วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ถ่ายภาพ
“…หากฉันเจ็บป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่ได้ ต้องนอนแซ่วอยู่บนเตียงหรือไม่รู้สึกตัว ต้องมีชีวิตอยู่ด้วยสายระโยงระยางและเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ฉันขอร้องว่า อย่าเสียเวลาและเสียเงินเพื่อฉันมากมายอย่างนั้น ขอให้ใช้เวลารอดูอาการของฉันไม่เกิน ๑ เดือน ต่อจากนั้น ขอให้ยุติการต่อชีวิตฉันด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ โปรดอนุญาตให้ฉันจากไปด้วยวิธีธรรมชาติที่สงบที่สุดเถิด…”
ข้อความข้างต้นคือส่วนหนึ่งของหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข หรือที่บางคนเรียกว่า “พินัยกรรมชีวิต” (Living Will) ของ รศ. ประทุมพร วัชรเสถียร อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้จากไปด้วยโรคมะเร็งเมื่อปลายปี ๒๕๕๓ ก่อนถึงแก่กรรม เธอเขียนหนังสือรักษาสิทธิในการตายอย่างธรรมชาติและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่นได้เรียนรู้
นพ. อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า “แท้จริงโดยพื้นฐานมนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะปฏิเสธการรักษาพยาบาลที่ไม่ต้องการ อย่างเช่นเวลาเราป่วย เรามีสิทธิที่จะไม่ไปรักษา หรือไม่ทำตามคำแนะนำของแพทย์ก็ได้ แต่ปัญหาเกิดขึ้นตอนที่เราป่วยหนักและอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต ไม่มีสติสัมปชัญญะพอที่จะปฏิเสธได้ด้วยตนเองว่าเราจะเจาะคอใส่เครื่องช่วยหายใจหรือจะปั๊มหัวใจหรือไม่ เราอาจถูกสั่งให้รับการรักษาที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดเวลาตาย กลายเป็นความทุกข์ทรมาน สุดท้ายก็ต้องจากไปโดยปราศจากคุณภาพชีวิตที่ดี”
ในทางกฎหมาย ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “เมื่อผู้ป่วยใกล้ตายอยู่ในภาวะที่ไม่รู้สึกตัว การตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลมักตกเป็นของแพทย์และญาติ แพทย์เองต้องการช่วยผู้ป่วยและยืดชีวิตผู้ป่วยให้นานที่สุด ไม่ต่างจากญาติที่ต้องการให้ผู้เป็นที่รักมีชีวิตอยู่นานที่สุดเช่นกัน แม้บางกรณีคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจะไม่ดี ความหวังดีจึงกลายเป็นการเพิ่มความทุกข์ทรมานและทำให้ผู้ป่วยจากไปด้วยความไม่สงบ จนนำมาซึ่งแนวคิด living will คือให้มีการแสดงความจำนงล่วงหน้า หลายประเทศได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย เดนมาร์ก สิงคโปร์ มีกฎหมายรับรองเรื่องนี้”
พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๒ ได้บัญญัติให้บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ เพื่อให้แพทย์และญาติปฏิบัติต่อผู้ป่วยตามความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วย มีการออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว ในราชกิจจานุเบกษา ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๓
ทั้งนี้สิทธิในการปฏิเสธการรักษาพยาบาลตามมาตรา ๑๒ เป็นเรื่องการตายอย่างสงบตามวิถีธรรมชาติ แตกต่างจากการช่วยเหลือให้ผู้อื่นฆ่าตัวตายหรือการุณยฆาต (mercy killing) ซึ่งขัดต่อศีลธรรมและจริยธรรมของแพทย์ ดังที่ ศ. แสวงกล่าวว่า “มาตรา ๑๒ รับรองสิทธิผู้ป่วยที่จะทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาที่เกินความจำเป็น ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิทำหนังสือนี้ยังคงได้รับการดูแลรักษาตามอาการแบบประคับประคอง (Palliative Care) มิได้ถูกแพทย์พยาบาลทอดทิ้ง หากผู้ป่วยมีอาการทุกข์ทรมานหรือเจ็บปวดก็จะได้รับการช่วยเหลือหรือบรรเทาอาการ”
หนังสือแสดงเจตนาจะต้องมีรายละเอียดชัดเจนเพื่อทำตามความประสงค์ของเจ้าตัวได้ อาทิ การระบุประเภทบริการสาธารณสุขที่ไม่ต้องการได้รับ เช่น การเจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจ การกู้ชีพเมื่อหัวใจหยุดเต้น การนำเข้าหอผู้ป่วยหนักเมื่ออยู่ในวาระสุดท้าย หรือสถานที่ที่ประสงค์จะเสียชีวิต การปฏิบัติตามประเพณีและความเชื่อทางศาสนา นับเป็นการรับรองสิทธิผู้ป่วยที่จะกำหนดวาระสุดท้ายของชีวิตด้วยตนเอง
หมายเหตุ : ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.thailivingwill.in.th