คอลัมน์ -จากบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 413 กรกฎาคม 2562

สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาเป็นข่าวดังมาตั้งแต่ช่วงต้นปี

ถ้าใครติดตามก็จะเห็นการขยับมาตรการตอบโต้เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ แต่จะไปจบลงตรงไหน เมื่อไร ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าคงต้องดูกันไปอีก

เพราะนี่เป็นสงครามที่ครอบคลุมหลายมิติและเดิมพันสูง แย่งชิงขับเคี่ยวกันบนสนามรบระดับภูมิภาคและระดับโลก

อาจเปรียบได้กับการต่อสู้ในสมัย “สงครามเย็น” ระหว่างประเทศค่ายเสรีนิยมกับประเทศค่ายคอมมิวนิสต์

สำหรับคนไทย ภาพของประเทศจีนนั้นนับว่าเปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดด จากที่เราเคยรับรู้ว่าจีนเป็นแหล่งผลิตของก๊อบปี้ราคาถูก สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าไร้คุณภาพ แต่แล้วจู่ ๆ สินค้าเมืองจีนก็ดูจะพัฒนาขึ้น เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว เกิดเศรษฐีใหม่ พร้อมกับกระแสคลื่นชาวจีนบุกมาเที่ยวเมืองไทย ตามมาด้วยการเข้าซื้อและลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทยจำนวนมาก  รัฐไทยหลังการรัฐประหารของกองทัพก็เลือกผูกสัมพันธ์กับจีนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะความตกลงเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงข่ายเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน

คำถามที่หลายคนอาจสงสัยคือ ทำไมประเทศสังคมนิยมอย่างจีนจึงเจริญก้าวหน้ามาเทียบเท่าประเทศเสรีนิยมหรือประชาธิปไตยได้ เพราะตลอดเวลาหลายทศวรรษ โลกต่างมีภาพจำว่าประเทศคอมมิวนิสต์นั้นมักยากจนและล้าหลัง

หากอ่านประวัติศาสตร์ของจีนก็อาจพบคำอธิบายหนึ่งที่น่าสนใจคือคนจีนเห็นค่าความสำคัญอย่างมากของ “วิทยาศาสตร์” ตั้งแต่ครั้งความพ่ายแพ้ต่อชาติตะวันตกในสมัยราชวงศ์ชิงที่จีนมองว่าเป็นเพราะความล้าหลังทางเทคโนโลยีของตนเอง  ต่อเนื่องมาถึงการชุมนุมต่อต้านการครอบงำของต่างชาติเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๔๖๒ (ครบ ๑๐๐ ปีพอดีในปีนี้) ที่เรียกว่าขบวนการ ๔ พฤษภาคม นักศึกษาก็ได้จุดประกายเรียกร้องให้ Mr. Science เป็นหลักพัฒนาประเทศ กระทั่งการเกิดพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่สมาทานลัทธิมาร์กซ์ ก็เพราะลัทธิมาร์กซ์นั้นตั้งอยู่บนทฤษฎีที่มีคำอธิบายการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เรียกว่าวัตถุนิยมวิภาษวิธี (dialectical materialism)

ความพิเศษของวัตถุนิยมวิภาษวิธี คือการมองว่าสรรพสิ่งทุกอย่างไม่หยุดนิ่ง มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเป็นไปตามกฎสามข้อ คือ

กฎการเปลี่ยนแปลงจากปริมาณสู่คุณภาพ – ยกตัวอย่างน้ำที่ได้รับความร้อน แต่จะไม่เปลี่ยนเป็นไอน้ำถ้ายังร้อนไม่ถึงจุดเดือด ๑๐๐ องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพที่จะเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด

กฎของผลรวมจากความขัดแย้งของคู่ตรงข้าม – มองว่าทุกสิ่งเป็นปฏิสัมพันธ์ของคู่ตรงข้าม เช่น บวกกับลบ ร้อนกับเย็น ก้าวหน้ากับล้าหลัง ฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา ปัจเจกกับสากล ฯลฯ และความขัดแย้งนี้ทำให้เกิดพัฒนาการ

กฎการปฏิเสธของการปฏิเสธ – ผีเสื้อพัฒนาเป็นตัวจากการปฏิเสธสภาพการเป็นไข่ แต่เพื่อจะขยายเผ่าพันธุ์ต่อไปผีเสื้อก็ต้องวางไข่  สิ่งใหม่ถึงเกิดจากการปฏิเสธสิ่งเก่า แต่ก็อาศัยสิ่งเก่ามาสร้างสิ่งใหม่ เป็นวัฏจักรหมุนเวียนไป

ประเทศจีนตั้งแต่ยุค เติ้งเสี่ยวผิง ที่ดำเนินการพัฒนาประเทศด้วยนโยบายที่ฟังดูเหมือนย้อนแย้งในตัวเองอย่างการ “ปฏิรูปและเปิดประเทศ” หรือการปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ แต่พัฒนาเศรษฐกิจด้วยกลไกตลาดอาจสะท้อนภาพการใช้หลักวัตถุนิยมวิภาษวิธีในแบบฉบับของจีนก็เป็นได้

เมื่อปีที่แล้ว วันที่ ๔ พฤษภาคม จีนจัดงานเฉลิมฉลอง ๒๐๐ ปีชาตกาลของ คาร์ล มาร์กซ์ (เกิด ๕ พฤษภาคม ๒๓๖๑) สีจิ้นผิง ผู้นำสูงสุดได้กล่าวยกย่อง คาร์ล มาร์กซ์ ว่าเป็นนักคิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

“ความก้าวหน้าของประเทศจีน คือบทพิสูจน์ความถูกต้องของลัทธิมาร์กซ์ และการใช้ลัทธิมาร์กซ์หลอมรวมเข้ากับลักษณะเฉพาะของจีน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนจีน และรับใช้ประชาชนด้วยหัวใจของเรา”

เขาย้ำว่าประเทศจีนยังต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายมากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

“เราต้องใช้มาร์กซิสต์ในการวิเคราะห์ปัญหาและใช้วิทยาศาสตร์ในการทำงาน ไม่มีรูปแบบตายตัวของสังคมนิยม มีแต่การประยุกต์หลักการเข้ากับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันและบริบททางประวัติ-ศาสตร์และวัฒนธรรมของจีน”

“เราจะเปิดขอบฟ้าใหม่ของการพัฒนาลัทธิมาร์กซ์ในประเทศจีนวันนี้และโลกในศตวรรษที่ ๒๑”

การจะทำความเข้าใจประเทศจีนที่กำลังก้าวสู่หนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก คงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องทำความเข้าใจลัทธิมาร์กซ์ด้วย ไม่ว่าครั้งหนึ่งประวัติศาสตร์จะสอนให้คนไทยเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์มากแค่ไหนก็ตาม

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี suwatasa@gmail.com