ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


ในเมืองไทย หลักฐานลายลักษณ์อักษรเก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึง “ธง” ได้แก่บรรดาผืนธงที่ใช้เนื่องในพุทธศาสนา อย่างที่ภาษาบาลีเรียกว่า “ปฎาก” (อ่านว่า ปะ-ตาก) ซึ่งปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย

ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ พ.ศ. ๑๙๑๒ สมัยพญาลิไท บรรยายการประดับตกแต่งสองข้างถนนทางขึ้นเขาสุมนกูฏ (เขาพระบาทใหญ่ นอกเมืองสุโขทัย) ว่า “…ปลูกธงปฏากทั้งสองปลากหนทาง…”

“ธงปฏาก” ในที่นี้คงใช้วิธีตั้งเสา (จึงใช้คำว่า “ปลูก”) เรียงแถวกันสองข้างทาง แล้วแขวนผืนผ้าห้อยลงมา เหมือนอย่างการแขวน “ตุง” ประดับประดาสองข้างถนนในงานประเพณีย้อนยุคที่นิยมกันในปัจจุบัน คือมีฐานะเป็น “การประดับตกแต่ง” ถวายเป็นพุทธบูชาและสร้างบรรยากาศ “มีงานมีการ” มากกว่าจะมีความหมายเชิงสัญลักษณ์จริงจัง

ส่วนในปัจจุบัน เราคงคุ้นตากับธงในพุทธศาสนาอีกรูปแบบหนึ่งที่พบเห็นทั่วไปเวลามีงานวัดหรืองานประเพณีในวันพระใหญ่ คือ “ธงธรรมจักร” ซึ่งเป็นผืนธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแสดคล้ายสีจีวรพระ ตรงกลางมีรูป “ธรรมจักร” หรือกงล้อแห่งธรรม เป็นลายเส้นสีแดง มีซี่ล้อหรือ “กำ” จำนวน ๑๒ ซี่

น่าทึ่งว่าจนถึงขณะนี้ก็ยังค้นประวัติไม่ได้แน่ชัด ว่าธงธรรมจักรนี้ถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร โดยท่านผู้ใด ตั้งแต่เมื่อไร เพียงแต่พบข้อมูลที่อ้างอิงกันลอยๆ ว่าเริ่มใช้ตั้งแต่ปี ๒๕๐๑ ภายหลังการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อปี ๒๕๐๐

ดูเหมือนว่าคณะสงฆ์ไทยประกาศใช้ “ธงธรรมจักร” กันเอง โดยมิได้มีกฎหมายใดๆ รองรับเหมือนอย่างพระราชบัญญัติธงที่กำหนดเรื่องสี สัดส่วน หรือโอกาสการชักธงชาติ ขณะที่ชาวพุทธในประเทศอื่นๆ รอบบ้านเรา เช่นพม่า กัมพูชา และศรีลังกา กลับนิยมประดับธงสัญลักษณ์พุทธศาสนาอีกแบบหนึ่งคือ “ธงฉัพพรรณรังสี” อันเป็นธงที่มีแถบสีหกแถบทางตั้ง ตามสีรัศมีหกประการของพระพุทธองค์ (ฉ ภาษาบาลีแปลว่า หก) ได้แก่ สีน้ำเงิน เหลือง แดง ขาว แสด และแถบสุดท้ายเป็น “สีเลื่อม” (ประภัสสร) ซึ่งเกิดจากการนำแถบสีทั้งห้าข้างต้น มาวางเรียงทางขวางอีกทีหนึ่ง

ธงฉัพพรรณรังสีก็ใช้ในทำนองเดียวกับที่คนไทยใช้ธงธรรมจักร มีทั้งชักขึ้นเสาจำนวนมากๆ สร้างบรรยากาศในวัด หรือที่ทำเป็นธงราวแขวนหน้าศาสนสถาน ฯลฯ

ในเมื่อยังไม่มีข้อมูลจึงน่าสนใจที่จะลองคิด ลอง “สันนิษฐาน” ดูว่า “ธงธรรมจักร” เกิดขึ้นในบริบทแบบใด

หากธงธรรมจักรเริ่มต้นขึ้นในปี ๒๕๐๑ จริง ในโลกพุทธศาสนาขณะนั้นเองมีการใช้ธงฉัพพรรณรังสีแพร่หลายอยู่แล้ว ธงนี้เริ่มต้นขึ้นจากพุทธสมาคมในศรีลังกาตั้งแต่ยุคต้นรัชกาลที่ ๕ และปรับเปลี่ยนรูปแบบจนลงตัวเป็นผืนธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบธงชาติทั่วไป โดยนายพันเอก เฮนรี สตีล โอลคอต (Col. Henry Steel Olcott) นายทหารนักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกัน หนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมเทวญาณสากล (Theosophical Society) และองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก หรือ พ.ส.ล. (World Fellowship of Buddhists – WFB) ได้ออกประกาศรับรองธงฉัพพรรณรังสีให้เป็นธงพุทธศาสนาสากลมาแล้วตั้งแต่ปี ๒๔๙๓

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง รูปธรรมจักรยังถูกใช้บนผืนธงชาติของสาธารณรัฐอินเดีย ภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี ๒๔๙๐ โดยธง “ไตรรงค์” (Tiranga) ของอินเดียประกอบด้วยแถบสามสี คือเขียว-ขาว-แสด โดยมีลายเส้นรูป “ธรรมจักร” ของพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นสีน้ำเงิน อยู่กึ่งกลางแถบขาว

หมายความว่าคณะสงฆ์ไทย ไม่ต้องการใช้ธงที่เป็นแถบสีฉัพพรรณรังสีเหมือนองค์กรพุทธศาสนาในประเทศอื่น ขณะเดียวกัน ก็ไม่อยากให้อินเดียได้ครอบครองเป็นเจ้าของ “ธรรมจักร” แต่เพียงผู้เดียว เช่นนั้นหรือ ?

เคยอ่านผ่านตาว่าเมื่อราวปี ๒๕๑๐ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช คุณชายนักเขียน ศิลปิน และนักการเมืองคนดัง ยังเคยแสดงทัศนะไว้ในคอลัมน์ “หน้า ๕” ของหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” อันโด่งดังของท่าน ว่าไม่เห็นประโยชน์ว่าจะมี “ธงธรรมจักร” ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งเพื่ออะไร ในเมื่อธงชาติก็มีริ้วสีขาวซึ่งหมายถึงศาสนาอยู่แล้ว ถ้าวัดมีความประสงค์อยากชักธงบ้าง ก็สามารถชักธงชาติได้โดยไม่มีข้อขัดข้องใดๆ

การเกิดขึ้นของ “ธงธรรมจักร” จึงยังเป็นปริศนาที่น่าสนใจ เพราะแม้จะเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ แต่กลับไม่สามารถหาพยานบุคคล หรือเอกสารหลักฐานอ้างอิงใดๆ ได้เลย แต่ทุกคนก็รับมาใช้กันแพร่หลายทั้งประเทศ

ไม่ต่างกับความลับดำมืดอีกมากมายในหน้าประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของไทย…