เรื่อง : ลลิน ศิริเรืองกิตติ์
ภาพ : ชวลิต ตาติวงศ์
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 15
มันคงจะดีถ้าดนตรีพาเรามารู้จักกัน
มิติแห่งเมืองเชียงใหม่ นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมอันเก่าแก่และดีงาม เมืองแห่งความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เมืองแห่งการสร้างสรรค์ เมืองอันรุ่มรวยไปด้วยธรรมชาติที่รายล้อมอยู่รอบความเจริญของสังคมเมือง หรือเมืองแห่งอะไรก็ตามที่นักท่องเที่ยวใช้เรียกเมืองเชียงใหม่ แต่วันนี้เรารู้จักเชียงใหม่ในอีกแง่มุมหนึ่งในฐานะ “เมืองแห่งดนตรี”
นิยามนี้ยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อมีร้านดนตรีแจ๊ซเกิดขึ้นในเชียงใหม่เป็นแห่งที่ 4 และพวกเขาเหล่านี้กำลังรวมตัวกันเพื่อจัดเทศกาลดนตรีรูปแบบใหม่เพื่อขับเคลื่อนสังคม
ดนตรีแจ๊ซ กำเนิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ที่สหรัฐอเมริกา ศูนย์รวมของหลายวัฒนธรรม ในช่วงนั้นมีการจับคนแอฟริกาไปเป็นทาสในอเมริกา ทั้งคนธรรมดาและคนที่มีฐานะทางสังคม เช่น นักบวช ผู้นำพิธีกรรมต่างๆ โดยคนเหล่านี้มีเพลงประกอบพิธีของชนเผ่าอยู่แล้ว
เมื่อเกิดความรู้สึกเศร้าจากการถูกกดขี่ข่มเหง ทำให้พวกเขามารวมตัวกันเพื่อปลดปล่อย ระบายความรู้สึกผ่านเสียงดนตรี การผสมผสานของหลากหลายวัฒนธรรมเกิดการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ จนในที่สุดได้ผลผลิตออกมาเป็นแนวดนตรีที่เรียกว่าแจ๊ซ(jazz)
ลักษณะเด่นของดนตรีแจ๊ซคือจะมีความซับซ้อนกว่าดนตรีทั่วไป เนื่องจากเป็นการบรรเลงแบบด้นสด (improvise) จากทำนองหลักที่มีอยู่ การใช้จังหวะขัด การประสานเสียงแปลกๆ ทำให้ดนตรีแจ๊ซมีเอกลักษณ์ที่เด่นชัด
เมืองที่มากไปด้วยเสน่ห์อย่างเชียงใหม่ ที่รวมความหลากหลายในทุกด้านๆ ทำให้ที่แห่งนี้กลายเป็นหมุดหมายของนักเดินทางและศิลปินทั่วโลกที่ต้องการพักผ่อนร่างกายอยู่กับธรรมชาติแต่ไม่อยากขาดเสียงดนตรีในหัวใจ ต่างพากันเดินทางมาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กับสร้างรสนิยมใหม่ในการฟังดนตรี จนทำให้ดนตรีแจ๊ซกลายเป็นดนตรีที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติมากพอสมควร
“มันคงจะดี ถ้าหากเรารู้จักกัน และเข้าใจกันมากขึ้น” เป็นประโยคชักชวนให้ใครหลายคนเข้ามารู้จักกับเทศกาลดนตรีแจ๊ซที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีนี้ แต่มันจะเป็นเทศกาลดนตรีที่ไม่เหมือนเดิม คำกล่าวของปอ-ภราดล พรอำนวย เจ้าของร้าน North Gate Jazz Co-op บาร์แจ๊ซซึ่งเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของผู้หลงใหลในเสียงดนตรี ที่ว่ากันว่าหากไม่ได้มาที่นี่แปลว่าคุณมาไม่ถึงเชียงใหม่
หลายคนในเชียงใหม่รู้จักปอในฐานะเจ้าของร้านดนตรีแจ๊ซ ศิลปิน นักเขียน นักรณรงค์สิ่งแวดล้อม รวมถึงนักเดินทาง หากย้อนกลับไปเมื่อฤดูร้อนปี 2552 เขาคือนักเดินทางที่พกความเชื่อมั่นใส่กระเป๋าพาตัวเองข้ามทวีป จากภาคเหนือของประเทศไทยสู่ปลายทางยุโรปตะวันตกอย่างประเทศฝรั่งเศสด้วยการโบกรถ ผ่านประเทศลาว จีน ไปจนถึงมองโกเลียเพื่อขึ้นขบวนรถไฟสายที่ยาวที่สุดในโลกอย่างทรานส์ไซบีเรียจนถึงมอสโก เมืองหลวงของประเทศรัสเซีย ลัดเลาะเข้าสาธารณรัฐลัตเวีย เยอรมนี เบลเยียม สเปน และสิ้นสุดการเดินทางที่ฝรั่งเศสในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน
ระหว่างการเดินทางที่แสนยาวนาน เสียงล้อรถไฟกระทบรางดังวนเวียนอย่างไม่มีสิ้นสุด บางวันก็หิว กระหายน้ำ เงินในกระเป๋าก็ไม่ได้เพียงพอ กล้าเผชิญกับความรู้สึกที่บีบรัดหัวใจ ทั้งความเหน็ดเหนื่อย เหงา เศร้า กลัว คิดถึงบ้าน แต่ก็นับเป็นช่วงเวลาพิเศษสำหรับชีวิตของนักดนตรีคนหนึ่งที่แบกแซกโซโฟนมาไกลพร้อมความเชื่อมั่น เพื่อหวังจะได้แลกเปลี่ยนความคิด ความรู้สึก ประสบการณ์ กับคนอื่นๆ หรือนักดนตรีอีกซีกโลกหนึ่ง ในสถานที่และท่วงทำนองที่เขาไม่เคยรู้จัก
หากวันนั้นเขาไม่ตัดสินใจออกเดินทาง ยังยืนเป่าแซกโซโฟนไปเรื่อยๆ อยู่ในร้านที่มีกรอบสี่เหลี่ยมอย่างคูเมืองเชียงใหม่ล้อมรอบไว้ คงไม่ได้นำพาชีวิตเขาไปไกลเท่าไรนัก
เราพบกับปอช่วงสาย ใต้ต้นลีลาวดีของร้านกาแฟอาข่าอาม่าย่านถนนสันติธรรม ร้านกาแฟของลีจือปาเพื่อนสนิทชาวอาข่าของปอ ผู้เปลี่ยนคุณภาพชีวิตของชาวอาข่าบนดอยสูงด้วยกาแฟ
“วางเลยจ้า เป็นยังไงบ้าง?” อเมริกาโน่ร้อนถูกเสิร์ฟลงบนโต๊ะไม้ ปอทักทายพนักงานของร้านอย่างเป็นกันเอง ก่อนที่จะเริ่มพูดถึงความหมายของ Chiangmai Street Jazz Festival ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของบาร์แจ๊ซทั้งสี่แห่งในเชียงใหม่
“งานเฟสติวัลนี้พยายามทำเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ เราใช้เวลาคุยกัน 3 เดือนว่าทำไมเราต้องทำงานดนตรีแจ๊ซอีกงานนึง ทั้งที่เทศกาลดนตรีในเชียงใหม่มีเยอะมาก มันตลกนะ ในฐานะที่เราเป็นทั้งผู้ชมและผู้เล่น กระบวนการแสดงดนตรีทั่วไปคือ นักดนตรีมาถึง ซาวนด์เช็ก เล่นดนตรี รับเงิน แล้วก็กลับ ส่วนคนมาดู เขาดูเสร็จก็กลับ เห็นไหมว่ามันขาดปฏิสัมพันธ์ ถ้าเป็นแบบนั้นนอกจากความบันเทิง นอกจากการท่องเที่ยว แล้วมันมีประเด็นอื่นอีกมั้ย พวกเราก็เลยมานั่งแชร์กัน
“ถ้ามันจะมีงานเฟสติวัล เราอยากทำงานดนตรีให้เป็นมากกว่าความบันเทิง เราจะช่วยสื่อสารอะไรให้เมืองให้สังคมได้บ้าง ถ้าสื่อสารได้นักดนตรีแต่ละคนอยากสื่อสารอะไร แล้วนอกเหนือจากการมาเล่นดนตรีเขาต้องการอะไร เขาต้องการเพื่อนหรือเปล่า นอกจากสื่อสารไปแล้วมันจะส่งต่อไปให้ใครได้อีก พวกเราเลยมุ่งไปที่เรื่องการศึกษากับเยาวชน และเรื่องการสื่อสารที่ว่าคือสิ่งที่ไม่ใช่เฉพาะสังคมเราเรียกร้อง แต่เป็นสิ่งที่โลกนี้เรียกร้องคือเรื่องของสิ่งแวดล้อม”
อย่างที่บอก ปอไม่ใช่แค่นักดนตรีที่มีแซกโซโฟนเป็นอาวุธ แต่เขาเป็นนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมคนสำคัญในเชียงใหม่ด้วย ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว โปรเจกต์ “มือเย็นเมืองเย็น” ของปอเกิดจากความคิดง่ายๆ วันหนึ่งที่เขาขับรถจักรยานยนต์ในคูเมืองแล้วรู้สึกร้อนขึ้นมา เลยคิดวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดก็คือการปลูกต้นไม้
“มือเย็นเมืองเย็น” จึงเป็นโปรเจกต์ที่ให้ความรู้เชิญชวนคนมาปลูกต้นไม้เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวให้เชียงใหม่ เป็นอีกชาเลนจ์หนึ่งที่ท้าทายใครก็ได้ให้ออกมาจับจอบจับเสียม ขุดดิน ปลูกต้นไม้ เริ่มจากการสร้างแรงกระเพื่อมวงเล็กๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย ส่งต่อไประดับประเทศด้วยประโยคเรียบง่ายที่กล่าวว่า “อยู่ที่ไหนปลูกที่นั่น” นับเป็นสิ่งที่ทำแล้วเห็นความเป็นไปได้และเป็นไอเดียที่คนอื่นนำไปต่อยอดได้
เราถามหาข้อสรุปตลอด 4 ปีของโปรเจกต์ปลูกต้นไม้นี้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ชายหนุ่มตอบด้วยถ้อยคำที่หนักแน่นว่า “ถ้าให้สรุปโปรเจกต์มือเย็นเมืองเย็นในตอนนี้ผมไม่มีคำตอบให้ แต่ว่าผมเห็นความสำคัญของสิ่งนี้และผมจะทำ ทำไปเรื่อยๆ จนหมดแรงทำ”
ถึงเวลาที่เราต้องพาดนตรีออกไป
ปีนี้เป็นการครบรอบขวบปีที่ 12 ของร้านดนตรีแจ๊ซเล็กๆ อย่างนอร์ธเกตในฐานะเจ้าของกิจการ ปอเลยใช้พื้นที่ของร้านเป็นที่แรกสำหรับจัดงาน roadshow เพื่อเปิดตัวเทศกาลนี้อย่างเป็นทางการ
“นอร์ธเกตต้องออกไปนอกตัวเอง อย่างแจ๊ซเฟสติวัล เราต้องเอาดนตรีออกไป ไม่ใช่เล่นแค่อยู่ในรั้วบ้านเรา ถึงเวลาที่เราจะต้องออกไปแล้ว เหมือนที่ผมบอกว่า ‘กำแพง ไม่ว่าจะสูงหรือต่ำ มันก็เป็นกำแพง’ เราต้องข้ามกำแพงนี้ออกไป
“พอเชียงใหม่มีแจ๊ซบาร์สี่แห่งเราก็น่าจะทำอะไรบางอย่างได้แล้ว มันเยอะนะ นอกจากกรุงเทพฯ จังหวัดอื่นไม่มีนะ นั่นหมายความว่าเชียงใหม่มีความหลากหลายเพียงพอ เราเลยจัด roadshow มีจุดประสงค์คือการหาทุนมาทำคอนเสิร์ต และอีกอย่างหนึ่งคือ เราควรมารู้จักกันบ้าง มาเป็นเพื่อนกัน เพราะปรกติพวกเราไม่มีเวลามาคุยกัน” นอกจากเล่นดนตรีอยู่ร้านในช่วงกลางคืน หรือทำโปรเจกต์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในช่วงกลางวัน นี่นับเป็นโอกาสดีที่พวกเขาจะได้เจอกันในฐานะนักดนตรี
“ผมมีเซอร์ไพรส์! ผมจะเอา ‘ตัวโต’ (การแสดงของชาวไทใหญ่) มาด้วย ผมไม่รู้มันจะอยู่ยังไง แล้วก็ไม่รู้ว่ามันจะเล่นได้ไหม แต่คือจะเอาวงแจ๊ซเล่นให้มันเต้นอะ ทีนี้มันจะเป็น crossing cultures ของจริง” ชายหนุ่มพูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น
“ปรกติเวลาทำแจ๊ซเฟสติวัล หรืองานคอนเสิร์ตบางอย่าง คำถามคือ เวลามีเฟสติวัลแล้วคนไทใหญ่อยู่ไหน ชาวมุสลิมอยู่ไหน คนตาบอดอยู่ไหน คนพิการอยู่ไหน มันไม่มีคนเหล่านั้นอยู่ มันไม่มีพื้นที่สำหรับเขา ทีนี้เราจะฟิวชั่นมันยังไง เราจะหาพื้นที่ใหม่นี้ยังไง หาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ไม่แน่มันอาจจะเกิดศิลปินกลุ่มใหม่ ดนตรีรูปแบบใหม่ก็ได้ เป็นพลวัตที่ศิลปินต้องทำ มันท้าทายนะ สิ่งที่มันไม่แน่นอน ข้อดีของมันคือมันเปลี่ยนได้เร็ว” นี่คือเหตุผลที่ไลน์อัปของศิลปินที่จะมาเล่น roadshow ในครั้งนี้มีความหลากหลาย ยิ่งชวนให้เราตื่นเต้นกับงานมากขึ้นไปอีก
เมื่อดนตรีแจ๊ซจะข้ามกำแพงวัฒนธรรม
ช่วงค่ำของปลายเดือนมิถุนายน งาน Green Street Roadshow #1 กิจกรรมเดินสายเปิดตัวครั้งแรกอย่างเป็นทางการของเทศกาลดนตรีประจำปีแห่งเมืองเชียงใหม่ Chiang Mai Street Jazz Festival ถูกจัดขึ้นที่ร้านนอร์ธเกต ก่อนที่จะส่งต่อไปยังร้านอื่นในเดือนถัดๆ ไป
นักดนตรียืนเรียงกันอยู่หน้าเวทีการแสดง มันไม่ใช่เวทียกสูงเหมือนที่ใครๆ เข้าใจ เป็นเพียงพื้นที่ว่างขนาดประมาณ 4 ตารางเมตร มีเพลตไม้ยกระดับเล็กน้อยสำหรับตั้งกลองชุดและลำโพง มีฝาผนังสีส้มอิฐที่ถูกแต่งแต้มด้วยสีอะคริลิกเป็นลวดลายเถาวัลย์จากเมืองราชสถาน ประเทศอินเดีย เป็นพื้นหลัง
เสียงดนตรีแจ๊ซลอยพลิ้วไหวในอากาศต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินผ่านไปผ่านมา ไม่นานจำนวนคนที่มากกว่าจะบรรจุอยู่ในพื้นที่หนึ่งคูหาครึ่งของร้านก็ล้นออกมาตรงทางเท้า นักท่องเที่ยวอีกจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องข้ามถนนมายืนบริเวณกำแพงอิฐริมคูเมืองที่ถูกคั่นด้วยถนนศรีภูมิ แต่ไม่อาจคั่นเสียงของเครื่องดนตรีระดับ 101 เดซิเบลที่บรรเลงออกมาจากร้านได้
เวลา 20.00 น. “ริบบิ้น” ศิลปินหญิงร่างเล็กมาพร้อมกับกีตาร์คู่ใจและเพลงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เธอแต่งเอง หลังจากเล่นจบ พอล หนุ่มฝรั่งร่างสูงหนึ่งในนักดนตรีของร้านก็กล่าวต้อนรับผู้ชมด้วยภาษาไทยอย่างฉะฉานถึงงานที่จัดขึ้นในวันนี้ ก่อนจะส่งต่อเวทีให้ สนิมหยก วงดนตรีเมดอินเชียงใหม่ที่ขับเคลื่อนคอร์ดด้วยเพลงแนว rock and roll สร้างความตื่นเต้นด้วยไลน์กีตาร์อันเป็นเอกลักษณ์
เวลา 22.00 น. ผู้ชมยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้น กลุ่มนักดนตรีผู้พิการทางสายตาวง Let’s Fin ซึ่งเดินทางมาจากกรุงเทพฯ หลังพวกเขาใช้เวลากว่า 3 เดือนในการฝึกฝนก็มีโอกาสได้ขึ้นแสดงด้วยเพลงแจ๊ซสบายๆ อย่าง Sunny และอีกหลายเพลง นับเป็นกลุ่มศิลปินผู้พิการทางสายตาวงแรกของประเทศไทยที่เล่นดนตรีแจ๊ซที่มีจังหวะรวมถึงทักษะการอิมโพรไวส์ที่ยากกว่าเพลงทั่วไปหลายเท่าตัว แม้แต่นักดนตรีตาดีในงานก็แทบจะยอมแพ้ให้ชายหนุ่มห้าคนผู้มองไม่เห็นผู้ชม แต่ได้ส่งความรู้สึกดีผ่านเสียงเพลงเข้าสู่ใจผู้ชมอย่างน่าประทับใจ จนทุกคนในร้านต่างส่งเสียงโห่ร้อง ปรบมือให้กับความสามารถของพวกเขา
อ้อม-มณีรัตน์ รัตนัง หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ “อ้อม รัตนัง” ศิลปินหญิงชาวเชียงใหม่เจ้าของเพลงล้านนาร่วมสมัยก็มาร่วมแจมกับทีมนักดนตรีแจ๊ซด้วยเพลงดอกระมิงค์, เชียงใหม่เมืองงาม และชะตาชีวิต พร้อมกับท่ารำสวยๆ ใครจะคิดว่าเสียงหวานๆ ของอ้อมนอกจากจะเข้ากับเครื่องดนตรีล้านนาแล้ว ยังเข้ากับเสียงของแซกโซโฟนได้อย่างน่าอัศจรรย์
“มันคือการเติมเชื้อไฟอย่างดีในวันที่กำลังจะหมดไฟในการร้องเพลง หลายครั้งเราทำงานเยอะๆ จนหลงลืมไปว่าเพราะเหตุใดเราจึงยังยืนอยู่ตรงนี้ นั่นเพราะเรามีความสุขทุกครั้งที่ได้ร้องเพลง ได้ทำงานใหม่ๆ ได้เจอเพื่อนร่วมทางที่ต่างแบ่งปันความสุขซึ่งกันและกัน” คือประโยคที่อ้อมทิ้งไว้ในคืนนี้
“ฉึ่งๆๆๆ”
ไม่นานเสียงสะแนร์ของกลองชุดก็เปลี่ยนเป็นเสียงฉาบ จังหวะชวนฉงนแก่คนที่ยืนฟัง สักพักหน้าเวทีก็ปรากฏตัวโตขนสีขาวฟู มีเขาคล้ายกวาง วิ่งออกมาร่ายรำสะบัดขนอันฟูฟ่องไปกับท่องทำนองแห่งศตวรรษที่ 21 ที่มีการผสมผสานระหว่างความเชื่อและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ปอนำการแสดงฟ้อนโตมาเซอร์ไพรส์ที่ร้านจริงๆ
ตัวโตเป็นสัตว์ในนิยายสมัยพระพุทธกาล เป็นการแสดงหนึ่งของชาวไทใหญ่ในช่วงเทศกาลออกพรรษา เนื่องจากชาวไทใหญ่มีความเชื่อว่าโตเป็นสัตว์ที่ได้ร่วมถวายการฟ้อนรำแก่พระพุทธเจ้าในช่วงวันออกพรรษา การปรากฏตัวของตัวโตสร้างความสนใจอย่างมากจากผู้ชมโดยเฉพาะชาวต่างชาติ ต่างยกกล้องขึ้นมาถ่ายวิดีโอในความแปลกและหลุดโลก เพราะตัวโตไม่ได้ออกมาร่ายรำกับฆ้องมงหรือกลองก้นยาวอย่างในตำราอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นเสียงของแซกโซโฟนแทน
เวทีถูกส่งต่อให้ “บิงกี้” หรือลอว์เรนส์ ทอลฟรี ศิลปินผิวสีจากชิคาโก เขาทำหน้าที่เป็นพิธีกรอีกคนของค่ำคืนนี้ก่อนที่จะเดินทางไปทำการแสดงที่กรุงเทพฯ ในวันถัดไป เขาเชิญชวนผู้ชมคนอื่นขึ้นมาเล่นดนตรีกันบนเวทีประมาณสองสามเพลง
เข็มของนาฬิกาชี้บอกเวลาเที่ยงคืน เพลงสุดท้ายของร้านได้รับการบรรเลงด้วยแซกโซโฟนของแดนและปอ ทั้งสองต่างใช้นิ้วสลับแป้นเทเนอร์ของแซกโซโฟนอย่างชำนาญ ขณะเดียวกันปากก็ประกบเมาท์พีซส่งลมในปอดออกมาผ่านเครื่องเป่าสีทองเหลืองเป็นบทเพลงขับกล่อมทุกคน
สิ้นเสียงตัวโน้ตสุดท้ายของค่ำคืน ผู้ชมส่งเสียงตะโกน โห่ร้อง ปรบมือให้กับนักดนตรีทุกคน ทุกคนในร้านต่างโอบกอดกันพร้อมกับรอยยิ้มบนใบหน้า ก่อนที่จะแยกย้ายจากกันบิงกี้กล่าวกับทุกคนในร้านว่า
“ค่ำคืนนี้เป็นคืนที่พิเศษมากๆ เรามีเมืองที่สวยงาม มีวัฒนธรรม มีดนตรีที่แสนพิเศษ และเราจะมอบสิ่งดีๆ เหล่านี้กลับสู่สังคม”
ร้านดนตรีในห้องแถวพื้นที่หนึ่งคูหาครึ่งที่อาจดูคับแคบ แต่แท้จริงแล้วพื้นที่แห่งนี้ถูกอัดแน่นไปด้วยมิตรภาพ รอยยิ้ม เสียงดนตรีทำหน้าที่เป็นภาษาสากลที่ทำลายกำแพงของทุกๆ ภาษาบนโลก ไม่แบ่งแยกความแตกต่างทางฐานะ ชาติพันธุ์ เพศสภาพ หรือแม้แต่ความพิการ แท้จริงพวกเราคือมนุษย์ที่เท่ากัน
ในขณะที่ทุกคนต่างแยกย้ายกลับเราจ้องมองเงาตัวเองที่พาดผ่านลงบนถนนหน้าร้าน เรามองเห็นความเป็นมนุษย์ เรารับรู้ถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับเชียงใหม่ เมืองที่เป็นบ้านของเรา เห็นชาวต่างชาติที่อยากทำให้เชียงใหม่พัฒนาไปในทางที่ดี ในฐานะของเจ้าของบ้านคนหนึ่ง เราหันกลับมาทบทวนว่าเราสามารถทำอะไรดีๆ เพื่อทำให้บ้านของเราเป็นบ้านที่น่าอยู่ เพื่อให้มนุษย์ตัวเล็กๆ คนอื่นได้เติบโตในสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมที่ดีได้
นี่อาจเป็นคำตอบว่าดนตรีแบ่งปันอะไรให้สังคม
“คำพูดมันก็ทำงานแค่ส่วนเล็กๆ นะ แต่ว่าอารมณ์ แววตา ความรู้สึกเหล่านี้มันสื่อสารมากกว่า ให้เสียงเพลงมันทำงาน ให้เสียงในใจมันทำงาน…” เรานึกถึงคำพูดของเจ้าของร้านหนุ่มร่างสูงโปร่งที่ทิ้งท้ายก่อนจากกันในวันนั้น
แล้วเราก็รู้สึกดีจริงๆ เมื่อทุกคนได้รู้จักกันและเข้าใจกันมากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
- ภราดล พรอำนวย. ลมใต้ปอด. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป, 2557.
- ธิติ มีแต้ม. (2561). “มองประชาธิปไตยในวิถี Jazz : คุยกับ โสภณ สุวรรณกิจ แอดมินเพจ ‘แจ๊สแจ๋’”. ออนไลน์. : https://www.the101.world. (16 กรกฎาคม 2562).
ลลิน ศิริเรืองกิตติ์ (ลลิน) นักเขียนอิสระ ผู้บำบัดตัวเองด้วยการเสพดนตรีสด หลงรักการเดินทาง งานคราฟต์ ผ้าทอ แมว และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพื้นที่สีเขียวให้เมืองเชียงใหม่
ชวลิต ตาติวงศ์ คนผู้ค้นหาความลงตัวของชีวิต บนถนนของความเป็นหนุ่ม ที่ยังไม่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า