๔ มารีให้กำเนิดบุตรสาวคนที่ ๒ ชื่อ Ève ทำให้งานดูแลครอบครัวของเธอเพิ่มมากขึ้น เมื่อถึงวันที่ ๑๙ เมษายน ค.ศ. ๑๙๐๖ ขณะกำลังจะเดินข้ามถนน ปิแยร์ถูกรถม้าชนและถูกล้อรถบดกะโหลกศีรษะแตกเสียชีวิตทันที (สาเหตุอาจจะเกิดจากอาการใจลอยเพราะสูดดมก๊าซ radon เข้าสู่ร่างกายมากเกินไป) มารีเสียใจและโศกเศร้ามาก เวลาใครเอ่ยถึงสามีเธอก็จะร่ำไห้ ความคิดถึงสามีทำให้เธอพยายามติดต่อกับวิญญาณเขาโดยการนั่งทางในที่สมาคม Society for Psychical Research
ในช่วงเวลานั้นกระทรวงศึกษาธิการของฝรั่งเศสเสนอให้เธอรับเงินบำนาญเพื่อให้เธอได้พักผ่อน แต่เธอปฏิเสธเพราะต้องการทำงานต่อ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ มารี คูรี ครองตำแหน่งศาสตราจารย์ของสามีเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๖ นี่เป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์มีศาสตราจารย์หญิง ในพิธีปาฐกถาเข้ารับตำแหน่ง เธอเปิดการบรรยายด้วยประโยคสุดท้ายที่สามีได้บรรยายไว้ก่อนเสียชีวิต
จากนั้นเธอได้รวบรวมผลงานของสามีและผลงานที่ทำร่วมกับสามีมาเรียบเรียงเพื่อเผยแพร่ ความเหงาที่ขาดคู่คิดได้ผลักให้เธอมีความสัมพันธ์กับ ปอล ลองเจอแวง (Paul Langevin) นักฟิสิกส์หนุ่มผู้มีอายุ
น้อยกว่าเธอ ๕ ปี และมีครอบครัวแล้ว แม้ชีวิตคู่ของ ลองเจอแวงกับภรรยาจะลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่ก่อนแล้ว แต่การเป็นชู้กับคนที่มีครอบครัวแล้วทำให้สังคมฝรั่งเศสยุคนั้นสั่นสะเทือนมาก จึงพากันประณามเธอว่าเป็นมือที่สาม เป็นผู้หญิงต่างด้าว เป็นผู้หญิงที่ชอบทำงานของผู้ชาย (งานวิทยาศาสตร์) และชอบมีเพื่อนชายหลายคน เป็นต้น
ในปี ๑๙๑๑ มารี คูรี ได้รับการประกาศให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีแต่เพียงผู้เดียวจากการพบธาตุเรเดียมและพอโลเนียม คณะกรรมการรางวัลโนเบล บางคนได้กล่าวติติงพฤติกรรมส่วนตัวในเรื่องคบชู้สู่ชายและคาดหวังให้เธอปฏิเสธการรับรางวัล หรือถ้าจะไปรับรางวัลก็ให้สะสางเรื่องฉาวโฉ่ต่าง ๆ ให้ลงตัวก่อน เธอไม่ปฏิเสธรางวัลและไม่เสนอข้อแก้ตัวใด ๆ เพราะบรรดาสื่อมวลชนมีหลักฐานที่เป็นจดหมายติดต่อของคนทั้งสอง เธอได้นำอีแรนลูกสาวคนโตเดินทางไปรับรางวัลโนเบลที่สตอกโฮล์มด้วยตนเอง และกลับมาทุ่มเททำงานวิจัยต่อถึงวันละ ๑๒ ชั่วโมงอย่างมีความสุข เพราะสำหรับเธองานคือทางออกจากความทุกข์ใจ และถึงเธอจะได้รับรางวัลโนเบลถึง ๒ รางวัลแต่ชาวฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมรับในความสามารถของเธอ เพราะเมื่อเธอสมัครเป็นสมาชิกของ French Academy of Sciences อันทรงเกียรติ เธอกลับถูกปฏิเสธ ความผิดหวังทำให้เธอประกาศจะไม่สมัครเป็นสมาชิกของสมาคมนี้อีกเลยตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม ชีวิตเธอก็เริ่มได้รับข่าวดีบ้างเมื่อรู้ว่ารัสเซียกำลังจะถอนทหารออกจากโปแลนด์ และบรรดานักวิทยาศาสตร์โปแลนด์วางแผนจะสร้างห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ที่วอร์ซอโดยเชิญเธอไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสรู้ข่าวการดึงตัวเธอก็ได้เสนอจัดตั้งสถาบัน Institut du Radium ให้เธอทำงาน และประกาศจะสนับสนุนสถาบันใหม่นี้ให้ยิ่งใหญ่เทียบเท่าสถาบัน Pasteur
มารีเองอยากกลับไปทำงานที่บ้านเกิด แต่เธอรู้ดีว่าปิแยร์ต้องการให้เธอพำนักต่อที่ฝรั่งเศส นอกจากนี้การถูกกล่าวหาว่าเป็นคนต่างด้าวที่ไม่รักฝรั่งเศสอย่างจริงใจทำให้เธอตัดสินใจอยู่ต่อที่ปารีสเพื่อทุ่มเทความพยายามสร้างและฝึกฝนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ๆ หลายคน ในเดือนกรกฎาคม ๑๙๑๔ Institut du Radium ก็เปิดทำงานอย่างเป็นทางการที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ และเธอได้วางนโยบายของสถาบันไว้ว่าจะเป็นอาศรมแห่งวิทยาศาสตร์ในอนาคต โดยมีเธอเป็นผู้อำนวยการ
ปี ๑๙๓๓ มารีได้จัดตั้งมูลนิธิ Curie Foundation เพื่อให้มีบทบาทในการสนับสนุนงานวิจัยวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และการแพทย์ อีก ๒๐ ปีต่อมานโยบายการบริหารของสถาบันนี้ได้กลายเป็นแบบอย่างของสถาบันวิจัยมะเร็งในหลายประเทศในด้านการใช้วิทยาศาสตร์เสริมคุณภาพชีวิตของสังคม
นอกเหนือจากบทบาทการเป็นนักวิทยาศาสตร์ในห้องทดลองแล้ว มารี คูรี ยังเล่นบทบาทนักวิทยาศาสตร์ในสนามรบด้วย ดังเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ เธอกับบุตรสาวอีแรนได้จัดรถวิทยาศาสตร์บรรทุกอุปกรณ์รังสีเอ็กซ์ออกช่วยทหารที่ได้รับบาดเจ็บ การกระทำของเธอในเวลานั้นขัดแย้งกับความคิดของสังคมที่ว่าสตรีและวิทยาศาสตร์เป็นอุปสรรคในการทำงานของผู้ชายในยามสงคราม การมีจิตสาธารณะเช่นนี้ทำให้ประธานาธิบดี W.G. Harding แห่งสหรัฐอเมริกา มอบเรเดียมบริสุทธิ์หนัก ๑ กรัมเป็นของขวัญให้เธอใช้ในการวิจัย เมื่อครั้งที่เธอเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา
เมื่ออายุ ๕๘ ปี สุขภาพของเธอเริ่มทรุดโทรม หูเริ่มหนวก ตาเริ่มบอด ตามมือมีรอยไหม้เพราะถูกรังสีจากสารกัมมันตรังสีแผดเผา เธอป่วยหนักด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโอตซาวัว (Haute Savoie) แต่โลกภายนอกไม่รู้เรื่องนี้เลยจนกระทั่ง ๓ วันก่อนเธอเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๑๙๓๔ สิริอายุ ๖๗ ปี
ในปี ๑๙๙๕ ศพของมารีและปิแยร์ คูรี ถูกนำไปฝังที่ Panthéon ในกรุงปารีส อันเป็นสถานที่ฝังศพบุคคลสำคัญของฝรั่งเศส ต่อมารัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดพิมพ์ธนบัตร ๕๐๐ ฟรังก์ที่มีภาพของทั้งคู่สำหรับ อีแรน คูรี ก็ได้สมรสกับ เฟรเดริก โฌลิโอ (Frédéric Joliot) และคนทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี ๑๙๓๕ จากผลงานการสร้างธาตุกัมมันตรังสีประดิษฐ์ที่ไม่มีในธรรมชาติ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ามารีเสียชีวิตก่อนจะได้เห็นผลงานอันน่าภาคภูมิใจนี้ อย่างไรก็ตามนี่เป็นรางวัลโนเบลรางวัลที่ ๓ สำหรับตระกูลคูรี และเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทั้งอีแรนและเฟรเดริกต่างก็มีบทบาทในการทำให้กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะ เพราะได้เสนอให้รัฐบาลฝรั่งเศสกักตุนน้ำมวลหนัก (heavy water) เพื่อใช้ทำระเบิดปรมาณู แต่ในที่สุด อีแรนก็เสียชีวิตด้วยโรคลิวคีเมียเหมือนมารดา ส่วนเฟรเดริกนั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์จึงถูกปลดจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การพลังงานปรมาณูของฝรั่งเศส และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน
ด้าน แอฟ คูรี บุตรคนรองของมารีประสบความสำเร็จในการเป็นนักประพันธ์ โดยเฉพาะเรื่องชีวประวัติของมารดาซึ่งกลายเป็นเบสต์เซลเลอร์ มีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศถึง ๔๐ ภาษา จนฮอลลีวูดนำประวัติของเธอไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี ๑๙๔๓ เรื่อง Madame Curie ที่มี Greer Garson เป็นผู้แสดงนำ
ชีวิตของ มารี คูรี เป็นชีวิตที่ทำงานวิทยาศาสตร์ซึ่งขณะนั้นสังคมไม่ยอมรับเพราะคิดว่าผู้หญิงสนใจเฉพาะเสื้อผ้า อาหาร และความงาม ส่วนผู้ชายสนใจวิทยาศาสตร์ ความจริงที่มีหลักฐาน และอำนาจ แต่ มารี คูรี ได้ปฏิวัติความคิดนี้จนทำให้เธอเป็นนักวิทยาศาสตร์สตรีที่โลกรู้จักดีที่สุดคนหนึ่ง ด้านชีวิตส่วนตัว เธอเป็นคนรักชาติมาก ทำงานหนัก ดูแลครอบครัวในฐานะแม่ม่ายลูกสอง และเลี้ยงลูกได้ดีทั้งสองคน นอกจากนี้เธอยังทำงานวิทยาศาสตร์โดยไม่มุ่งหวังจะร่ำรวยเพราะเธอไม่ได้จดสิทธิบัตรสิ่งที่เธอค้นพบ เธอจากโลกนี้ไปอย่างสุขใจเพราะรู้ว่าผลงานที่เธอทำได้รับการสานต่อ ชีวิตที่มีครอบครัวสมบูรณ์แบบและประสบความสำเร็จในการทำงานสูงมากทำให้โลกรู้สึกสูญเสียเมื่อเธอต้องจากโลกนี้ไป
ปี ๒๐๑๑ นี้ ยูเนสโกประกาศให้เป็นปีเคมีสากล–International Year of Chemistry และ ๑ ใน ๔ ของกิจกรรมที่ทั่วโลกจัดเฉลิมฉลองปีเคมีสากล คือการสดุดีความสำเร็จในโอกาสครบ ๑๐๐ ปีการรับรางวัลโนเบลสาขาเคมีของ มารี คูรี
หมายเหตุ : อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมได้จาก Marie Curie: A Life โดย Susan Quinn จัดพิมพ์โดย Simon and Schuster, New York, ๑๙๙๕ หนา ๕๑๐ หน้า ราคา ๓๐ ดอลลาร์