บุษกร รุ่งสว่าง : เรื่อง

ลภนพร สกุลเก่งศึกษา : ภาพ

ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 15

ของถวายวัดที่แตกต่างจากปรกติแต่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ดี

เมื่อพูดถึงการทำบุญ ภาพแรกๆ ที่ปรากฏชัดในความคิดของเราตามความคุ้นชินของลูกหลานชาวพุทธ ไม่อาจหนีพ้นภาพการตักบาตร เข้าวัดทำบุญวันพระ ให้ทาน ถือศีล ทอดผ้าป่า หรือการถวายปัจจัยสร้างโบสถ์หรือองค์พระตามงานบุญต่างๆ ไปได้

สิ่งเหล่านี้เราล้วนได้เห็นและซึมซับมาจากแม่ของเราเอง นับแต่แม่พาปุเลงๆ เข้าวัดตั้งแต่เท้าของเราใหญ่กว่าฝาหอยโข่งมาได้เพียงน้อยนิด แต่ถึงแม้จะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย การตื่นเช้าไปทำบุญก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หลายครั้งที่แม่พยายามปลุกเรียกเราจนถอดใจไปเอง

อย่างไรก็ตามวันนี้เรากลับกุลีกุจอตื่นนอนตั้งแต่ตี 3 จับรถตู้จากหัวหินเข้ากรุงเทพฯ ต่อรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีปากน้ำ แล้วซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์…ดั้นด้นไปยังวัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อสัมผัสประสบการณ์การสร้างบุญแบบใหม่ด้วยการถวาย “ขยะพลาสติก”

มอเตอร์ไซค์พาเราเข้าสู่พื้นที่สีเขียวที่เป็นดังปอดของชาวกรุง “คุ้งบางกะเจ้า” เข้าไปสุดซอยเพชรหึงษ์ 10 ก็เจอประตูทางเข้าวัดจากแดง – จุดเริ่มในการตามหาคำตอบต่อคำถามในใจ ถวายขยะแล้วได้บุญจริงหรือ?

การทำบุญที่ไม่ได้แค่สร้างบุญ แต่ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการถวาย “ขยะพลาสติก”
จุดคัดแยกที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม

ศาลาเทศนาธรรมสีเขียว

เดินไปได้ไม่เกินห้าก้าว กายหยาบอันรีบร้อนก็ปะทะเข้ากับความเงียบสงัดที่แผ่ซ่านสวนทางเข้ามาครอบครองพื้นที่ในจิตใจ เสมือนมีมือปริศนาโผล่มาฉุดรั้งเพื่อซึมซาบความสงบงามที่มีเพียงการหยุดนิ่งเท่านั้นจึงสัมผัสได้

มองตามสายตาสภาพแวดล้อมของวัดจากแดงแทบไม่ต่างจากวัดอื่นๆ จะมีแปลกตาไปบ้างก็เห็นจะเป็นป้ายความรู้ในการคัดแยกขยะ รวมถึงถังขยะแยกประเภทที่วางไว้ไม่ไกลกันมากนักในแต่ละจุด ซึ่งอาจดูหนาตาเกินกว่าที่วัดทั่วไปจะวางให้บรรดาญาติโยมได้ทิ้งขยะ กระทั่งเดินมาถึงท้ายวัด หมุดหมายในใจคล้ายจะบรรลุไปแล้วครึ่งทาง

บริเวณนั้นสองข้างทางรายล้อมไปด้วยกองเศษแท่งเหล็กและถังใส่ปุ๋ยชีวภาพสีน้ำเงินวางเรียงซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบในโรงเหล็ก ฝั่งตรงข้ามเป็นอาคารสีเขียวขนาดสูงสองชั้น ยาวประมาณหกห้องตึกแถว เมื่อเดินเข้าไปใกล้จึงเห็นว่าใต้ถุนของตัวอาคารเขียวนั้นแน่นขนัดไปด้วยกองขวดพลาสติก ซึ่งมีทั้งกองที่กำลังถูกคัดแยกฉลากและทำความสะอาดโดยเหล่าจิตอาสา กองที่ผ่านกระบวนการอัดเรียบร้อยเตรียมส่งเข้าโรงงานผลิตเส้นใยนาโน และกองที่ยังอยู่ในกล่องพัสดุรอเวลาเพื่อสร้างคุณค่าตามจิตศรัทธาของผู้ส่งต่อไป

ท่ามกลางภูเขาขยะพลาสติกเรามองเห็นพระมหาประนอม ธัมมาลังกาโล รองเจ้าอาวาสวัดจากแดง ผู้ริเริ่มโครงการการแปรรูปขยะ และญาติโยมประมาณห้าคนที่กำลังถวายขวดพลาสติกจำนวนหลายถุงสายรุ้ง เราจึงถือโอกาสเข้าไปแนะนำตัวต่อท่านและได้รับโอกาสในการสนทนาซักถามความเป็นมาของโครงการเปลี่ยนขยะเป็นบุญไปพร้อมกัน บรรยากาศจึงเหมือนพวกเราทั้งหมดกำลังนั่งฟังการเทศนาธรรมที่มีฉากหลังเป็นโรงรีไซเคิลขยะขนาดใหญ่แทนที่จะเป็นโบสถ์หรือศาลาวัด

พระมหาประนอมเล่าให้ฟังว่าโครงการคัดแยกและแปรรูปขยะ หรือภายหลังมีชื่อเรียกว่า “โครงการขุดทองจากกองขยะ” มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ประมาณปี 2548 ขณะท่านกำลังกวาดลานวัดก็ได้เกิดการพิจารณาถึงปริมาณขยะภายในวัดว่านับวันยิ่งมีมากขึ้นทุกที ท่านจึงเริ่มจัดการกับขยะชีวมวลก่อน อันได้แก่เศษอาหารและเศษใบไม้ใบหญ้า โดยการนำมาทำปุ๋ยหมักและแก๊สชีวภาพ ส่วนขยะพลาสติกที่ส่วนใหญ่เป็นถุงแกงซึ่งรับมาจากการบิณฑบาตนั้นทางวัดได้นำไปเผาทิ้ง แต่ยิ่งนานวันเข้าปริมาณขยะพลาสติกก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น จนท่านคิดว่าขยะพลาสติกเหล่านี้หากไม่เผาทิ้งแล้วจะสามารถหาประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง จึงผุดเป็นโครงการทำน้ำมันจากพลาสติกขึ้นซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี หากแต่การจะได้มาซึ่งน้ำมันแต่ละลิตรยังคงใช้เวลานาน เพราะขนาดเครื่องผลิตนั้นมีขนาดเล็กทำให้กำลังการผลิตน้อย จึงเหมาะแก่การเป็นแหล่งเรียนรู้มากกว่าทำให้คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์

ต่อมาเมื่อปี 2561 เกิดโครงการ “OUR Khung Bang Kachao” ของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและขยะ ขณะนั้นพระมหาประนอมเห็นพนักงานจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ใส่เสื้อที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลมาลงพื้นที่ ทำให้หวนนึกถึงชุดความรู้เก่าครั้งมีโอกาสไปดูงานยังประเทศไต้หวันเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว และได้เห็นว่าพลาสติกสามารถนำมารีไซเคิลทำเป็นผ้าได้ เมื่อความทรงจำถูกกระตุ้นเร้าจากเวลาที่สุกงอมและปัจจัยภายนอกที่อำนวย ความคิดการนำขยะพลาสติกมาผลิตเป็นผ้าจึงแล่นเข้ามาในใจของท่าน นำไปสู่การลงมือศึกษาใหม่อย่างจริงจังเพื่อหาหนทางปฏิบัติได้จริง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจาก “วงษ์พาณิชย์” กิจการรับซื้อขยะรีไซเคิลขนาดใหญ่เข้ามาช่วยด้านการคัดแยกชิ้นส่วนขยะ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มาช่วยเรื่องการผลิตผ้าเส้นใยนาโนจากขยะพลาสติกสำหรับตัดเย็บเป็นผ้าไตรจีวร โดยเน้นให้เส้นใยมีความเบา บาง สบาย ซักง่าย และแห้งเร็ว เหมาะแก่การนุ่งห่มของภิกษุสงฆ์

ตาวันพิการมือซ้าย การมาทำงานที่นี่ช่วยให้คุณตาสุขภาพดีไม่ต้องนอนเฉยๆ อยู่บ้าน
พี่หน่อยบอกว่าการได้มาทำจิตอาสาที่วัดจากแดงทำให้ใจเย็นมากขึ้น

จุดไฟแห่งศรัทธา

“พูดจริงๆ ทางวัดเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง แต่จุดประสงค์หลักนั้นเพื่อพลิกขยะทั้งประเทศไทย” พระมหาประนอมเล่าต่อถึงเป้าหมายในระยะยาวของสิ่งที่กำลังทำอยู่ ว่าอยากให้ประเทศไทยมีเครือข่ายการจัดการขยะเกิดขึ้น ซึ่งก็เริ่มเป็นจริงแล้ว เมื่อพันธมิตรใหม่อย่างจังหวัดสุพรรณบุรีกำลังเดินหน้าโครงการนำร่องการกำจัดขยะมูลฝอยอย่างจริงจังโดยมีทีมงานของวัดจากแดงอยู่เคียงข้าง

ไม่เพียงเท่านั้นท่านยังกล่าวย้ำถึงความสำคัญของโครงการนำร่องเหล่านี้ด้วยว่า “แม้ในเชิงธุรกิจนั้นยังไม่คุ้มทุน แต่ในเชิงสิ่งแวดล้อมนั้นคุ้มแล้ว” กล่าวคือนับตั้งแต่วัดจากแดงเริ่มโครงการคัดแยกและแปรรูปขยะมา เงินทุนที่เสียไปแม้ไม่อาจผลิดอกออกกำไรในเร็ววัน จนดูเหมือนการหว่านเมล็ดพันธุ์ลงดินแล้วเกิดแคระแกร็น แต่ความจริงแล้วไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเมล็ดพันธุ์นี้กำลังหยั่งรากลึกลงดินรอวันเติบโตเป็นกล้าไม้ที่แข็งแรง ซึ่งกล้าไม้เหล่านั้นก็คือบรรดาวัดวา โรงเรียน กลุ่มจิตอาสา ประชาชนทั่วไป องค์กร และกลุ่มบริษัททุนต่างๆ ที่เริ่มให้ความสนใจและตระหนักถึงความสำคัญของการลดขยะพลาสติกลง โดยเริ่มจากจุดง่ายๆ อย่างการถวายขวดพลาสติกแก่ทางวัดเพื่อนำไปผลิตเป็นผ้าไตรจีวร

เมื่อข่าวการขอรับบริจาคขวดพลาสติกแพร่ออกไป ในเวลาอันรวดเร็วก็มีพุทธศาสนิกชนจากทั่วทุกสารทิศตอบรับวิถีทางแห่งการสร้างบุญแบบใหม่นี้อย่างล้นหลาม กล่องพัสดุไกลสุดถูกส่งมาจากมาเลเซีย พระมหาประนอมท่านยิ้มกว้างดวงตาวาววามเหมือนแสงเทียนในความมืดแล้วพูดกับเราว่า “ดูแล้วค่าส่งจะแพงกว่าขวดข้างในกล่องด้วยซ้ำ แต่เพราะเกิดศรัทธาเขาจึงส่งมา”

นอกจากส่งมาทางไปรษณีย์ยังมีญาติโยมอีกหลายคนที่เดินทางมาถวายด้วยตัวเอง อีกทั้งทางวัดยังมีรถบริการรับขวดพลาสติกถึงที่ในเขตปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียงกรณีที่ไม่สะดวกเดินทางหรือส่งไปรษณีย์มาได้ ทำให้มีขวดพลาสติกเฉลี่ยวันละ 600 กิโลกรัม ซึ่งตอนนี้ผ้าไตรจีวรรีไซเคิลเป็นที่ต้องการอย่างมากในแวดวงภิกษุสงฆ์ เพราะมีราคาถูกกว่าผ้าไตรทั่วไป 2,000-3,000 บาท และแน่นอนว่ายังช่วยลดปัญหาพลาสติกล้นโลกด้วย ตั้งแต่เริ่มผลิตออกมาจนถึงตอนนี้ทางวัดจำหน่ายออกไปแล้วกว่า 100 ชุด และมีออร์เดอร์เข้ามาอีกเรื่อยๆ จากทั้งในไทย เยอรมนี สิงคโปร์ ศรีลังกา อินเดีย และพม่า

ขวดพลาสติกที่รับบริจาคจะต้องเป็นขวด PET หรือขวดชนิดใสเท่านั้นถึงจะนำมาผลิตเส้นใยนาโนได้ ทางวัดจะทำการคัดแยกฉลากและฝาขวดออก จากนั้นจึงอัดขวดพลาสติกเป็นก้อนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่รอให้ทางโรงงานของ ปตท. มารับไปผลิตเป็นผ้าม้วน ซึ่งประกอบด้วยพลาสติก 43 เปอร์เซ็นต์ เส้นใยเรยอนโพลีเอสเตอร์ (polyester rayon) เส้นใยฝ้าย และเส้นใยซิงก์โพลีเอสเตอร์ต้านแบคทีเรีย (Antibacterial Polyester Zinc) เมื่อเสร็จแล้วส่งมาตัดเย็บให้ถูกต้องตามพระวินัยที่วัดจากแดง โดยฝีมือของเหล่าช่างจิตอาสา ซึ่งขวดพลาสติกขนาดกลางจำนวน 15 ใบจะสามารถนำไปประกอบเป็นผ้าไตรจีวรได้หนึ่งผืน เป็นการลดขยะ รักษ์โลก และได้ทำบุญไปในตัว

“ของทุกอย่างที่ถวายพระต้องเป็นของที่เราคิดว่าดีที่สุด เราถวายของดีๆ บุญกุศลก็จะพาให้เราเจอแต่สิ่งดีๆ” แม่เราชอบพูดประโยคนี้บ่อยครั้งระหว่างเตรียมปิ่นโตไปวัด แม้กระทั่งดอกไม้ ถ้าเหี่ยวหรือมีรอยช้ำนิดหน่อยก็นำไปถวายพระไม่ได้ การถวาย “ขยะพลาสติก” เพื่อสร้างบุญจึงเป็นแนวคิดใหม่ที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับความเชื่อเดิมของเรามากนัก

นอกจากจะแยกประเภทขยะ ในส่วนของพลาสติกก็ต้องแยกฝาขวดและฉลากออกจากกัน เพราะในแต่ละส่วนสามารถนำไปใช่ประโยชน์ได้อย่างแตกต่าง
พระอาจารย์ไก่ผู้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับน้ำหมักชีวภาพและโครงการขุดทองจากกองขยะ

กาลเวลาและแก่นธรรม

พระมหาประนอมได้เล่าย้อนไปในสมัยพุทธกาลว่าแท้จริงแล้วหลักการรีไซเคิลอย่างที่เรากำลังทำกันอยู่ตอนนี้ถือกำเนิดขึ้นมาช้านานภายใต้ชื่อว่า “ระบบบังสุกุลจีวร” เมื่อพระพุทธเจ้าบวชจนเข้าพรรษาที่ 6 ได้ทำการชักผ้าบังสุกุลมาใช้ซึ่งก็คือผ้าห่อศพ ผ้าที่ทิ้งตามกองขยะ หรือผ้าเปื้อนฝุ่น โดยนำมาซักและย้อมด้วยน้ำฝาด เป็นน้ำที่เกิดจากการนำเปลือกไม้แก่นไม้บางชนิดเช่นขนุนมาต้มใช้ย้อมสบงจีวรเพื่อฆ่าเชื้อ เสร็จแล้วก็นำมาเย็บทำผ้าไตรจีวรไว้นุ่งห่มแล้วนำจีวรผืนเดิมไปทำเป็นผ้าปูนอน ส่วนผ้าปูนอนผืนเดิมก็นำไปเป็นผ้าเช็ดเท้า และผ้าเช็ดเท้าผืนเดิมก็นำไปผสมดินเหนียวโบกฉาบผนังของกุฏิ อันนี้คือระบบบังสุกุลจีวรเพื่อให้ภิกษุทุกรูปตระหนักถึงคุณค่าของของทุกสรรพสิ่ง

โดยจุดประสงค์หลักของการนำผ้าบังสุกุลมาใช้ในสมัยนั้น พระพุทธองค์ทรงอยากให้ภิกษุทั้งหลายได้พิจารณาถึงความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร ซึ่งจะเห็นได้จากร่างกายอันเน่าเปื่อยของซากศพขณะที่ทำการชักผ้าบังสุกุลออกมาใช้ จนทำให้ภิกษุทั้งหลายเกิดปลงสังขารได้ถือเป็นหนทางหนึ่งในการบรรลุ เมื่อชาวบ้านเห็นเข้าก็เกิดศรัทธานำผ้าดีๆ มาถวายทางอ้อม โดยนำไปวางทิ้งไว้ตามป่าช้าบ้าง เส้นทางเดินธุดงค์ของพระท่านบ้าง ต่อมาพระพุทธองค์จึงมีพระบรมพุทธานุญาตให้ภิกษุรับผ้าจากฆราวาสได้ เพื่อเจริญศรัทธาของอุบาสกอุบาสิกาผู้เลื่อมใส และบรรเทาความยากลำบากในการแสวงหาผ้าของภิกษุสงฆ์เอง

ความสนใจเรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อมของพระมหาประนอมล้วนมาจากการได้ศึกษาธรรม คำสอนเรื่องการดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องการเก็บขยะ การรักษาความสะอาดนั้นปรากฏชัดในพระไตรปิฎก เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างจริงจังอย่างเรื่องของบุญบาป

ในพระวินัย หากไม่กวาดลานวัดจะถูกปรับอาบัติทุกกฎ 1 ข้อ ไม่ทำความสะอาดห้องน้ำปรับอาบัติทุกกฎ 1 ข้อ ไม่ทำความสะอาดพระเจดีย์ปรับอาบัติทุกกฎ 1 ข้อ ทิ้งขยะลงแม่น้ำคูคลองปรับอาบัติทุกกฎ 1 ข้อ “อาบัติทุกกฎ” คือการทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม ในพระสูตร การทิ้งขยะเรี่ยราดจะทำให้เจ็บป่วยเป็นโรคผิวหนังรักษาไม่หาย แต่หากเก็บขยะอย่างถูกต้องจะได้อานิสงส์ 5 ประการ คือ มนุษย์รักใคร่ใครเห็นใครก็รัก, เทวดารักใคร่ จิตใจผ่องใส ได้ปฏิบัติตามคำสอน และสุดท้ายวิมานบนสวรรค์ก็จะเกิดรอ ในพระอภิธรรม การทิ้งขยะถือเป็น “ปลิโพธ” หรือเครื่องผูกพันที่เป็นเหตุให้ใจพะวักพะวนห่วงกังวล ซึ่งจะคอยขวางกั้นไม่ให้ลำดับญาณเกิดขึ้น จากทั้งพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม ได้พูดถึงสิ่งเหล่านี้ไว้ทั้งหมด พระมหาประนอมอธิบายทิ้งท้ายก่อนท่านจะไปจัดอบรมให้ความรู้และปลูกจิตสำนึกในการจัดการขยะอย่างยั่งยืนแก่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และน้องๆ ชั้นมัธยมฯ ต้นจากโรงเรียนคลองใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเพิ่งเดินทางมาถึงและกำลังจับจองพื้นที่ในศาลาเทศนาธรรมสีเขียวแห่งนี้

“เรากำลังทำหน้าที่ของพระภิกษุในมุมมองหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเคยสอน และเป็นยุคสมัยที่เราต้องกลับมาพูดเรื่องนี้ให้หนัก ในยุคสุโขทัยอาจเน้นเรื่องบุญบาปนรกสวรรค์ ยุคต้นรัตนโกสินทร์ก็นิยมพูดเรื่องทาน เรื่องพระเวสสันดรเราก็ทำบุญกันมหาศาลสร้างโบสถ์บ้างวิหารบ้าง แต่ยุคนี้มันเป็นยุคที่เราทุกคนต้องกลับมาดูเรื่องสิ่งแวดล้อม”

พระทิพากรอริโย พระผู้ช่วยในโครงการขุดทองจากกองขยะและผู้ควบคุมดูแลการทำปุ๋ยจากน้ำหมักชีวภาพของวัดเล่าให้เราเห็นถึงบริบทที่แตกต่างกันของศาสนาพุทธในแต่ละยุคสมัย ซึ่งพระสงฆ์ในยุคนั้นๆ ก็จะทำหน้าที่เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวของชาวบ้านโดยการนำหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาออกมาปรับใช้ให้เข้ากับสภาวการณ์ปัจจุบันดังเช่นที่วัดจากแดงกำลังทำอยู่

“ขยะจริง ๆ มันอยู่ข้างใน ขยะในใจเราต่างหากที่เราต้องเข้าไปเก็บ” พระทิพากรเล่าขยายความถึงแก่นธรรมของการเก็บขยะ ท่านว่าการเริ่มต้นเก็บขยะภายนอกนั้นเปรียบเหมือนการเดินทางไกลเพื่อเก็บขยะภายในใจตัวเราเอง ขณะที่เราเก็บขยะอันเป็นสิ่งสกปรก เป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการ และไม่รู้ด้วยว่าเมื่อไหร่จะหมดไป ในเวลานั้นเองที่เราจะเห็นหนทางในการฝึกตนให้ลดอัตตาลงได้ นำไปสู่ความสะอาดภายในจิตใจ เพราะขยะชิ้นใหญ่นามว่าอัตตาได้ทยอยเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลทางใจไปพร้อมๆ กัน

เมื่อได้ฟังท่านทั้งสองเล่าย้อนถึงแนวทางปฏิบัติครั้งสมัยพุทธกาลที่สะท้อนแนวคิดเดียวกันในปัจจุบันแล้วเสมือนเราได้แว่นตาอันใหม่เพื่อมองแก่นธรรมซึ่งแฝงไว้บนผืนไตรนับแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบันกาลให้แจ่มชัดขึ้นจึงพบว่ามีเพียงเวลาเท่านั้นที่หมุนเปลี่ยนไป หากแต่แก่นธรรมบนผืนไตรนั้นยังคงเดิม

เมื่อคัดแยกขวดเสร็จจะส่งไปยังโรงงานเพื่อนำไปผลิตเป็นเส้นใยนาโน จากนั้นก็จะส่งเส้นใยที่ได้มาให้กับทางวัดเพื่อเย็บเป็นจีวร

เส้นใยนาโนที่มีส่วนผสมจากพลาสติกมีความบาง เบา สีไม่ตก ซักแห้งเร็ว และทนทาน

จิตอาสาไม่ใช่ว่ามีแต่ผู้ใหญ่เท่านั้น แม้แต่เด็กเล็กก็ยังมาช่วยงาน

นำทางสู่ความสุขใจ

นอกเหนือจากประโยชน์ทางตรงอย่างการลดขยะพลาสติกและการปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการขุดทองจากกองขยะยังช่วยให้คนในชุมชนวัดจากแดงมีรายได้จากการคัดแยกขยะไปจนถึงการตัดเย็บจีวรอีกหลายสิบคนด้วยกัน ไม่เพียงเท่านี้การได้มาทำงานที่นี่ถือเป็นโอกาสในการสร้างบุญและสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้พวกเขามีชีวิตชีวา มีความสุขในแต่ละวันมากขึ้น

“อยู่ตรงนี้สบายกว่าอยู่บ้านเยอะ ได้ออกกำลังด้วย ได้เงินด้วย” วัน ทิพย์สันเทียะ อายุ 80 ปี หรือ “ตาวัน” จิตอาสาช่วยคัดแยกขวดพลาสติก พูดกับเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มองผ่านๆ ตาวันไม่เหมือนคนอายุ 80 สักเท่าไร เพราะท่าทางยังดูแข็งแรง คล่องแคล่ว รวมถึงแววตาที่เจือความสุขอยู่ตลอดเวลา มีเพียงมือข้างซ้ายเท่านั้นที่นิ่งเฉย

ตาวันเป็นหนึ่งในสี่ของจิตอาสาผู้พิการ ซึ่งจะได้รับค่าแรง 300 บาทในแต่ละวัน โดยทางบริษัทที่สนับสนุนโครงการขุดทองจากกองขยะเป็นผู้ออกให้ ส่วนพี่น้องจิตอาสาคนอื่นๆ พระมหาประนอมจะพิจารณาให้เงินตอบแทนตามความเหมาะสม และมีเงื่อนไขว่าให้จิตอาสาแต่ละคนทำงานวันละ 4 ชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตามเงื่อนไขดังกล่าวดูจะใช้ไม่ได้กับปาริชาติ แซ่เจ็ง อายุ 47 ปี หรือ “พี่หน่อย” จิตอาสาช่วยคัดแยกขวดพลาสติกขาประจำรวมทั้งเพื่อนๆ ของเธอที่จะเกาะกลุ่มอยู่เกินเวลาทำงานทุกวี่วัน

“ถามได้เลยในซอยนี้แต่ก่อนพี่ปากหมามากชอบไปด่าคนอื่นเขา แต่พอมาอยู่ในวัดเราก็เปลี่ยนแปลงของเราไปเรื่อยๆ จากที่เคยเป็นคนขี้โมโหมากก็โมโหน้อยลง” พี่หน่อยเล่าไปหัวเราะไป การมาเป็นจิตอาสาทำให้เธอได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนๆ จิตอาสา ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้มีความสุขกว่าการนั่งอยู่บ้านเฉยๆ และการต้องทำงานที่อยู่ในสภาวะซ้ำเดิมไปเรื่อยๆ ทำให้เธอเป็นคนที่ใจเย็นลงจนเรียกได้ว่าตอนนี้แทบกลายเป็นคนละคนกับสมัยก่อน

หากท่านผู้อ่านสนใจอยากร่วมอาสาคัดแยกขยะก็สามารถเดินทางมาที่วัดจากแดงได้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งมักจะมีญาติโยมจากที่ต่างๆ เดินทางมาช่วยทางวัดอยู่เป็นประจำ

หลังจากได้พูดคุยกับทีมงานพระภิกษุและจิตอาสาหลายคน รวมถึงได้อยู่สังเกตการณ์การจัดอบรมให้ความรู้และปลูกจิตสำนึกในการจัดการขยะอย่างยั่งยืนแก่พนักงานบริษัทเอกชนและน้องๆ ในชุมนุมพัฒนาคลองใหม่มาทั้งวัน ทำให้ผู้เขียนมองเห็นภาพการทำบุญเปลี่ยนไปจากเดิมมาก

ภาพการทำบุญที่ปรากฏในช่วงต้นอาจดูล้าหลังไปแล้วสำหรับบริบทของพุทธศาสนาในปัจจุบันที่กำลังเพ่งความสนใจกับประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจเห็นภาพพุทธศาสนิกชนรวมตัวกันทำบุญแบบใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมในวิธีที่สร้างสรรค์ยิ่งกว่าการถวายขวดพลาสติกเพื่อผลิตไตรจีวร หรือยิ่งไปกว่านั้นเราอาจก้าวข้ามเรื่องที่คิดว่าทำแล้วจะได้หรือไม่ได้บุญ และช่วยกันมองหาสิ่งที่ทำให้ตัวเราและสังคมดีขึ้นในแบบที่พอดีกับวิถีชีวิตประจำวัน โดยไม่หวังผลอะไรมากมายไปกว่าความสุขใจขณะที่ได้ทำ

บุษกร รุ่งสว่าง

รักการมองวิวจากบนรถไฟ และกำลังฝึกฝนเพื่อเป็นนักเขียนบันทึกที่ดี

ลภนพร สกุลเก่งศึกษา นักศึกษาสื่อดิจิตอล ที่ชื่นชอบและหลงใหลในการถ่ายภาพ อยากบอกเล่าเรื่องราวที่พบเจอผ่านภาพถ่าย หากเป็นเรื่องราวที่ต้องใช้เวลา และ ความอดทน ยิ่งกระตุ้นให้อยากกดชัตเตอร์มาเก็บไว้เป็นคอลเลคชั่น #MLMMILDLAPA