สุภัชญา เตชะชูเชิด : เรื่อง ธัญรัตน์ สุขเรือน : ถ่ายภาพ

“ไม่คิดไม่ฝันว่าวันนึงจะต้องมาสปาพะยูน” ในหัวฉันคิดอย่างนั้นในขณะที่มือค่อยๆลูบไล่ฟองน้ำไปบนลำตัวของ “ยามีล” ลูกพะยูนอายุ 4 เดือนที่พลัดหลงจากแม่ที่จังหวัดกระบี่ แต่ตอนนี้เจ้าหน้าที่พายามีลมาดูแลอย่างใกล้ชิดในหน่วยสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต

ยามีลพลัดหลงมาเมื่อ 2 กรกฎาคม หรือหลังจากพบมาเรียมไม่นานนัก กำลังของสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลจึงต้องแบ่งเป็นสองส่วนเพื่อดูแลทั้งสองพื้นที่ การทำงานเมื่อพบสัตว์ทะเลเกยตื้นขั้นแรกเจ้าหน้าที่จะต้องพยายามที่จะปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติก่อน แต่ทั้งกรณีของมาเรียมและยามีล พะยูนตัวน้อยก็ยังกลับมาเกยตื้นอีกครั้งด้วยอาการอ่อนล้า

“พอไปถึงกระบี่คือมืดมากเลยนะแล้วก็ไกลด้วย ระหว่างทางเราก็ต้องแวะซื้อเครื่องมือทุกอย่าง ถุงมือ จุกนม นมผง เพราะเราก็ไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย อุปกรณ์ทุกอย่างอยู่ที่มาเรียมหมด เราก็ไม่คิดว่ามันจะมาเกยตื้นอีกช่วงนี้” หมออีฟ อรอิณท์ สายนำทาน หนึ่งในทีมสัตวแพทย์เล่าเหตุการณ์วันนั้นให้ฉันฟัง

“เราเอาไปอยู่กับมาเรียมไม่ได้ เพราะน้องตัวเล็กมาก อ่อนแรงจากการเกยตื้น และก็มีแผลเยอะ” หมออีฟเปิดรูปวันแรกที่พบให้ดู ผิวหนังของยามีลเต็มไปด้วยรอยเขี้ยวที่คาดว่าเกิดจากตัวผู้มาแยกแม่มันออกไป พะยูนน้อยเลยมีแผลฉกรรจ์ ทีมสัตวแพทย์จึงตัดสินใจนำมาดูแลในบ่อเลี้ยงซึ่งจะทำให้ดูแลได้อย่างใกล้ชิดกว่า

ในช่วงแรกทีมสัตวแพทย์ก็ผลัดเวรกันเฝ้าดูแลยามีลทั้งวันทั้งคืนเพราะสุขภาพน่าเป็นห่วง มีการตรวจวินิจฉัยร่างกาย และทายาสมานแผลจนยามีลมีอาการดีขึ้นตามลำดับ แต่ด้วยทีมงานที่มีอยู่อย่างจำกัดและยังต้องมีการดูแลยามีลอย่างใกล้ชิดจึงมีการรับอาสาสมัครมารับหน้าที่ดูแลบางส่วน

“ด้วยความที่เขาเป็นลูกสัตว์ก็ต้องทำให้สัตว์เหล่านี้ไว้ใจเราก่อน เขาก็จะยอมให้เราทำทุกอย่าง แล้วเราก็เพิ่มการรักษาขึ้นไปทีละเล็กละน้อย เราจะทำทุกอย่างทีเดียวเลยก็ไม่ได้ ส่วนสัตว์ที่โตจะมีความกลัว เครียด และระมัดระวังด้วยสัญชาตญาณที่เป็นสัตว์ป่ามากกว่า” หมอฟ้า พัชราภรณ์ แก้วโม่ง หัวหน้าทีมสัตวแพทย์บอกถึงหัวใจของการดูแลรักษา ยามีลจากที่เคยอยู่แต่ขอบบ่อไม่ยอมเล่นกับคนก็เริ่มว่ายน้ำมากขึ้นและคุ้นชินกับคนมากขึ้นแล้ว

แม่พะยูนอาสา

หน้าที่หลักที่ฉันดูแลคือการชงนมให้น้องทุกๆ ชั่วโมงครึ่งจนถึงเวลาตี 3 และเริ่มงานอีกครั้งในเวลา ๖ โมงเช้า นมที่ให้เป็นนมผงผสมวิตามินสำหรับสัตว์และน้ำมันพืชจำนวนเล็กน้อยเพื่อให้ช่วยในการดูดซับ เราจะให้นมผ่านสายยางที่มีปลายเป็น “จุกนมเทียม” ซึ่งทำมาจากสายยางที่พันด้วยสำลีและยัดเข้าไปในปลายถุงมือให้มีลักษณะคล้ายหัวนมของแม่มันจริงๆให้น้องดูดได้ง่าย ฉันเองก็เพิ่งรู้ว่าจริงๆแล้วหัวนมของพะยูนออกจะต่างจากสัตว์อื่นอยู่สักหน่อยเพราะมีหัวนมอยู่ที่ใต้รักแร้แทนที่จะเป็นใต้ท้อง เราเลยเห็นลูกพะยูนว่ายคลอเคลียและเกาะแถวครีบของแม่มันเสมอๆ

สัตวแพทย์คำนวณปริมาณและความเข้มข้นของนมจากงานวิจัยที่ผ่านมาเกี่ยวกับปริมาณพลังงานที่พะยูนต้องการในแต่ละวัย อย่างไรก็ตามสูตรเหล่านี้ก็ไม่ได้มีปริมาตรตายตัว เราต้องคอยสังเกตพฤติกรรมว่าน้องกินอิ่มดีรึเปล่า มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือเปล่า

และหลังจากการให้นมในแต่ละครั้งอาสาสมัครก็จะต้องลงไปในน้ำเพื่อพาพะยูนว่ายน้ำ ให้มันได้ออกกำลังกายและกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร เนื่องจากในธรรมชาติพะยูนอาจจะว่ายน้ำเยอะกว่านี้มาก แต่ในบ่อขนาด 5 x 7 เมตร อาจจะทำให้กิจกรรมของมันไม่มากเท่าที่ควร

แต่ละคนก็ผลัดกันว่ายน้ำ ถ้าวันไหนยามีลอารมณ์ดีก็จะว่ายน้ำตามแต่โดยดีตามนิสัยธรรมชาติที่จะตามแม่เสมอๆหรือบางทีอาจจะว่ายเล่นเองโดยที่เราไม่ต้องฝืนเลยก็ได้ แต่ถ้าหากวันไหนอารมณ์ไม่ดีก็อาจจะต้องหลอกล่อกันหน่อย

“เล่นกับมันเหมือนเด็กผู้ชาย” หมอฟ้าบอก ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นแบบนั้น เราทั้งขัดตัว กด หรือแกล้งพาน้องออกมาว่ายน้ำ บางทียามีลก็คลอเคลียตามน่ารักมากๆเลย เล่นๆกันอยู่ดีๆ กลิ่นเหม็นก็ลอยมา ถ้าใครบอกว่าน้ำตาพะยูนเป็นยาเสน่ห์ ขี้พะยูนก็อาจจะเป็นยาพิษ ขี้แท่งยาวหน้าตาเหมือนยาสีฟันส่งกลิ่นคละคลุ้งไปทั้งบ่อ เราต้องรีบเอากระชอนช้อนออกและก็ลงไปว่ายน้ำในบ่อต่อ

อึนั้นสำคัญไฉน?

“วันนี้มันอึหรือยัง” พี่หมอฟ้าจะคอยถามทุกวัน ทุกกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นอึ ตด เรอ หรืออัตราการหายใจจะถูกบันทึกไว้หมดเพื่อสังเกตอาการ พี่หมอฟ้าดูกังวลเมื่อวันนี้ทั้งวันน้องยังไม่ยอมอึเลยตั้งแต่เช้า แม้จะเป็นเวลา ๔ ทุ่มกว่าซึ่งล่วงเวลางานมามากแล้ว แต่หมอฟ้าก็ยังเปลี่ยนชุดลงน้ำเพื่อที่จะตรวจดูอาการและฟังเสียงการทำงานของระบบย่อยอาหาร

“ไม่ต้องอึทุกวันก็ได้มั้ง คนเรายังไม่อึทุกวันเลย” ฉันบอกเพื่อให้หมอเบาใจ เพราะดูเหมือนว่าทุกคนจะวิตกกังวลจนเกินไปกับการที่ยามีลไม่อึเลย “รอไปก่อนเดี๋ยวก็อึ” ฉันคิดแบบนั้น

เซเรน่า พะยูนพลัดหลงที่อายุยืนที่สุดในโลก

เรามีโอกาสดีได้เจอ ดร.วาไก ผู้เชี่ยวชาญที่เลี้ยงพะยูนได้ยืนนานที่สุดในโลกจาก Toba Aquarium ประเทศญี่ปุ่น ดร.วาไกเลี้ยง “เซเรน่า” พะยูนของเขาเมื่อ 30 ปีก่อน

“ลองนึกดูสมัยนั้นยังไม่มีนมผงสัตว์ยังไม่มีวิตามินเสริมอย่างทุกวันนี้ ผมให้เซเรน่ากินนมของเด็กนี่แหละ และให้กินน้ำมะพร้าวด้วยเพราะมันมีวิตามินและแร่ธาตุครบถ้วน” คุณวาไกอธิบายเป็นภาษาอังกฤษสำเนียงญี่ปุ่น พร้อมทั้งโชว์รูปสมัยโบราณที่เขาเลี้ยงเซเรน่าในธรรมชาติเป็นครั้งแรก

ทุกวันนี้เราต้องว่ายพายามีลออกกำลังกาย แต่คุณวาไกเล่าว่าเขาเอาเต่าลงไปว่ายเป็นเพื่อนเซเรน่าและเลี้ยงดูให้มันเติบโตไปพร้อมๆกัน ทุกวันนี้เซเรน่าทั้งขาวทั้งอวบและมีน้ำหนักกว่า 400 กิโลกรัมราวกับซูโม่ญี่ปุ่น คุณวาไกบอกว่าโชคดีที่เซเรน่าของเขาแทบจะไม่มีอาการป่วยหนักๆเลย มีเพียงครั้งเดียวที่เขาลองเอาหญ้าบกที่มีงานวิจัยว่ามานาที(Manatee)กินได้ให้เซเรน่ากินแต่มันกลับไม่ย่อยและท้องอืด

ปัจจุบันทั่วโลกมีพะยูนที่เลี้ยงในสถานที่ปิดเพียง 3 ตัวเท่านั้น คือ ที่ Toba Aquarium ในญี่ปุ่น SeaWorld ในอินโดนีเซีย และ Sydney Aquarium ที่ออสเตเรีย จริงๆ ก่อนหน้านี้มีอีกหลายแห่งที่พยายามเลี้ยงพะยูน แต่หลายตัวตายไปเพราะโรคระบบทางเดินอาหารเฉียบพลันและท้องอืด

“มีบางช่วงที่ยามีลท้องอืดจริงๆนะ” หมออีฟเล่า “ตอนแรกมันนอนหงายก่อน คนก็คิดว่าคงเป็นพฤติกรรมของมันนอนหงายเป็นเรื่องปกติ หลังจากนั้นมันก็ไม่ค่อยกินนมเลย แล้วมันก็เริ่มเอาครีบจับท้องตัวเองแล้วก็บิดไปบิดมาเหมือนคนปวดท้อง หมอก็เลยให้ยาขับลมผสมกับนม แต่พอมันรู้ว่านมรสชาติเปลี่ยนไปก็ไม่ยอมกิน เราเลยงดการให้นมและพยายามพายามีลว่ายน้ำเยอะๆ แทน ให้ระบบทางเดินอาหารทำงานดี”

อึของน้องที่ทุกคนรอคอย

“อึแล้วจ้า เยอะเลย!” อาสาร้องเรียกตั้งแต่ 6 โมงเช้าในขณะครึ่งตัวจมอยู่ในบ่อที่มีอึของน้องยามีลลอยเป็นสายยาวและส่งกลิ่นคละคลุ้งไปทั่ว แต่ไม่มีใครว่าน้องเลยเพราะเราต่างก็ดีใจที่น้องอึออกมาและไม่มีอาการท้องอืดอย่างที่หมอฟ้ากังวล

“พะยูนเป็นสัตว์ที่มีลำไส้หมักที่ใช้แบคทีเรียในการช่วยย่อย เพราะฉะนั้นสัตว์กลุ่มนี้ระบบทางเดินอาหารจะอ่อนไหวมาก ถ้าแบคทีเรียในลำไส้บางตัวมากไป น้อยไป หรือเสียสมดุลจะทำให้สภาวะหมักมันไม่ดี และแบคทีเรียบางตัวก็อาจจะปล่อยสารเคมีออกมาทำให้เกิดท้องอืด ภาวะขาดน้ำ หรือติดเชื้อในกระแสเลือดได้เลย” หมอฟ้าอธิบาย ด้วยเหตุนี้บางทีเราก็จะเจอน้องยามีลตดออกมาเพื่อระบายแก๊สในทางเดินอาหารด้วยเหมือนกัน

รักยามีลต้องรักทะเลด้วย

ข้างๆบ่อที่ยามีลอยู่ยังมีเต่าจำนวนมากที่ต้องได้รับการดูแล ทุกวันจะต้องมาให้อาหาร เปลี่ยนน้ำ ตรวจสอบสุขภาพ บางตัวที่กินอาหารเองไม่ได้สัตวแพทย์ก็จะช่วยให้อาหารทางสายยาง รวมถึงการทำแผลที่บาดเจ็บมา ส่วนใหญ่จะเป็นการโดนอวนรัดแขน ขา หรือคอมีร่องรอยของการบาดเจ็บ บางตัวโดนกระแทกจนกระดองแตก งานดูแลสัตว์จึงไม่ได้มีแต่พะยูนเท่านั้น

“เราทำงานเรารู้ว่ามีสัตว์ทะเลเกยตื้นเยอะ สัตว์ติดอวนมาเยอะ แต่คนอื่นไม่เคยรู้ เราทำมาเป็นสิบๆปีแล้ว แต่พอมีมาเรียม ยามีล คนก็เริ่มรู้มากขึ้นว่ามีสัตว์ทะเลอื่นๆที่เราต้องอนุรักษ์ คนก็เริ่มเปิดใจมากขึ้นที่จะปรับตัวยังไงบ้าง” หมอฟ้าบอกถึงกระแสการตื่นตัวของคนไทยจากการเกยตื้นของลูกพะยูนทั้งสองตัว

ระหว่างที่สัมภาษณ์หมอฟ้า ฉันต้องหยุดเครื่องอัดเสียงเป็นระยะเพราะว่าหมอต้องรับโทรศัพท์อย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็นการรับแจ้งเรื่องสัตว์ทะเลเกยตื้น การให้คำแนะนำในการดูแลสัตว์ต่างๆ หรือประสานงานในหลายส่วน

และก่อนที่การสัมภาษณ์จะจบลงอย่างสมบูรณ์ หมอฟ้าขอตัวไปปฏิบัติงานเพราะได้รับแจ้งว่ามีวาฬหัวทุยแคระมาเกยตื้นแบบมีชีวิตที่พังงา ทีมสัตวแพทย์เพียงสองคนที่เหลืออยู่ช่วยกันจัดเตรียมอุปกรณ์ ถุงมือ หน้ากาก เข็มฉีดยา และอุปกรณ์ต่างๆจนเต็มตะกร้า ระหว่างที่โทรประสานงานเรื่องรถยนต์และเอกสารให้ทางราชการ เพียงไม่กี่นาทีหมอฟ้าก็เดินทางออกไปช่วยเหลืออีกหนึ่งชีวิต

ฉันนึกถึงประโยคที่หมออีฟเคยพูดเอาไว้ว่า “สำหรับงานดูแลสัตว์หมอว่ามันเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุด้วยซ้ำ เพราะเราไม่สามารถควบคุมสัตว์ทุกตัวที่มาเกยตื้นให้กลับไปสู่ทะเลได้ บางทีทำๆไปก็คิดนะว่างานของเราจะสิ้นสุดตรงไหน เราไม่ได้แค่รักษาให้มันปล่อยสู่ทะเลนะ แต่ว่าเราต้องทำไปถึงนโยบายหรือการรณรงค์กับคนยังไงให้ไม่มีสัตว์ทะเลกลับมาอีก”

ฉันชื่นชมในการทำงานหนักของทีมสัตวแพทย์มาก และสิ่งที่พวกเราจะช่วยได้ไม่ใช่การสละเวลามาทำงานอาสาเท่านั้น แต่เป็นการจัดการขยะในมือเราให้ดีและช่วยกันกระจายความรู้ เพื่อให้สัตว์ที่ป่วยลดลงและธรรมชาติกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง

สุภัชญา เตชะชูเชิด เด็กกรุงเทพที่อยู่ไม่ติดบ้าน เพราะบ้านที่แท้จริงคือโลกทั้งใบ กำลังพยายามเรียนรู้และเข้าใจ อยากให้คนสนใจช่วยกันดูแล ?